BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY
  • สนทนา
  • Jun 10,2021

สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY

สนทนาธรรมกับ โอ๊ต-มณเฑียร ว่าด้วยสเปซศิลปะแห่งใหม่อันสดใสและไร้เพศ

 

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

 

 

ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ ภัณฑารักษ์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ นักพยากรณ์จากไพ่ทาโรต์ นักเขียน และนักรัก ฯลฯ ไม่ใช่แค่ทำได้ หรือหลากหลายไปอย่างนั้น ไม่เกินเลยที่เราจะบอกว่า โอ๊ต-มณเฑียร คือ Renaissance Man ผู้จุติมาจากฟลอเรนซ์ในศตวรรษที่ 16

โอ๊ตเริ่มเป็นที่รู้จักจากบทบาทคอลัมนิสต์ที่เล่าเรื่องชีวิตของเขาที่ลอนดอน ทาบทับไปกับประวัติศาสตร์ศิลป์ในนิตยสาร a day ขณะเรียนปริญญาโทสาขา Education in Museum and Gallery ที่ Central Saint Martins และทำงานเป็น Educator ที่ V&A Museum of Art & Design หลังเรียนจบ

โอ๊ตกลับไทยในปี 2016 ก่อนจะพรั่งพรูความรู้ แพสชั่น และประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นผลงานมากมายในหลากหลายบทบาทดังที่เกริ่น เช่นเดียวกับโปรเจกต์ล่าสุดที่เขาสวมหมวก Gallerist ก่อตั้ง โพธิสัตวาแกลเลอรี่ (Bodhisattava Gallery) อาร์ทสเปซแห่งแรกในบ้านเราที่นิยามตัวเองว่าเป็นพื้นที่ศิลปะสำหรับ LGBTQ โดยเฉพาะ ล่าสุดเขาเพิ่งเปิดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง ‘สรงประภา Reclining Queer Nude’ นำเสนอภาพวาดนู้ดเกย์คนไทยด้วยสีพาสเทล 22 คนตามไพ่ทาโรต์ 22 ใบ

BOTS เป็นหนึ่งในแฟนคลับผู้ติดตามผลงานของโอ๊ตทั้งงานเขียนและวาดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ากับโปรเจกต์ชุดใหม่ของเขาทำไมต้องโฟกัสไปที่กรอบของเพศสภาพที่หลากหลาย ในเมื่อพื้นที่แสดงงานศิลปะมันไม่เคยมีเพศอยู่แล้ว (รึเปล่า?) เหตุนั้นเราจึงชวน กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์แห่ง Waiting You Curator Lab และ MAIIAM Contemporary Art Museum สนทนากับ โอ๊ต-มณเฑียร ว่าด้วยความมุ่งหมายในการทำพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่แห่งนี้ของเขา

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

คุณกลับเมืองไทย และร่วมก่อตั้ง Museum Minds ให้คำปรึกษาพิพิธภัณฑ์ของรัฐหลายแห่ง ซึ่งทราบกันดีว่าพิพิธภัณฑ์รัฐล้วนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะในกรอบคิดเชิงอนุรักษ์นิยม นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คุณตัดสินใจทำ side project ที่เป็นแกลเลอรี่ทางเลือกด้วยหรือเปล่า

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ พอมาทำงานด้านมิวเซียมในเมืองไทยไปพักหนึ่ง เราก็พบปัญหาว่า narrative หรือเรื่องเล่าของเราไม่ตรงกับสโคปงานที่ทำ มิวเซียมใหญ่ๆ ต่างมีความเป็นทางการมากพอสมควร ก็เลยอยากมาทำอะไรเล็กๆ ของเราเอง โดยให้โปรเจกต์นี้พูดในสิ่งที่เราสนใจมากๆ นั่นคือเรื่อง gender หรือประเด็นทางเพศสภาพ ซึ่งก็ประจวบกับช่วงโควิด-19 ปีที่แล้ว ที่ทำให้เราได้นั่งคิด… ฉันเป็นศิลปิน ฉันมีเพื่อนในวงการศิลปะ และฉันเคยเป็น educator และฉันก็ทำงานให้ทั้งมิวเซียมและแกลเลอรี่ องค์ความรู้พวกนี้พอมารวมๆ กัน ก็น่าจะสามารถทำอะไรของเราขึ้นมาเองได้ ก็เลยตัดสินใจเปิดแกลเลอรี่เล็กๆ ที่บ้านชื่อ “โพธิสัตวา แกลเลอรี่” ซึ่งโฟกัสกับศิลปิน LGBTQ โดยเฉพาะ

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

ทำไมต้องเป็นชื่อ “โพธิสัตวา” คะ

เราได้แรงบันดาลใจมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งอันนี้มีหลายนัยยะ อันดับแรกคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ คือพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวแทนของความเมตตา ซึ่งเราคิดว่า compassion (ความเห็นอกเห็นใจ - ผู้เรียบเรียง) เป็นแก่นสำคัญในการทำงานของเรา อีกนัยยะคือ คนไทยจะรู้จักในฐานะเจ้าแม่กวนอิม เป็นเพศหญิงใช่ไหมคะ แต่ตามตำนานจริงๆ ท่านเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีเพศ ใช่ค่ะ ความเมตตาก็ไม่มีเพศระบุสังเคราะห์ เราเลยอยากใช้ชื่อนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสลายกรอบทางเพศสภาวะด้วยความเมตตา เห็นอกเห็นใจเป็นแก่นหลักของมัน

จริงอยู่ว่าแต่ไหนแต่ไรมาศิลปะมันถูกครอบครองโดยเพศชาย แต่ลำพังการก่อตั้งแกลเลอรี่ขึ้นมาเฉยๆ มันก็ไม่มีเพศสภาพอยู่แล้วหรือเปล่าคะ

ใช่ค่ะ ศิลปะมันไม่ควรอยู่ในกรอบไหนเลย แต่เราอยากสร้างพื้นที่ของเราเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม เพราะถึงคุณบอกว่าแกลเลอรี่มันไม่มีสภาวะทางเพศอยู่แล้ว และสังคมสมัยนี้การแสดงออกไม่ว่าจะเพศไหนก็เท่ากัน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย ลำพังแค่ในภูมิภาคอาเซียนนี้ก่อน ต้นปี 2021 มีข่าวว่าคู่เกย์ชาวอินโดนีเซียถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนเพราะถูกจับได้ว่าคบหากัน ในบรูไนยังมีกฎหมายประหารชีวิตอยู่ ในเมียนมา ลาว หรือกัมพูชา ก็ไม่ได้มีพื้นที่ที่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้

เราเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะตัวตนทางเพศคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เรารู้สึกว่าการที่คุณไม่สามารถแต่งงานได้ ไม่สามารถวางแผนทางกฎหมายได้ หรือ การที่คุณไม่สามารถบอกรักคนที่คุณรักได้อย่างเปิดเผย มันคือ basic needs of human นะ ซึ่งมันยังไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง นอกจากนั้นกลับมาดูในประเทศไทยซึ่งดูเหมือนจะเสรีในการแสดงออกกว่าใครเพื่อน เราเป็นเมืองหลวงของกะเทย แต่เราก็ยังแต่งงานกันเองไม่ได้ ยังมีการสร้างภาพจำซ้ำๆ ในสื่อ ดังนั้นเราคิดว่าการพูดเรื่องเพศสภาพควรจะมีพื้นที่ที่มากกว่านี้ หรือไปได้มากกว่านี้

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

โพธิสัตวาแกลเลอรี่จะนำเสนอผลงานของศิลปิน LGBTQ เป็นหลัก แต่ในทางกลับกันการนิยาม LGBTQ นี่มันกว้างมากๆ สมมุติว่ามีศิลปินคนหนึ่งบอกว่าตัวเองไร้เพศ เขาจะยังอยู่ใน genre นี้หรือเปล่า คุณมีเกณฑ์อย่างไรในการคัดเลือกศิลปิน

ตอบก่อนว่า “ได้” คือจริงๆ ถ้าพูดในงานเพศสภาพแล้วเราสนใจ all types of spectrum แค่ใช้ตัวหนังสือ LGBTQ เพื่อให้มันเข้าใจว่าเป็นคอนเซ็ปต์ประมาณนี้ ซึ่งเอาจริงๆ นะ LGBTQ เนี่ยมันยังต้องมี + มันต้องมี Q หรือ Queer คือที่มันนอกเหนือจากนี้ หรือขบถจากกรอบต่างๆ

จริงๆ เรายังตั้งคำถามเลยว่าอย่างกรอบธงสีรุ้ง แล้วก็ LGBTQ เนี่ยมันมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับความเป็น activist ของอเมริกาหรือว่ายุโรปอย่างชัดเจน อย่าง Stone Wall Pride สิ่งพวกนี้สุดท้ายแล้วมันตอบโจทย์เพศสภาพของคนในภูมิภาคนี้หรือเปล่า “เกย์” ของเขากับ “เกย์” ของเรามันเหมือนกันหรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริงคำว่าเกย์ในบ้านเราเพิ่งถูกเรียกกันผ่านสื่อในปี 60s จากคดีฆาตกรรมงี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ใครตุ้งติ้ง คนไทยก็เรียกเขากะเทยหมด เพราะคำนี้มันมีมาตั้งแต่พุทธกาล ซึ่งกะเทยก็ถูกกดให้ต่ำกว่าสถานะของผู้ชาย ทีนี้พอผู้เสียชีวิตในคดีดังกล่าวเป็นคนในแวดวงสังคมชั้นสูง และเขาก็ไม่ได้แต่งตัวเป็นผู้หญิง สื่อก็เลย identify ให้เขาเป็นเกย์ ไม่ใช่กะเทย… เห็นไหม แค่นี้มันก็ลักลั่นกันมากแล้ว นี่แค่จุดเริ่มต้นของคำคำเดียวนะ ยังมีเลสเบี้ยน ทรานส์ อะไรอีกเยอะแยะ

ซึ่งเราก็สนใจต่อศิลปินเกย์ไทยที่นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ที่ทำงานเกี่ยวกับเพศสภาพ เขาจะเป็นเกย์แบบเดียวกับเกย์ในโลกตะวันตกไหม หรือเขาลอกเลียนอัตลักษณ์จากเกย์เมืองนอกมาเป็นอัตลักษณ์เขาอีกที หรือมันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในบริบทที่เขาอยู่ สิ่งพวกนี้เราสนใจมันอาจจะดูยิบย่อยแต่มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา

มันไม่ได้มีข้อจำกัด แต่ตอนนี้เหมือนเราต้องพยายามหา Genre ให้ทุกคำอธิบาย ถามว่าจริงๆ แล้วมันก็จำเป็นต้องอธิบายไหม
มันก็ย้อนแย้งเนอะ เหมือนเราสู้เพื่อกล่องนี้ แต่สุดท้ายเราสู้เพื่อไม่ให้มีกล่องนี้ แต่เราก็แฮปปี้ดี

เหมือนคุณตั้งใจให้มันมีกล่องเพื่อให้ตัวตนของศิลปินปรากฏก่อน พอตัวตนปรากฏ ความเป็นปกติสามัญก็จะถูกยอมรับ แล้วกลายเป็นการไม่มีกรอบเองในที่สุด

พื้นที่ศิลปะนี้มันเหมือนเป็นแถลงการณ์ที่บอกว่าไม่ว่าคุณจะเพศอะไร คุณก็ไม่มีอำนาจมากดพวกเราอีกต่อไปแล้ว เราอาจจะคิดคนละแบบกับนักเคลื่อนไหวรุ่นก่อนหน้าที่รู้สึกว่าเราต้องได้รับการยอมรับ เราต้องมีโล่ เราต้องสวมผ้าไหมเข้าไปขับเคลื่อนในสภา คือเราว่าเราเกินจุดนั้นแล้ว คุณจะยอมรับ ไม่ยอมรับ ก็เรื่องของคุณ เราจะบอกว่าเราอยู่ตรงนี้ นี่คือตัวเรา แล้วเราอยู่ร่วมกับคุณในที่เท่ากันกับคุณด้วย แล้วค่อยว่ากันว่าสังคมมันจะเป็นยังไง

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

แล้วอย่างนี้จะต่างอย่างไรกับแกลเลอรี่ศิลปะแห่งอื่นๆ ที่ไม่ได้มี statement แบบนี้ แต่ก็จัดแสดงงาน LGBTQ อยู่เป็นปกติคะ

เราไม่ได้คิดว่าจะต้องแตกต่างกับที่อื่นอย่างไร แค่คิดว่าการนิยามตัวเราแบบนี้มันจะช่วย elevate ตัวเราขึ้นมาให้ชัด และศิลปินก็สามารถใช้พื้นที่เราเป็นแพลตฟอร์มในการพูดถึงสิ่งที่เขาสนใจ โดยที่ศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคลื่อนไหวก็ได้

ยกตัวอย่างอย่างพี่อร ทองไทย ศิลปินคนต่อไปที่จะมาแสดงงานกับเรา นิทรรศการชื่อ Pockets full of Rainbows เป็นนิทรรศการภาพพิมพ์ ซึ่งพี่อรปกติเค้าไม่ได้ label ตัวเองว่าเป็นศิลปินเลสเบี้ยน ในแต่ละโชว์เขาก็ไม่ได้มีสถานะแบบ activist แต่มันมีการตั้งคำถามเรื่องการเท่าเทียมซ่อนอยู่ในทุกกระบวนการทางศิลปะของเขา ซึ่งผลงานอาจจะดูเรียบง่าย

แต่เมื่อคุณมาดูในบริบทของแกลเลอรี่เรา คุณจะได้มองความเรียบง่ายนี้ผ่านแว่นของกลุ่ม LGBTQ+ มันชวนคิดว่าความ “เรียบง่าย” ของชาวเรา มันต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ในขณะเดียวกัน ถึงประเทศไทยจะเลื่องชื่อในฐานะเมืองของกะเทย แต่เอาจริงๆ คุณลองนับนิ้วดูก็ได้ว่าจริงๆ แล้วในวงการศิลปะบ้านเรา มี LGBTQ และทำงานที่พูดเรื่องเพศสภาพจังๆกี่คน?

ที่นึกออกก็ไม่เยอะค่ะ คนที่มีชื่อเสียงไปเลย ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้ทำงานที่มีเนื้อหาทางเพศ

ใช่ และเราคิดว่าพื้นที่นี้มันน่าจะช่วยให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้จัดแสดงงานแนวนี้ ได้ภูมิใจในอัตลักษณ์ตนเองเพิ่มขึ้น

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

อีกเรื่องที่สนใจคือการเปลี่ยนบทบาทจาก educator รวมถึงการสอนหนังสือ มาสวมบทภัณฑารักษ์ของคุณ ส่งผลต่อการคัดสรรหรือวิธีการนำเสนอผลงานของศิลปินด้วยไหม

คิดว่ามากเลยนะ แล้วก็เป็นส่วนที่เป็นจุดด้อยหรือจุดเด่นก็ได้แล้วแต่จะมอง เพราะเราคิดเรื่อง message ค่อนข้างเยอะ เราคิดว่าคนมาแล้วเค้าจะเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ยังไงเป็นอันดับต้นๆ เลย อาจจะด้วยพื้นเพของเราเรื่องการเป็นนักการศึกษา คือตัวเชื่อมระหว่างภัณฑารักษ์กับผู้ชม นอกจากนั้นเราให้ความสำคัญเรื่องเสียง เสียงของศิลปิน เราอยากเป็นแพลตฟอร์มให้เขา ทำอย่างไรให้น้ำเสียงของศิลปินเปล่งประกายมากที่สุด เพราะเวลาที่เราพูดถึงคนชายขอบไม่ว่าจะกลุ่มใดควรจะให้เป็นเสียงของเขาเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตรงกับมาตรฐานสากลของวงการอะไรแบบนี้

คืออย่างตอนเราเรียนที่อังกฤษ ถ้าคุณจะทำงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินผิวสี คุณก็ต้องมีภัณฑารักษ์ที่เป็นคนผิวสี หรือถ้าคุณจะทำอย่างที่เราไปดูงานที่แคนาดา Museum Native People ของอินเดียนแดง ก็ต้องมีการปรึกษาชุมชนว่าเขาจะให้แสดงมรดกทางวัฒนธรรมของเขายังไง เพราะอย่างอินเดียนแดงของเขาน่าสนใจ เพราะแค่หน้ากากของเขาทุกอันมีเพศสภาพหมดเลย ต้องเก็บแยกกัน หน้ากากเพศชายอยู่ส่วนหนึ่ง หน้ากากเพศหญิงอยู่อีกส่วนหนึ่ง ห้ามห่อพลาสติกเพราะของทุกชิ้นต้องหายใจได้อะไรพวกนี้เนี่ย นี่คือรายละเอียดเล็กน้อยของการเป็นคนชายขอบ กลับมาที่เรื่องของ LGBTQ เราเองเข้าใจข้อจำกัดของเรา แล้วเราเป็นเกย์/เควียร์ เราก็ไม่สามารถพูดแทนเลสเบี้ยน หรือคนข้ามเพศได้ เป็นต้น ดังนั้นการที่ให้เขาพูดด้วยเสียงของเขาเองในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ

คุณพูดถึง activist บ่อยมาก เลยอยากรู้ว่าแล้วแกลเลอรี่ของคุณให้พื้นที่กับงานศิลปะเชิงการเมืองมากแค่ไหน

มากค่ะ (ยิ้ม) จริงๆ เป็นคนไฝว้ ศิลปะและเพศสภาพมันคือการเมืองอยู่แล้ว มันคือสิ่งที่คุณรู้สึก สิ่งที่คุณเป็น มันคือโลกที่คุณอยู่ และซื่อตรงกับมัน สำหรับเรามันคือ dignity ในการทำงาน แล้วมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำงานแบบไม่อิงการเมืองในโลกที่มีความไม่เท่าเทียม จะมากน้อยอีกเรื่องนะ

เพราะว่า We have a fight to fight แต่เราอาจไม่ได้ไปทุกม็อบ คือเราสู้พร้อมกันในทุกเรื่องไม่ได้ พลังไม่พอ แต่เราก็ออกตัวสนับสนุนม็อบคนรุ่นใหม่ตอนนี้อย่างเต็มที่นะ อย่างในฐานะ Gallerist เราสนใจการประท้วงของกะเทยในอาเซียนมากๆ ซึ่งคิดว่าน่าจะทำนิทรรศการนี้สักชิ้นที่พูดถึงม็อบกะเทย อย่างในเมียนมา กะเทยรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงเผด็จการนี่เปรี้ยวไม่แพ้ไทยนะ อาจเป็นพวก LGBTQ+ ถูกกดมาตลอด การไฝว้เพื่อให้ได้มาในสิทธิพื้นฐานเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินและสามารถต่อยอดมันด้วยจริตจะก้าน

แล้วถ้าย้อนกลับมาถามถึงการเมืองในการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ในบ้านเราล่ะ คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เราให้เครดิตนักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ที่ถางเส้นทางให้พวกเรามาถึงปัจจุบันมากเลยนะ เราไม่ดิส (dis-) ในทุกย่างก้าวที่เขาเดินมา ทั้งการก่อตั้ง Pride หรือการทำให้กะเทยเป็นสิ่งที่ถูกมองเห็นและได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์อย่างหอแต๋วแตก ผู้ชายนะยะ รักแห่งสยาม หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ ซึ่งใช่ ผลงานเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางเพศมากที่สุดในอาเซียน

ถามว่าตอนนี้ดีไหม ดีมากเลยค่ะ แต่ถามว่าจบไหม ไม่จบค่ะ เรายังต้องเดินไปอีกไกล แล้วเราคิดว่าการที่เราไม่หยุด การที่เราเดินต่อไปเรื่อยๆ เป็นการที่ช่วยดึงประเทศอื่นๆที่อาจจะอยู่หลังเรา อย่างตอนที่มีงาน Spectrosynthesis ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ (นิทรรศการศิลปะ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน - ผู้เรียบเรียง) เราเห็นคนจากมาเลเซียมายืนร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งในงาน เพราะประเทศเขาไม่มีพื้นที่ที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย เราเลยรู้สึกว่าถึงเราจะไม่ใหญ่เท่าหอศิลป์ แต่อยากเป็นพื้นที่ให้เขาบ้าง ในอนาคตอันใกล้นี้เราก็จะเปิดรับ Open Call ศิลปินจาก Southeast Asia ด้วยเช่นกันค่ะ

ไม่มีทางที่คุณจะเป็นกลางในโลกนี้อีกแล้ว เราไม่สามารถพูดได้ว่าคุณเป็นกลางต่อเรื่องใดๆ แนวคิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

คำถามสุดท้าย คุณคิดว่าจำเป็นไหมว่าศิลปินที่เป็น LGBTQ จะต้องทำงานประเด็น LGBTQ อย่างเดียว

ไม่จำเป็น แต่คิดว่าคุณปฏิเสธตัวตนที่อยู่ในงานศิลปะของคุณไม่ได้หรอก เพราะศิลปะมันคือความซื่อสัตย์ต่อตัวคุณเอง ซึ่งคุณเป็นคนยังไง งานก็เป็นอย่างนั้นไม่มากก็น้อย

คือไม่ว่าจะมากจะน้อย หรือจะทำประเด็นอะไร แต่เราเลี่ยงตัวตนเราไม่ได้

ใช่ค่ะ มันโพสต์โมเดิร์นมากนะ เหมือนไม่มีทางที่คุณจะเป็นกลางในโลกนี้อีกแล้ว เราไม่สามารถพูดได้ว่าคุณเป็นกลางต่อเรื่องใดๆ แนวคิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

 

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

 

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

 

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

 

เช่นนั้นแล้วเรามองว่า LGBTQ ก็เป็น Genre หนึ่งทางศิลปะได้

เยส! ก่อนหน้านี้มันจะวาทกรรมที่ว่าศิลปะไม่ควรจะถูกใส่กรอบด้วยเพศ แต่เราคิดว่าในอนาคตจริงๆ แล้วการชูกรอบความเป็นเพศ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกรอบ หรือพยายามทำลายกรอบ หรือก้าวข้ามผ่านกรอบ อะไรก็ตาม แต่ไอ้กรอบนี้มันอาจจะเป็นเป็นจุดเริ่มของแรงบันดาลใจ ของความสร้างสรรค์ หรืออาจะเป็นอาวุธในการต่อสู้ เพื่อขยายเพดานทางสังคมของเราได้

ติดตามผลงานในฐานะ gallerist ของโอ๊ต-มณเฑียร ได้ที่ https://www.facebook.com/BodhisattavaGallery/

Text: Kittima Chareeprasit 

Photo: Karin Mongkolphan, Preecha Pattara

 

 

BOTS โอ๊ต-มณเฑียร

 

Photographer

Karin Mongkolphan

Karin Mongkolphan

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ถ่ายรูปภูมิทัศน์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหาร และผู้คน ยกเว้นก็แต่ผู้คนที่สนับสนุนเผด็จการ

Story By

Kittima Chareeprasit

Kittima Chareeprasit

ภัณฑารักษ์ขี้เมาแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่

RELATED CONTENTS

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

‘สาวสะเมิน’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเป็นเอก รัตนเรือง

  • สนทนา
  • Apr 26,2021

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

นิทรรศการใหม่ของ มิตร ใจอินทร์ กับการอุทิศให้ผู้ลี้ภัยและเพื่อนศิลปิน

  • สนทนา
  • Feb 05,2022

สนทนา: เนรมิต

สนทนา: เนรมิต

ร้านตัดสูทเก่าแก่แห่งย่านช้างม่อยที่ตัดสูทสวยราวเนรมิตขึ้นมาจนครองใจชาวเชียงใหม่และทั่วทั้งยุโรปมาตลอด 70 ปี

  • สนทนา
  • Jul 22,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK