ชวนรู้จักวง Garage Rock จากเชียงใหม่ที่เชื่อในความเท่าเทียมของคนในสังคมและความเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ของการเมืองกับดนตรี
“Hi, we are COMMON PEOPLE LIKE YOU”
ต่อหน้าท่านขณะนี้คือ ‘คนธรรมดา’ ชาวเชียงใหม่ 4 คน - ตี้ (ร้องนำ/กีตาร์), รัน (กีตาร์), เต้ (เบส), อาร์ม (กลอง) - ที่มีรสนิยมทางดนตรีตรงกัน นั่นคือ Garage Rock/Post Punk ที่เคยเฟื่องฟูในยุค 2000 และมีความตั้งใจที่จะทำเพลงในแบบที่ชอบ เล่าเรื่องในแบบที่เชื่อ เหมือนกันจึงจับมือกันทำวงดนตรีชื่อ COMMON PEOPLE LIKE YOU ในปี 2019 โดยมี Rainbow Party ที่ว่าด้วยขนมไทยอย่าง ‘สลิ่ม’ เป็นซิงเกิลแรก ก่อนจะปล่อยอีก 5 เพลงใน EP Album ที่ใช้ชื่อ The Greater Good ตามมาในต้นปี 2022
เมื่อเทรนด์ดนตรีในเวลานี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเหนื่อยที่จะวิ่งตาม พวกเขาเลยเลือกจะยืนนิ่งๆ แล้วทำในสิ่งที่รักและถนัดโดยไม่แคร์ความแมสหรือต้องดัง ไม่มีการเจือกลิ่นฮิปฮอป นีโอโซล หรืออิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดกำลังนิยม ไม่ใช่ว่าแนวเพลงที่ว่ามานั้นมีปัญหาแต่เป็นเพราะว่า “พวกเราทำแบบนั้นไม่เป็นด้วยครับ (หัวเราะ)” รัน มือกีตาร์กล่าว
ขณะที่แนวดนตรีของ COMMON พาเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เนื้อหาในเพลงกลับเป็นปัจจุบันสุดๆ เพราะพวกเขาเลือกจะเล่า ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่เล่าได้แบบตรงๆ และที่เล่าได้แค่อ้อมๆ ผ่านสัญญะร่วมสมัยที่เข้าใจกันดี เช่นการเป็น ‘คนดี’, การชูป้าย, ‘ไม่รู้ๆๆๆ’ หรือแม้แต่การยืมเนื้อเพลงจาก Do You Hear the People Sing? มาใช้
บนความเชื่อว่าเราทุกคนก็ล้วนเป็นคนเท่าๆ กัน และการเมืองก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเราในทุกย่างก้าว ฉะนั้นไม่ว่าจะเพลงรักหรือเพลงการเมือง มันก็คือเรื่องเดียวกันอย่างไม่เคยแยกขาด เอาเป็นว่าเราไม่ต้องมองพวกเขาเป็นวงการเมืองหรอก มองเป็นวงดนตรี ‘ธรรมดาๆ’ นี่ล่ะ
ยังมีอีกหลายแง่มุมของ COMMON PEOPLE LIKE YOU ที่ธรรมดาแต่น่าสนใจ มารู้จักพวกเขาให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย
พวกคุณทั้ง 4 คนมารวมวงกันได้ยังไง
ตี้: ผมกับรันเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก เล่นดนตรีกันไปเรื่อยตามประสาวัยรุ่น แต่มันก็เล่นๆ หยุดๆ พอตอนหลังเลยลองทำเพลงของตัวเองดู งมๆ โปรแกรมกันสองคนจนได้เดโม่ 2-3 เพลง แต่ด้วยความที่เป็นมือกีตาร์ทั้งคู่ เลยอยากหาเพื่อนมาช่วยเพิ่ม
ผมก็ไปชวนเต้ ที่จริงๆ ก็เล่นกีตาร์แหละ แต่ชวนมาเล่นเบส เต้ก็บอกว่ามีมือกลองที่รู้จักอยู่ ชื่อพี่อาร์ม ซึ่งเราก็ไม่รู้จักเขามาก่อน แต่พอลองคุยกันแล้วปรากฏว่าเทสมันตรง เลยลุยเลย เลือกคนจากรสนิยมล้วนๆ ไม่ได้วัดจากฝีมือ ซึ่งพี่อาร์มก็จะมาตอนที่เพลง Rainbow Party เสร็จแล้ว เพลงนั้นจะเป็น เฟี้ยว (ปิยะพันธ์ ตาคำ) มือกลองวง VEGA ที่มาอัดให้
อาร์ม: เต้หายไปประมาณ 2 ปี แล้วอยู่ๆ กลับมาชวน ผมก็ถามว่าทำวงจริงจังขนาดไหน เล่นกลางคืนหรือเปล่า เพราะผมไม่อยากเล่นแบบนั้นแล้ว เต้บอกว่าทำเพลงตัวเอง แล้วก็ส่งเพลงมาให้ฟัง ผมก็ชอบ เลยตอบตกลง ซึ่งจริงๆ แล้วเต้ไม่เคยเห็นผมตีกลองเลยนะ (หัวเราะ) แค่รู้ว่ามีรสนิยมเพลงใกล้ๆ กัน
ตี้: ไม่ได้เหยียดคนเล่นกลางคืนนะ หรือว่ามันไม่ดี ผมเองก็เล่นดนตรีกลางคืน แค่ว่าเราอยากทำสิ่งที่ชอบกันจริงๆ มากกว่า ด้วยความที่ทุกคนก็มีงานประจำ และไม่ได้อยากเล่นดนตรีให้มันเป็นงาน routine
แสดงว่าทุกคนต่างมีงานของตัวเองกันทั้งหมดเลย แล้วแต่ละคนทำอาชีพอะไรกันบ้าง
รัน: บ้านผมทำร้านอาหาร แล้วผมก็เป็นสถาปนิกด้วย ออกแบบบ้าน ออกแบบภายใน
อาร์ม: รายได้หลักผมคือโรงพิมพ์ แล้วก็เปิดร้าน (Nui) กับร้านเสื้อผ้าเป็นอาชีพเสริม
เต้: ผมขายเสื้อผ้ามือสองใน instagram ครับ ก็เอาเสื้อผ้ามาขายให้พี่รันใส่นี่แหละ (หัวเราะ)
ตี้: เป็นครีเอทีฟ ก็อปปี้ไท์เตอร์ ทำงานที่กรุงเทพครับ
ทำไมถึงชื่อวงว่า COMMON PEOPLE LIKE YOU
ตี้: มาจากเนื้อเพลง Common People ของวง Pulp ครับ เกิดขึ้นจากเรานั่งหาอินสไปร์จากเนื้อเพลงของวงที่ชอบๆ ซึ่งพอเป็นชื่อนี้ ผมกับรันก็ไม่เถียงกันเลย
รัน: ผมขี้เกียจเถียง (หัวเราะ) ไปโฟกัสที่เพลงดีกว่า
ตี้: ผมชอบที่เวลาพูดแล้วมันเท่ดี และคำแปลก็ค่อนข้างเข้ากับเนื้อหาของเพลงที่เราตั้งใจจะสื่อ ว่าทุกคนก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน เท่าเทียมกัน
ทำไมถึงเลือกทำเพลง Garage Rock/Post Punk ในขณะที่ตลาดเพลงหลงเหลือเพลงแนวนี้น้อยมาก
ตี้: เรียกว่าเป็นจุดร่วมที่พวกเราชอบกันดีกว่า คือมันก็จะมีรสนิยมเพลงที่ฉีกกันไปของแต่ละคน แต่ถ้าตรงกลางก็จะเป็นเพลงแก๊งนี้ เพราะเราเป็นวัยรุ่นยุคเดียวกัน โตมากับเพลงแนวเดียวกัน
รัน: มันก็เป็นเพลงยุคที่เรากำลังเห่อ เริ่มฟังเพลงใหม่ๆ แล้วก็อินกับมันอยู่หลายปี จนถึงตอนนี้ก็ยังฟังอยู่
ตี้: มันไม่ใช่แค่ความชอบ แต่เป็น coming of age พอสมควร โตแล้วก็ยังเอาอัลบั้ม Is This It ของ The Strokes มาฟัง คืออยู่กับเรามาตลอด เราเคยลองทำแนวอื่นนะ เช่นแนวทางแบบ Mac DeMarco ก็ชอบนะ แต่ทำแล้วก็ไม่สนุกขนาดนั้น จบไม่ลง ทำออกมาได้ไม่ดี
พอเปลี่ยนมาทำ garage มันโฟลว์กว่า เพราะมันอยู่กับเราจนรู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะสนุก โดยที่ไม่ได้มองว่าตลาดโลกเขากำลังอินหรือฟังอะไรกัน
แล้วที่เลือกเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษล้วนล่ะ เพราะอะไร
ตี้: หนึ่งคือผมเขียนเนื้อไทยไม่เป็น (เขียนไทยเป็นแต่เขียนให้เป็นเพลงไม่เป็น) แล้วก็เริ่มคิดเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่แรก ซึ่งก็ลงตัวดี เลยรู้สึกว่า โอเค..เอาแบบนี้แหละ ไหนๆ ก็จะไม่แมสแล้ว ไปให้สุดทางที่เราสะดวกเลยดีกว่า
พาร์ทดนตรีบ้าง เล่าวิธีการทำงานในแต่ละเพลงหน่อย
รัน: ส่วนมากจะเริ่มจากริฟฟ์กีตาร์สั้นๆ แล้วก็ทำกลองเป็นไกด์ไลน์ขึ้นมา จนเห็นภาพแล้วว่าทรงเพลงมันจะประมาณนี้ ก็เป็นขั้นตอนการทำแล้วโยนไฟล์กันไปกันมา จนได้เดโม่ ก็เอาไปซ้อม แล้วค่อยเอากลับมาปรับจนโอเค ถึงจะเอาไปอัดจริงๆ
ช่วงแรกๆ ใช้เวลาทำเพลงหนึ่งนานมาก Rainbow Party นี่มีเดโม่อยู่หลายแบบเลย แบบกีตาร์ฮีโร่ก็มี แบบ Arctic Monkeys ก็มี
ที่มาของการทำ EP Album คือแพลนไว้ตั้งแต่แรก หรือเพิ่งเกิดขึ้นทีหลัง
ตี้: ทีหลังครับ มาเริ่มคิดตอนทำไปได้สัก 2-3 เพลง เริ่มมีโชว์แล้ว ก็เลยคุยกันว่า งั้นทำให้ครบ 5 เพลง เป็น EP Album ไปเลยแล้วกัน ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง แต่คงไม่ถึงขั้น LP Album (อัลบั้มเต็ม) เพราะถ้าทำก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเสร็จ
เพลงที่แต่งเพิ่มก็ได้มาจากการไปเล่นโชว์นี่แหละ บรีฟคืออยากได้เพลงที่มันดีดขึ้น ไฮป์ขึ้น ซึ่งก็ได้มาเป็น Be Mine Then You’ll Be Good กับ How Can We Live Forever?
ทำไมตั้งชื่อ EP Album นี้ว่า The Greater Good
ตี้: ผมเป็นเนิร์ด Harry Potter (หัวเราะ) คำนี้กรินเดลวัลด์ (ศัตรูที่รักของดัมเบิลดอร์) เป็นคนพูด ผมว่ามันเท่ดี และก็เข้ากับเนื้อหาในอัลบั้ม กรินเดลวัลด์เขาใช้เพื่อมูฟเมนต์ของเขา ที่อยากเปลี่ยนโลกให้พ่อมดเป็นใหญ่ นั่นคืออนาคตที่ดีกว่าในมุมมองของเขา ซึ่งจริงๆ เขาก็เป็นตัวร้ายเนอะ แต่ถ้าเอาแค่ตัวคำ ผมว่ามันสะท้อนเนื้อหาของเพลงเราได้ดี ว่าคือการอยากจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
เล่าเรียงตามแทร็คให้ฟังหน่อยว่าแต่ละเพลงเป็นยังไง เริ่มจาก Be Mine Then You’ll Be Good
เต้: เพลงนี้เริ่มจากริฟฟ์กีตาร์ที่ผมคิดแล้วอัดไว้ด้วยกีตาร์โปร่ง ทิ้งไว้หลายเดือนจนพี่ตี้ทักมาว่า ขอดูคลิปนั้นใหม่ ก็เลยได้ทำกันต่อหลังจากนั้น
ตี้: เรื่องของเรื่องคือสามเพลงแรกผมเป็นคนขึ้น พอมาเพลงนี้ก็คุยกันว่าอยากได้เพลงที่สนุกขึ้น โดยที่ไม่อยากคิดคนเดียวเหมือนเดิม เพื่อนๆ ก็ส่งกันเข้ามา แล้วผมจำได้ว่ามีริฟฟ์อันนี้ของเต้ที่เท่ดี
ส่วนเนื้อหา ใจความหลักๆ มันคือประโยคตรงกลางเพลงที่ว่า “Be Good Then You’ll Be Mine, Be Fine Then You’ll Be Good” ซึ่งเกิดจากการตีความคำว่า “คนดี” ในแบบ…คนดีที่ใส่เสื้อเหลืองอะ ประมาณว่า ถ้ามึงเป็นพวกกู มึงสบายนะ มึงการันตีว่าเป็นคนดีแน่ๆ อะไรแบบนั้น
ทีนี้ท่อนอื่นๆ ก็จะเป็นการทดลองแรนด้อม ถ้าลองฟังดีๆ จะได้ยินเนื้อเพลงจากเพลงอื่นๆ อยู่ในนี้ เช่น Speaking words of wisdom จากเพลง Let it Be (The Beatles), They don't love you like I love you จากเพลง Maps (Yeah Yeah Yeahs) หรือ Heaven knows they miserable too ก็เพลงของ The Smiths เป็นเหมือนความสนุกที่ได้สับหลอกไปมา เรียกว่าอีสเตอร์เอ้กก็ได้ ทำไปไม่มีใครรู้ นี่รันยังไม่รู้เลยนะทุกวันนี้
รัน: คนอื่นก็ไม่รู้เหมือนกันแหละ (เต้: ผมรู้ๆ อยู่ในแชทไลน์ (หัวเราะ))
ตี้: อีกความสนุกคือ ตอนโชว์ผมกับเต้จะสลับกันเล่น ผมไปเล่นเบส เต้เล่นกีตาร์ เพราะริฟฟ์มันเล่นไปร้องไปยาก ไหนๆ เต้ก็เป็นคนคิดกีตาร์แล้ว อะมึงเล่นไป
World-Shaped Box
รัน: เพลงนี้นี่เคยยาวมาก เป็นโปรเกรสซีฟร็อกเลย (หัวเราะ) พี่อาร์มเหนื่อยอะ เล่นเพลงเดียว
อาร์ม: ตอนที่เปลี่ยน วงคิดกันว่ามันย้วยไป ยืดเยื้อ เลยทำให้กระชับขึ้น
ตี้: อย่างท่อนฮุค มันจะมีสูตรว่าต้องฮุคสองครั้ง หรือมากกว่านั้น แต่ของเราฮุคมันดันอยู่ท้ายสุด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีฮุคอีกรอบ แต่เราก็คิดว่า มันก็ไม่จำเป็นนี่หว่าที่ต้องวนกลับมาซ้ำ คือรอบเดียวก็พอแล้ว เลยตัดทิ้งเพื่อไม่ให้มันยาวไป
ชื่อเพลงก็มาจาก Heart-Shaped Box ของ Nirvana แหละ จริงๆ มันแปลว่ากล่องทรงโลก เราอยากให้มันสื่อถึงความเป็นโลกกับห้อง ความอึดอัดที่เรารู้สึกในการอยู่ ณ ตรงนี้ ส่วนไอเดียของเนื้อเพลงเกิดในช่วงโควิดรอบแรก เจอล็อคดาวน์ กักตัว เนื้อหาก็เป็นการเมืองแบบตรงๆ ว่าระหว่างที่เราถูกปิดหูปิดตาอยู่เนี่ย พวกมึงแอบทำอะไรลับหลังอยู่ใช่ไหม อย่าคิดว่าคนเขาไม่รู้
NOTLOVENOTLOVE
ตี้: ทำเป็นเดโม่เซตแรกๆ ของวงเลย แต่ปล่อยท้ายสุด เพราะไม่อยากปล่อยเพลงช้าก่อน อยากให้ภาพของวงช่วงแรกๆ เป็นวงสนุกๆ
อาร์ม: เพลงนี้ตียากสุดเลย ด้วยความที่เป็นเพลงช้า ผมก็ได้อินสไปร์จาก The Strokes พวกวิธีการส่งที่เล่นน้อยๆ ก็ดูดีได้ แต่พอเล่นกลองกรูฟแรกขึ้นมานี่นึกถึงคนไม่เอาถ่านเลย (หัวเราะ)
ตี้: เพลงนี้ก็แก้กันอยู่หลายครั้ง เพราะเราไม่อยากทำให้มันเป็นเพลงช้าที่หวาน แต่บีทกับเมโลดี้มันมาแบบนี้ แล้วจะทำยังไงให้มันอยู่ในจุดที่เราโอเค เคยมีแว้บนึงทำไปทำมาแล้วนึกถึง Somebody Else ของ The 1975 ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากทำให้เป็นแบบนั้น เลยปรับนานอยู่ครับกว่าจะเจอจุดที่ลงตัว และชอบมันที่สุด
เนื้อหาก็พูดถึงความรัก ผมเคยอ่านเจอ เขาบอกว่าจริงๆ ความรักมันเพียวนะ แต่คนชอบเอามันไปใช้แบบผิดๆ ใช้พร่ำเพื่อจนทำให้มันแปดเปื้อน ใช้ความรักกับความหึง ใช้ความรักกับความคลั่ง เหมือนแค่เอาไปอ้าง เลยเอามาแต่งว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ความรักหรอก หรือการมาชูป้ายนู่นนี่นั่นมันไม่ใช่ความรักหรอก ท้องฟ้าเปิดเกิดแสงจากฟ้าก็ไม่ใช่ความรักมันคือท่องฟ้าแจ่มใส
How Can We Live Forever?
ตี้: ตอนแรกรันส่งริฟฟ์มาก่อน ฟังแล้วจะนึกถึง Arctic Monkeys อยู่หน่อยๆ ผมก็เอามาปรับเทมโป้ให้มันดูเป็นพังก์ขึ้น เติมไลน์เบสที่ให้ได้ฟีลแบบวงพังก์ ‘60 อย่าง Joy Division มันเลยค่อยๆ หลุดออกมาจากความ Arctic โดยมีเบสกับกลองเป็นตัวนำเพลง
เต้: เพลงเป็นเหมือนตัวปลดปล็อคความเป็น The Strokes ความเป็น Garage ว่าเราก็ทำเพลงพังก์ได้นี่หว่า
ตี้: เนื้อหาก็พูดถึงความเป็น elite หรือคนพวกนั้นที่เขาต้องการหยุดเวลาไว้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาอยากได้ เราก็ตั้งคำถามไปว่า ทำไมไม่ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีของมัน จะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่จริงๆ จะตีความเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคนก็ได้ ก็แล้วแต่ว่าคนฟังเขาจะมองจากมุมไหน
Rainbow Party
ตี้: นี่ก็ชัดเจนครับ พูดถึงสลิ่ม พูดถึงภาพรวมของการเมืองไทยในตอนที่เราแต่ง ซึ่งความสนุกอยู่ที่เวิร์สแรกเราเขียนจากมุมมองของคนที่เป็นสลิ่ม ส่วนเวิร์สสองเล่าจากมุมมองของขั้วตรงข้าม
จะมีคำอย่าง Golden Dawn ซึ่งเอามาจากประโยคว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพร ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” หรือเนื้อเพลงจาก Les Misérables ที่คนจำกันได้ เวลาเล่นสดเขาก็จะชูสามนิ้วกันในท่อนนี้
ในเมื่อทุกเพลงของวงว่าด้วยเรื่องการเมือง อย่างนี้สามารถเรียกตัวเองว่าวงการเมืองได้ไหม
ตี้: ถ้าจะเคลมแบบนั้นมันก็ได้ แต่ก็จะดูเครียดไปหน่อย เราอาจจะไม่เหมือน Bomb at Track ที่จู่โจมตรงๆ เคลียร์ๆ แต่จะออกแนวขี้แซะ กวนตีน เปรียบเปรย ตามสไตล์พังค์อังกฤษ อะไรแบบนั้นมากกว่า
แต่ยังไง ดนตรีกับการเมืองมันก็แยกจากกันไม่ได้หรอก เพราะการเมืองมันก็คือเรื่องของคน เรื่องของความสัมพันธ์ มันอยู่ในทุกอย่าง
โชว์ที่ประทับใจที่สุดของแต่ละคนคืองานไหน
รัน: หูย เลือกยากเลยมีตั้งพันกว่าโชว์ (หัวเราะ)
เต้: ผมประทับใจงาน Dudesweet ครับ (4 กันยายน 2020 ที่ The Rock Pub) เป็นงานแรกของวงเลย
อาร์ม: ชอบงานแรกเหมือนกัน
รัน: ตอนนั้นเหมือนฟลุคที่ได้ไปเล่น เพราะปล่อยมาแค่เพลงเดียว เลยต้องเอาเดโม่อีกสองเพลงที่ยังไม่ปล่อยไปเล่นด้วย ไม่งั้นก็ได้คัฟเวอร์ 8-9 เพลง คนเขาอยากมาฟังวง Common เจอคัฟเวอร์ไป 8 แล้ว Common แค่เพลงเดียว มันก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) ซึ่งพอเล่นสด ก็ได้เห็นปัญหาของเพลง เลยเอากลับมาแก้กันอีกที เวอร์ชั่นที่เล่นวันนั้นกับมาสเตอร์เลยไม่เหมือนกัน
ตี้: ส่วนตัวผมก็ชอบงานนี้ที่สุด เพราะเป็นงานใหญ่ แล้วคนเขาก็สนุก ขึ้น The Modern Age (The Strokes) มาเพลงแรกคนก็กรี๊ดเลย ซึ่งที่เชียงใหม่ คนดูจะนิ่งๆ พอมาเจอดีดๆ แบบนี้เราก็เซอร์ไพรส์พอสมควร
จนถึงวันนี้ การทำวง COMMON PEOPLE LIKE YOU ให้อะไรกับตัวเองบ้าง
ตี้: พวกเราสี่คนน่าจะคล้ายๆ กันว่า เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กก็อยากมีเพลงของตัวเอง มันก็ดีใจที่ได้ทำ และเป็นการทำในสิ่งที่เราชอบจริงๆ ด้วย เลยภูมิใจกับมันมาก และก็เหมือนได้งานอดิเรกใหม่ เป้าหมายใหม่ มีอะไรให้ทำนอกจากอาชีพการงานปกติ แล้วยิ่งเห็นฟีดแบ็คจากคนฟัง ก็ยิ่งมีพลังทำต่อ แถมยังมีไอเดียไปทำงานอย่างอื่นด้วย เหมือนเราเฟรชขึ้น
ปิดท้ายสไตล์ศิลปินดัง ฝากอะไรถึงแฟนคลับหน่อย
เต้: ขอฝากถึงวัยรุ่นหรือวัยไหนๆ ก็ได้ ที่อยากฟังซาวด์ใหม่ๆ ไม่สิ..ซาวด์เก่าๆ ที่ยังคิดถึง ลองมาฟังเพลงของ Common People Like You ไม่ว่าจะชอบเรื่องความรักหรือการเมือง ก็ฟังได้ ดนตรีฟังง่าย นักร้องหน้าตาดี มือกลองหน้าตาน่ารัก มือเบสขยี้ใจสาว…
อาร์ม: มือกีตาร์เข้าโรงพยาบาล (หัวเราะ)
ตี้: ก็ชวนฟังครับ บางทีมันก็ไม่ต้องการความเข้าใจขนาดนั้น อย่างที่บอกว่ารันก็ไม่ได้เข้าใจเพลงทั้งหมด
เต้: วนมากูอีกแล้ว (หัวเราะ)
ติดตาม COMMON PEOPLE LIKE YOU ได้ทุกช่องทาง
Facebook: https://www.facebook.com/commonpeoplelikeyou/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UChKxChZJ6yn4__zhI5IW__g
Streaming: https://bfan.link/for-the-greater-good
ต่อสายวิดีโอคอลสัมภาษณ์ดนัยถึงผลงานชุดใหม่ล่าสุดชุดนี้ พร้อมกับชวนคุยถึงประเด็นเสรีภาพในสังคมไทยทุกวันนี้
พูดคุยเกี่ยวกับแพสชั่น ความเคลื่อนไหวในเมือง และการขับเคลื่อนพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในเมืองเล็กๆ เมืองอย่างเมืองพะเยา