BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
TRANS_gender ไม่ได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
  • Trans_
  • Oct 01,2020

TRANS_gender ไม่ได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง

ความเท่าเทียมทางเพศ, การแก้กฎหมายสำหรับผู้ขายบริการทางเพศ (sex worker), สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังร้อนแรงในปัจจุบัน ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะเคยร่วมขบวนไหน ก็อาจเคยเห็น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้มีศีรษะโล้นเลี่ยน แต่งหน้าจัดเต็ม และอยู่ในชุดแฟนซีเปี่ยมสีสัน โดดเด่นมาแต่ไกลในม็อบ

ต้นเกิดในร่างของผู้ชายในครอบครัวชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ไทย เข้ารีตคาทอลิกตั้งแต่เล็ก หากก็ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองมาตั้งแต่จำความได้ เขาเติบโตขึ้นมาภายใต้การถูก bully จากผู้คนที่อยู่ในกรอบคร่ำครึทางสังคมมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของความเป็นคนญวน รูปลักษณ์ และอย่างแน่นอน ความเป็นกระเทย

ถึงแม้เขาจะเติบโตมาเช่นนั้น หากต้นก็กลับเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เขาเป็นผู้บุกเบิกร้านนวดไทยในเมืองเชียงใหม่ จนเคยเป็นหนึ่งในร้านที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ขณะเดียวกัน เขาก็ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหาใช่แค่ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังรวมถึงความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์

“หลายคนมักเข้าใจผิดว่าที่เราแต่งตัวแปลกๆ อยู่ตามม็อบ เพราะเราต้องการเรียกร้องสิทธิให้คนข้ามเพศ ซึ่งนั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง หัวใจหลักจริงๆ คือการเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามองและเคารพกันในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำจะลดน้อยลง และรัฐจะมีส่วนในการออกนโยบายที่มีส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ” ต้นบอกจุดยืนของเขา รวมถึงเหตุผลว่าทำไมผู้คนทุกเพศและวัยจึงควรตื่นตัวทางการเมือง

ในระหว่างที่ต้นอยู่ระหว่างขับเคลื่อนแคมเปญรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2535 เพื่อทำให้สังคมเข้าใจว่าการค้าประเวณีเป็นทางเลือก ไม่ได้เป็นอาชญากรรม และเพื่อให้ sex worker ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างถูกต้อง BOTS พูดคุยกับต้นว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญต่อการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมนี้ ซึ่งต้นตอบว่าหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญ คือการทำความเข้าใจใหม่ต่อเพื่อนมนุษย์ผู้เป็น Transgender ให้ได้เสียก่อน

 

1) ต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่สองเพศ

ต้นบอกว่าแม้กระทั่งใน พ.ศ. นี้ ผู้คนส่วนหนึ่งก็ยังคงมีโลกทัศน์ที่ไม่หลุดจากกรอบทางเพศซึ่งยึดตามอวัยวะเพศที่ติดตัวบุคคลนั้นๆ มาตั้งแต่เกิด…

“ต่อให้ใครสักคนทำการแปลงเพศไปเป็นเพศที่ตัวเองต้องการแล้ว เขาหรือเธอคนนั้นก็ยังถูกใครสักคนมองหรือประเมินผ่านความคิดถึงเพศทางกายภาพดั้งเดิมของตัวเอง นับประสาอะไรกับการมองว่าเพศมีความหลากหลายมากกว่าแค่ชายหรือหญิง

และอย่างที่เห็น ความไม่สามารถก้าวข้ามความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่การจัดการที่ไม่มีมนุษยธรรมตามมาอีกมากมาย เช่น การใช้ความรุนแรง การถูกผู้ใหญ่บังคับให้แต่งงาน ไปจนถึงการข่มขืนเพื่อบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรม หรือการใช้หลักศาสนาและจิตแพทย์ เราไม่มีทางทำให้สังคมนี้เกิดความเท่าเทียมได้เลย หากเรายังมองว่าเพศหลากหลายคือความวิปริต”

 

2) เพศหลากหลายไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นคนดีหรือไม่ดี

“เราอาจจะเคยได้ยินผู้ใหญ่บางคนพูดในเชิงยอมรับทางเลือกทางเพศของลูกว่า จะเป็นเพศอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดีหรือต้องประสบความสำเร็จ แต่อะไรคือเครื่องพิสูจน์ความดีกับทางเลือกทางเพศกันล่ะ

โอเค ข้อสำคัญคือเราทุกคนต้องเคารพสิทธิ์และไม่เบียดเบียนคนอื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่หากคนข้ามเพศสักคนเรียนไม่เก่ง ไม่รวย หรือกระทั่งหน้าตาไม่ดี เขาจะไม่ได้รับการยอมรับเลยหรือ กระทั่งวาทกรรมเรื่องการเป็นคนดี ถึงคนข้ามเพศจะพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนดีได้ หรือต่อให้ดีแค่ไหน เราก็ไม่สามารถแต่งงานกับคนรักเพศเดียวกันได้ตามกฎหมายอยู่ดี รวมถึงสิทธิ์ในการแต่งกายตามเพศวิถีของตัวเองในสถาบันการศึกษา หรือสามารถกำหนดเพศในบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางอยู่ดี

เราไม่ได้บอกว่าการเป็นคนดีคือสิ่งเปล่าประโยชน์ แต่ในเมื่อกฎหมายยังไม่เปิดกว้างและยอมรับ ต่อให้คุณเป็นคนดีแค่ไหน คุณก็อาจจะไม่ได้รับสิทธิ์ทางสังคมเท่ากับคนที่มีเพศวิธีตามเพศกำเนิดของตัวเองอยู่ดี”

 

3) เป็นกระเทยไม่จำเป็นต้องสวย เป็นทอมก็ไม่จำเป็นต้องหล่อ


“ต่อเนื่องจากวาทกรรมความเป็นคนดี ค่านิยมเรื่องความงามและความเก่งยังเป็นอีกสิ่งที่มากดทับคนข้ามเพศ กล่าวคือถ้าจะเลือกแปลงเพศแล้ว คุณทำออกมาไม่สวย ก็อาจโดนด่า หรือหากคุณเกิดมาเป็นผู้ชายตัวดำ ร่างใหญ่ มีกล้าม และคุณอยากเป็นผู้หญิงแต่ไม่มีเงินไปทำศัลยกรรม คุณก็อาจถูกด่าว่าเป็นกระเทยควาย คำถามคือถ้าคนข้ามเพศไม่หล่อหรือไม่สวย ความเป็นมนุษย์เขาหายไปไหม ความเป็นผู้หญิงของเขาจะด้อยกว่าคนอื่นไหม ซึ่งไม่เลย

หรือเรามักได้ยินอีกว่าเป็นกระเทยทั้งที ทำไมไม่เก่ง… ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย ซึ่งการกดทับตรงนี้ไม่ได้มาจากแค่มุมมองของคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้เท่านั้นนะ แต่คนข้ามเพศด้วยกันก็ยังกดข่มกันอีก เช่น กระเทยคนนี้กรามใหญ่หรือกล้ามเกร็ง ก็อาจโดนด่าว่าไม่ใช่กระเทยแท้ ซึ่งความจริงแล้ว กระเทยไม่จำเป็นต้องสวย ทอมไม่จำเป็นต้องหล่อ ต้องรวย หรือต้องเก่ง ทุกคนเป็นมนุษย์ที่ต่างมีข้อจำกัดของตัวเองก็เท่านั้น”

 

4) อัตลักษณ์ทางเพศไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับรสนิยมทางเพศ

“แม้ว่าสังคมจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้วมากกว่าแต่ก่อน แต่เราก็ยังก้าวไม่พ้นกรอบความคิดเรื่องรสนิยมทางเพศอยู่ดี เช่นว่า ถ้าคุณเป็นกระเทย คุณก็จะถูกมองว่ากระเทยต้องแต่งหญิง รักและมีเซ็กส์กับผู้ชาย เป็นต้น แต่แท้จริงแล้ว กระเทยที่รักกับผู้หญิง หรือแม้แต่รักกับกระเทยด้วยกันเอง หรือทอมที่รักกับผู้ชายก็มีอยู่ตั้งมากมาย เพราะอัตลักษณ์ทางเพศไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับรสนิยมทางเพศเสมอไป 

สมัยก่อนเราเป็นกระเทยฝ่ายรับมาตอด เราก็จะมองตามกรอบของกระเทยทั่วไป กระทั่งพอโตขึ้นมา เราได้เรียนรู้ และเราพบว่าเราเปลี่ยนบทบาทได้ หลายคนก็เป็นแบบนี้ คือเป็น pansexuality เราเรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์ (Queer) เรารักได้ไม่จำกัดเพศ กรอบของความรักมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวตนทางเพศ แต่อาจเป็นจิตใจ เคมีที่เข้ากันได้ หรือเรื่องอื่นๆ

อันที่จริงเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แม้แต่คนข้ามเพศด้วยกันเองก็ไม่เข้าใจ หรือมีการด่าว่าว่าเป็นเรื่องวิปริตด้วยซ้ำ แต่ก็ยังยืนยันคำเดิมว่านี่ไม่ใช่เรื่องวิปริต มันเป็นแค่รสนิยม ซึ่งคุณจะยึดมั่นอยู่ในกรอบแบบไหนก็เรื่องของคุณ แต่ไม่มีสิทธิ์เอากรอบของตัวเองไปบอกว่าคนอื่นเป็นคนผิดหรือวิปริต”

 

5) คนทุกเพศล้วนมีอัตราการมั่วเซ็กส์พอๆ กัน ไม่ใช่แค่กลุ่มคนข้ามเพศ

“อาจเพราะคนที่ถูกค้นพบ HIV คนแรกของโลกเป็นเกย์ และด้วยภาพลักษณ์ของเกย์ที่ดูเหมือนมีเซ็กส์กันง่าย ไม่จริงจัง มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ท้อง และอื่นๆ เกย์รวมถึงคนข้ามเพศอื่นๆ จึงถูกมองว่าเป็นพวกมั่วเซ็กส์มาตลอด

โดยเมื่อวัดจากสถิติของระบาดวิทยาเรื่องการแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ คนกลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะมีสัดส่วนการแพร่เชื้อสูงที่สุดกว่าคนที่เป็น straight แต่อย่าลืมว่าเมื่อนับกันที่ปริมาณ จำนวนของบุคคลที่เป็น LGBTQ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของเพศชายและหญิง ซึ่งน้อยมากๆ เลยนะ ซึ่งตรงนี้มันวัดกันไม่ได้หรอกค่ะว่าเรามั่วเซ็กส์มากกว่า เพราะเป็นผู้ชายหรือหญิงเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพศใด การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็เป็นสิทธิ์ค่ะ เพราะที่สำคัญกว่านั้นคือการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดต่ออย่างถูกวิธีต่างหาก ทั้งนี้ทัศนคติเรื่องการมั่วเซ็กส์ของคนทั่วไป ยังเป็นทัศนคติแบบเดียวกับที่ชอบมองว่ากลุ่มคนขายบริการทางเพศ หรือ sex worker คือต้นตอของการแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย เพราะถึงคนกลุ่มนี้อาจจะมีเซ็กส์กับคน 20 คนต่อวัน แต่ด้วยอาชีพของพวกเขา ก็ต้องป้องกันการติดต่ออยู่แล้ว มีการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง จะมีกี่คนถ้าป้องกัน ก็ไม่ติดต่อ ในทางกลับกัน หากคนที่เป็น straight มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักของตัวเองแค่เพียงคนเดียว แต่ถ้าไม่สวมถุงยางอนามัยแค่ครั้งเดียว เขาอาจมีความเสี่ยงมากกว่า sex worker อีกนะ”

 

6) LGBTQ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเว่อร์และตลก

“เราเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิทางเพศและความหลากหลาย เวลาไปงานรณรงค์ที เราจึงจำเป็นต้องแต่งตัวให้ดูเว่อร์ๆ ถือธงสีรุ้ง และมีป้ายรณรงค์ ประเด็นสำคัญคือเราต้องโดดเด่นเพื่อทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามาทำอะไร และรณรงค์เรื่องอะไร แต่ในชีวิตจริงตามปกติ เราก็แต่งตัวธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ นี่แหละ

สังคมมักมีภาพจำว่าพวก LGBTQ เป็นพวกแต่งตัวเว่อร์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกเพราะหากมีขบวน Gay Pride ทุกคนก็อยากแต่งตัวเพื่อจัดเต็มเพื่อเน้นย้ำถึงอัตลักษณ์และสิทธิในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกันในวันธรรมดา ทุกคนก็แต่งตัวปกติ ไม่มีใครใส่ชุดราตรีไปตลาดหรอกค่ะ แต่ในทางกลับกัน หากใครอยากสวมชุดราตรีไปตลาด มันก็สิทธิ์ของเขา ตราบใดที่เขาไม่ได้คุกคามใคร

อีกเรื่องที่เป็น stereotype กันมากคือการเป็นคนข้ามเพศ โดยเฉพาะกระเทยต้องเป็นคนทำงานในสายบันเทิง หรือเป็นตัวตลก อันนี้ก็ไม่จริง มีชายหญิงทั่วไปตั้งมากมายที่มีพรสวรรค์ในการแสดงตลก เพราะฉะนั้นการคิดว่ากระเทยต้องเป็นตลกเท่านั้นจึงเป็นทั้งการเหมารวมและความเข้าใจผิดอย่างมาก LGBTQ ทุกคนเป็นมนุษย์ และมีศักยภาพในการทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนอื่นๆ”

 

7) ทุกคนมีสิทธิ์ในการรณรงค์เพื่อสิทธิ์ความเท่าเทียม

“เราบอกอยู่เสมอว่าที่เรารณรงค์อยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักในการเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่นนั้นแล้ว หากเราเชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียม และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เราทุกคนสามารถร่วมรณรงค์ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เหมือนที่ว่าคุณจะรณรงค์เรื่องเฟมินิสต์ ก็ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับที่เราก็ไม่ใช่ sex worker แต่ก็รณรงค์ให้ sex worker ถูกกฎหมาย เพราะเห็นว่าการทำแบบนี้ คือการส่งเสริมมนุษยธรรมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา ทั้งนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันเชื่อมกันไปหมด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือค่านิยม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วอะไรคือรากของความเหลื่อมล้ำกัน อย่างหนึ่งมันก็คือการมองหรือปฏิบัติต่อคนอื่นไม่เท่าเทียมใช่ไหม ใช่ค่ะ หากเรายังมองมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ก็อย่าฝันว่าจะเห็นประเทศนี้พัฒนาเลย”  

 

ร่วมรณรงค์แก้กฎหมายการค้าประเวณี (พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2535) กับต้นได้ทาง https://www.empowerlibrary.online/blank?fbclid=IwAR0HuLMgdV0EaUWdQ0_bPT-yc5R-Z1JwLuMKbzYS72wc0yrAqIh_oOdfylo

ขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook: SirisakPosh ChaitedSpice

 


RELATED CONTENTS

เมฮ์ราน คาริมี แนสเซรี (Mehran Karimi Nasseri) ผู้เฝ้ามองคนเดินทางจากทั่วโลก สวนกันไปมา

เมฮ์ราน คาริมี แนสเซรี (Mehran Karimi Nasseri) ผู้เฝ้ามองคนเดินทางจากทั่วโลก สวนกันไปมา

สนามบินชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle Airport) ประเทศฝรั่งเศส คุณเมฮ์ราน คาริมี แนสเซรี ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 18 ปีแล้ว

  • Trans_
  • Jun 16,2020

Let's Stay (Alone) Together : อัลเบิร์ต วู้ดฟ๊อกซ์ (Albert Woodfox) 43 Years of Solitude

Let's Stay (Alone) Together : อัลเบิร์ต วู้ดฟ๊อกซ์ (Albert Woodfox) 43 Years of Solitude

ผู้ทำลายสถิติถูกขังเดี่ยวยาวนานที่สุดของสหรัฐอเมริกา คุณอัลเบิร์ต วู้ดฟ๊อกซ์ ภายหลังได้รับการปล่อยตัว เขาให้สัมภาษณ์ว่านอกจากความช็อคที่เห็นโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำไม่ได้ เขายังแปลกใจ กับความจริงที่ว่าการเหยียดสีผิวยังคงไม่หมดไปจากสังคมอเมริกัน

  • Trans_
  • Jun 15,2020

สตีเฟน คาลาฮาน (Steven Callahan) กับ 79 วัน แห่งความโดดเดี่ยวจนเป็นมาสเตอร์แห่งการเอาตัวรอด

สตีเฟน คาลาฮาน (Steven Callahan) กับ 79 วัน แห่งความโดดเดี่ยวจนเป็นมาสเตอร์แห่งการเอาตัวรอด

สตีเฟน คาลาฮาน (Steven Callahan) นักเดินเรือผู้ต้องติดอยู่ในแพชูชีพลำน้อยของตัวเองเป็นเวลา 76 วัน ผู้รอดชีวิตกลับมาก่อนมีส่วนทำให้ภาพยนตร์ Life of Pi กลายเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการติดอยู่บนเรือเพียงลำพังได้อย่างสมบูรณ์

  • Trans_
  • Jun 16,2020

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK