BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สนทนา: บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔
  • สนทนา
  • Jan 26,2022

สนทนา: บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔

งานชุดใหม่ของ ประกิต กอบกิจวัฒนา

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

บ้านเกิดเมืองนอน’ คือเพลงที่ประพันธ์เนื้อร้องโดย แก้ว อัจฉริยกุล และได้ เอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง เพลงนี้ชนะการประกวดการแต่งเพลงปลุกใจเมื่อ พ.ศ.​ 2488 ที่จัดโดยรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการเผยแพร่ของวงสุนทราภรณ์ในยุคก่อนทศวรรษ 2500 เรื่อยมา อย่างไรก็ดี เพลงนี้ได้กลับมาคืนชีพอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2564) จากโปรเจกต์ ‘บ้านเกิดเมืองนอน 2564’ ที่เหล่าศิลปินขวัญใจคนเจนเอ็กซ์มาร่วมขับร้องใหม่ในเวอร์ชั่นต่างๆ ถึง 6 เวอร์ชั่น (https://www.youtube.com/channel/UC_89qNyZO6FRwZzr2iUu3hQ/featured)

ซึ่งแน่นอน ต่อให้มองลงมาจากดาวอังคารยังรู้ การรื้อฟื้นเพลงนี้กลับมานำเสนอใหม่ในมิติร่วมสมัยอีกครั้ง ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปลุกความรักชาติ และต่อต้านกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีหลังมานี้

เราคิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อบทความสัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานจิตรกรรมชุดใหม่ของ ประกิต กอบกิจวัฒนา ที่กำลังจัดแสดงที่ VS Gallery อยู่ตอนนี้อย่างไร? คิดไปคิดมาก็พบว่าไม่มีชื่อไหนจะดีไปกว่าชื่อนิทรรศการของประกิตเอง – บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔ ชื่อที่ประกิตตั้งจากการยั่วล้อเชิงตั้งคำถามโครงการโฆษณาชวนเชื่อทางเสียงเพลงข้างต้น

บ้านเกิดเมืองนอนฯ ในเวอร์ชั่นของประกิต ประกอบด้วยงานจิตรกรรมบนแผ่นไม้จำนวน 7 ชิ้น จิตรกรรมที่ศิลปินนำแรงบันดาลใจทางฝีแปรงมาจากภาพทิวทัศน์ชนบทสไตล์ช่างศิลป์ชาวบ้าน ประกอบเข้ากับงานตัดแผ่นไม้เป็นรูปทรงต่างๆ อาทิ รถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำ ฯลฯ พร้อมภาพสัญลักษณ์ ตัวเลข หรือข้อความที่สื่อสารความหมายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแน่นอน ต่อให้มองลงมาจากดาวอังคารยังรู้ว่างานชุดนี้ประกิตต้องการสื่ออะไร

อดีตครีเอทีฟโฆษณาที่ใช้ทักษะทางวิชาชีพมาพัฒนาเป็นงานศิลปะวิพากษ์สังคมการเมืองได้อย่างเฉียบคมและสนุก ผ่านงานสร้างชื่อในยุคแรกอย่าง ‘อยู่เมืองดัตจริตชีวิตต้องป๊อบ’ (2010) หนึ่งในโปรเจกต์ศิลปะโปรเจกต์แรกๆ ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ประกิตไม่เพียงเป็นผู้บุกเบิกศิลปะการเมืองในโลกออนไลน์ เขายังเป็นคนเจนเอ็กซ์ในแวดวงโฆษณาคนแรกที่ได้รับสมญานามว่า ‘ควายแดง’ ท่ามกลางยุคสมัยที่สื่อกระแสหลักยังผูกโยงแน่นแฟ้นกับสถาบันหลักของชาติ แต่นั่นล่ะ ประกิตไม่เคยยี่หระ และเขายังคงนำศิลปะแนวป๊อบอาร์ทมารับใช้ประเด็นที่เขาต้องการสื่อสารเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

และถึงเราจะบอกว่านิทรรศการล่าสุดของประกิตชุดนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ภาพที่เห็นก็หาใช่ความนัยทั้งหมดของศิลปิน Bots World จึงชวนประกิตสนทนาเกี่ยวกับงานล่าสุดชุดนี้ เรื่อยไปถึงงานชุดก่อนหน้า และมุมมองต่อศิลปะกับการเมืองในปัจจุบัน

เนื่องจากคนอ่านส่วนใหญ่ของเราเป็นวัยรุ่น เลยอาจต้องขอให้คุณช่วยเล่าย้อนไปถึงงานในชุดแรกหน่อยว่าเป็นไงมาไง

ผมเริ่มงานนี้ (อยู่เมืองดัตจริต ชีวิตต้องป๊อบ) ตอนปี พ.ศ. 2553 ตอนนั้นผมยังทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งมีออฟฟิศอยู่แถวราชประสงค์ คืออยู่ตรงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกัน น่าจะเริ่มหลังการล้อมปราบ (พฤษภาคม 2553) มีคนตายไปเกือบร้อยศพ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจผมมากๆ คือหลังจากที่รัฐบาลฆ่าผู้ชุมนุม ก็มีการเชิญชวนคนชั้นกลางให้ออกมาทำความสะอาดพื้นที่ มีการล้างเลือดบนถนน แล้วก็มีแคมเปญ Stronger Together ชวนพระ ชวนเซเลบริตี้ออกมาพูดนั่นนี่ให้เราสามัคคีกัน ผมแม่งก็รู้สึกทั้งหดหู่ปนตลก คือตอนนั้นไม่มีคนไหนแสดงความเสียใจกับคนที่ถูกฆ่าเลยนะ ทำเหมือนคนตายเหล่านั้นไม่ใช่คน

ไอ้ความอัดอั้นที่ต้องเดินผ่านพื้นที่ดังกล่าวทุกๆ วันนี่แหละ ที่ทำให้ผมอยาก speak out ออกมา ด้วยการทำงานศิลปะ แต่เรารู้ดีว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารเนี่ย พวกหอศิลป์ หรือแกลเลอรี่ศิลปะส่วนใหญ่มันไม่อนุญาตให้เราได้พูดหรอก แต่พอดีช่วงนั้นผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันไปนิยมเล่นโซเชียลมีเดียแล้ว ผมก็เลยเอาสิ่งที่จะพูดมาผสมกับเทคนิคแบบคนทำโฆษณา อย่างเช่นการใช้งานภาพประกอบ หรือ photo montage ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมป๊อบของชนชั้นกลาง มาทำเป็นงานศิลปะเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค ก็มีการตั้งเพจ ‘อยู่เมืองดัตจริต ชีวิตต้องป๊อบ’ ขึ้น นั่นเป็นที่มาครับ

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ในฐานะที่คุณนำงานศิลปะมาเสนอผ่านช่องทางออนไลน์เป็นคนแรกๆ เลยอยากรู้ว่าตอนนั้นกับตอนนี้ บรรยากาศในโซเชียลมีเดียมันต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ

จริงๆตอนนั้นเฟซบุ๊คมันเป็นพื้นที่ที่การเมืองรุนแรงอยู่แล้วนะคือรุนแรงทั้งฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตยและฝั่งสนับสนุนการล้อมปราบเลยมันมีข้อเขียนและข้อถกเถียงทางการเมืองให้อ่านมากมายในแต่ละวันแต่ถ้าพูดถึงในแง่มุมของศิลปะเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วถือว่าน่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นก็ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะถ้าคุณเป็นศิลปินที่ทำงานด้านการเมืองที่มีมุมมองไม่ตรงกับรสนิยมของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในเวลานั้นคุณก็แทบไม่มีพื้นที่แสดงงานในแกลเลอรี่เลย

เพราะฉะนั้นความนิยมที่แพร่หลายขึ้นของโซเชียลมีเดีย มันก็เข้ามามีส่วนเปิดพื้นที่ให้คนทำงานศิลปะฝั่งประชาธิปไตยมากขึ้น จะบอกว่าเป็นพื้นที่ใหม่ของพวกเราก็ว่าได้ ซึ่งมันก็เข้าถึงคนดูได้มากกว่าแกลเลอรี่หรือหอศิลป์ จนทำให้มีศิลปินที่ทำงานสะท้อนการเมืองในโลกอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมาไม่น้อยต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

น่าสนใจตรงที่พอโลกเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น และมีข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มันเหมือนเป็นด้านกลับจากเมื่อสิบกว่าปีก่อน คือผู้คนอยากเห็นงานศิลปะแนวนี้นอกพื้นที่โซเชียลบ้าง คืออยากเห็นงานในโลกจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในม็อบ หรือตามแกลเลอรี่อาร์ทสเปซ ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อยืนยันได้ว่างานศิลปะมันมีส่วนในการขับเคลื่อนการเมืองได้จริง

ผมสนใจการทรานส์ฟอร์มกลับมาของงานศิลปะในพื้นที่ออนไลน์มาสู่พื้นที่แสดงงานจริง มองย้อนกลับไปมีเหตุการณ์หรือนิทรรศการไหนบ้างไหมครับที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือหมุดหมายของการย้อนกลับมานี้

ถ้านับรวมฝั่งที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยเข้าไปด้วยการจัดอาร์ทเลน (Art Lane) ของ กปปส. ก็ถือเป็นการเอางานศิลปะที่เผยแพร่ทางออนไลน์มาลงถนนเหมือนกันนะ แต่ที่ผมจำได้ดี ซึ่งก็เป็นการแสดงงานครั้งแรกของผมด้วย น่าจะเป็นนิทรรศการ Conflicted Vision (2014) ที่ WTF Gallery ตอนนั้นมีการชวนศิลปินจากสองกลุ่มการเมืองมาแสดงพร้อมกัน ฝั่งเราก็มีผม มีกระเดื่อง (พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง) มีมิติ (มิติ เรืองกฤตยา) ส่วนฝั่งสนับสนุน กปปส. ก็มีสุธี (สุธี คุณาวิชยานนท์) มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ) นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ความคิดที่อยู่ในโลกโซเชียลมันถูกนำมาขยายต่อในสถานที่จริงที่เป็นกายภาพของคนจริงๆ อยู่

จำได้ว่าเพจอยู่เมืองดัตจริตฯ ของคุณได้รับความนิยมมากๆ แล้วจู่ๆ มันก็หายไป เลยอยากรู้ว่าทำไมมันหายครับ

ผมตัดสินใจจะหยุดมันเองน่าจะปี 2557 ที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร และมีการข่มขู่หรือความพยายามจะปิดปากศิลปิน กระทั่งคนทำเพจมีมล้อเลียนยังโดนจับ ขณะเดียวกัน ฝ่ายเผด็จการก็มีการใช้ 112 มาดำเนินคดีคนอีกมาก ตอนนั้นผมไม่ได้กลัวที่จะต้องแสดงผลงานตัวเองนะ แต่ที่กลัวจริงๆ คือคนที่มาคอมเมนต์ในเพจของเรา คือเข้าใจอารมณ์ของคนโกรธแค้นมากๆ เขาก็อยากหาที่ระบาย พอเห็นงานเรามันเป็นไปในทิศทางหรือหัวอกเดียวกับพวกเขา เขาก็จะมาพิมพ์ระบายความรู้สึก ผมเลยหยุดไว้ก่อนดีกว่า แล้วไปต่อสู้ทางด้านอื่นเอา

เพื่อความปลอดภัย

คือคนคอมเมนต์เองก็ไม่เซฟเจ้าของเพจอย่างผมเองก็ไม่เซฟและผมก็ทำเพจของผมเองคนเดียวด้วยไม่ได้มีเวลาไปคัดกรองความคิดเห็นแล้วผมก็รู้สึกเหนื่อยมากๆงานก็ต้องทำเพจก็ต้องมอนิเตอร์

แต่ที่น่าสนใจก็คือพอรัฐเผด็จการมาไล่ปิดปากไล่จับคนหรือไล่บี้พวกเราเนี่ยผมคิดว่ามันเร่งปฏิกิริยาให้คนทำงานศิลปะเอางานของตัวเองไปอยู่บนท้องถนนมากขึ้นนะทั้งพวกสตรีทอาร์ทหรือการใช้พื้นที่สาธารณะในการแสดงงานพวกนี้

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

กลับมาที่นิทรรศการล่าสุดของคุณบ้าง โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป้าหมายของงานชุดนี้ต่างไปจากเดิมพอควร จากแต่ก่อนงานของคุณที่มุ่งเป้าไปที่การเสียดสีความดัตจริตของชนชั้นกลาง กลายเป็นการโจมตีรัฐบาลทหารโดยตรง เลยอยากรู้วิธีคิดเริ่มต้นในงานชุดนี้ครับ

จริงๆ ประเด็นของผมยังพุ่งเป้าที่ชนชั้นกลางอยู่เหมือนเดิมนะครับ คนชั้นกลางผมว่าก็ไม่ได้เปลี่ยน ในชุดความคิดก็ไม่ได้เปลี่ยนแล้วก็ยังทำตัวเป็นทนายแก้ต่างให้รัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศชุดนี้อยู่ดี เพราะแม้กระทั่งการซื้ออาวุธอะไรมากมายอย่างไม่จำเป็น ความหมายก็คือว่า คุณในฐานะที่เป็นคนเสียภาษี คุณต้องตั้งคำถามแล้ว แต่คนชั้นกลางส่วนหนึ่งกลับเงียบ คือคุณลองเปลี่ยนดูว่าถ้าพฤติกรรมนี้มันเกิดขึ้นในสมัยทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ดูสิ ชนชั้นกลางกลุ่มเดิมคงออกมาเป่านกหวีดขับไล่กันอย่างล้นหลามแน่ๆ

แล้วคุณดูสิ 3-4 ปีหลังมานี้คุณได้ข่าวอะไรที่พูดถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศบ้างไหม ข่าวที่ได้ยินบ่อยสุดคือทหารเอาเงินไปซื้ออาวุธอีกแล้ว หรือกลุ่มทุนเจ้าเดิมๆ ควบรวมหรือผูกขาดทางธุรกิจอีกแล้ว ผมคิดว่าประเด็นนี้ ทำให้ผมสนใจว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ชนชั้นกลางปกป้องอยู่มันเต็มไปด้วยงบประมาณทั้งนั้น แล้วการที่ผมหยิบยืมวิธีการเขียนแบบภาพทิวทัศน์ชนบทมาใช้ มันก็เหมือนเป็นแว่นหรือเป็นสายตาของชนชั้นกลางที่มีต่อชนบทไทย จริงๆ ยัง attack ชนชั้นกลางอยู่ เพียงแต่รอบนี้ผมนำเรื่องราวของการซื้ออาวุธมาใช้นำเสนอให้คนชั้นกลางมาคิด

แล้วคุณคิดว่าคนชั้นกลางที่คุณต้องการจะส่งสารไปพวกเขาจะคิดไหม

ผมว่าบางส่วนเขาก็คิดแต่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกันนะ คือเหมือนเสือกยินดีให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารตั้งแต่แรกไปแล้วอะไรแบบนี้ ซึ่งมันน่าเศร้า อย่างตัวเลขที่ผมเขียนไว้บนงานชิ้นเรือดำน้ำ มันไม่ใช่งบที่รัฐบาลชุดนี้เอาไปซื้อเรือ แต่เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก่อนผมมาคุยกับคุณ ผมอ่านข่าวและพบว่ายอดมันทะลุเกิน 9 ล้านล้านบาทไปแล้ว ไอ้เงินมหาศาลก้อนนี้คือหนี้ที่คนรุ่นหลังต้องจ่าย ขณะเดียวกันไอ้รัฐบาลที่กำลังก่อหนี้อยู่ ก็ดันมองมองคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่ต้องมาจ่ายหนี้ให้มึงเป็นศัตรูอีก

คำถามสำคัญก็คือ ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้ยังไงด้วยหนี้ขนาดนี้ เรื่องนี้ผมคิดว่าจริงๆเวลาที่ผมทำงานผมไม่ได้เห็นแค่ตัวเอง ผมเห็นลูกหลานของเราเห็นอีกหลายๆ ชีวิตที่จะต้องเข้ามาแบกรับการก่อหนี้ผูกพันขนาดนี้ แล้วสิ่งที่คุณกู้มาคุณก็ไม่ได้สร้างอะไรให้มัน Productive เลย คุณกู้มาแล้วก็แจก เงินมันก็สูญไป พอพวกคุณตาย คนรุ่นหลังที่คุณมองเขาเป็นศัตรู ก็ต้องมาแบกรับหนี้พวกนี้ ผมว่ามันไม่แฟร์

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

 

นอกจากเครื่องบิน รถถัง หรือเรือดำน้ำ งานซีรีส์นี้ยังมีงานธงชาติด้วย ซึ่งมันก็ไปพ้องกับชื่อนิทรรศการที่คุณตั้งขึ้น (บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔) เลยอยากรู้ว่านี่เป็นความตั้งใจของคุณด้วยหรือเปล่า

ผมสร้างงานธงชาติสองชิ้นนี้ทีหลังพวกงานรถถังและใช่ตอนทำงานมันพอดีกับที่มีการเอาเพลงบ้านเกิดเมืองนอนมาทำใหม่และเผยแพร่ออกสื่อกระแสหลักด้วยผมก็รู้สึกว่าอะไรวะทำไมชีวิตเราโตมาป่านนี้การปลุกระดมยังกลับมาอยู่เรื่อยในทุกๆครั้งที่รัฐบาลบริหารล้มเหลวมันดูเหมือนว่าประเทศเรามันมีข้าศึกสงครามอยู่ตลอดเวลาแต่พอดูไปจริงๆข้าศึกสงครามของเรามันคือความคิดที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปของคนในประเทศทั้งนั้นมันไม่ใช่จากศัตรูภายนอก

ที่ตลกไม่ออกก็คือเมื่อคุณตั้งใจฟังเพลงปลุกระดมพวกนี้ดีๆคุณจะพบเนื้อหาที่พูดถึงความดีเลิศความโดดเด่นความเป็นเอกราชไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครแต่ถ้าคุณมาคิดกับมันจริงๆหรือสำรวจตัวเองจริงๆคุณเคยเห็นไหมว่าไทยเรามีอะไรโดดเด่นมีนวัตกรรมหรือความภาคภูมิใจในระดับนานาชาติบ้าง… แม่งแทบไม่มีเลยนะ เราจะตกเป็นเครื่องมือ แม้กระทั่งเอกราชทางวัคซีนกูยังไม่มี ถ้าคุณไม่หลอกตัวเองเกินไป ผมถามหน่อยมีอันไหนที่ไม่ใช่ของจีนบ้าง คือคุณรู้อยู่แก่ใจ

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ช่วงสองปีหลังมานี้ เราจะเห็นได้ว่างานศิลปะสะท้อนการเมืองได้รับการนำเสนออย่างแพร่หลายมากๆ แต่ขณะเดียวกันการออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ หรือการยื่นข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็มีส่วนในการขยับเพดานในการสื่อสารให้มีความตรงไปตรงมามากขึ้น คือมึงไม่ต้องอ้อมค้อมกันอีกแล้ว คิดว่าสิ่งนี้มีผลกระทบต่อการทำงานของคุณ หรือศิลปินคนอื่นๆ ที่เน้นการสร้างสัญลักษณ์ หรือการยั่วล้อข้อเท็จจริงด้วยอารมณ์ขันบ้างไหม

อารมณ์ขันมันเป็นสติปัญญาอย่างหนึ่งผมมองอย่างนี้นะครับอารมณ์ขันมันช่วยถ้าในแง่ของภาษาโฆษณาคืออารมณ์ขันบางทีมันสร้าง Attention ให้คนดู แล้วผมคิดว่าอารมณ์ขันมันทำให้คนเพลิดเพลินในความคิด สิ่งนี้ยังจำเป็นอยู่ แล้วงานพวก Satire งานล้อเลียนอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นสติปัญญาที่โคตรฉลาด อันนี้คือเห็นผ่านงานของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานก้าวหน้ากว่าผมด้วยซ้ำ ทีนี้ผมคิดว่าในสภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้ การที่คุณซัดกันไปอย่างตรงไปตรงมากับผู้มีอำนาจในประเทศนี้ เขาไม่ไมตรีคุณหรอก เพราะฉะนั้นคุณต้องยิ่งสร้างสัญญะมากกว่านี้ ผมคิดว่าจำเป็น จะผ่านอารมณ์ขันหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่าได้หมด

อันนี้ถามเพราะคุณเคยทำงานในแวดวงโฆษณา และเคยถูกเรียกว่าเป็นควายแดงรุ่นแรก อยากรู้ว่าในแวดวงตอนนี้ ทิศทางของผู้คนได้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนครับ

ผมอาจตอบได้ไม่ดีนักเพราะไม่ได้ทำงานโฆษณามาหลายปีแล้วแต่เท่าที่เห็นผมว่ามันเปลี่ยนไปมากแล้วคือตอนไปม็อบก็เห็นครีเอทีฟหรือคนทำงานเอเจนซี่รุ่นใหม่ๆหลายคนมาร่วมด้วย

ผมว่าทุกวันนี้ตามเอเจนซี่ต่างๆ ก็ตระหนักเรื่องพวกนี้ เพียงแต่ว่ายุคที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษามันทำงานสำเร็จ มันสร้างคนเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่หล่อหลอมความคิดเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างแข็งแรง

แต่ในปัจจุบันพลังอย่างนี้มันไม่มีแล้ว เพราะว่าการมาของโซเชียลมีเดียหรือในอนาคตที่ว่าจะเป็นเรื่องของ Metaverse ก็ดี วันนี้คนรุ่นเก่าไปไม่เป็นหรอก มันเป็นโลกที่คุณต้องใช้พลังหรือความรู้ของเด็กรุ่นนี้ขับเคลื่อน คือเพราะว่าถ้าที่เราเห็นผมบอกเลยว่ามันคัดพวกนี้ตกขบวนรถ คนที่อยู่ในเอเจนซี่กว่าครึ่งตอนนี้ตกขบวนรถพวกนี้หมด เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าเด็กรุ่นใหม่มันจะไม่ไปในทิศทางเดิมแน่ๆ มันจะไปในทิศทางที่ไปในอนาคต

ไหนๆ ก็พูดเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว คุณมีแผนจะเอางานไปทำ NFT บ้างไหม

ผมสนใจนะแต่ยังไม่ได้ทำยังศึกษาอยู่มันมีหลายเรื่องที่ต้องถกเถียงกันแต่ส่วนตัวผมไม่ปฏิเสธและช่วงหลังๆก็มีคนชวนไปพูดคุยเรื่องนี้บ่อยมากๆเหมือนกัน

คุณมองเรื่องนี้ยังไง

ผมมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นอย่างถ้ามี Metaverse เกิดขึ้น และงานศิลปะมันถูกทรานส์ฟอร์มเป็น NFT เสียส่วนใหญ่ พวกสำนักประมูลอย่าง Chirstie’s ก็อาจต้องตามไปเหมือนกัน แล้วมันก็คงเหมือนตลาดหุ้นที่คนในแวดวงต้องหาวิธีทำให้งานศิลปะมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แล้วก็ต้องพูดถึงคุณค่าของงานศิลปะต่อประวัติศาสตร์หรือความทรงจำร่วมของเราด้วย ขณะเดียวกันพอมันอยู่ในโลกดิจิทัล มันจึงไม่ถูกจำกัดเฉพาะแค่สื่อเดิมๆ ดีไม่ดี Banksy อาจจะทำ NFT ออกมาเป็นเกมก็ได้ เช่นเกมที่เปิดให้คนเข้ามาขุดหางานตัวเองอะไรแบบนี้ น่าสนุกดี

ที่ถามเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่างานของคุณมันมีคาแรกเตอร์แบบ NFT เลยน่ะครับ

เรื่องนี้น่าสนใจก่อนที่ NFT จะฮิต เจ้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะในบ้านเราท่านหนึ่งมาซื้องานผีทักษิณของผมเป็นไฟล์รูปถ่าย คืองานนี้ต้นฉบับมันคือผมเอาผ้าคลุมสีขาวที่สกรีนลายใบหน้าของทักษิณ ชินวัตร มาคลุมทับ และก็เผยแพร่ไปทางออนไลน์ตามปกติ ซึ่งก็ไม่เคยมีความคิดมาก่อนว่าเราจะขายงานชุดนี้ในรูปแบบภาพถ่าย เจ้าของพิพิธภัณฑ์เขาก็บอกให้เราคิดเงินมาเลย เขาไม่ได้ซื้อผ้าคลุมของเรา แต่เขาจะซื้อรูปถ่าย ผมก็คิดเงินไม่ถูก ไม่รู้จะคิดยังไง

ผมว่านี่มันเรื่องเดียวกันกับ NFT น่ะ ผลสุดท้ายแล้วมันทรานส์ฟอร์มจากจุดหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การกำหนดมันจะกำหนดยังไง เช่นสมมุติว่าคุณจะกำหนดให้เป็นแค่ภาพถ่ายหนึ่งภาพ หรือเป็นอะไร ก็งงๆ แต่ก็สนุกดี

ประกิต กอบกิจวัฒนา bots

ก็ต้องศึกษากันต่อไป

เป็นประเด็นเดียวกับเรื่องคริปโตเคอเรนซี่น่ะคือการศึกษาในบ้านเรามันตามโลกที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ทันแล้วเอาง่ายๆแค่มหาวิทยาลัยศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศเราก็ยังคงยึดมั่นอยู่แต่กับการสอนศิลปะแบบช่างศิลป์อยู่เลยไม่ต้องถึงกับ NFT หรอก แต่แค่นิเวศศิลปะอื่นๆ อย่างพวกการตลาดทางศิลปะ มันไม่เคยอยู่ในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งการไม่มีพวกนี้ คุณไปต่างประเทศยากมาก

คือถ้าคุณไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจ คุณก็จะไม่มีโอกาสเรียนด้านการเงินจากหลักสูตรการศึกษาอื่นๆ มันก็เลยเศร้ากันชิบหาย คนที่เรียนศิลปะก็ไม่มีความรู้เรื่องอื่น นอกจากทำงานศิลปะของตัวเองไปอย่างเดียว การเกิดขึ้นของ NFT มันมีส่วนทำให้พวกเราคิดถึงการสร้างระบบนิเวศของศิลปะขึ้นมาจริงๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผมก็เชื่อว่าศิลปินไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปทำเรื่องธุรกิจหรือการตลาดควบรวมกันไปทุกคนหรอก คุณก็ต้องทำงานศิลปะของตัวเองไป แต่ถ้าการศึกษาในบ้านเราให้ความสำคัญกับสร้างบุคลากรในระบบนิเวศของศิลปะ ศิลปินในบ้านเราจะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มาก

นิทรรศการบ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔ จัดแสดงที่ VS Gallery ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565, เปิดทำการวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร) https://www.facebook.com/VSGalleryBangkok 

Writer

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียน ที่ใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่

Photographer

Preecha Pattara

Preecha Pattara

ช่างภาพอิสระโดยเฉพาะงานอีเวนท์ศิลปะ ถ่ายประจำให้แกลเลอรี่หลายแห่งในกรุงเทพฯ อาทิ SAC, VER, JOYMAN, VS, artist+run ฯลฯ

RELATED CONTENTS

คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio

คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio

พูดคุยกับเด๋อถึงผลงานใหม่ของเขาชิ้นนี้ ผลงานที่เขาบอกว่าเป็นอีกวิธีสะท้อนปัญหาฝุ่นควัน มากไปกว่าการก่นด่า หรือสาปแช่งนายทุนผู้ปลูกข้าวโพด

  • สนทนา
  • Feb 25,2021

สนทนา: ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ ว่าด้วยพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในพะเยา

สนทนา: ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ ว่าด้วยพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในพะเยา

พูดคุยเกี่ยวกับแพสชั่น ความเคลื่อนไหวในเมือง และการขับเคลื่อนพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในเมืองเล็กๆ เมืองอย่างเมืองพะเยา

  • สนทนา
  • Jul 13,2021

สนทนา: JARB ศิลปินรุ่นใหม่หัวใจ City Pop

สนทนา: JARB ศิลปินรุ่นใหม่หัวใจ City Pop

และเรื่องเบื้องหลังงาน Visualizer เพลง Out of Time ของ The Weeknd

  • สนทนา
  • Mar 17,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK