BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio
  • สนทนา
  • Feb 25,2021

คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio

 

 

 

 

ตอนนี้ที่เชียงใหม่มีฝุ่น PM2.5

ใช่, เราพูดเหมือนประโยคนี้เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา หาได้มีนัยยะที่น่าเป็นห่วงหรือแสดงถึงความเป็นกังวลอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะปัญหาฝุ่นพิษปกคลุมนครพิงค์ลากยาวมาหลายปีติดต่อกันจนตอนนี้ชาวเชียงใหม่ตั้งรับกันได้แล้วว่าจะต้องจัดการตัวเองอย่างไร แต่ความพยายามในการแก้ปัญหาและสะท้อนภาพปัญหาใหญ่ระดับประเทศก็ยังคงมีต่อเนื่อง

ล่าสุดสภาลมหายใจเชียงใหม่และกลุ่มศิลปินเล็กใหญ่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศรวมตัวกันจัดนิทรรศการศิลปะที่ชื่อ ART for AIR ที่จะมีงานศิลปะในหลากหลายรูปแบบจากการตีโจทย์เรื่อง “ฝุ่น” ในทรรศนะของศิลปินหลากหลายท่านซึ่งจะจัดแสดงทั่วเมืองเชียงใหม่ยาวไปจนถึงเดือนเมษายนนี้

หนึ่งในงานที่เรามองว่าน่าสนใจคือ “คนฝาก” จาก ddmy studio ของ เด๋อ-ณครินทร์ รอดพุฒ ที่มีแนวคิดจากนวัตกรรมการตรวจจับเปลวไฟที่ไม่ต้องพึ่งพาสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตใดๆ  ซึ่งงานอินสตอเลชั่นชิ้นนี้มีวิธีคิดง่ายๆ มาจากประเด็นไฟป่าที่สอดคล้องไปพร้อมๆ กับการเกิดฝุ่นพิษที่เราต้องเผชิญในแต่ละปี 

ในโกดังจริงใจ บนถนนอัษฎาธร หนึ่งในสถานที่จัดแสดงงานศิลปะในโครงการ ART for AIR งานของเด๋อถูกติดตั้งอยู่บนเสาทั้ง 5 ต้น ที่ซึ่งเครื่องตรวจจับเปลวไฟประจำการอยู่ตามเสา เมื่อใครสักคนเข้าใกล้เสาต้นใดต้นหนึ่ง แล้วเอามือไปจ่อใกล้กับมัน ไฟจำลองจะถูกจุดขึ้น ทำให้เครื่องตรวจจับรู้ว่ามีไฟเกิดขึ้น  ก่อนจะส่งผ่านข้อมูลลงบนจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ว่าเสาต้นไหนมีเปลวไฟถูกจุดขึ้นบ้าง ผู้ชมจะรับรู้ข้อมูลนี้ได้จาก projection mapping ที่เคลื่อนไหวอยู่บนพื้นบริเวณโถงทางเข้าชมโกดัง – ว่าไปนี่ก็คือเครื่องตรวจจับเปลวไฟเอามาติดตั้งในโกดัง ที่ซึ่งจอรายงานผลการเกิดไฟตามจุด (เสา) ต่างๆ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะ

ถึงเด๋อจะบอกเราว่า เขาไม่รู้จะจำแนกมันเป็น “สิ่งประดิษฐ์” หรือ “งานศิลปะ” ก็ตามที แต่เราขอนั่งคุยกับเขาถึงเบื้องหลังของงานๆ นี้หน่อยแล้วกันว่าแนวคิดและการพัฒนางานจนได้ “คนฝาก” เป็นอย่างไรบ้าง

จุดแดง และ นวัตกรรมในยูทูป

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับพื้นที่ทางธรรมชาติและคร่าชีวิตจิตอาสาที่เข้าไปดับไฟ จนกลายเป็นประเด็นที่ชาวเชียงใหม่ให้ความสนใจทั้งการส่งความช่วยเหลือในนามของประชาชน และการตั้งคำถามกับหน่วยงานต่างๆ ถึงประสิทธิภาพในการทำงานและลงพื้นที่

ซึ่งกับเด๋อเองที่เห็นข่าวบนเฟซบุ๊กของเพื่อนชาวปกากะญอที่ลงไปช่วยดับไฟอยู่บ่อยครั้ง จึงเกิดความคิดที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ จนความคิดนั้นถูกนำมาขยายต่อเป็นการสร้างอินสตอเลชั่นในครั้งนี้

“ผมโพสต์ความคิดนี้ไว้ตั้งนานแล้วเพราะสังเกตเห็นจุด Hotspot ว่ามันอาจจะเป็นไฟป่าอย่างหนัก และผมก็เห็นเพื่อนผมไปดับไฟในที่เกิดเหตุ ก็เลยโพสต์ว่ามีไอเดียที่อยากทำอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่เอาไปผูกติดกับต้นไม้ และให้มันเตือนไฟได้ จะได้ไปดับกันทันเวลา เพราะบางทีกว่าจะเห็นก็ต้องสังเกตจากกลุ่มควันขนาดใหญ่ และในพื้นที่ป่าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จนมีทีมงานของ ART for AIR ติดต่อมา”

เด๋อเล่าถึงหลักการทำงานของงานอินสตอเลชั่นให้เราฟังว่าการสร้างต้นแบบของ “คนฝาก” จริงๆ คือ องค์ความรู้ Micro Controller ที่นักศึกษาระดับ ปวส. ทำกันอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อเด๋อลองค้นหาตัวอย่างการสร้าง Fire Detector ในยูทูป ก็ค้นพบว่ามันไม่ได้ยากเกินกำลัง เด๋อจึงเริ่มพัฒนาต้นแบบงานที่มีโจทย์เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการจุดไฟจริงๆ เพื่อให้เครื่องทำงานไม่ได้ เด๋อจะแก้ปัญหาอย่างไร

“โชคดีที่ในเปลวไฟในธรรมชาติมันมีอินฟราเรด ก็เลยให้เครื่องนี้จับอินฟราเรดจากไฟจำลองแทน ด้วยการยกมือขึ้นมาบังเซ็นเซอร์เพื่อจุดไฟจำลอง จากนั้นผมก็เริ่มหาวิธีทวนสัญญาณวิทยุของเครื่องแต่ละเครื่องมาผสมรวมกัน ซึ่งจริงๆ มันใช้เวลาพัฒนาไม่กี่เดือนหรอกครับ” เด๋อขยายความ

เมื่อได้กลไกทั้งหมดแล้ว เด๋อจึงนำองค์ประกอบทั้งหมดติดตั้งบนเสาของห้องนิทรรศการทั้งหมด 5 จุดและสร้างกราฟิกแสดงผลให้เห็นว่าเครื่องตรวจจับเปลวไฟเครื่องใดกำลังทำงานอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมนิทรรศการเข้าใจกลไกได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าทำได้จริงก็คงดีเนอะ

เมื่อ “คนฝาก” จัดแสดงจริงต่างมีเสียงชื่นชมในแง่ของแนวคิดและการสร้างสรรค์ว่า มันสามารถนำไปต่อยอดได้เป็นเครื่องมือจริงๆ อย่างที่เสียงส่วนใหญ่บอกกับเด๋อว่า “ถ้าทำได้จริงก็ดีสินะ” 

“แต่ที่เขาพูดแบบนี้ ผมก็ไปต่อไม่ถูกเหมือนกันนะว่าจะไปต่อยังไง” เด๋อบอกฉัน เพราะที่จริงแล้วยังมีกระบวนการอีกมากตั้งแต่การวิจัยทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ยังต้องพัฒนาต่อ ด้านการจัดการพลังงานเพื่อให้ใช้งานได้จริง หรือสิ่งแวดล้อมที่อุปกรณ์นี้จะส่งผลในด้านกฎหมายหรือระบบนิเวศหรือไม่ แม้กระทั่งการบำรุงรักษาที่ต้องให้คนในพื้นที่ดูแลให้ใช้งานได้ต่อไป 

แต่กับประโยคที่ว่า “ถ้าทำได้จริงก็ดีสินะ” กลับทำให้เด๋อเกิดวาบความคิดขึ้นมาในใจว่า ถ้าจะทำมันต่อจริงๆ จะต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลืออีกบ้าง ซึ่งถึงตรงนี้แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว และนั่นแหละคือสิ่งหนึ่งที่เด๋ออยากให้ผู้ชมงานฉุกคิดหลังจากเห็นอินสตอเลชั่นชิ้นนี้     

“ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่ง แต่มันไม่ได้ยากถ้าจะทำ ซึ่งเทคโนโลยีเรามีและผมอยากให้สนับสนุนน้อง ๆ ปวช. ปวส. ที่ทำเรื่องนี้เป็นกลุ่มเป็นก้อน งานตัวนี้อาจวิพากษ์สังคมอยู่หน่อยๆ ว่าถ้ามีการกระจายข่าวว่า มีคนต้องการเทคโนโลยีแบบนี้ น่าจะมีคนเก่งๆ ที่มาช่วยได้จริงๆ หากมีการสนับสนุนกันอย่างจริงจัง เราจะแก้หลายๆ ปัญหาได้จากเทคโนโลยีง่ายๆ ที่เราผลิตกันได้เอง” เด๋อขยายความ

เราต้องช่วยกัน (?)

เพราะในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นพิษยังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสภาวะจำยอมที่ชาวเชียงใหม่ต้องยอมรับโดยอัตโนมัติ หลายภาคส่วนงดจัดงานกิจกรรมกลางแจ้ง หลายครัวเรือนต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวทั้งหน้ากากกันฝุ่น N95 เครื่องฟอกอากาศจากแดนมังกร หรือฟิลเตอร์เพื่อใส่ในเครื่องปรับอากาศและหน้าต่าง

ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ต่างบอกว่า “เราต้องช่วยกัน” ซึ่งเราก็ช่วยทั้งป้องตัวเองไม่ให้โดนฝุ่น และช่วยแนวหน้าที่ต้องทำงานนี้อย่างจริงจัง รวมถึงศิลปินทั้งหลายก็ช่วยกันเป็นภาพสะท้อนด้วยการสร้างงานศิลปะเหล่านี้ออกมา ฉันจึงถามเด๋อว่า สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาฝุ่นที่ชาวเชียงใหม่ต้องยอมรับสภาพจนกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่นี้ควรจะจบที่ใคร

“ผมหวังว่ากลไกภาครัฐจะดีกว่านี้ ถ้าเราทุกคนต้องช่วยกันแล้วจะได้แค่ไหนกันเชียว ต่อให้เราแยกขยะ ไม่เผาใบไม้ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ไม่รับช้อนส้อมก็แล้ว แต่ถ้าให้คนตัวเล็กตัวน้อยขยับ ก็ยังไม่เท่ากับการที่หน่วยงานรัฐขยับและออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ถ้าเขาคุยกันได้ ก็น่าจะทำให้ปัญหาหายไปทีเดียวด้วยซ้ำ” เด๋อตอบฉัน

ART for Air หรือโครงการศิลปะเพื่อลมหายใจ จัดแสดงตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ https://www.facebook.com/artforaircnx/        

Writer

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

RELATED CONTENTS

สนทนา: ในภาวะตาสว่างของศิลปิน

สนทนา: ในภาวะตาสว่างของศิลปิน

คุยกับ วิทวัส ทองเขียว ผู้ใช้ภาพเรียลลิสติกบอกเล่าความเหนือจริงของสังคมไทย

  • สนทนา
  • Aug 14,2021

COMMON PEOPLE LIKE YOU

COMMON PEOPLE LIKE YOU

ชวนรู้จักวง Garage Rock จากเชียงใหม่ที่เชื่อในความเท่าเทียมของคนในสังคมและความเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ของการเมืองกับดนตรี

  • สนทนา
  • Feb 28,2022

สนทนา: JARB ศิลปินรุ่นใหม่หัวใจ City Pop

สนทนา: JARB ศิลปินรุ่นใหม่หัวใจ City Pop

และเรื่องเบื้องหลังงาน Visualizer เพลง Out of Time ของ The Weeknd

  • สนทนา
  • Mar 17,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK