หากคุณอยู่มานานพอจะทันเห็นโลกที่เปลี่ยนผ่านจากเพจเจอร์สู่สมาร์ทโฟน หรือโปรแกรม Pirch 98 สู่ Club House และอื่นๆ คุณก็อาจเห็นการเปลี่ยนผ่านทางโลกทัศน์ของผู้คนในทางที่เป็นความหวังไปสู่สังคมที่ศิวิไลซ์ขึ้นมาบ้าง
แน่ล่ะ ถ้าคุณมีอายุขึ้นเลขสาม แล้วมองย้อนกลับไปในห้วงเวลาที่เติบโตมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถึงมิลเลเนียม คุณอาจไม่เชื่อกับหลากสิ่งแวดล้อมที่คุณเคยเดินผ่านมา โลกที่คุณเคย (อาจจะ) สนุกกับรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เหล่าไฮโซมาดัตจริตทดลองมาใช้ชีวิตแบบเกษตรกร, หนังสือระดับ best seller ที่อวดกลเม็ดเด็ดพรายของผู้ชายที่เคยมีเซ็กส์กับผู้หญิงมามากมายอย่างภาคภูมิ, เพลงฮิตอย่าง ‘ประเทือง’ ที่ล้อเลียนเพศทางเลือกอย่างสนุกปาก ไปจนถึงเพลงเมทัลของวงใต้ดินอย่าง Sepia ที่แสดงออกถึงความ ‘เกลียดตุ๊ด’ อย่างรุนแรง ไปจนถึงอีกเพลงที่มีท่าทีขู่จะข่มขืนผู้หญิงที่แต่งตัวไม่มิดชิด เป็นอาทิ
โลกสมัยใหม่เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความน่าขยะแขยงของสื่อที่เคยกล่อมเกลาให้เราเติบโตขึ้นมา และมันกำลังจะสูญพันธุ์
ไม่กี่วันก่อนหน้า หนึ่งในผลผลิตตกค้างจากยุคสมัยที่ว่า ซึ่งปัจจุบันตั้งตัวเป็น ‘โค้ช’ ด้านความสัมพันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์หัวใหญ่เชิงสั่งสอนให้ผู้หญิงรับมือกับผู้ชายที่ชวนไปดู Netflix ที่บ้านยามวิกาล แน่นอนบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นถูกผู้อ่านรุมด่ายับจนเจ้าของแพลตฟอร์มต้องถอนบทความนั้นออกไป หรือไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่นิตยสารแฟชั่นเล่มดัง เขียนบทความถึงดาราที่มีความฝันอยากทดลองเป็นกระเป๋ารถเมล์ แต่ก็โดนทัวร์ลงจากชาวเน็ต ไม่นับถึงฉากความรุนแรงทางเพศในละครหลังข่าวที่ยังคงมีอยู่ แต่ก็ถูกคนดูออกมาต่อต้านอย่างจริงจัง ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เป็น old habit หรือกรอบการทำคอนเทนต์แบบเดิมๆ ไม่มีที่ยืนในสังคมสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามถึงความจริงแท้ของ ‘ประชาธิปไตย’ และความชอบธรรมของสถาบันที่กุมอำนาจสูงสุดในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
สิทธิเสรีภาพ มนุษยธรรม ความเสมอภาค ไปจนถึงความตระหนักรู้ในความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ พร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี น่ายินดีที่คนรุ่นใหม่ต่างสมาทานสิ่งเหล่านี้เข้าไปในกรอบความคิด และขับเคลื่อนให้สังคมเติบโตอย่างมีพลวัตร
แต่นั่นเป็นเรื่องจริงแน่หรือ? เพราะเมื่อเรามองไปยังความเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาครัฐ ดูราวกับว่าความน่าขยะแขยงที่เราเคยผ่านตามานับทศวรรษกลับไปรวมศูนย์กันอยู่ ณ ที่แห่งเดียว
ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเหยียดเพศของนายกรัฐมนตรี ความกักขฬะต่อสื่อมวลชนและประชาชนอีกนับไม่ถ้วนกรณี (ล่าสุดยังไปฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้านักข่าว) ไม่นับรวมกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ใช้คำพูดเหยียดหยามประชาชนสารพัด เพื่อสุดท้ายจะออกมาแก้ตัวว่าทั้งหมดเป็นการ ‘หยอกเล่น’ ไม่ต้องพูดถึงการเลือกปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจกับประชาชนที่ออกมาเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่กลับต้องเผชิญกับความรุนแรงไปจนถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และแน่นอน ความ ‘หน้าด้าน’ ครั้งล่าสุดกับการคว่ำมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจของพวกตัวเองต่อไป
นั่นทำให้เราคิดถึงความย้อนแย้งอย่างสุดขั้วแบบไทยๆ ที่ซึ่งไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำหรือโลกจะก้าวไกลไปแค่ไหน แต่ผู้มีอำนาจก็พึงใจจะฉุดรั้งให้ประเทศล้าหลังและต่ำตมอย่างไม่แยแส ไม่นับรวมความปากอย่างแต่ทำอีกอย่าง เช่นที่รัฐบาลประกาศว่าจะแก้ปัญหาอย่างสันติและมีอารยะ แต่นายกรัฐมนตรีกลับแสดงความหยาบช้าอย่างเหลือเชื่อต่อสื่อมวลชนในทำเนียบ การที่รัฐราชการออกมาสนับสนุนแนวคิดครอบครัวแบบผัวเดียว-เมียเดียว แต่กลับเงียบเป็นเป่าซากที่ประมุขสูงสุดของประเทศมีพฤติกรรมตรงข้าม และอีกมากกรณีที่ทำให้เราตั้งคำถามว่านี่เราอยู่ในประเทศเดียวกัน หรือโลกใบเดียวกันจริงๆ ใช่ไหม?
หรือทั้งหมดอาจเป็นอัตลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศไทยที่ปกครองด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ที่ซึ่งเราเข้าใจไปเองว่าสิทธิเสรีภาพเป็นของทุกคน แต่อำนาจเด็ดขาดสูงสุดกลับผูกขาดอยู่กับคนเพียงคนเดียว และอย่างน่าเศร้าที่ประชาชนหลายคนก็กลับพึงใจจะยกอำนาจที่พวกเราควรจะได้ ให้แก่ใครคนนั้นเพียงคนเดียว ผู้ที่ดูเหมือนจะไมสนใจอื่นใด นอกจากการแต่งตั้งผู้หญิงในปกครองของตนเองให้ได้ยศทหารระดับสูงทุกเมื่อเชื่อวัน
แป้ง-รัสมี เวระนะ ศิลปินที่นำเพลงหมอลำและเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานและเขมรมาผสานกับเพลงโซลและแจ๊ซ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์อันสดใหม่และได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ (เธอยังติดอันดับ 1 ใน 50 บุคคลที่น่าจับตามองในเอเชียสาขาศิลปวัฒนธรรมจากหนังสือพิมพ์ The Straits Time ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2018)
ก่อนกลายมาเป็นสุภาพบุรุษสุดร็อกผู้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ เดฟ โกรห์ล ฟรอนท์แมนแห่ง Foo Fighters นั้นเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก
อดีตมือเปียโนแจ๊สข้างถนน เจ้าของรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ จากเวที Grammy Awards 2022