งานแอคชั่นเพ้นท์ติ้งของแจ็คสัน พอลล็อค, การสั่งให้นางแบบเปลือยเอาตัวจุ่มสีเพื่อไปทาบลงบนกระดาษพร้อมบรรเลงออร์เคสตราของ อีฟ ไคล์น หรือการใช้ช่องคลอดหนีบพู่กันเพื่อเขียนรูปของชิเชโกะ คูโบตะ เกี่ยวข้องอย่างไรกับเทศกาลสาดสีใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา…
BOTS พาไปสำรวจประวัติศาสตร์ของงานจิตรกรรมแห่งการเคลื่อนไหวและร่างกาย ที่ซึ่งตัวผลงานอาจไม่สำคัญเท่ากับ ‘ความหมาย’ ที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการของศิลปินเหล่านั้น ไปชมกัน
กระทั่ง Kenneth C. Griffin ซีอีโอใหญ่ของ Citadel ผู้สะสมผลงาน Number 17A (1948) ในราคาสถิติโลก 200 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่มีทางทราบว่า แท้จริงแล้ว Jackson Pollock ศิลปินผู้วาดภาพนั้นโดยหมดสีน้ำมันไปหลายสิบกระป๋อง ต้องการจะสื่ออะไร
ภายหลังจากค้นพบความสนุกกับการได้วาดภาพผ่านการหยดสีไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวประหนึ่งร่ายรำแบบแมนๆ อยู่รอบเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่ ในช่วงปี 1947-1950 แจ็คสัน พอลล็อค ก็สร้างงานจิตรกรรมนามธรรมในเทคนิคที่เขาเรียกว่า ‘Drip’ หลายสิบชิ้น และมันส่งให้เขากลายเป็นศิลปินอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจนปัจจุบัน
c
สุนทรียะจากการสาดและหยดสีอย่างอิสระ (หรืออาจเรียกได้ว่าบ้าคลั่ง) ก็เรื่องหนึ่ง กระนั้นสิ่งที่ทำให้ผลงานของพอลล็อคเป็นที่ฮือฮาและมีมูลค่ามหาศาล กลับเป็นห้วงเวลาที่เขาได้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ จากภาพถ่ายที่ถูกบันทึกไว้ไปจนถึงการเปิดให้ผู้ชมเข้ามาชมการแสดงสด ใช่, อาจกล่าวได้ว่า ภาพของพอลล็อคจะสื่อสารอะไร ไม่สำคัญว่าเขาวาดมันขึ้นมาอย่างไร
ในบทความ The American Action Painters ที่นักวิจารณ์ศิลปะ Harold Rosenberg เขียนขึ้นในปี 1952 อธิบายกระบวนการทางศิลปะนี้ว่า ‘กัมมันตจิตรกรรม’ (Action Painting) เขาเขียนไว้อย่างนี้
“ในห้วงเวลาที่ชัดเจนที่ผืนผ้าใบวางอยู่เบื้องหน้าจิตรกรชาวอเมริกัน หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็กลายเป็นที่แห่งการระบายออกซึ่งสีสันและท่วงท่า… สิ่งที่เกิดขึ้นบนผืนผ้าใบหาใช่รูปภาพ แต่เป็นเหตุการณ์”
แม้โรเซนเบิร์กหาใช่คนแรกที่อธิบายแนวทางศิลปะที่เป็นไปโดยสัญชาตญาณนี้ และพอลล็อคก็ไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่ทำมัน หากนับตั้งแต่บทความนั้นถูกเผยแพร่ Action Painting ก็กลายมาเป็นกระแสศิลปะที่ผสานเข้ากับท่วงท่าขึงขัง ความเป็นชายชาตรี และอิสระชนตามภาพลักษณ์ของพอลล็อคไปแล้ว
ในปี 1954 ในประเทศญี่ปุ่น มีกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของพอลล็อค ก่อตั้งกลุ่ม Gutai Movement of Concrete Art หากพวกเขาหาได้โฟกัสไปที่การเพอร์ฟอร์แมนซ์ไปพร้อมกับการสาดสีแบบที่พอลล็อคทำ แต่เป็นการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเสมือนพู่กันในการวาดภาพ - ครับ เขาใช้เท้า แขน ลำตัว ไปจนถึงอวัยวะเพศในการวาดรูป… Jiro Yoshihara เขียนในแถลงการณ์ของกลุ่ม ดังนี้
“กลุ่ม Gutai Art Society ก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะทำให้ศิลปะนามธรรมไปไกลกว่าพรมแดนที่มันเป็น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของศิลปะนามธรรมมันคือการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่จิตรกรรมมิติเดียว รวมถึงข้อจำกัดใดๆ ในการสร้างงานศิลปะ กลุ่มของเราจึงไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการสร้างงานศิลปะ เพื่อจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ภายในตัวศิลปินเปล่งประกายออกมาให้ได้มากที่สุด”
หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Shozo Shimamoto สร้างซีรีส์จิตรกรรมจากร่างกายและสิ่งของอื่นๆ ไว้หลายชิ้น ด้วยการขว้างขวดแก้วหรือระเบิดมือทำเองที่บรรจุสีน้ำมันลงบนผ้าใบ ผลงานบางชิ้นเขาไม่เพียงใช้มือป้ายสี แต่ยังชก หรือเอาตัวพุ่งชนให้มันทะลุออก เพื่อสร้างมิติและพื้นผิวจากร่องรอยชำรุดของกระดาษเสริมขึ้นมา
ขณะที่ในนิทรรศการของกลุ่ม Gutai ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1955 Kazuo Shiraga นำเสนอผลงาน Challenging Mud ที่เขาเปลือยกายเหลือแต่กางเกงขาสั้น ก่อนจะลงไปชุบในบ่อโคลนเปียก และใช้ร่างกายโกยให้โคลนเป็นรูปทรงและเกิดองค์ประกอบทางศิลปะ
เช่นเดียวกับที่ยุโรป Georges Mathieu ศิลปินฝรั่งเศสก็เป็นอีกคนที่ถูกจดจำจากการเพอร์ฟอร์แมนซ์ประกอบผลงาน เช่นในปี 1954 ที่เขาสวมยูนิฟอร์มของทหาร พร้อมกับวาดภาพ Battle of the Bouvines ซึ่งเป็นฉากการรบสำคัญของสงครามอังกฤษ-ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 13 ด้วยรูปแบบของศิลปะนามธรรมในศตวรรษที่ 20 เขาเขียนแถลงการณ์เกี่ยวกับผลงานไว้ดังนี้
“หมดยุคของงานหัตถศิลป์ การเก็บรายละเอียด และคุณค่าความงามในอุดมคติดั้งเดิมแล้ว ภาพเขียนยุคใหม่คือความตึงเครียด ความหนาแน่น ความไม่รู้ และความลึกลับ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่จิตรกรรมกลายเป็นการเพอร์ฟอร์แมนซ์ และผู้ชมสามารถชมผลงานของศิลปินด้วยการมีส่วนร่วมกับการสร้างงานของศิลปินไปพร้อมกัน”
นอกจากเป็นที่จดจำในผลงานนามธรรมสีฟ้า International Klein Blue (IKB) อันเป็น signature (และลิขสิทธิ์) ของเขา ในปี 1960 Yves Klein ยังได้ทำงานแอคชั่นเพ้นท์ติ้ง ในชื่อ A New Anthropometric Period ด้วยการทาสีฟ้า IKB ลงบนร่างกายของนางแบบนู้ด ก่อนที่จะให้พวกเธอนำร่างกายที่เปรอะสีไปวางลงบนแผ่นกระดาษ วงออร์เคสตรายังบรรเลงเพลงที่ศิลปินแต่งขึ้นประกอบการแสดง โดยเพลงดังกล่าวมีชื่อว่า Monotone Symphony ซึ่งเป็นเพลงที่มีเพียงตัวโน้ตตัวเดียว สอดรับไปกับงานจิตรกรรมของเขาที่ใช้สีฟ้าเพียงสีเดียว
ดูเหมือนแอคชั่นเพ้นท์ติ้งจะถูกครอบครองด้วยความเป็นชาย แต่นั่นก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ในปี 1963 ศิลปินอเมริกัน Carolee Schnemann ได้สร้างงานจิตรกรรมชื่อ Eye Body ซึ่งดูคล้ายเป็นการตอบโต้ A New Anthropometric Period ของอีฟ ไคลน์ เพราะขณะที่ศิลปินชายรายแรกใช้นางแบบนู้ดผู้หญิงมาเป็นพู่กันให้ คาโรลี คนีมานน์ ก็ได้เปลือยร่างของตัวเองและใช้มันสร้างงานศิลปะเสียเลย ซีรีส์ Eye Body คือชุดภาพถ่ายที่เธอเปลือยร่างและขลุกมันอยู่กับสีและผืนผ้าใบ
ขณะที่ Up to and Including Her Limits (1973-1977) เธอผูกข้อเท้าไว้กับเชือกที่แขวนลงมาจากเพดาน รอบกายเธอคือผืนผ้าใบที่เธอจะใช้ร่างกายที่ถูกมัดเท้านั้นแกว่งไปมาพร้อมกับใช้ดินสอในมือขีดเขียนลงไป
ในปี 1962 ศิลปินชาวฝรั่งเศส Niki de Saint Phalle สร้างงานจิตรกรรมที่ชื่อ Shooting Painting ด้วยการใช้ปืนยิงงานจิตรกรรมตามชื่อ โดยเธอได้แขวนลูกโป่งบรรจุสีไว้บนผืนผ้าใบ ก่อนจะใช้ปืนไรเฟิลยิงมันให้ลูกโป่งระเบิดออก พร้อมการสาดกระจายของสีสัน
ส่วนในปี 1965 ศิลปินชาวญี่ปุ่น Shigeko Kubota ได้ใช้อวัยวะเพศของเธอเองหนีบพู่กันเพื่อวาดภาพ Vagina Painting เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ในงาน Perpetual Fluxus Festival ที่นิวยอร์ก ประหนึ่งเป็นการเสียดสีค่านิยมชายเป็นใหญ่ในวงการศิลปะ เพราะลักษณะของการใช้อวัยวะเพศหนีบพู่กันก็ดูคล้ายศิลปินหญิงท่านนี้มีองคชาตที่ยื่นออกมาและกำลังแกว่งไกวเพื่อสร้างงานศิลป์
Janine Antoni ศิลปินชาวอเมริกัน เป็นผู้หญิงอีกคนที่สร้างบทสนทนาโต้แย้งผลงานแอคชั่นเพ้นท์ติ้งแบบแมนๆ ของ พอลล็อค และไคลน์ ในงาน Loving Care (1993) เธอได้ชุบเส้นผมของเธอลงบนถังสี และถูศีรษะลงบนผืนผ้าใบ ทำทีราวกับว่าร่างกายของเธอเป็นไม้ถูพื้น
“ฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำงานเพื่อบอกว่ามันคืองานเพอร์ฟอร์แมนซ์ สิ่งที่กำลังทำคือกระบวนการอันก่อให้เกิดความหมายของการทำมันขึ้นมาต่างหาก ฉันจะรู้สึกดีเสมอหากสามารถพาผู้ชมกลับไปสู่ความเข้าใจถึงกระบวนการของการทำงาน” จานีน แอนโทนีกล่าว - เธอเป็นอีกเสียงที่มาย้ำว่าผลงานซึ่งเป็นผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของเธอหาได้มีความสำคัญเท่ากับกระบวนการสร้างสรรค์ที่สะท้อนวิธีคิดในการทำสิ่งนั้นๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เป็น ‘ศิลปะ’ มากกว่าชิ้นงานที่ถูกซื้อ-ขายเพื่อสะสม
กลับมาที่เมืองไทย ในห้วงวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน - ‘สี’ และการสาดสีก็ยังถูกนำมาเป็นสื่อในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยสีในที่นี้ หาได้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่น สีเหลือง-สีแดง ดังความขัดแย้งในทศวรรษที่ผ่านมา หากเป็นสีจริงๆ ทุกๆ สีที่เราหาได้ตามท้องตลาดเพื่อนำมาสาดใส่พื้นที่ของรัฐ รวมถึงพื้นที่สาธารณะบางส่วน แม้บทความนี้ หาได้พูดถึงการเคลื่อนไหวผ่านการสาดสีดังกล่าว โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าประวัติศาสตร์ของแอคชั่นเพ้นท์ติ้งในโลกตะวันตก ก็สะท้อนลักษณะร่วมบางประการต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราไม่มากก็น้อย
ท่ามกลางข้อถกเถียงด้านกาลเทศะ ความเหมาะสม ไปจนถึงความงาม หรือสิ่งนี้เป็นศิลปะหรือไม่ นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่แอมมี่ The Bottom Blues ไปสาดสีน้ำเงินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อสองเดือนก่อน มาจนถึงการสาดสีและเขียนข้อความระบายความคับแค้นของกลุ่มผู้ชุมนุมบนป้ายสำนักงานตำรวจฯ และพื้นถนน ผู้เขียนมองว่าทั้งหมดทั้งมวล – เฉกเช่นกับผลงานหลายชิ้นของศิลปินแอคชั่นเพ้นท์ติ้ง – ความเปรอะเปื้อนของสีบนท้องถนนกรุงเทพฯ หาได้มีความสำคัญเท่ากับ ‘ความหมาย’ ที่ผู้ชุมนุมต้องการจะสื่อสารผ่านการกระทำของพวกเขาเลย…
ความหมายที่เกิดจากความอัดอั้นและคับแค้นต่อสิ่งที่พวกเขาถูกฝ่ายรัฐกระทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการยิงน้ำผสมแก๊สน้ำตา การที่ตำรวจเปิดช่องให้กลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝั่งเข้ามาทำร้ายร่างกาย หรือย้อนกลับไปมากกว่านั้น กับการที่รัฐเพิกเฉยต่ออำนาจมืดที่เข้ามาลอบทำร้าย ลักพาตัว ไปจนถึงฆาตกรรมหมู่ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเมื่อปี 2553 – สิ่งที่ผู้ชุมนุม หรือฝ่ายประชาชนกระทำ ไม่อาจไปเทียบอะไรได้เลยกับความรุนแรงเหล่านี้
การสาดสีของฝ่ายประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องของความสุภาพหรือหยาบคาย มีหรือไม่มีกาลเทศะ สันติหรือไม่สันติ ฯลฯ หากมันเป็นเพียงการกระทำเพื่อสื่อสารความคับแค้นออกมา เพราะท้ายที่สุด รัฐอาจจะลบสีที่เปรอะเปื้อนบ้านเมืองและท้องถนนลงได้ เช่นเดียวกับรอยเลือดของกลุ่มผู้ชุมนุมและนักกิจกรรมที่ถูกฆ่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่นั่นล่ะ ความหมายของสีแดงที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เคมี กับสีแดงที่เกิดจากเลือดของคนจริงๆ มันช่างต่างกันอย่างลิบลับ
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.tate.org.uk/art/art-terms/p/performance-art/painting-and-performance
- https://www.theartstory.org/movement/action-painting/
- https://www.whitestone-gallery.com/issue/i1589/
- http://toutpresart.com/a-pioneer-of-performance-art-carolee-schneemann/
- https://www.bbc.com/thai/thailand-52946342
The Bubble Arts-Group Space แกลเลอรี่ศิลปะสุดลึกลับ จากการลงขันร่วมกันของศิลปินร่วมสมัย