Artnews สำนักข่าวศิลปะจากสหรัฐอเมริกา รวบรวม 15 หนังสือศิลปะที่ดีที่สุดประจำปี 2020 ไปดูกันว่ามีเล่มไหนน่าสนใจบ้าง
Writing the Future: Basquiat and the Hip-Hop Generation
เรียบเรียงโดย Liz Munsell และ Greg Tate
หนังสือประกอบนิทรรศการ Writing the Future นิทรรศการของ ฌอง-มิเชล บาสเคียล โดยจัดแสดงที่ Museum of Fine Arts ในเมืองบอสตัน ขณะนี้ (จัดแสดงไปถึง 16 พฤษภาคม ปีหน้า) เช่นเดียวกับนิทรรศการ หนังสือเล่มนี้รวบรวมผลงานของบาสเคียล และบทความจากนักวิจารณ์และคิวเรเตอร์หลากหลายที่พูดถึงบาสเคียลในมุมมองของการเป็นต้นธารสร้างแรงบันดาลใจให้งานทัศนศิลป์อันหลากหลายในอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมฮิปฮอปของอเมริกา ซึ่งถือเป็นนิทรรศการแรกของศิลปินดังผู้ล่วงลับผู้นี้ ที่คิวเรเตอร์ชวนผู้ชมมองผลงานผ่านมุมมองของวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกา (จัดพิมพ์โดย Museum of Fine Arts Boston)
Latinx Art: Artists, Markets, and Politics
โดย Arlene Davila
Latinx Art คือรูปแบบศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมอันหลากหลายของละตินอเมริกาซึ่งสร้างสรรค์โดยศิลปินที่พำนักอยู่ในอเมริกา อาร์ลีน ดาบิลา ใช้เวลาหลายปีในการค้นคว้า และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือที่สรุปและอัพเดตความเคลื่อนไหวทั้งหมดของศิลปะแนวทางนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด Artnews กล่าวว่าไม่เพียงเป็นคู่มือทำความเข้าใจ Latinx Art หากมันยังเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงการดิ้นรนของแนวทางศิลปะที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักในการค้นพบที่ทางอันเท่าเทียมบนโลกศิลปะ (จัดพิมพ์โดย Duke University Press)
Cover to Cover
โดย Michael Snow
หนังสือรวมภาพถ่ายขาว-ดำ self portrait ชีวิตประจำวันของไมเคิล สโนว์ ศิลปินแคนาดาหัวก้าวหน้าที่มีผลงานศิลปะหลากแขนง หนังสือจัดพิมพ์ครั้งแรกในฐานะ artist book ในปี 1975 ก่อนจะมีการจัดพิมพ์ใหม่ในปี 2020 นี้ โดยภายในเล่มเป็นภาพขาว-ดำที่บันทึกอิริยาบถต่างๆ ของศิลปิน โดยแต่ละภาพมีความต่อเนื่องกันประหนึ่ง flip book ที่เปิดไวๆ แล้วจะเป็นภาพเคลื่อนไหว - เท่ชะมัด (จัดพิมพ์โดย Light Industry and Primary Information)
Video/Art: The First Fifty Years
โดย Barbara London
อดีตคิวเรเตอร์ของ Moma ผู้มีส่วนในการปลุกปั้นแวดวงวิดีโออาร์ทในยุค 70s ของนิวยอร์ก เขียนเล่าประวัติศาสตร์ตลอดครึ่งทศวรรษของศิลปะแขนงนี้ พาไปรู้จักศิลปิน ผลงาน และความเคลื่อนไหวที่ก่อรูปร่างให้ศิลปะแนวนี้มีจุดยืนอันมั่นคงในโลกศิลปะปัจจุบัน (จัดพิมพ์โดย Phaidon)
Kusama: The Graphic Novel
โดย Elisa Macellari
แม้ไม่ใช่คอศิลปะ แต่น้อยคนจะไม่รู้จัก ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินวัยเก้าสิบแล้วแต่ยังเฟี้ยวอยู่เลย ป้ายาโยอิปรากฏอยู่แทบทุกสื่อในแทบทุกประเทศบนโลก กระทั่งล่าสุด ชีวิตขอป้าก็ยังถูกบอกเล่าผ่านกราฟิกโนเวล หรือหนังสือการ์ตูนโดย เอลิซา มาเซลารี่ ซึ่งติดตามชีวิตในยุคต้นๆ ที่คุซามะย้ายมาพำนักในนิวยอร์กช่วงทศวรรษ 1960s ก่อนจะผลิตผลงานเป็นที่ยอมรับ และโด่งดังระดับโลกในยุคต่อมา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (จัดพิมพ์โดย Laurence King Publishing)
Marking Time: Art in the Age of Mass Incarceration
โดย Nicole Fleetwood
หนังสือประกอบนิทรรศการ Marking Time: Art in the Age of Mass Incarceration นิทรรศการที่จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 4 เมษายนปีหน้า ที่ MoMA PS1 นิวยอร์ก รวบรวมผลงานของศิลปินที่เคยติดคุกหรือยังติดอยู่ (จัดพิมพ์โดย Harvard University Press)
John Cage: A Mycological Foray
เรียบเรียงโดย Ananda Pellerin
จอห์น เคจ คือคีตกวีหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันที่อยู่เบื้องหลัง 4’33 บทเพลงที่ขึ้นชื่อถึงความมินิมัลที่สุดในโลก โดยหนังสือเล่มนี้เป็นการนำ Mushroom Book หนังสือที่รวบรวมโน้ตเพลงที่เคจเขียน มานำเสนอคู่กับภาพวาดเห็ดของ Lois Long ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1972 มาตีพิมพ์ใหม่พร้อมกับบทความและภาพถ่ายของเคจเอง (จัดพิมพ์โดย Atelier Editions)
Matthew Wong: Postcards
โดย Henri Cole และ Winnie Wong
Matthew Wong เป็นศิลปินแคนาดาที่มีผลงานน่าจับตาแต่โชคร้ายที่อายุแสนสั้น เขาจากไปเมื่อปี 2019 ด้วยวัยเพียง 35 โดยหนังสือเล่มนี่จัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการ Postcards นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานในขวบปีสุดท้ายของชีวิตของเขา โดยได้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ วินนี่ หว่อง เขียนบทความถึงผลงานของศิลปิน รวมถึงบทกวีจากเฮนรี่ โคล ควบคู่ไปกับการแสดงชุดจิตรกรรมสีสันแปลกแปร่งและสดใส ซึ่งขัดแย้งกับโรคซึมเศร้าที่เกาะกินชีวิตเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
ผู้หญิงที่ใช้เวลาอยู่ในห้องใต้ดินเพียงลำพังเป็นเวลาสี่เดือนเศษ เพื่อทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจระบบนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์
งานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ในอังกฤษที่จัดว่ากวนตีนเป็นเบอร์ต้นๆ