แผนสำเร็จ Gallery & Consultant คือแกลเลอรี่ศิลปะในย่านแม้นศรี ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสามยอด กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แกลเลอรี่มีแผนจะจัดนิทรรศการศิลปะ Momentos/Monuments & reMinders จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัย 3 คน ได้แก่ ล้วน เขจรศาสตร์, วนะ วรรลยางกูร และอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ โดยมี บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รับหน้าที่คิวเรเตอร์
กระนั้นแผนการของแผนสำเร็จแกลเลอรี่ ก็หาได้สำเร็จ เพราะต้องมาเจอสถานการณ์ Covid-19 เสียก่อน
ระหว่างนี้ BOTS ขอพาไปชมงานศิลปะแบบแก้ขัด นี่คือนิทรรศการจิตรกรรมที่ศิลปินชวนผู้ชมใคร่ครวญถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศ ว่ามันเป็นในสิ่งที่เป็น ที่เราเห็น หรือเข้าใจ จริงหรือไม่?
‘จังหวะเวลา’ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีนัยสำคัญของนิทรรศการนี้ เพราะหากไม่นับสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่อาจควบคุมได้ ช่วงเวลาก่อนรวมถึงคาบเกี่ยวกับที่นิทรรการจัดแสดง เราจะพบข่าวการเปลี่ยนชื่อสถานที่ราชการหลายแห่งซึ่งมี ‘ชื่อ’ เกี่ยวข้องกับบุคคลในคณะราษฎร คณะบุคคลที่มีบทบาทในการนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย นี่ยังไม่นับรวมการทุบทำลาย หรือทำให้เลือนหายของอนุสรณ์สถานบางแห่งที่เกี่ยวพัน อาจกล่าวได้ว่า นิทรรศการนี้คือหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ผู้คนทั่วไปได้ฉุกคิดถึงความพยายามในการเปลี่ยนแปลง (อย่างเงียบๆ) ดังกล่าว ด้วยกระบวนการทางศิลปะ
การวาดภาพจากต้นแบบที่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์ ดูเหมือนเป็นภาพรวมของนิทรรศการ โดยเฉพาะผลงานของวนะ วรรลยางกูร และอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ หากศิลปินทั้งสองก็มีแนวทางในการทบทวนความเป็นอนุสาวรีย์อย่างเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป
วนะ วรรลยางกูร เลือกวาดรูปวีรบุรุษ อย่าง นโปเลียน, ซีโมน โบลิวาร์, ดาวิด หรือพระเจ้าตากสินมหาราช ฯลฯ แตกต่างจากภาพจำเกี่ยวกับมหาบุรุษเหล่านี้ ในทุกภาพเราก็จะพบมิติของเส้นสายและรูปทรงที่บิดเบือน การแยกออก หรือการซ้อนหรืออำพรางฉากเหตุการณ์เข้าไปในภาพ เช่น ภาพม้าของพระเจ้าตากที่แยกออกเป็นสองตัวภาพนี้, ภาพนโปเลียนที่ถูกแยกออกเป็นสามร่างซ้อนกัน (ภาพแรก) หรือภาพของดาวิดที่มีฉากทารุณกรรมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ซ้อนอยู่ด้วย
หากอนุสาวรีย์ของเหล่ามหาบุรุษถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการย้ำเตือนวีรกรรมหรือเครื่องมือบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาติฉันใด ภาพวาดที่มีองค์ประกอบบิดเบี้ยวหรือเหนือจริงของวนะ ก็คล้ายเป็นการก่อกวนและตั้งคำถามในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านวีรกรรมของเหล่ามหาบุรุษฉันนั้น
ทั้งยังรวมไปถึงการพาผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจทางแพร่งของประวัติศาสตร์ คล้ายจะบอกว่าภาพที่เราคุ้นชินอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือความพยายามจะสื่อสารว่าในขณะที่ด้วยอำนาจของผู้ปกครองทำให้ผู้คนเข้าใจประวัติศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ผู้มีอำนาจทำเป็นมองไม่เห็น หรือตั้งใจที่จะลบเลือนอยู่เช่นกัน
แตกต่างจากภาพอื่นๆ ในผลงานชุดนี้ของวนะ นี่คือภาพของ วัฒน์ วรรลยางกูร (พ่อของศิลปิน) นักเขียนซึ่งปัจจุบันกำลังลี้ภัยจากคดี 112 อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่ศิลปินวาดภาพนี้เพื่อเป็นการระลึกในความสัมพันธ์ เนื้อหาของภาพก็ยังสะท้อนชะตากรรมของประชาชนคนหนึ่งที่ถูกอุดมการณ์เบื้องหลังอนุสาวรีย์วีรบุรุษต่างๆ คุกคาม เนื่องจากเขายืนยันที่จะเคารพข้อเท็จจริงที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้พยายามจะลบเลือน จนไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติในแผ่นดินของตัวเอง
ขณะที่วนะเลือกใคร่ครวญประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่ อาจิณโจนาธาน เลือกสำรวจประวัติศาสตร์ยุคใกล้ในระดับประเทศ – การเปลี่ยนผ่าน พลิกผัน และตลบกลับของการเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีคณะทหารเป็นฟันเฟืองหลัก
ดังที่บอกว่าอนุสาวรีย์เป็น subject ร่วมของนิทรรศการนี้ หากต่างจากวนะก็ตรงที่อาจิณโจนาธานเลือกวาดรูปบุคคลแบบไม่เฉพาะเจาะจง และใช้การประกอบร่างขึ้นมาใหม่ของวีรบุรุษที่ต่างกันสองคนรวมเป็นภาพเสมือนของบุคคลคนเดียว เพื่อชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงความหมาย หรือความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นรูปเคารพได้อย่างย้อนแย้งและเฉียบคม
และคล้ายเป็นการย้ำเตือนกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาว่าประวัติศาสตร์ในยุคใกล้ของประเทศไทยถูกเขียนขึ้นด้วยกลุ่มบุคคลใดและด้วยวิธีการใด ในขณะที่กลุ่มบุคคล (ผู้เขียนประวัติศาสตร์) เหล่านี้ พยายามจะทำให้ประชาชนเชื่อในวาทกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้น หรือพยายามทำให้หลงลืมซึ่งอะไรบางอย่าง อาจิณโจนาธานก็พยายามจะใช้ภาพเขียนสื่อสารว่าเขาไม่มีทางลืมว่าบ้านเมืองเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ภาพถ่ายโดย แผนสำเร็จ Co-Creative Space & Gallery
หากไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในบ้านเรามาโดยตรง ต่อให้เป็นศิลปิน ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักหนึ่งในอาจารย์ผู้ล่วงลับคนสำคัญของนาวิน - มณเฑียร บุญมา