อธิคม มุกดาประกร ศิลปินและนักเขียนอิสระที่ตอนนี้พำนักอยู่เชียงราย แวะลงมาเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมเยียนสตูดิโอของอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปินและอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเขียนบทความถึงผลงานชิ้นล่าสุดที่ถือว่าเป็นชิ้นงานขนาดมหึมาที่สุดของเขา
ไม่ว่าจะด้วยขนาด หรือสีสัน ต่างก็มากล้นจนระเบิดเรตินาเราให้ชาวาบไปถึงก้านสมอง จับต้นชนปลายไม่ได้ ตกอยู่ในสภาวะพรึงเพริดจนหลงลืมหมวดคำวิเศษณ์ที่จะใช้เสาะหาคำมาสะท้อนความรู้สึกต่อผลงานตรงหน้านี้ — วิจิตร พิสดาร บ้าคลั่ง อัศจรรย์... ไม่กล้าที่จะใช้คำว่าสวย แต่ที่อาจจะเหมาะสมกว่าคงเป็นคำของ ทัศนัย เศรษฐเสรี เอง ที่ว่า “ยิ่งสวย ก็ยิ่งอันตราย” ซึ่งได้เคยพูดถึงไว้ในโครงงานศิลปะของเขาที่ทำต่อเนื่องมาหลายปีชุดนี้
ในเวิ้งที่มีโกดังขนาดมหึมาหลายหลังย่านชานเมือง รถคอนเทนเนอร์ของบริษัทขนส่งพัสดุหลายเจ้าเทียวเข้าเทียวออกกันอยู่ตลอดเวลา พนักงานไม่กี่คนในแต่ละโกดังคอยรับกล่องพัสดุนับพันใบมาคัดแยกจัดแจงไว้สำหรับนำส่งทั่วเชียงใหม่ ท่ามกลางกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจออนไลน์ที่ไม่มีวันหยุดนี้ มีโกดังหลังหนึ่งที่หันหลังให้กับทางเข้าเวิ้ง เมื่อเดินอ้อมมาก็จะพบว่ามันได้ถูกแบ่งครึ่งไว้เพื่อกิจการที่แตกต่างออกไป แต่ก็มีน้อยคนทำงานอยู่เช่นกัน
ทีมงาน 5 คนหอบหิ้วกระป๋องกาวกับถุงพลาสติกหลายใบที่บรรจุกระดาษฟอยล์สี ตัดซอยเป็นเส้นบางๆ แยกไว้ถุงละสี ปีนป่ายนั่งร้านสูงลิบขึ้นไปทำงานกันอย่างมีสมาธิ แต่ละคนค่อยๆ มองภาพต้นแบบที่รับผิดชอบอยู่ จุ่มแปรงทากาวแล้ววางเส้นสีติดลงไปยังภาพร่างบนเฟรม เพื่อสร้างพื้นที่สีขึ้นมาทีละสี จนค่อยๆ กลายเป็นภาพของเชื้อโรค ดอกไม้ อินทรียวัตถุ ดวงแก้ว ฯลฯ ที่แม้จะได้รับการขยายให้ใหญ่พอๆ กับตัวคนแปะเอง มันก็ยังเล็กจนแทบจะเป็นเพียงแต้มสีบนเฟรมนั้นเท่านั้น
บางภาพในนี้ก็คุ้นหูคุ้นตากันดี อย่างข้อความ ‘I Want You for the U.S. Army’ หนึ่งในวลีโฆษณาชวนเชื่อที่วางปะปนอยู่กับวลีอื่นๆ และตัวอักษรเสียงในหนังสือการ์ตูน หรือภาพผู้นำประเทศหลายคนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น ภาพเหล่านี้ได้รับการจัดวางซ้อนเหลือบกันไปมาบนสิ่งที่คล้ายก้อนเมฆสีคล้ำ คล้ายแก่งแม่น้ำ โดยมีเส้นรุ้งเส้นแวงและเส้นตวัดปากกาฉวัดเฉวียนลากโยงทุกอย่างข้ามพื้นที่และเวลามาร้อยรัดเข้าหากัน ราวกับจะกินความครอบคลุมประวัติศาสตร์สงครามเย็นทั้งโลกไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ผลงานชิ้นนี้มีขนาดใหญ่โตที่สุดในชุดนี้และในทั้งหมดที่ทัศนัยเคยทำมาด้วย มันตั้งตระหง่านสูงและยาวหลายสิบเมตรจนทาบเต็มผนังโกดังที่กลายมาเป็นสตูดิโอหลังนี้ หากลองกวาดสายตาดูภาพรวม มันคล้ายเป็นบ่อบึงที่คราบไคลจากหลายแหล่งไหลทะลักมารวมกัน ซึ่งถึงมันจะน่าขยะแขยงอยู่ในที แต่สีสันที่มากมายบนผิวขรุขระวาวแสงไปทั้งชิ้นงาน กลับสร้างระลอกแรงกระตุ้นซัดสาดเข้าบำเรอสายตาจนอิ่มเอมใจอย่างไม่ทันรู้ตัว
ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของทัศนัยเมื่อปี 2019 ที่สิงคโปร์ ทัศนัยได้ชำแหละโครงงานทางการเมืองของรัฐเผด็จการไทยออกมาเป็นผลงานชุด “Some Deaths Can’t Be Buried” ซึ่งบ่งชี้ไว้ว่า วิธีคิดทางสุนทรียศาสตร์ในไทยได้ถูกบิดเบือนให้ศักยภาพและแรงจูงใจภายในผลงานศิลปะลดทอนลง จนศิลปะกลายเป็นเพียงผลผลิตทางจริยธรรมอันคลุมเครือ ผลงานเหล่านี้ร่วมแปรรูปความรุนแรงเป็นความงาม และเปลี่ยนพิษภัยทางการเมืองกับสังคมร่วมสมัยให้กลายเป็นเรื่องชวนฝัน โดยมักจะหมกมุ่นอยู่กับความสามัคคี ระเบียบ และการภาวนา เพื่อหล่อเลี้ยงความเฉยชาไปพร้อมๆ กับเสริมสร้างศีลธรรม ความกลมเกลียว และการปลดปลงสมยอมทางการเมืองเอาไว้ 1 ยิ่งสวย ก็ยิ่งกลบเกลื่อนความจริงอันเลวร้ายเอาไว้มากเท่านั้น ด้วยมันแบ่งแยกเราออกจากสมการทางการเมืองของประเทศไปนั่งเป็นผู้ชมเซื่องๆ เท่านั้น
นอกจากงานชิ้นใหญ่ที่พังเรติน่าเราได้แล้ว ยังมีผลงานขนาดเล็กหลักสิบเมตร และ 3 - 5 เมตรอีกอย่างน้อย 3 ชุด ที่กินพื้นที่ด้านอื่นๆ ของโกดังอยู่อีกด้วย ชุดที่แขวนไว้บนสุดเป็นกลุ่มภาพคลุมเครือคล้ายคนเปลือยที่ทัศนัยบอกว่าเป็นหนังโป๊รัสเซียในช่วงสงครามเย็นซึ่งโจ๋งครึ่มยิ่งกว่าอเมริกา ซ้อนทับกันไปกับโปสเตอร์และหน้าปกการ์ตูนฮีโร่ ชุดที่วางบนโต๊ะหลายใบเป็นภาพขาวดำมืดหม่นและมีลูกไม้ใบยาโผล่แพลมออกมาจากใต้ภาพ ส่วนภาพขนาดสิบเมตรนั้นกำลังอยู่ระหว่างการอำพรางจนเหลือเพียงยูนิคอร์นแดงและเงาทหารที่ยังพอดูออกบ้าง ไม่รู้ว่าเมื่อเสร็จแล้วจะเห็นเป็นภาพอะไร
แค่งานก็กินบริเวณของโกดังไปเกือบเต็มแล้ว แต่ที่นี่ไม่ได้มีแต่งานศิลปะ ตรงกลางโกดังเป็นโต๊ะใหญ่ที่ทัศนัยนั่งหาข้อมูล เตรียมแผนทำงานให้กับทีมอยู่ท่ามกลางหนังสือ กองเอกสาร งานวิจัย และตู้เก็บกระดาษวัสดุ ที่ล้อมไว้ด้วยมอเตอร์ไซค์คลาสสิกรอประกอบร่าง จักรยานขาไถ รถกระดาษลัง ของเล่นทำเองให้ลูกชาย ใต้โต๊ะมีถุงขยะที่มีแต่ซองบุหรี่เปล่านับร้อยซองอัดแน่นอยู่หลายใบ บ่งบอกถึงระยะเวลาที่ทีมงานนี้ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นี่กันมาเป็นปี เพื่อสร้างพิกเซลสีให้ภาพความละเอียดสูงด้วยมือ กระดาษ และกาว
ทัศนัยบอกว่า นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีชิ้นที่ยังไม่ได้เริ่มงานอีกด้วย ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วจะเปิดแสดงให้ได้ชมกัน ราวกลางปีหน้า ในเชียงใหม่นี่แหละ
ดูการทำงานของพวกเขาจนเกือบเที่ยง เปิดมือถือหาร้านอาหารที่อยู่ใกล้ที่สุด ต้องขับรถออกไปอีกเป็นกิโล และในเวิ้งโกดังนี้มีแต่ร้านกาแฟแอร์เย็นฉ่ำที่มีอาหารเป็นเค้กก้อนน้อยราคาแพงกับบะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูป ชวนให้สงสัยว่าทีมงานบนนั่งร้านอยู่รอดกันได้ยังไง รวมทั้งพนักงานบริษัทขนส่งพัสดุในโกดังอื่นๆ ด้วย แต่ไม่นานนักก็มีเสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งอ้อมมามาถึงสตูดิโอ ทั้งคันเต็มไปด้วยถุงพลาสติกหูหิ้วบรรจุก๋วยเตี๋ยว หมี่ผัด ข้าวแกง ที่ป้าหอบมาขายเราแค่ถุงละ 20 บาท ทุกคนละจากงานรีบวิ่งออกมาซื้อและพักผ่อนกัน พื้นที่หลายไร่ในรั้วล้อมริมทางหลวงที่ดูเก๋ไก๋ทันสมัยนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่องานเท่านั้นอย่างแห้งแล้ง เหมือนกับอีกหลายอาคารในประเทศนี้ที่สวยงามแต่ไม่มีที่อยู่ให้กับภารโรง ชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กตัวน้อยจึงต้องหาทางออกมาหล่อเลี้ยงกันเองไว้ด้วยความสร้างสรรค์จากสิ่งที่ตัวเองมี เป็นความสร้างสรรค์ที่สวยงามกว่าการบังคับให้ตาแตกมากมายนัก และถ้าคนหิวจนไส้กิ่วแล้ว มันก็พร้อมจะวิ่งทะลุพ้นความสวยงามไร้ชีวิตออกมาอย่างไม่เกรงใจใครอีกต่อไป
เรื่องและภาพถ่ายโดย อธิคม มุกดาประกร
เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงอยู่ใน Gallery Seescape เชียงใหม่ เซ็ทภาพถ่ายพลทหารไร้ใบหน้า ที่ศิลปินมองว่ามันคือภาพแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้
Luckthropocene (ลักษณ์โทรโปซีน) เป็นการผสมคำระหว่างชื่อศิลปิน (Luck) และคำว่า Anthropocene (ยุคสมัยใหม่ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง)