เมื่อสิ้นเสียงประกาศรางวัล “เพลงร็อคยอดเยี่ยม” บนเวที Grammy Awards 2021 ว่าเป็นของเพลง Stay High จากศิลปินหญิง บริททานีย์ ฮาวเวิร์ด สาวกเพลงร็อคทั่วโลกคงตั้งคำถามตัวโตๆ ทันที ว่าเธอคนนี้คือใคร และเพลงเธอมันดีงามปานไหนถึงเข้าตาและเข้าหูกรรมการแกรมมี่ปีนี้ได้
หลายคนก็คงเสิร์ชฟังทันที และก็น่าจะสงสัยหนักกว่าเดิม เพราะเพลง Stay High เนี่ยฟังยังไงมันก็โซลชัดๆ ไม่ร็อคสักนิด แล้วไหงถึงมาคว้ารางวัลในหมวดร็อคได้ล่ะ
ไม่รู้ว่าเกณฑ์การตัดสินด้วยดุลยพินิจของบรรดาผู้ลงคะแนนนั้นเป็นยังไง (คอมเมนต์ของชาวเน็ตบอกว่า เป็นอีกครั้งที่รางวัลแกรมมี่จัดหมวดเพลงได้มั่วซั่วสุดๆ เหมือนแค่อยากจับเพลงอะไรไปลงในหมวดไหนก็ทำเลย) แต่ที่แน่ๆ คือชื่อเสียงเรียงนามและตัวงานของบริททานีย์ ฮาวเวิร์ด เป็นที่รู้จักมากขึ้นแบบข้ามคืน วัดได้จากจำนวนคอมเมนต์ประเภท “ตามมาจากงานแกรมมี่จ้า” ตามมิวสิควิดีโอต่างๆ ของเธอ
บริททานีย์ไม่ใช่ศิลปินหน้าใหม่ที่ไหน เธอคืออดีตนักร้องนำ Alabama Shakes วงเซาเธิร์นร็อคฝีมือโหดที่เคยโลดแล่นในวงการเพลงเมื่อหลายปีก่อน (เริ่มอ๋อแล้วหรือยัง) ที่ชื่อของวงหายไปจากตลาดเพลง ก็เพราะสมาชิกตัดสินใจพักวง และบริททานีย์ก็ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับอัลบั้มเดี่ยวที่ง้างจะทำมานาน จนแล้วเสร็จในปี 2019
เธอบอกว่าแค่ฟัง 11 เพลงในอัลบั้มนี้ ก็จะรู้จักทั้งหมดของชีวิตเธอ เพราะมันบันทึกทุกช่วงเวลาสำคัญตลอด 33 ปีของเธอไว้ได้ครบถ้วน แต่ถ้าไม่รู้จะจับต้นชนปลายยังไง จะเริ่มรู้จักเธอจากมุมไหนดี เราคัดมาให้ 5 เรื่องที่เป็นหลักไมล์สำคัญ กว่าจะกลายเป็นศิลปินสาวเจ้าของเสียง ‘โซลพลัง’ ที่สะกดคนฟังทั้งโลกอย่างวันนี้ เธอผ่านอะไรมาบ้าง มาตามดูชีวิตเธอไปพร้อมกันเลย
เกิดและโตที่ลานขยะ ในครอบครัวที่มีจังหวะในหัวใจ
บริททานีย์ ฮาวเวิร์ด เกิดเมื่อ 2 ตุลาคม 1988 ในเมืองที่มีประชากรไม่ถึงสามหมื่นอย่างเอเธนส์ รัฐอลาบาม่า ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา
พ่อเธอเป็นคนผิวสี มีอาชีพขายรถมือสอง ส่วนแม่เป็นเกษตรกรชาวผิวขาว ความทรงจำวัยเด็กของบริททานีย์ไม่ได้สดใสสมวัย หนึ่งเลยคือเธอมีเพื่อนน้อย สองคือครอบครัวก็ไม่ได้ร่ำรวย ต้องอาศัยในเทรลเลอร์เก่าๆ ที่ตั้งอยู่กลางลานขยะ (ซึ่งเคยจมอยู่ในกองเพลิงเพราะโดนฟ้าผ่าใส่ด้วย)
สามคือปัญหาสุขภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของเธอและพี่สาว นำมาสู่การสูญเสียและการแยกทางของพ่อแม่เธอ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังโชคดีที่ครอบครัวเธอรักในเสียงเพลง และปลูกฝังให้บริททานีย์เติบโตท่ามกลางเสียงดนตรี “ผมจำได้เลย บริททานีย์เดินเข้าไปในครัว หยิบหม้อหลายๆ ขนาดมาวางเรียงกันเหมือนกลองชุด แล้วกระหน่ำตีอย่างเมามันด้วยช้อนส้อม จนผมต้องตะโกน..บริททานีย์! เอาหม้อไปเก็บที่เดี๋ยวนี้!” พ่อเธอเล่า
“ที่จริงแล้ว เราร้องและเล่นกันเป็นประจำ เพราะบ้านเรารักในเสียงเพลงกันทุกคน จึงไม่มีทางที่บริททานีย์จะไม่รักมัน ผมเห็นเธอเริ่มจับไมค์โครโฟนร้องเพลงตั้งแต่ 3 ขวบเลยมั้ง”
ผ่านมาร่วมสามสิบปี เด็กสาวที่เอาเครื่องครัวมาตีเป็นกลองในวันนั้น เติบโตมาเป็นนักร้องเจ้าของรางวัลแกรมมี่ในวันนี้ ขึ้นเวทีใหญ่เล็กมานับร้อยพัน ทว่าถ้าต้องเลือกสักเวทีที่มีความหมายต่อชีวิตเธอที่สุด บางทีมันอาจเป็นในเทรลเลอร์เก่าๆ ที่เธอเคยเรียกว่าบ้านก็ได้
Jaime อัลบั้มที่มีจิตวิญญาณสองดวงอยู่ในนั้น
เมื่อสองอัลบั้มแรกของ Alabama Shakes ประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่อง ความคาดหวังของอัลบั้ม 3 จึงสูงลิบ ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่า ที่ทำให้วงไม่อาจเดินหน้าต่อได้
พวกเขาเจอปัญหาไอเดียตัน วันแล้ววันเล่าเฝ้าแต่มองไปนอกหน้าต่าง ทิ้งขว้างลมหายใจไปเรื่อยๆ “ฉันนั่งอยู่เงียบๆ คิดกับตัวเองว่าอยากทำอะไรกันแน่ จนคิดได้ว่า ฉันขอเลือกจะทำผิดพลาด แต่ได้เป็นตัวเอง ดีกว่าที่จะมีเงินทองเหลือใช้ในชีวิตที่โคตรน่าเบื่อ” บริททานีย์เผย
ปี 2017 เธอตัดสินใจออกจากวง มาโฟกัสกับอัลบั้มเดี่ยวเต็มตัว “แทบทุกคนบอก มึงบ้าปะ! คือจะทำงานเดี่ยวควบคู่กับงานวงก็ได้ไม่ใช่เหรอ ไม่เห็นต้องออกเลย แต่ยังไงซะ ฉันก็เลือกแล้ว”
ดูมั่นอกมั่นใจอย่างนี้ แต่ลึกๆ บริททานีย์ก็กลัวว่างานจะออกมาไม่เหมือนกับที่วาดฝันไว้ เมื่อกลัวก็ต้องหาที่พึ่งทางใจ เธอใช้วิธีหลับตาแล้วภาวนาถึงพี่สาวผู้ล่วงลับ “ฟังดูแปลกๆ หน่อยนะ แต่ฉันรู้สึกจริงๆ ว่าเธออยู่ข้างๆ และทำอัลบั้มนี้ไปด้วยกันกับฉัน”
บริททานีย์อุทิศอัลบั้มเดี่ยวของเธอให้พี่สาว ด้วยการตั้งชื่อมันว่า Jaime ตามชื่อพี่ “สมัยเด็ก บ้านเราจนมาก และทุกคนก็เครียดมาก เป็นพี่ฉันที่พยายามทำให้บรรยากาศมันผ่อนคลาย เธอสอนให้ฉันใช้ชีวิตให้สนุกแม้ไม่มีเงิน นั่นคือการฝึกจินตนาการ และร้องเพลงเล่นดนตรี...ฉันคงไม่มีวันนี้ถ้าไม่มีเธอ”
เธอและพี่เกิดมาพร้อมโรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) บริททานีย์ยังโชคดีที่มีปัญหาแค่ตาซ้ายพร่าเลือน แต่พี่เธอไม่ได้มีโชคเข้าข้าง เธอเจ็บออดๆ แอดๆ มาเรื่อยๆ จนอายุ 11 ก็เข้าขั้นวิกฤต “เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง แล้วก็มองอะไรไม่เห็นเลย อาการแย่มากๆ จนในที่สุด มันก็จบลง ฉันนิ่งไปเลย เป็นความเสียใจที่หนักหนาเกินกว่าเด็ก 8 ขวบคนหนึ่งจะรับไหว”
แต่ชีวิตก็ต้องเดินต่อ ผ่านมา 25 ปี บริททานีย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเสียใจนั้น ด้วยเชื่อว่าพี่สาวยังมองเธอจากสักที่ หรือไม่ก็อยู่ใกล้ๆ เธอในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะเป็นพลังงานที่มองไม่เห็น แต่ได้ยิน หรือเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ได้ยิน
แน่นอนว่าตัวบริททานีย์ใส่จิตวิญญาณตัวเองลงไปในอัลบั้ม แต่ใครจะรู้..บางทีมันอาจมีมากกว่าหนึ่งวิญญาณที่สถิตอยู่ในนั้น
เขียนเพลงฮิตที่สุดของตัวเอง ตั้งแต่ยังทำงานสุขาภิบาล
ก่อนจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินจากการทำเพลงในนาม Alabama Shakes บริททานีย์เคยทำงานเป็นพนักงานร้านขายของชำ, เซลขายรถมือสอง, ทำพิซซ่าในร้าน Domino, ทอดไข่ในร้าน Cracker Barrel, ทำกรอบรูป, ส่งไปรษณีย์ หรือแม้แต่เก็บขยะให้กับบริษัทด้านสุขาภิบาล
แต่ไม่ว่าจะหาเลี้ยงชีพด้วยหน้าที่การงานแบบไหน บริททานีย์ก็ไม่เคยละทิ้งสิ่งที่เธอรักที่สุด นั่นคือการเล่นดนตรีและการแต่งเพลง “ฉันทำงาน 13 ชั่วโมงในที่ทำการไปรษณีย์ พอเลิกงานปุ๊บ ก็รีบแจ้นไปซ้อมดนตรีเลย เป็นอย่างนี้อยู่นาน”
ใครจะไปนึกว่าหนึ่งในเพลงที่เธอเขียนขณะทำงานสุขาภิบาลอย่าง Hold On จะกลายเป็นเพลงฮิตที่สุดเพลงหนึ่งของเธอ “ฉันกำลังอยู่บนรถบรรทุกบุโรทั่ง นั่งเปื่อยๆ ไปทำงานที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดบ้านคน” บริททานีย์ย้อนความหลัง
“ตอนนั้นเราก็เริ่มทำวงกันแล้ว และมักจะอัดสิ่งที่เราซ้อมลงในแผ่นซีดี แบบตามมีตามเกิดอะนะ เพื่อให้ฉันเอาไปเขียนเนื้อ ฉันก็จะใช้วิธีฟังมันวนไป แล้วฮัมอะไรก็ได้ตามดนตรี จนอยู่ๆ ก็เกิดเป็นท่อนฮุคของเพลง Hold On”
ไม่นานหลังจากนั้น เธอและเพื่อนมีโอกาสโชว์บนเวทีเล็กๆ ในบาร์ชื่อ Brick Deli & Tavern ที่อลาบาม่า เมื่อถึงคิวเพลงนี้ บริททานีย์ก็ร้องมันทั้งที่ยังมีแค่ท่อนฮุคนั่นแหละ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อ ฝูงชนหน้าเวทีร้องมันตามเธอแบบดังลั่น โดยที่ไม่เคยฟังเพลงมาก่อน “ราวกับมันเป็นเพลงชาติของบาร์แห่งนี้ยังไงยังงั้น” บริททานีย์ติตตลก
ปี 2012 Alabama Shakes ได้ฤกษ์ออกอัลบั้มแรก Boys & Girl ขณะบริททานีย์อายุ 23 และชีวิตเธอในวัย 24 เป็นต้นมาก็ไม่เคยต้องกลับไปรับเงินจากงานด้านสุขาภิบาลหรือส่งไปรษณีย์อีกเลย
LGBT ผู้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นและคนที่รัก
หลังสำรวจจิตใจตัวเองอย่างจริงจัง บริททานีย์ ฮาวเวิร์ด ก็เปิดเผยตอนวัยเลข 2 ว่าเธอรักเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความกล้าหาญอย่างสุดๆ สำหรับเด็กสาวที่เกิดและโตในเมืองที่ยังไม่ยอมรับคน LGBT ขนาดนั้น
“ตอนฉันอยู่ที่เอเธนส์ (ชื่อเมืองในรัฐอลาบาม่า บ้านเกิดเธอ ไม่ใช่เมืองหลวงของกรีซ) คน LGBT ที่นั่นดูโศกเศร้าหัวใจสลายตลอดเวลา จนฉันย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเมือง ฉันก็แบบ โอ้! คน LGBT ที่นี่เขาดูมีความสุขกันจัง! ทำให้ฉันมั่นใจในความเป็นตัวเองมากขึ้น”
ราวๆ ปี 2017 บริททานีย์ตั้งวงโฟล์คร็อคขึ้นที่แนชวิลล์ ชื่อวง “Bermuda Triangle” โดยได้เบคคา แมนคารี่ และ เจสซี่ ลาฟเซอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีมาร่วมวง - ตอนนั้นเองที่บริททานีย์รู้สึกใจตุ้มๆ ต่อมๆ เมื่อเจอหน้าเจสซี่ครั้งแรก
“ฉันนี่รีบไปหาหมอเลยนะเชื่อไหม (หัวเราะ) มือฉันเปียกเหงื่อจนชุ่ม หัวใจก็เต้นแรงราวกับจะหลุดจากอก ท้องก็มวนไม่หยุด ตอนแรกฉันคิดว่าตัวเองเป็นเบาหวาน หรือไม่ก็แพนิค จนหมอบอก คุณปกติดีมากครับ และเพื่อนฉันก็บอก แกไม่ได้ป่วย แต่มีความรักต่างหากเว้ย!”
โชคดีที่เจสซี่ก็มีอาการใกล้เคียงกับเธอ เมื่อรักมันลงล็อค อะไรๆ ก็ง่าย ทั้งสองรักกันหวานชื่นจนคนอื่นอิจฉา เป็นรักที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่จนทำให้เธอมั่นใจว่า คนที่เธอคบอยู่คือคู่แท้ที่จะเคียงข้างเธอไปตลอดชีวิต
“เรากินข้าวอยู่ในร้านประจำ และก็มีคนขอแต่งงานกันพอดี ฉันเลยหันไปหาเจสซี่แล้วพูดว่า งั้นเราแต่งบ้างเอาไหม? ง่ายๆ อย่างนี้แหละ จากนั้นงานแต่งของเราก็เกิดขึ้นบนภูเขาสูงที่อยู่ถัดจากลำธารเล็กๆ รายล้อมด้วยผู้คนที่เรารัก”
จากนี้ ไม่ว่าเธอจะอยู่ในเอเธนส์บ้านเกิดหรือในเมืองไหน เธอก็สามารถเป็น LGBT ที่มีความสุขได้ทุกที่ กับสิ่งที่ตัวเองเป็น และกับคนที่ตัวเองรัก
ชนะ Grammy Awards 5 รางวัล จากการเข้าชิงทั้งหมด 16 รางวัล
เรียกเธอว่านักร้องมือรางวัลก็ไม่ผิดอะไร เพราะถ้านับเฉพาะเวทีบิ๊กเบิ้มอย่าง Grammy Awards บริททานีย์ก็คว้าชัยได้ถึง 5 รางวัล จากการเข้าชิงทั้งหมด 16 รางวัล ทั้งในนามศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม ได้แก่
Best Rock Song และ Best Rock Performance จากเพลง Don’t Wanna Fight (Alabama Shakes) เมื่อปี 2016, Best Alternative Music Album จากอัลบั้ม Sound & Color (Alabama Shakes) เมื่อปี 2016, Best American Roots Performance จากเพลง Killer Diller Blues (Alabama Shakes) เมื่อปี 2018 และ Best Rock Song จากเพลง Stay High ในปี 2021
ถ้วยล่าสุดที่เพิ่งได้รับสดๆ ร้อนๆ บริททานีย์เอาชนะคู่แข่งอย่างเพลง Kyoto ของ ฟีบี้ บริดเจอร์ส, Lost in Yesterday ของ Tame Impala, Not ของ Big Thief และ Shameika ของ ฟีโอนา แอปเปิล - ก่อนกล่าวสปีชฉลองความสำเร็จแบบ New Normal จากที่บ้านด้วยความตื่นเต้นและดีใจ ขอบคุณทุกชื่อที่เธอนึกออกในตอนนั้น ดูแล้วก็พอเดาได้ว่าเธอด้นสด ไม่ได้ร่างสคริปต์มาก่อน เพราะคงไม่คิดว่าจะเป็นตัวเองที่ได้รางวัล
จริงๆ เธอและเพื่อนๆ Alabama Shakes เคยเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง Album of the Year เมื่อปี 2016 ด้วย แต่ก็ชวดชัยไปเพราะต้องเจอคู่ต่อกรระดับเกรด A ทั้งเทเลอร์ สวิฟต์, เคนดริก ลามาร์, The Weeknd หรือแม้แต่ คริส สเตเปิลตัน สุดท้ายเป็นสาวสวิฟต์ที่ได้ถ้วยไป จากอัลบั้ม 1989
ถึงอย่างนั้น อัลบั้ม Sound & Color ของบริททานีย์ ก็ยังเป็นอัลบั้มแห่งปีในสายตาเพื่อนร่วมวงการหลายราย หนึ่งในนั้นคือ อะเดล ที่ถึงกับยอมรับตามตรงว่าเธออิจฉาเสียงของบริททานีย์สุดๆ
“เธอทำให้ฉันนึกถึงเอททา เจมส์ หรือแอน พีเบิลส์ ด้วยอะไรก็ไม่รู้ในเสียงของเธอที่มาจุดไฟในจิตวิญญาณฉันให้ลุกโชน คือเธอแม่งโคตรโซลอะ”
MUSIC REVIEW อัลบั้มใหม่ของ Haim Women In Music Pt.III