Zuzanna Stanska จาก Daily Art Magazine รวบรวมภาพจิตรกรรมของศิลปินชั้นนำของโลกที่สะท้อนเหตุการณ์โรคระบาดครั้งสำคัญ จากกาฬโรค (Black Death) ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 ล้าน ถึงไข้หวัดสเปนในต้นศตวรรษที่ 20 และการระบาดครั้งแรกของ HIV ในทศวรรษ 80s ไปดูกันว่าศิลปินแต่ละคนในแต่ละยุค มีมุมมองต่อโรคอย่างไร
ที่มา: www.dailyartmagazine.com
The dead and dying in London during the great plague of 1665. A cart in the background carries away those who have already succumbed
(Getty)
ที่มา: www.independent.co.uk
------------
Tournai Citizens Burying the Dead During the Black Death (14th Century)
By Unknown Artist
ในยุคสมัยแห่ง Black Death (1347-1351) ที่คร่าชีวิตของคนยุโรปคิดเป็น 30% ของจำนวนทั้งหมด ภาพเขียนรูปคนตาย, หัวกะโหลก หรือวิญญาณ ดูจะเป็นลักษณะร่วมของศิลปินในยุคดังกล่าว แตกต่างจากภาพเขียนส่วนใหญ่ในยุคเดียวกัน Tournai Citizens Burying the Dead During the Black Death ภาพเขียนที่ไม่ระบุชื่อจิตรกร หากมันไปปรากฏอยู่ในเอกสารบันทึกเหตุการณ์ของ Gilles Li Muisis (1272-1352) ก็เลือกสะท้อนอีกมุมที่เศร้าสลดพอกัน นั่นคือภาพของผู้คนในเมือง Tournai (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) ที่ต้องจัดการฝังศพของผู้ติดโรคระบาด ซึ่งก็สะท้อนความจริงในยุคนั้นที่ว่าศพของผู้ติดเชื้อมีมากเสียจนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร
------------
The Triumph of Death with The Dance of Death (15th Century)
By Giacomo Borlone de Burchis
Black Death ยังก่อให้เกิดกระแสการสร้างงานศิลปะในเชิงเย้ยหยันชะตากรรมของมนุษย์ในหมู่ศิลปิน ภาพเขียนแนว The Dance of Death หรือภาพที่ศพ โครงกระดูก หรือปีศาจออกมาเต้นระบำจึงพบได้ไม่น้อยในศตวรรษที่ 14-15 หนึ่งในภาพคนตายเต้นระบำที่เก่าแก่และทรงค่าที่สุดคือภาพปูนเปียกบนผนังด้านนอกของวิหาร San Bernardino เมืองแบร์กาโน ประเทศอิตาลี ภาพ Dance of the Death ของ Giacomo Borlone de Burchis เป็นส่วนหนึ่งในภาพ The Triumph of Death ที่ศิลปินวาดลงบนผนังอาคาร ภาพที่มีโครงกระดูกสวมมงกุฎ รายล้อมด้วยมนุษย์ที่กำลังถวายความเคารพ ข้างใต้จะพบทั้งอัศวิน พ่อค้า รวมถึงทาส เต้นรำไปพร้อมกับโครงกระดูก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะรวยหรือจนมาจากไหน ก็ไม่อาจเอาชนะความตายได้
------------
Triumph of Death (1562)
By Pieter Bruegel
Pieter Bruegel คือหนึ่งในศิลปินในยุคเรเนอซองส์ผู้เป็นซูเปอร์สตาร์แห่งดินแดนเฟลมิช (ปัจจุบันคือประเทศเบลเยี่ยมและส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์) ปีเตอร์ เบอร์เคิล พาผู้ชมในศตวรรษที่ 16 ย้อนกลับไปสำรวจทัศนียภาพของความหายนะจาก Black Death ในศตวรรษที่ 14 ภาพของกองทัพโครงกระดูกที่ยกพลมาคร่าชีวิตผู้คน ผลลัพธ์ของสงครามที่มนุษย์พ่ายแพ้ และเราได้เห็นภาพของความตายหลากรูปแบบอยู่ในนั้น ปัจจุบันภาพเขียนนี้จัดแสดงอยู่ที่ Museo del Prado กรุงมาดริด ประเทศสเปน
------------
Doctor Schnabel Von Rom (1656)
By Paulus Furst of Nuremberg
Black Death กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในยุโรปปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งห้วงเวลานี้โรคระบาดก็ได้คร่าชีวิตศิลปินชื่อดังหลายคนไปด้วย อย่างไรก็ดี แตกต่างจากยุคกลาง การระบาดรอบที่สองทำให้มนุษย์คิดค้นวิธีป้องกันการแพร่ระบาดมาได้บ้างแล้ว หนึ่งในนั้นคือเครื่องแบบป้องกันเชื้อโรค ศิลปิน Paulus Furst แห่งนูเรมเบิร์ก ได้ทำภาพพิมพ์ของเครื่องแบบที่ว่า ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในภาพไอคอนของยุคดังกล่าว นั่นคือภาพของคนสวมหน้ากากนก สวมหมวก เดรสยาว และรองเท้าบูธ ปัจจุบันภาพต้นฉบับจัดแสดงอยู่ที่ British Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
------------
Plague (1898)
By Arnold Böcklin
Arnold Böcklin ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวการเกิดโรคระบาดในบอมเบย์ ประเทศอินเดียในปี 1898 เขาวาดภาพปีศาจในชุดดำที่ขี่มังกรเป็นสัญลักษณ์แทนโรคระบาด ซึ่งบินเข้ามาคร่าชีวิตผู้คนในเมือง ภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่ Kunstmuseum กรุงบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
------------
The Family (1918)
By Egon Schiele
ไม่เพียงการประทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 หากต้นศตวรรษที่ 20 ยังเป็นยุคที่ไข้หวัดสเปนคร่าชีวิตผู้คน (โดยเฉพาะในยุโรป) กว่า 100 ล้านศพ ซึ่งมากกว่าคนตายในสงครามเสียอีก อาการของผู้ติดเชื้อไข้หวัดสเปนที่เห็นได้ชัดคือการมีจุดสีดำขึ้นที่แก้มและผิวหนังมีรอยช้ำสีน้ำเงิน ทั้งนี้ไข้หวัดสเปนยังได้คร่าชีวิต Egon Schiele ศิลปินชาวออสเตรียชื่อดังในยุคนั้นไปด้วย อย่างไรก็ดีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาได้วาดรูป self portrait ของเขากับภรรยา และลูก (ที่ตอนนั้นยังไม่เกิด) ไว้ นั่นคือภาพที่เขาเขียนตอนที่พบว่าตัวเองติดเชื้อหวัดแล้ว และยังไม่ทันได้เขียนเสร็จ เขากับภรรยาก็จากไปเสียก่อน ปัจจุบันภาพที่สวยงามและเปี่ยมด้วยอารมณ์หดหู่ภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่พระราชวังเบลเวอเดีย (Belvedere) กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
------------
Self-Portrait After Spanish Influenza
By Edvard Munch
Edvard Munch ก็เป็นศิลปินที่ติดไข้หวัดสเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วย แต่ต่างจาก Egon Schiele และ Gustav Klimt ก็คือเขารอดชีวิตจากโรค มุงค์เขียนภาพ self portrait ภาพนี้ในปี 1919 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่การระบาดของโรคนี้สิ้นสุดลง ปัจจุบันจิตรกรรมชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่ National Gallery กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
------------
Ignorance = Fear (1989)
By Kieth Haring
เชื้อ HIV ระบาดครั้งแรกในทศวรรษ 1980s จนถึงทุกวันนี้มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะ HIV กว่า 35 ล้านศพแล้ว ทั้งนี้ช่วงแรกของการระบาด ผู้คนต่างพุ่งเป้าโทษกลุ่มคนรักร่วมเพศว่าเป็นคนที่ทำให้เชื้อนี้แพร่กระจาย ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาด รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้เลย โดยภายหลังที่คีธ แฮริ่ง พบว่าตัวเองติดเชื้อนี้ในปี 1988 ในปีถัดมาเขาได้วาดรูป Ignorance = Fear ซึ่งเป็นภาพของคนสามคนในท่าทางปิดตา ปิดหู ปิดปาก พร้อมข้อความที่ว่า Silence = Death เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งการระบาด โดยคีธใช้คนสามคนในรูปเป็นตัวแทนของผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากรัฐไม่สามารถให้ข้อมูลกับการรับมือได้เพียงพอ และพวกเขาเหมือนถูกทอดทิ้งให้ต้องรับมือเพียงลำพัง ภายหลังหนึ่งปีที่ภาพนี้ถูกเผยแพร่ผ่านโปสเตอร์รณรงค์ คีธก็จากไปในวัยเพียง 31 ปี
------------
Untitled (Falling Buffalos)
By David Wojnarowicz
หนึ่งปีให้หลังที่คีธ แฮริ่ง จากไปด้วยเชื้อ HIV ศิลปินอเมริกันอีกคน David Wojnarowicz ก็จากไปเพราะสาเหตุเดียวกัน และเช่นเดียวกับคีธเมื่อศิลปินพบว่าตัวเองติดเชื้อ เขาก็ได้ทำงานศิลปะที่สะท้อนความหวาดกลัวรวมถึงความล้มเหลวของรัฐในการรับมือกับโรคนี้ด้วยภาพถ่ายมอนทาจไม่มีชื่อ (แต่มีวงเล็บต่อท้ายว่า ‘ควายล้ม’) ซึ่งก็เป็นไปตามชื่อในวงเล็บ เราจะเห็นภาพถ่ายขาว-ดำของฝูงควายที่กำลังจะร่วงหล่นจากหน้าผา ซึ่งศิลปินใช้ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบวิกฤตการระบาดของโรคเอดส์เข้ากับเหตุการณ์สังหารหมู่ฝูงควายในสหรัฐอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเหตุที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐจงใจเฉยเมยหรือละเลยต่อประชากรชายขอบของประเทศ
------------
กลุ่มคนทำงานศิลปะ 4 คน ที่ทั้งหมดใช้ชีวิตและทำงานในเชียงใหม่ ล้วน-ไกร ศรีดี, รามิล-วิธญา คลังนิล, หมุน-พึ่งบุญ ใจเย็น และเท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์
BOTS ไล่เรียงไทม์ไลน์แบบเร็วๆ เพื่อยืนยันว่าแม้ศิลปะจะไม่ใช่เจ้านายหรือขี้ข้า แต่คนทำงานศิลปะน่ะ ใช่แน่ๆ