BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
From Performer to Reformers
  • สนทนา
  • May 25,2021

From Performer to Reformers

 

 

แววดาว ศิริสุข

 

“ความมุ่งหมายในใจแรกของพี่เกิดขึ้นด้วยจิตพิสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้ทำการแสดงเพื่อการโจมตีหรือกล่าวถึงบุคคลกลุ่มใด พี่แค่อยากแสดงออกถึงพลังบวกและเป็นกำลังใจให้แก่คนที่อดทนหรือไม่พอใจกับปัญหาที่เราเผชิญร่วมกันทุกวันนี้ ส่วนประเด็นที่ตามมาทีหลัง เรียกว่าเซอร์ไพรส์เกินกว่าที่เราคาดหวังไปไกลเลย (หัวเราะ)” แววดาว ศิริสุข กล่าว

แววดาว ศิริสุข คือชาวเชียงราย, ศิลปิน Performing Art, แม่ครูช่างฟ้อนประจำโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และอดีตอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แววดาวมวยผม นุ่งผ้าซิ่น และห่มสะหว้าน ไปฟ้อนบริเวณข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มือหนึ่งเธอจีบด้วยนิ้ว 3 นิ้ว ขณะที่อีกมือถือป้ายที่มีรูปของเพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมที่กำลังอดอาหารเพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาลอยู่ในเรือนจำ… ซึ่งแน่นอน งานฟ้อนดังกล่าวทำให้เธอต้อง ‘งานเข้า’ เพราะหลังจากฟ้อนเสร็จในช่วงเช้า ตกบ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บุกมาเซอร์ไพรส์ถึงที่ทำงาน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา) เพื่อสอบถามหาตัวตน ด้วยไม่พอใจที่พบว่าช่างฟ้อนก็ชูสามนิ้วด้วย!

ผมเคยคุยกับแววดาวครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ครั้งนั้นเราคุยกันในฐานะที่เธอเป็นอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ ผู้บุกเบิกพื้นที่ร่วมสมัยให้กับการแสดงเชิงประเพณีอย่างการฟ้อนรำ – หัวขบวนของคนทำงานศิลปะร่วมสมัยในล้านนา ผู้ไม่เพียงทำงานศิลปะเพื่อสืบสานรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นสู่สากลเท่านั้น หากเธอยังหยิบจับประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองมาสื่อสารผ่านนัยของการฟ้อนอย่างเฉียบคม และใช่ จนถึงปัจจุบันเส้นทางและตัวตนของเธอยังคงชัดเจน พร้อมผลงานสร้างสรรค์อันแปลกใหม่ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

แววดาว ศิริสุข

จบปริญญาตรีสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (รุ่น 13) ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท เกี่ยวกับการออกแบบท่าเต้น หลักสูตร MFA Dance, World Arts and Cultures ที่ University of California Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน นอกจากการฟ้อนล้านนาที่เธอถนัดแล้ว เธอยังเรียนรู้เชิงมานุษยวิทยาเกี่ยวกับท่วงท่าการฟ้อนในวัฒนธรรมต่างๆ ก่อนนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ๆ ซึ่งยังรวมไปถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายช่างฟ้อนให้มีความร่วมสมัยและสอดรับกับแนวคิด และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอได้รับเชิญไปจัดการแสดงในเวทีต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

“เราเริ่มฟ้อนเชิงประเพณีมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 1 คณะวิจิตรศิลป์ แต่เริ่มทำงาน Performing Art จริงๆ ช่วงใกล้เรียนจบ โดยแรงบันดาลใจของเนื้อหาการแสดง หลักๆ จะแบ่งเป็น 3 หัวข้อคือ หนึ่ง. ประเพณีนิยม เทวดานางไม้ ความเชื่อที่มองไม่เห็น แตะต้องไม่ได้ สอง. สิ่งแวดล้อม พยายามจะกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกแก่สังคม และ สาม. ปัญหาสังคมในแต่ละบริบท แต่ถ้าเรื่องไหนเคยทำแต่สามารถนำกลับมาพูดใหม่ได้ถ้าบริบทสังคมมันเอื้อ ก็เลือกจะเอากลับมาทำเหมือนกัน ประมาณว่า ‘ใหม่ก่เอา เก่าก่บ่ละ’ ค่ะ” แววดาว ย้อนความหลัง

แววดาว ศิริสุข

แววดาวก่อตั้ง Sirisook Dance Theater สร้างสรรค์การแสดงฟ้อนร่วมสมัย ไปพร้อมกับการทำละคร หนึ่งในงานสร้างชื่อในยุคแรกๆ คือ ‘ล้านนาดรีม’ (Lanna Dream) เธอประยุกต์การฟ้อนเชิงประเพณีมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเพศสภาพ และการเสียดสีระบอบเผด็จการ หรืออย่างงานละครเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมาอย่าง ‘ฮามีนี่ คิงมีไหน’ (Haa Mee Nii Khing Mee Naii; I’m Here Where Are You?) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ซึ่งเธอได้อิมโพรไวซ์บทละคร ‘สาวเครือฟ้า’ มาเป็นละคร contemporary dance ชวนหัว ที่ยังสะท้อนสถานการณ์อันขำขื่นของบ้านเมือง ทั้งนี้กล่าวได้ว่าวิธีการสอดแทรกดังกล่าวกลายมาเป็นอีกหนึ่งสไตล์การทำงานของเธอไปแล้ว ซึ่งรวมไปถึงงานล่าสุดนี้ที่เธอไปฟ้อน ‘สามนิ้ว’ อยู่ลำพังบริเวณข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

“จริงๆ งานแสดงล่าสุด ความมุ่งหมายในใจแรกของพี่เกิดขึ้นด้วยจิตพิสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อการโจมตีหรือกล่าวถึงบุคคลกลุ่มใดเลย” แววดาว เล่าถึงดราม่าล่าสุด - ประสบการณ์แรกในชีวิตที่การฟ้อนของเธอชักพาให้ตำรวจมาเยี่ยมเยือน

“พี่แค่อยากแสดงออกถึงพลังบวกและเป็นกำลังใจให้แก่คนที่อดทนหรือไม่พอใจกับปัญหาที่เราเผชิญร่วมกันทุกวันนี้ สืบเนื่องจากข่าวสารทุกวันนี้ เปิดไปทางไหนหรือจะรับรู้อะไรก็รู้สึกได้แต่ความดำมืด สังคมเรามีเรื่องแย่ๆ มากเกินไป ตัวเราเองก็ไม่เห็นทางออกหรือทางแก้ไขใดๆ จากสังคมเช่นกัน และการแสดงเองก็เป็นสิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ตอนนี้ เป็นช่องทางที่เราสื่อสารและส่งพลังบวกได้ถนัดที่สุด เลยเลือกแสดงออกไปแบบนั้นเท่านั้นเองค่ะ ส่วนประเด็นที่ตามมาทีหลัง เรียกว่าเซอร์ไพรส์เกินกว่าที่เราคาดหวังไปไกลเลย (หัวเราะ)

“ถ้าใครจะโยงว่าสิ่งที่พี่แสดงออกนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องพิธีกรรม เรื่องใช้อาคมเพื่อหวังผลในแนวทางสาปแช่งล่ะก็ เราก็ได้แต่อุทานในใจว่า ‘ซวยแล้วกู!!! (หัวเราะ)’ เพราะมันนอกเหนือจากเนื้อหาการแสดงเราไปไกลเลยค่ะ พี่ไม่ได้จุดเทียนธูป อันเชิญพราหมณ์ หรือมีการลงคาถาอาฆาตพยาบาท เราไม่ได้มีอะไรเลย มีแค่ตัวเรากับท่ารำล้วนๆ อยากให้มองว่าเป็นการแสดงออกทางศิลปะที่ไม่ต่างจากบรรดาศิลปินที่แต่งกลอน วาดรูป ถ่ายภาพหรือร้องเพลงมากกว่าค่ะ ส่วนที่เราเลือกสถานที่ดังกล่าวเพื่อแสดงออก ก็เพราะเป็นแลนด์มาร์กของเชียงใหม่ เท่านั้นเองค่ะ คนที่เห็นเขาจะได้ทราบว่ากำลังใจมาจากพื้นที่ไหน เพราะช่วงนี้เค้าก็มาใช้พื้นที่ตรงนี้แสดงออกทางการเมืองกันอยู่บ่อยๆ เหมือนกันค่ะ” เธอกล่าวเสริม

คำยืนยันหนักแน่นที่มุ่งหมายว่าการแสดงของเธอคือศิลปะล้วนๆ ไร้ซึ่งจิตมุ่งร้าย มนต์ดำ ผีสาง หรือการลงอาคมใดๆ เป็นหนังคนละม้วนกับที่มีคำกล่าวหาว่าการฟ้อนของแววดาว คือการต่อสู้โดยใช้สิ่งที่มองไม่เห็นมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งแววดาวเข้าใจในจุดที่ถูกกล่าวหานี้เป็นอย่างดี

 

เวลาเราพูดถึงการฟ้อน คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม ความดีงาม หรือการแสดงของชนชั้นสูงบ้าง แต่จริงๆ ไม่ใช่ การฟ้อนคือศิลปะของชาวบ้าน ใช่มันมีกรอบของมัน แต่มันก็ไม่มีกรอบไหนมาห้ามว่าเราจะเอาการฟ้อนมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสะท้อนหรือตั้งคำถามถึงความเป็นไปของสังคมใช่ไหม ยิ่งสังคมมันมีปัญหา ศิลปะจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการชักพาไปหาทางแก้ไข

 

แววดาว ศิริสุข

แม้จะเดินทางบนถนนสายฟ้อนรำมาร่วม 2 ทศวรรษ แต่แววดาวยังคงสนุกและไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับเส้นทางที่เธอเลือก ล่าสุดตอนนี้เธอมีแผนเตรียมตัวบินไปทำโปรเจ็กต์ละคร “MAHABHARATA” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ร่วมงานกับผู้กำกับการแสดงรุ่นใหญ่อย่าง Hiroshi Koike แห่ง Hiroshi Koike Bridge Project และศิลปินสาย Performing Art ทั่วเอเชีย ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยตัวเนื้อหาการแสดงจะเกี่ยวเนื่องต่อไปยังกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะจัดขึ้นนี้อีกด้วย และเนื่องจากเป็นโปรเจ็กต์ค่อนข้างหินพอสมควร เลยทำให้เธออาจจะหายหน้าไปจากซีนการแสดงบ้านเราไปซักพักใหญ่ๆ เลยทีเดียว

 

ทำในสิ่งที่เชื่อ และเชื่อในสิ่งที่ทำ เพราะพี่เองก็เลือกทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเล็กน้อยแค่ไหน การทำให้น้ำกระเพื่อม ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ผิวน้ำมันนิ่งอยู่แบบนั้น อย่างน้อยที่สุด เราก็ทำให้ออกซิเจนมุดโผล่เข้าไปในน้ำได้ เพราะบ้านเราในปัจจุบัน ทุกอย่างมันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว ไม่รู้ว่าความจริงอยู่ตรงไหน แต่ที่แน่ๆ ‘ทองแท้ ย่อมไม่ใช่แป้ง’ แน่นอนค่ะ 

 

ติดตามผลงานของแววดาวได้ที่ https://www.facebook.com/SirisookDanceTheater 

Writer

Frank Dolp

Frank Dolp


มือกลองวง Solitude Is Bliss พักวงเพราะโควิด เลยหันมาทำสัมภาษณ์และเขียนบทความ

Photographer

Karin Mongkolphan

Karin Mongkolphan

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ถ่ายรูปภูมิทัศน์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหาร และผู้คน ยกเว้นก็แต่ผู้คนที่สนับสนุนเผด็จการ

RELATED CONTENTS

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

‘สาวสะเมิน’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเป็นเอก รัตนเรือง

  • สนทนา
  • Apr 26,2021

สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY

สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY

สนทนาธรรมกับ โอ๊ต-มณเฑียร ว่าด้วยสเปซศิลปะแห่งใหม่อันสดใสและไร้เพศ

  • สนทนา
  • Jun 10,2021

สนทนา: เพราะจริงๆ แล้วประธานบริษัทนั่นแหละที่เป็นปรสิต

สนทนา: เพราะจริงๆ แล้วประธานบริษัทนั่นแหละที่เป็นปรสิต

คุยกับแพร-พัชราภา กับชุดจิตรกรรมเล่าบทกวีของคนตาย

  • สนทนา
  • Nov 29,2021

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK