BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
ไกลบ้าน สงครามเย็น ไคโยตี้ของบอยส์ และหลากประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่า
  • Art & Design
  • Oct 07,2021

ไกลบ้าน สงครามเย็น ไคโยตี้ของบอยส์ และหลากประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่า

 ใน Errata นิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

EARATA MAIIAM BOTS

Errata มีรากศัพท์มาจาก error หรือข้อผิดพลาด แวดวงนักอ่านรู้จักคำนี้ในฐานะใบแนบในหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อชี้แจงข้อผิดพลาด-แก้ไขข้อความภายหลังที่สิ่งพิมพ์ฉบับนั้นตีพิมพ์ไปแล้ว ใช่, บนสื่อดิจิทัล ไม่ว่าเราจะพิมพ์ผิดกี่ครั้ง เราสามารถลบเพื่อแก้ไขใหม่ได้เรื่อยๆ แต่กับสื่อที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ Errata คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนอ่านเข้าใจเนื้อหาไม่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ

กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์ประจำ Jim Thompson Art Center และภัณฑารักษ์รับเชิญของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ เลือกใช้คำนี้เป็นชื่อของนิทรรศการใหม่ล่าสุดที่ใหม่เอี่ยม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนของสังคมและสื่อกระแสหลักในศิลปะร่วมสมัยของไทยผ่านคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม รวมถึงอีกสามพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเยอรมนี

“เวลาพูดถึงศิลปะในประเทศไทย หลายคนรวมถึงภาครัฐ มักคิดถึงจิตรกรรมมลังเมลืองหรือประติมากรรมอันวิจิตรตระการตาของเหล่าศิลปินแห่งชาติหลายท่าน โดยเข้าใจว่านั่นคือศิลปะร่วมสมัย แต่จริงๆ แล้วความเป็นร่วมสมัยค่อนข้างห่างไกลจากสิ่งเหล่านั้นมาก” กฤติยา กล่าว

“แม้จะใช้ชื่อ Errata แต่นิทรรศการนี้ไม่ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อจะบอกว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด แต่เป็นวิธีการหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์การเล่าเรื่องตามกระแสหลักของประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งชาติ การนำเสนอชิ้นงานศิลปะที่ไม่ได้ร่วมขบวนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวก็บอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สื่อกระแสหลักแทบไม่ได้นำมาเล่า” กฤติยา กล่าวเสริม

หนังสือไกลบ้านของ ร.5 ที่วางคู่กับหนังสือไกลบ้านของ ปพนศักดิ์ ลออ/ ชฎาที่ทำจากกระดาษลังของอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล/ จิตรกรรมที่วาดซ้ำจากหน้าหนังสือพิมพ์ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง/ วิดีโอที่อารยา ราษฎร์จำเริญสุข บันทึกการสอนหนังสือให้ศพ หรือการใช้ชีวิตร่วมกับหมาป่าไคโยตี้เป็นเวลา 3 วันของ โจเซฟ บอยส์ ฯลฯ นิทรรศการศิลปะจะวิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งชาติได้อย่างไร และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทบไม่ถูกเล่าในประเทศไทยคืออะไร Bots World ชวนคุณไปสำรวจนิทรรศการนี้พร้อมๆ กัน

Errata คือนิทรรศการแรกในโครงการนิทรรศการหมุนเวียนระดับนานาชาติ Collecting Entanglements and Embodied Histories ซึ่งจัดร่วมกัน 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ หอศิลป์แห่งชาติอินโดนีเซีย เมืองจาการ์ตา (Galeri Nasional Indonesia), พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติเบอร์ลิน (Nationalgalerie–Staatliche Museen zu Berlin), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ (Maiiam Contemporary Art Museum)

โครงการดังกล่าวมุ่งหมายนำเสนอประวัติศาสตร์อันซับซ้อนหรือประวัติศาสตร์ที่กำลังเลือนหายในภูมิภาคที่พิพิธภัณฑ์นั้นๆ ตั้งอยู่ ด้วยการจัดนิทรรศการศิลปะในมุมมองเฉพาะของแต่ละพิพิธภัณฑ์ (หากแชร์คอลเลคชั่นงานศิลปะร่วมกัน) ผ่านการร้อยเรียงของภัณฑารักษ์รับเชิญ 4 คนอย่างเป็นเอกเทศ ได้แก่ กฤติยา กาวีวงศ์ (ใหม่เอี่ยม), Anna-Catharina Gebbers (เบอร์ลิน), Grace Samboh (จาการ์ตา) และ June Yap (สิงคโปร์)

ทั้งนี้ใน Errata นิทรรศการเดียวที่ถูกจัดในหอศิลป์เอกชน หาได้เป็นหอศิลป์แห่งชาติเหมือนประเทศอื่นเขา  กฤติยาได้คัดสรรผลงานจากศิลปิน 35 คน ซึ่งมีทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศิลปินตะวันตกชื่อดังอย่าง Bruce Nauman, Jeroen De Rijke, Willem De Rooij ไปจนถึงศิลปินเยอรมันผู้ล่วงลับ Joseph Bueys

EARATA MAIIAM BOTS

เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัยในไทยอันยาวนาน กฤติยาแบ่งนิทรรศการออกเป็น 4 โซนหลักๆ ตามปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาค เริ่มจาก Genesis (ปฐมบท) โซนที่พาเราย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการในสยาม ยุคสมัยที่ชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชีย และสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี สร้างพันธมิตรกับนานาประเทศ นั่นทำให้รัชกาลที่ 5 มีโอกาสได้ไปร่วมชมงาน Venice Biennale ที่เวนิส อิตาลี ก่อนจะนำความคิดเรื่องการจัดเทศกาลกลับมาในสยาม อันก่อให้เกิดงานวัดประจำปีวัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจัดนิทรรศการแบบโลกตะวันตกครั้งแรกของไทย

หนึ่งในชิ้นงานศิลปะที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญแห่งยุคสมัยดังกล่าวคือ ภาพถ่ายรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค (บรรพบุรุษของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยใหม่เอี่ยม) และพระสนมองค์อื่นๆ ซึ่งถูกถ่ายขึ้นจากร้านถ่ายรูปหลวง ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของสยามในงานวัดเบญจมบพิตรฯ ภาพที่ว่าถูกแขวนไว้ตรงผนังด้านในสุดของห้องนิทรรศการในโซน Genesis พร้อมกับจอแสดงภาพถ่ายขณะ ร.5 เสด็จประพาสยุโรปบนผนังด้านซ้ายมือ

ขณะที่แท่นด้านล่างของรูปภาพ ปรากฏหนังสือสองเล่มวางคู่กัน เล่มแรกคือ ‘ไกลบ้าน’ หนังสือพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จประพาสยุโรป ส่วนอีกเล่มเป็นหนังสือชื่อเดียวกันในปี 2017 ของปพนศักดิ์ ลออ งานศิลปะในรูปแบบหนังสือ (Far From Home, 2017) ที่นำเสนอภาพทิวทัศน์และรูปเหมือนของเหล่านักโทษการเมืองชาวไทยที่จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศจากคดีอาญา 112… เป็นหนังสือที่พูดถึงการเดินทางไกลเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันอย่างสุดขั้วและน่าเศร้า

ERRATA MAIIAM BOTS

ผนังตรงข้ามรูปถ่าย ร.5 คือเสื้อเชิ้ตแขนยาวของนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ พร้อมปักตัวอักษรเนื้อหาพระบรมราโชวาทเอาไว้  ผลงาน ready-made ของ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง (Allegiance IV, 2018) อีกหนึ่งชิ้นงานที่เล่นล้อกับความเป็นโรงเรียนวชิราวุธ สถาบันการศึกษาที่กษัตริย์ไทย (รัชกาลที่ 6) พยายามทำให้ทันสมัยแบบตะวันตก หากก็ติดแหง่กอยู่กับความเป็นอนุรักษ์นิยมเข้มข้น จนเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่เฉพาะแค่ของโรงเรียน แต่อาจจะหมายรวมถึงชนชั้นกลางเบบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่ในประเทศนี้

ส่วนผนังอีกด้านคือไอแพดที่บรรจุไฟล์เสียงการบันทึกเครื่องเล่นแผ่นครั่ง Gramophone ครั้งแรกของโลก ซึ่งกฤติยาไปได้มาจากพิพิธภัณฑ์เสียงในหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย Humboldt ในเบอร์ลิน นี่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่หลายคนไม่ทราบมาก่อนว่าเสียงแรกที่ถูกบันทึกลงแผ่นครั่งแผ่นแรกของโลกคือเสียงเพลงลาวคำหอม ผลงานของนักดนตรีที่ติดตาม ร.5 เสด็จประพาสยุโรปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน กฤติยานำเสียงเพลงดังกล่าวมาจัดแสดงเพื่อให้ห้องนิทรรศการที่พูดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่อจากนี้สมบูรณ์

ERRATA MAIIAM BOTS

พ้นจากโซน Genesis คือโถงทางเข้าของส่วนนิทรรศการหลักของใหม่เอี่ยม คราวนี้แปลกตากว่าทุกครั้ง เนื่องจากหลายคนมักคุ้นเคยกับการจัดแสดงชิ้นงานที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละนิทรรศการบริเวณนี้ กลับมีเพียงแจกันเสียบดอกไม้สีขาววางอยู่เบื้องหน้าผนังโล่งๆ อย่างไรก็ดีนี่หาใช่แจกันที่มีไว้ประดับตบแต่งเฉยๆ แต่เป็นงานยั่วล้อชนชั้นคนขาวอย่างยียวนของศิลปินดัตช์ Willem De Rooij ในชื่อ Bouquet IX (Whiteness/ White Versions), 2014 ผ่านการใช้ดอกไม้ 10 สายพันธุ์ที่ทั้งหมดล้วนมีสีขาว ปักลงบนแจกันสีขาวบนแท่นสีขาวหน้าผนังสีขาว ศิลปินมองว่าหลากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในศตวรรษที่แล้วและส่งผลมาถึงทุกวันนี้ มาจากความเชื่อ ‘ขาวสุดโต่ง’ ของฝรั่งผิวขาวจากตะวันตกที่มองตัวเองเหนือกว่าคนผิวสีอื่นๆ จนนำมาสู่การออกล่าอาณานิคมไปทั่วดินแดนนั่นเอง

ERRATA MAIIAM BOTS

Bouquet IX (Whiteness/ White Versions) โดย Willem De Rooij

 

ERRATA MAIIAM BOTS

The Critical Dictionary of Southeast Asia: F for Fold โดย Ho Tzu Nyen

พจนานุกรมรวมคำศัพท์ที่สะท้อนความเป็นเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ (พร้อมภาพประกอบ) แบบโคตรอินไซท์โดยศิลปินชาวสิงคโปร์ Ho Tzu Nyen ศิลปินคัดสรรคำศัพท์ 24 คำจากตัวอักษร A-Z เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงที่ทั้งยียวน ตลกร้าย และน่าเศร้าของประเทศแถบเรามาเล่า

ERRATA MAIIAM BOTS

โซนที่ 2  Ramayana: On Counter Narrative กฤติยาหยิบ ‘รามเกียรติ์’ วรรณคดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดชิ้นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เป็นเครื่องมือที่ราชวงศ์จักรีนำมาใช้สร้างรัฐชาติ มานำเสนอในมุมที่แตกต่างออกไป ผ่านวิดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ พิเชษฐ กลั่นชื่น (I am a demon – moments, 2015) ที่ศิลปินเปลี่ยนบทนำจากพระรามสู่ทศกัณฐ์ ผู้เป็นตัวร้ายของเรื่อง หรือชุดจิตรกรรมสีชอล์คและเครยองในปี 2010 ของศิลปินอินโดนีเซีย Agung Kuriawan ที่เลือกเล่าเรื่องรักสามเส้าในรามเกียรติ์แบบชายรักชาย เป็นต้น

ERRATA MAIIAM BOTS

Thai Cardboard Headdress (2010) ประติมากรรมมงกุฎที่ทำจากกระดาษลูกฟูกหรือกระดาษลังเหลือใช้ จัดแสดงพร้อมภาพสเก็ตซ์ โดย อนุวัตณ์ อภิมุขมงคล

 

ERRATA MAIIAM BOTS

โซนที่ 3 On Cold War Remnants นิทรรศการพาไปสำรวจเศษซากที่หลงเหลือจากยุคสงครามเย็นในภูมิภาครอบบ้านเราและในบริบทโลก ยุคสมัยที่อเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนักและส่งอิทธิพลหลายประการ และร่วมสมัยเดียวกับเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และ 2519 เหตุล้อมปราบนักศึกษาอันเป็นจุดด่างพร้อยของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งรัฐไทยพยายามทำให้ประชาชนลืมเลือน

ERRATA MAIIAM BOTS

Oh Yoko (1963) งานมิวสิควิดีโอของอดีตบรรณาธิการนิตยสารเพลย์บอยชาวญี่ปุ่น Keiichi Tanaami นำภาพอิลลัสเตรชั่นหลากสีสันของ จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ มาประกอบบทเพลงในพื้นหลังที่สะท้อนบทบาทของการเรียกร้องเสรีภาพของคู่รักเซเลบริตี้ในช่วงสงครามเย็น

และ Mao – Hope March (1966) ของศิลปินบราซิล Öyvind Fahlström วิดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ยั่วล้อกับการรับรู้ของคนอเมริกันในช่วงสงครามเย็นผ่านกลุ่มวัยรุ่นที่ชูรูปเหมา เจ๋อตุง เดินไปทั่วนิวยอร์ก ก่อนจะสัมภาษณ์ผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่ารู้จักชายในรูปหรือไม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก และเข้าใจว่าเป็น Bob Hope นักแสดงชาวอเมริกัน

ERRATA MAIIAM BOTS

And Then There Were None (Tomorrow we will become Thailand.), 2016 / อริญชย์ รุ่งแจ้ง ได้แรงบันดาลใจมาจากการไปค้นคว้าในหอจดหมายเหตุที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ และพบหนังสือพิมพ์ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1973 ของกรีซ รายงานข่าวการลุกฮือของนักศึกษาไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พร้อมพาดหัวว่า “สักวันหนึ่งเราจะเป็นเหมือนประเทศไทย” โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในกรีซยุคนั้นมองการลุกขึ้นมาขับไล่เผด็จการของนักศึกษาไทยเป็นสิ่งจุดประกายความหวังของพวกเขา อริญชย์จึงทำงานจิตรกรรมทำซ้ำหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จัดแสดงคู่กับภาพจิตรกรรมที่เขาเลือกทำซ้ำจากภาพข่าวในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

ERRATA MAIIAM BOTS

And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.), 2016 โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง

 

ERRATA MAIIAM BOTS

Untitled (2014-2015) โดย ทัศนัย เศรษฐเสรี / จิตรกรรมสื่อผสมกึ่งนามธรรมสามชิ้นที่ทัศนัยนำกระดาษหลากสีสันหรือเครื่องประดับตบแต่งที่ไปเก็บมาจากงานวัดหรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ มาคอลลาจทับภาพข่าวในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในเดือนตุลาคม 2519 สะท้อนความพยายามของรัฐที่จะกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การนองเลือดครั้งนั้นไปจากความทรงจำของประชาชน

ERRATA MAIIAM BOTS

เซ็คชั่นที่ 4 Reclaiming the Body: Women and Performance Arts ชวนไปสำรวจประวัติศาสตร์ทางเลือกในแวดวงศิลปะที่พยายามคัดง้างกับความเป็นกระแสหลักที่ครอบงำโดยศิลปินชายมาแต่ไหน ผ่านผลงานเฟอร์ฟอร์แมนซ์ที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของโลกศิลปะร่วมสมัยไทยในยุค 80s ในชื่อ Song for the Dead (1985) ของ กมล เผ่าสวัสดิ์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นรูปถ่ายในเฟรมไม้กางเขนมาจัดแสดง พร้อมทั้งงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ของศิลปินหญิงที่ยั่วล้อสถานะความเป็นหญิงในสังคมอย่างก้าวล้ำและเฉียบคมทั้งในอาเซียนและยุโรป

หากงานชิ้นแรกที่ผู้ชมจะได้ดูก่อนคือ I Like America and America Likes Me (1974) วิดีโอที่ Joseph Beuys ขังตัวเองไว้ในห้องร่วมกับหมาป่าไคโยตี้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับมัน เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นงานมาสเตอร์พีชที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ในยุคต่อมาอย่างมาก

ERRATA MAIIAM BOTS

โดยหนึ่งในศิลปินที่นำแรงบันดาลใจจากโจเซฟ บอยส์ มาสร้างงานก็คือ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ใน Beuys and a Coyote: The Silent Relationship (2019) ที่เธอพาโรดี้วิดีโอของบอยส์ ด้วยการนำหมวกหมาป่าไคโยตี้มาสวมหัว และสร้างปฏิสัมพันธ์กับนกแก้วแทน

ERRATA MAIIAM BOTS

กวิตา วัฒนชยังกูร สะท้อนบทบาทของผู้หญิงกับอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยการจำลองร่างกายตัวเองเป็นเครื่องปั่นด้ายที่หมุนวนไม่ยอมหยุดใน Spinning Wheel (2018)

ส่วน Melati Suryodarmo ศิลปินหญิงหัวขบวนศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์อินโดนีเซีย เต้นรำอยู่บนเนยแข็งใน Exergie – Butter Dance (2000)

 

ERRATA MAIIAM BOTS

และที่ขาดไม่ได้เมื่อพูดถึงศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์หญิง - อารยา ราษฎร์จำเริญสุข กับวิดีโอการสอนหนังสือศพอันลือลั่น The Class (2005)

 

ERRATA MAIIAM BOTS

โซนจัดแสดงบนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นที่พูดถึงผลกระทบจากการเคยเข้ามาสร้างอาณานิคมของชาติตะวันตกในอาเซียน เช่น Rubber Man วิดีโออินสตอเลชั่นของศิลปินกัมพูชา Khvay Samnang ย้อนกลับไปสำรวจพื้นที่ที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเคยใช้ชาวเขมรปลูกยางพาราในจังหวัดรัตนคีรี หรือ A Separation of Sand and Islands (2018) ของ สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา วิดีโออาร์ทสองจอภาพที่จอหนึ่งตามรอยการเป็นเจ้าอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคอาเซียนในอดีต และจอที่สองตามรอยการเป็นเจ้าอาณานิคมของจีน (ในทางพฤตินัย) ผ่านการครอบครองสัมปทานทรัพยากรริมแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลายประเทศในอาเซียน

ERRATA MAIIAM BOTS

A Separation of Sand and Islands (2018) โดย สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

 

ERRATA MAIIAM BOTS

Rewriting the Erased (2009) / FX Harsono ศิลปินอินโดนีเซียบันทึกวิดีโอตัวเขาเองขณะคัดลายมือชื่อภาษาจีนของเขา รำลึกถึงชีวิตในวัยเด็กที่เขาเติบโตมาในช่วงสงครามเย็น และรัฐบาลอินโดนีเซียสมัยนั้นพยายามขับไล่คนจีนและลบล้างวัฒนธรรมจีนออกจากประเทศ นั่นทำให้คนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนหลายคนจำต้องเปลี่ยนชื่อ หรือหลบหนีออกนอกประเทศ

ERRATA MAIIAM BOTS

นอกจากนำเสนอชิ้นงานศิลปะ นิทรรศการนี้ยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอ archive ทางศิลปะที่เป็นเครื่องสะท้อนความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของศิลปะของไทยและอาเซียนในยุคสมัยต่างๆ เช่นอาร์ไคฟของกลุ่ม Indonesia New Art Movement กลุ่มศิลปินอวองการ์ดของอินโดนีเซียในยุค 70s-80s/ อาร์ไคฟข่าวและบทวิจารณ์ศิลปะในยุค 80s ของ ถนอม ชาภักดี/ อาร์ไคฟของภัณฑารักษ์ Koh Nguang How ที่พยายามโต้แย้งข้อมูลที่ผิดพลาดในหนังสือแคตตาล็อกศิลปะของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์ อันจุดประกายให้กฤติกานำคำว่า Errata มาใช้เป็นชื่อนิทรรศการนี้ และในห้องสุดท้ายคืออาร์ไคฟของ ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่จัดขึ้นตามพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่ช่วงยุค 90s เทศกาลที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย

ERRATA MAIIAM BOTS

เหล่านี้เป็นเพียงผลงานบางส่วนของนิทรรศการ Errata ที่กฤติยาตั้งใจนำเสนอเส้นทางอีกเส้นในประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชิ้นงานหลากรูปแบบที่ถูกสร้างสรรค์และพัฒนาจากการเปลี่ยนผ่านของสังคมและวัฒนธรรมผ่านน้ำเสียงที่หลากหลายของศิลปินในแต่ละยุคสมัย

Errata จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยเปิดให้เข้าชมวันศุกร์-จันทร์ 10.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 150 บาท
https://www.facebook.com/MAIIAMchiangmai/?ref=page_internal 

Writer

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียน ที่ใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่

RELATED CONTENTS

ALMOST FICTION by อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ALMOST FICTION by อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงอยู่ใน Gallery Seescape เชียงใหม่ เซ็ทภาพถ่ายพลทหารไร้ใบหน้า ที่ศิลปินมองว่ามันคือภาพแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้

  • Art & Design
  • Jul 19,2021

Stability in the Bubble  ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

Stability in the Bubble ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

The Bubble Arts-Group Space แกลเลอรี่ศิลปะสุดลึกลับ จากการลงขันร่วมกันของศิลปินร่วมสมัย

  • Art & Design
  • Jul 23,2020

Matchanu - มัชฉานุ  เสียงตะโพนของสลิล ในโขนบาโรก “มัชฉานุ”

Matchanu - มัชฉานุ เสียงตะโพนของสลิล ในโขนบาโรก “มัชฉานุ”

กำกับโดย สาลินี อัมมวรรธน์และ เบญจมินทร์ ตาดี

  • Art & Design
  • Mar 10,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK