จนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล จริงๆ จึงพบว่าเราเข้าใจในตัวเขาหลายสิ่งผิดมาตลอด แม้ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในปัตตานี แต่อนุวัฒน์มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดตรัง เขาไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นคนเชื้อสายจีนในครอบครัวชาวพุทธ ตัวละคร ‘บังลี’ ชายร่างท้วมเปลือยที่มักปรากฏในผลงาน ก็หาใช่อวตารของตัวเขาเอง แต่เป็นเพื่อนรุ่นน้องชื่อเดียวกันที่มีตัวตนอยู่จริง แต่สิ่งที่เราเข้าใจไม่ผิด และเขาภูมิใจในสถานะมาตลอด คือการที่เขาเป็นศิลปินเควียร์
จบทัศนศิลป์ ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อนุวัฒน์เป็นศิลปินรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนที่ค้นพบอัตลักษณ์ในการทำงานของตัวเองอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เพียงเชิงเทคนิค แต่เป็นการใช้ ‘ตัวตน’ ที่เปี่ยมไปด้วยมิติอันซับซ้อนของเขากับบริบทสังคม มาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องได้อย่างเฉียบคม โดยงานของเขาได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกทั้งในและต่างประเทศ
“เราอยู่ในเมืองที่คนส่วนใหญ่เป็นมลายู-มุสลิม แต่รัฐพยายามทำให้ผู้คนเป็นไทยมากๆ เช่นการเข้าไปควบคุมโรงเรียนสอนศาสนา แต่ก็พยายามโปรโมทคำว่าพหุวัฒนธรรมเพื่อทำให้ผู้คนกลมกลืนกัน ความจริงคือผู้คนเขาอยู่กันมานานแล้ว ไม่ได้สนว่าใครพุทธ ใครมุสลิม แต่พอคุณไปสร้างภาพของความกลมกลืนกัน กลับกลายเป็นการแบ่งแยกด้วยหลักศาสนาเสียอย่างนั้น ซึ่งผมสนใจประเด็นนี้มาตลอด” อนุวัฒน์ กล่าว
และใช่ ไม่นับรวมอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายของเขาในดินแดนที่จารีตมีอิทธิพลสำคัญต่อวิถีของผู้คน ปฏิเสธไม่ได้ว่างานศิลปะที่ถอดมาจากตัวตนของอนุวัฒน์และบังลี เพื่อนรุ่นน้องของเขา โคตรสนุก
อนุวัฒน์กำลังมีนิทรรศการเดี่ยว A Blue Man in the Land of Compromise ภาพจิตรกรรมชุดใหม่ที่สะท้อนความป่วยไข้ของประเทศจากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ที่ VS Gallery กรุงเทพฯ โดยเย็นวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคมนี้ เขาจะเพอร์ฟอร์แมนซ์ประกอบงานชิ้นดังกล่าว พร้อมกับขอเชิญคนอ่านให้ไปร่วมชม Bots World ก็ชวนอนุวัฒน์สนทนาถึงเส้นทางการทำงานศิลปะ ก่อนมาพบกับบังลี ชายสีน้ำเงิน และ The Land of Compromise ในซีรีส์สำรวจผลงานชุดก่อนหน้าของเขาต่อจากนี้
อนุวัฒน์เกิดปี ค.ศ. 1995 อายุ 26 ปี โดยย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว เมื่อครั้นเป็นนักศึกษาศิลปะ เขาได้รู้จัก ‘บังลี’ รุ่นน้องที่วิทยาลัยช่างศิลป์ LGBT ร่างท้วมในครอบครัวมุสลิมผู้เปี่ยมด้วยความมั่นใจ บังลีสร้างแรงบันดาลใจให้เขาในหลายมิติ จนอนุวัฒน์ชวนให้บังลีมาเป็นแบบวาดภาพในซีรีส์ She (2015)
จากภาพชุดแรกที่เลือกนำเสนอความเป็นเพศหลากหลายอย่างตรงไปตรงมา (ภาพซ้าย) เขาก็เริ่มใช้ตัวตนของบังลีตั้งคำถามถึงบริบทแวดล้อมในสังคมจารีตของปัตตานี ผ่านความตั้งใจให้ตัวตนของบังลีหายไป (ภาพขวา) ก่อนที่ศิลปินจะนำอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นเครื่องมือวิพากษ์สังคมและการเมืองในแง่มุมที่หลากกหลายในงานชุดต่อๆ ไป
งานวิดิโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ความยาว 5 นาที ที่อนุวัฒน์เปรียบมโนทัศน์ของคนไทยที่มีต่อเมืองที่เขาพำนักและใช้ชีวิตในฐานะศิลปิน รวมทั้งเมืองอื่นๆ ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการแปะป้ายให้เป็นพื้นที่สีแดงที่ดูน่ากลัวเกินกว่าความเป็นจริง…
“อันนี้พูดถึงพื้นที่สีแดง แล้วก็เอาตัวผ้ามาชุบสีแดงแล้วก็มาปิดตา เราอยากสื่อสารว่าไอ้สีแดงนี้มันถูกคนชุบ เหมือนประมาณว่าสีแดงนี่คือพื้นที่อันตราย แล้วมันก็ติดตาคนที่เหมือนตัวเราที่อยู่นอกพื้นที่ แล้วมันก็ไม่เห็นความจริงว่า ที่จริงแล้วมันมีความงามอยู่นะ หรือว่ามีอะไรที่น่าสนใจอยู่ หรือว่าความจริงคืออะไร ก็โดนสีแดงนี้ปิดตา ก็เลยใช้ผ้าถุง ผ้าปาเต๊ะมาชุบสีแดง” อนุวัฒน์ กล่าว
งานวิดีโออินสตอเลชั่นที่ศิลปินนำฟุตเทจที่เขาไปถ่ายเหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐเข้าไปแผ้วถางป่าชายเลนในปัตตานี ตัดสลับกับภาพข่าวในโทรทัศน์ที่พูดถึงความเชื่อเรื่องการบูชาต้นไม้ของชาวบ้าน
“งานนี้ต่อเนื่องจาก Red Area ที่เราพูดถึงการที่สามจังหวัดภาคใต้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีแดง เพราะเมื่อรัฐมองพื้นที่เป็นแบบนี้ กิจกรรมทุกอย่างมันจึงกลายเป็นกรณีพิเศษหมด รัฐจะทำอะไรก็ได้ในพื้นที่โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” อนุวัฒน์ กล่าว
“และมีช่วงหนึ่งที่เขาตัดป่าชายเลนเพื่อทำสิ่งปลูกสร้างขึ้นมา เราก็ตั้งคำถามว่าแม้พื้นที่นี้คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่เราก็ยังมีความเชื่อในศาสนาผี และพราหมณ์ที่ติดมากับความเป็นไทยอยู่ หนึ่งในผลผลิตของความเชื่อนี้ คือการที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าในป่ายังมีรุกขเทวดาคอยปกปักรักษา ซึ่งเมื่อรัฐมาบุกรุกป่าโดยไม่ถามชาวบ้านอย่างนี้ เราก็เลยสงสัยว่าแล้วรุกขเทวดาที่อยู่ในนั้นเขาจะไปอยู่ไหน”
นอกจากนี้อนุวัฒน์ยังต่อยอดวิดีโอชุดนี้เป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ชื่อ Where I’ll Stay (2016) ซึ่งเขาสวมบทเป็นรุกขเทวดาร่างสีแดงสวมมงกุฎ ที่ต้องหาที่สิงสถิตแห่งใหม่แทน นี่เป็นงานชุดแรกที่ศิลปินนำมงกุฎมาใช้ ก่อนจะต่อยอดไปสู่งานจิตรกรรมบังลีสวมมงกุฎที่หลายคนคุ้นเคยต่อไป
Speak Thai เป็นซีรีส์จิตรกรรมคอลลาจกับภาพถ่ายของบังลีสวมมงกุฎ และแผ่นทองคำ พร้อมตัวหนังสือลายมือที่พูดย้ำถึงความเป็นไทย งานชุดนี้อนุวัฒน์ได้แรงบันดาลใจมาจากการเติบโตท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อและมายาคติของความเป็นไทยผ่านบทเพลงและสื่อต่างๆ
“เราสนใจสีทองในฐานะสัญลักษณ์ของมายาคติที่ประเทศเราใช้ แน่นอน ทองคำมันคือแร่ที่มีมูลค่าอยู่แล้ว แต่พอนำมาจับกับความเป็นรัฐ ความเป็นแผ่นดินทอง มันเลยไปเชื่อมร้อยกับความยิ่งใหญ่ ความสูงส่ง ความเป็นเทพที่อยู่เหนือมนุษย์ มายาคติเหล่านี้มีส่วนทำให้เรามองว่ามนุษย์ไม่เท่ากันอันเป็นใจกลางของปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศนี้ หรือหนักข้อเข้าไปคือการคิดว่าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของจักรวาลด้วย” อนุวัฒน์ กล่าว
“อีกประเด็นคือนอกจากมายาคติความเป็นไทย เรายังมองถึงมายาคติความเป็นเพศด้วย เช่นถ้าเราเป็นผู้ชายก็ต้องมีบทบาทหรือบุคลิกแบบนี้ หรือถ้าคุณจะเป็น LGBT ก็ได้ แต่ต้องสวย แต่บังลีเหมือนเราคือเป็นคนอ้วน ไม่มี perfect body ไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนชอบ แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ เรามีสิทธิ์ที่จะเป็นแบบนั้น ก็พยายามสื่อสารเรื่องนี้มาตลอด” จิตรกรรมที่สร้างชื่อให้กับอนุวัฒน์คือการนำบังลีเป็นตัวละครหลักเพื่อสร้างบทสนทนากับงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีชของศิลปินอื่นๆ เช่น เอกอน ชีเล่ (Egon Schiele) หรือ กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ในภาพนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง อนุวัฒน์พบว่าเขาไม่ได้วาดบังลีในฐานะบังลี เพื่อนของเขา หากเป็นตัวละครที่เป็นภาพแทนของตัวเขาเองโดยตรง
“แรกๆ ก็เอาบังลีมานั่งเป็นแบบแล้วก็ถ่ายรูปไป หรือนั่งแล้วเราก็เขียนเลย แต่พอตอนหลังที่เขียนทั้งหมดไม่ใช้บังลีเลย ก็คืออยู่ในหัวทั้งหมดอยู่ในส่วนหนึ่ง ที่จริงเราก็อยากพูดในประเด็นอย่างนี้เหมือนกัน เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนเชื้อสายจีน และเราก็ไม่ได้แสดงออกในอัตลักษณ์ทางเพศให้ครอบครัวได้รู้ ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่เรารู้ไหม อย่างไรก็ดี ในแง่ของการทำศิลปะ เราจงใจใช้บังลีเป็นตัวตายตัวแทนเรา เรา express ตัวตนผ่านบังลี คือบังลีก็เป็นบังลีแหละ แต่ส่วนหนึ่งของบังลีก็คือเราด้วย” อนุวัฒน์ กล่าว
“เรามองบังลีเป็นร่างทรงที่เปิดรับวิญญาณของศิลปินที่เราชื่นชอบ เหมือนเป็นการพาโรดี้งาน แต่ขณะเดียวกันมันก็สื่อสารในประเด็นที่เราอยากสื่อ ทั้งเรื่องเพศไปจนถึงการต่อสู้ทางการเมืองพร้อมกัน
อย่างภาพ The Third of May ของโกย่าก็สื่อโดยตรงกับการล่าแม่มด เราเขียนเท็กซ์เพลงหนักแผ่นดินอยู่ในภาพด้วย และคนที่ถือปืนก็คือคนที่ใส่ชฎาอยู่ แล้วคนที่กำลังยอมก็คือคนที่ไม่ได้ใส่ชฎา ก็พูดถึงการล่าแม่มดของสังคมไทย ถ้าคุณไม่รักประเทศไทย ไม่ใช่แค่คุณต้องถูกไล่ออกจากประเทศ แต่สังคมนี้กลับไม่แยแสด้วยซ้ำหากคุณถูกอุ้มหาย หรือทำร้ายจนถึงแก่ความตาย”
“เอกอน ชีเล่ เป็นศิลปินคนแรกที่เราใช้บังลีสร้างบทสนทนาด้วย เราชอบลายเส้นของเขา ยิ่งเฉพาะเมื่อดูบริบทสังคมในยุโรปเมื่อศตวรรษก่อน งานของชีเล่นี่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมมาก และก็พูดเรื่องความลื่นไหลในอัตลักษณ์ทางเพศเหมือนเรา ขณะเดียวกันเมื่อมองในยุคปัจจุบัน ภาพนู้ดก็ยังถือเป็นความหมิ่นเหม่ในสังคมไทยอยู่ ก็เลยยิ่งอยากสนทนากับเขาเข้าไปใหญ่ เราก็ใช้วิธีการวาดเส้นแบบเอกอน วาดรูปนู้ดเหมือนกัน แต่เปลี่ยนให้ตัวละครสวมเครื่องทรง ใส่ชฎา ที่สื่อสารความเป็นไทย”
จิตรกรรมที่อนุวัฒน์ใช้บังลีสร้างบทสนทนากับโอฟีเลีย ตัวละครของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ในภาพเขียนเลื่องชื่อ Ophelia (1851-52) ของ Sir John Everett ศิลปินชาวอังกฤษ
อนุวัฒน์ เล่าถึงแนวคิดในการนำกระดาษลังมาสร้างประติมากรรมมงกุฎ ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่นิทรรศการ Errata ในพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ในช่วงนี้ว่า…
“มงกุฎคือสัญลักษณ์อันสูงส่งของความเป็นไทย ส่วนกระดาษลังนี่มีความย้อนแย้งที่น่าสนใจ เพราะมันเกิดขึ้นยุคควีนอลิซาเบธในอังกฤษ กระดาษลังถูกใช้เพื่อทำคอลลาร์หรือปกเสื้อให้เป็นลอนในเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูง รวมถึงการทำหมวกทรงสูงของสุภาพบุรุษอังกฤษ
แล้วทีนี้พอกระดาษลังมันถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุคต่อๆ มา ก็กลายเป็นว่าเป็นกระดาษที่มีทุกบ้าน กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ชั่วคราวที่ไม่ได้มีคุณค่ามากเท่าเมื่อก่อนแล้ว เราสนใจในอำนาจของมันที่ถูกลดลงตามกาลเวลา ก็เลยสร้างมันขึ้นมาเป็นตัวมงกุฎ เพื่อจะพูดถึงเรื่องนี้ แล้วก็อีกอย่างถ้ามงกุฎถูกสร้างโดยกระดาษลัง เราจะยังรู้สึกว่ามงกุฎนี้ยังมีคุณค่าหรือสูงส่งอยู่ไหม แล้วก็ด้วยความคิดที่บอกว่า ถ้างั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใส่มงกุฎ ทุกคนควรจะมีมงกุฎหรือชฎาอยู่ที่บ้านหรือเปล่า”
ผลงานล่าสุดที่กำลังจัดแสดงที่ VS Gallery จิตรกรรมความยาว 10 เมตรที่อนุวัฒน์ได้แรงบันดาลใจมาจากผลกระทบของโควิด-19 จนเกิดเป็นภาพการสูญเสียครั้งใหญ่ ทั้งจากโรคระบาดทางตรง และการถูกบังคับให้ตายทางอ้อม หรือจำใจฆ่าตัวตายจากภาวะเศรษฐกิจ และความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล
ทั้งนี้อนุวัฒน์ยังใช้ บังลีสวมมงกุฎบอกเล่าความตายที่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา รวมถึงการนำท่วงท่าของคนตายมาจากภาพเขียนเก่าๆ มาวาดใหม่เพื่อนำเสนอความตายที่ต่อให้เรามีบทเรียนในประวัติศาสตร์มาแค่ไหน แต่ฉากความตายที่ไม่ควรเกิดขึ้นก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในภาพ The Raft of Medusa (1818-19) ของ Thedore Gericault ซึ่งเป็นจิตรกรรมที่ถ่ายทอดเหตุการณ์เรืออับปางอันเป็นผลพวงจากความหละหลวมของรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น – ในมุมมองของศิลปิน ความตายของลูกเรือในภาพของเจอริโคต์ ก็ไม่ต่างจากความตายของคนไทยในช่วงสองปีมานี้แต่อย่างใด
“เราเห็นข่าวคนผูกคอตาย หรือคนป่วยที่จู่ๆ ก็ล้มลงตายกลางถนน ช่วงที่เราวาดรูปนี้ ความตายแบบนี้เกิดขึ้นทุกวันจนเหมือนเรื่องปกติ ส่วนที่ตัวละครในภาพบางคนสวมมงกุฎบางคนก็ไม่สวม ยังเป็นภาพแทนของสถานการณ์ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนไทยหรือไม่ใช่ แต่ถ้าอาศัยอยู่ในดินแดนที่ล้มเหลวด้านการจัดการตอนนี้ก็มีสิทธิ์ตายได้เหมือนกัน” อนุวัฒน์ กล่าว
และใช่ บังลีร่างสีน้ำเงินสวมมงกุฎ (A Blue Man) ที่เป็นศูนย์กลางของภาพ แม้อนุวัฒน์ไม่บอก เราก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นชายคนเดียวกับเจ้าของวาทกรรม ‘ดินแดนแห่งความประนีประนอม’ ที่บังลีเลือกหยิบมาเป็นชื่อนิทรรศการ…
A Blue Man in the Land of Compromise จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 กรุงเทพฯ ถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยวันที่เสาร์ที่ 23 ตุลาคม เวลา 16.00 น. อนุวัฒน์ยังจัดแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ประกอบงานจิตรกรรม พร้อมกับงานแสดงเดี่ยวดนตรี DARK Reinterpreted ประกอบนิทรรศการ Dark ของจิรภัทร อังศุมาลี นิทรรศการในห้องจัดแสดงติดกันของ VS Gallery บรรเลงโดย Jonas Jan Dept ทั้งสองงานเปิดให้เข้าชมฟรี www.facebook.com/VSGalleryBangkok
นอกจากนี้อนุวัฒน์ยังมีนิทรรศการดูโอ้ร่วมกับ Baphoboy ที่ WTF Gallery สุขุมวิท 51 ในชื่อ THAI MEN : นิทรรศการของลูกผู้ชายภายใต้อุดมคติของสังคมไทย จัดแสดงระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 28 พฤศจิกายนนี้ ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/WTFGalleryandCafe
คุยกับอบ-ชุณห์พิมาณ พวงสอาด ล่ามภาษามือและผู้สอนวิชาภาษามือ ว่าด้วยการแปลเพลงให้กลายเป็นภาษามือ
คุยกับแพร-พัชราภา กับชุดจิตรกรรมเล่าบทกวีของคนตาย