เทศกาลศิลปะที่ถูกมองว่าเป็น art washing ของราชวงศ์ซาอุฯ
Desert X AlUla เป็นเทศกาลศิลปะจัดวางกลางทะเลทรายแบบสองปีครั้ง หรือที่รู้จักกันในนาม Desert Biennale (เบียนนาเล่ทะเลทราย) แต่เดิมจัดที่ Coachella Valley แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อปี 2020 ย้ายมาจัดที่ทะเลทรายอัลอูลา (AlUla) ในภูมิภาคเมดินา ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นครั้งแรก โดยปี 2022 นี้ ที่กำลังจัดอยู่ (ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม) ถือเป็นครั้งที่สอง
นอกจากสุนทรียะของศิลปะจัดวางในแลนด์สเคปเวิ้งว้างกลางทะเลทราย หนึ่งในคอนเซปต์หลักของเทศกาล Desert X คือการทำให้งานศิลปะเข้าถึงผู้คนให้มากขึ้น จากการแสดงงานในพื้นที่สาธารณะ ภายนอกแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันทางผู้จัดก็อยากสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่นได้เข้าร่วมชม
อย่างไรก็ดี งานในสองครั้งหลังสุดที่อัลอูลา ก็ไม่วายมีดราม่าหลายเรื่อง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดพร้อมสนับสนุนเงินทุน ท่ามกลางข้อครหาว่าเจ้าชายหวังใช้งานศิลปะมาช่วยกลบกระแสสิทธิมนุษยชน (art washing) โดยเฉพาะประเด็นอุ้มฆ่า นักข่าว จามาล คาช็อกกี ในอิสตันบูล เมื่อปี 2018 หรือถึงแม้ตัวเทศกาลจะชูประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการไฮไลท์ศิลปินหญิง รวมถึงศิลปินหญิงชาวซาอุดีอาระเบีย เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของซาอุดีอาระเบียที่เปิดโอกาสให้เพศหญิงมากขึ้น กระนั้นก็ตาม การเป็นเกย์หรือคนไร้เพศในประเทศนี้ก็ยังผิดกฎหมายอยู่ดี
ไม่นับรวมความย้อนแย้งของคอนเซปต์งานที่ตั้งใจจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ กระนั้นด้วยสถานะของทะเลทรายอัลอูลาที่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่เต็มไปด้วยข้อกำหนดในการเข้าพื้นที่มากมาย รวมถึงการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว พื้นที่แห่งนี้จึงเข้าถึงได้เพียงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจำนวนหนึ่งเท่านั้น
แต่นั่นล่ะ ถึงจะเต็มไปด้วยดราม่า แต่งานทั้ง 15 ชิ้นที่ทีมคิวเรเตอร์ซึ่งนำโดย Sumantro Ghose ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของงานคัดสรรมา ก็งดงามและน่าทึ่งจริงๆ นั่นล่ะ เราคัดเลือกบางส่วนมาให้ชมกัน
Dark Suns (2022)
Artist: Claudia Comte
Claudia Comte ศิลปินหญิงชาวสวิสเซอร์แลนด์ นำเสนออินสตอเลชั่นกำแพงสีขาว 10 ชิ้น ที่แต่ละชิ้นมีพื้นผิวเป็นแพทเทิร์นเส้นสายคล้ายคลื่นที่คล้ายถูกถอดมาจากเส้นโค้งของหุบเขาอันห้อมล้อมงานชิ้นนี้ไว้ ขณะเดียวกัน เราสามารถมองเส้นคลื่นดังกล่าวในฐานะคลื่นเสียงที่ดังก้อง กลางพื้นที่เวิ้งว้างแห่งนี้ได้ด้วยเช่นกัน
Angle of Repose (2022)
Artist: Jim Denevan
ศิลปินอเมริกันผู้สร้างชื่อจากงานภูมิศิลป์ หรือแลนด์อาร์ท Jim Denevan เล่นล้อกับทัศนียภาพของทะเลทราย ด้วยการขุดหลุมและก่อกองทรายล้อมรอบตัวเองจากกองขนาดเล็กลามออกสู่กองใหญ่นับจำนวนไม่ถ้วน อุปมาถึงประสบการณ์หรือโลกทัศน์ของมนุษย์สักคนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างและดูเหมือนไร้จุดสิ้นสุดของทะเลทราย ขณะที่ชื่องาน Angle of Repose ก็สื่ออย่างตรงไปตรงมาถึงมุมกอง หรือมุมทรงตัว ที่ทำให้มวลวัสดุที่ถูกนำมากองรวมกันได้โดยไม่อาจเคลื่อนที่ไปไหน
Gold Falls (2022)
Artist: Attukwei Clottey
หนึ่งในงานที่เราชอบที่สุดในเทศกาลครั้งนี้ Attukwei Clottey นำพลาสติกที่มาจากแกลลอนบรรจุน้ำ (Kufuor gallon) ของกานา ประเทศบ้านเกิดของศิลปินมาประกอบใหม่จนคล้ายพรมขนาดยักษ์ติดตั้งบนหน้าผาสร้างภาพลักษณ์ที่คล้ายน้ำตกสีทองกลางทะเลทราย ควบคู่ไปกับสุนทรียะทางศิลปะ ศิลปินยังตั้งใจสะท้อนความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงน้ำสะอาด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศในแอฟริกาและของโลก
Geography of Hope (2022)
Artist: Abdullah Alothman
ดูเผินๆ งานของ Abdullah Alothman ศิลปินชาวซาอุดีอาระเบียคล้ายบึงน้ำกลางทะเลทราย แต่จริงๆ แล้วมันคือแผ่นสแตนเลสสตีลที่สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ ก่อให้เกิดภาพลวงตาประหนึ่งบ่อน้ำในโอเอซิสที่ไม่มีอยู่จริงกลางทะเลทราย ซึ่งนั่นล่ะ ไม่เพียงชื่อ (Geography of Hope) ที่ยั่วล้อความหวังที่ไม่มีอยู่จริง แต่ถ้ามองงานชิ้นนี้ในมุมการเมืองภายในประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็ยิ่งแสบสันต์เข้าไปใหญ่
Coral Alchemy
Artist: Shezad Dawood
Shezad Dawood ศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย-ปากีสถาน นำเสนอความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ชีวภาพของทะเลทรายและทะเลแดง (Red Sea) ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ด้วยการสร้างสรรค์ประติมากรรมที่ดูคล้ายปะการังขนาดยักษ์ที่ซึ่งพื้นผิวของมันยังสะท้อนจินตภาพเกี่ยวกับผลกระทบโลกร้อนจากมุมมองของศิลปิน
Where the Dwellers Lay
Artist: Dana Awartani
Dana Awartani ศิลปินหญิงชาวปาเลสไตน์ที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย นำแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงเรขาคณิตของหลุมศพชนเผ่าแนบาเทียน (อดีตชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายอาราเบียน) ที่เป็นหินตัด หรือการตัดภูเขาทั้งลูกจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมขั้นบันไดที่ราวกับจะให้ผู้วายชนม์ได้ใช้เดินขึ้นสู่สวรรค์
Under the Same Sun
Artist: Stephanie Deumer
Stephanie Deumer ศิลปินหญิงชาวแคนาดาขุดโพรงขนาดใหญ่กลางทะเลทราย ก่อกำแพงหินจนเกิดเป็นถ้ำที่หลังคาของมันเป็นที่ตั้งของแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งทำหน้าที่แปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับจอโปรเจกเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโรงเพาะชำพืชภายในถ้ำดังกล่าว ใช่… เธอทำโรงเพาะชำในถ้ำกลางทะเลทราย
The Valley of Desert Keepers
Artist: Ayman Zedani
งานซาวด์สเคป (soundscape) ภายในโพรงถ้ำกลางทะเลทรายของ Ayman Zedani ศิลปินรุ่นใหม่ชาวซาอุดีอาระเบีย
Camouflage 2.0
Artist: Zeinab Alashemi
Zeinab Alashemi นำหนังอูฐมาหุ้มกับโครงสร้างเหล็กสร้างมิติของประติมากรรมให้คล้ายก้อนหินที่ตั้งอยู่ท่ามกลางห้อมล้อมของภูเขาที่เป็นก้อนหินจริงๆ กลางทะเลทราย สร้างบทสนทนาระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมือมนุษย์