Covid-19 ทำให้แกลเลอรี่ศิลปะจำใจต้องปิดให้บริการกันหมด ระหว่างนั่งทำงานเหงาๆ อยู่บ้าน BOTS จึงทำ virtual tour แบบบ้านๆ ให้คนที่อยู่ที่บ้านได้ชมงานศิลปะในแกลเลอรี่บ้าง วันนี้พาไปชม Happy New Love Year นิทรรศการศิลปะติดตั้งของ โฆษิต จันทรทิพย์ ที่ทรานส์ฟอร์มแกลเลอรี่ MAI SPACE ให้กลายเป็นวิหารไซคีเดลิกสุดเฟี้ยว ชักชวนให้ผู้ชมละจากอคติและความขัดแย้ง มีความรัก และ (อย่าง) มีสติ
หลายคนรู้จักโฆษิต จันทรทิพย์ ในฐานะศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์สุดโต่งที่ชอบทำงานศิลปะเชื่อมโยงกับความรัก หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเขาคือ Lilly Ovary (1994) ที่เขาเข้าพิธีแต่งงานแบบเป็นทางการกับตุ๊กตายาง
โดดเด่นไม่น้อยไปกว่างานแต่งงาน โฆษิตยังเป็นที่จดจำในฐานะศิลปินที่เจาะเลือด เพื่อให้เลือดของตัวเองไหลลงสายยางที่ดัดเป็นคำว่า LOVE รวมถึงการเพ้นท์ภาพด้วยอสุจิ กระนั้นท่ามกลางงานที่ดู Radical จนสุดทาง โฆษิตยังมีผลงานที่มีแง่มุมที่สนุกสนานและสว่างไสว เช่น With Love, But Just For Sex (1995) ที่เขาแปลงกระบะหลังของรถบรรทุกเก่าให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ รวมถึงการนำสติกเกอร์คำคมท้ายรถบรรทุกมาดัดแปลงให้กลายเป็นคำคมเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความรัก
อิทธิพลของงานสติกเกอร์คำคมดังกล่าวยังถูกเน้นย้ำอย่างชัดเจนผ่านงาน Where There is Love There is Suffering (ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์) ในปี 1997 ซึ่งเขาจำลอง ‘วิหารแห่งความรัก’ ขึ้น ณ ข่วงประตูท่าแพ และเชื้อเชิญผู้ร่วมงาน (ซึ่งรวมถึงคนที่เดินผ่านไปมา) มาแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความรัก โดยมีเขาทำตัวเหมือนเจ้าอาวาส หรือผู้นำการสนทนา และเมื่อผ่านมา 17 ปี โฆษิตก็ได้ฟื้นคืนวิหารแห่งความรักหลังนั้นกลับมาใหม่ใน MAI SPACE ผ่านนิทรรศการล่าสุด Happy New Love Year งานนี้
ณ บันไดทางขึ้นสู่โถงนิทรรศการหลัก ที่โฆษิตเพ้นท์บันไดเป็นเส้นสายสีแดงพัลวันตามติดเราไปทุกก้าวเดิน ตัวอักษรคำว่า WAR ที่แปลว่าสงคราม ประดับอยู่ทุกขั้นของบันได ราวกับบันไดนี้จะพาเราไปสู่สงครามจริงๆ บนผนังด้านหนึ่งเขียนคำว่า VIOLENCE (ความรุนแรง) และเมื่อเดินพ้นขึ้นมาจะพบตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่าเป็นคำว่า US (เรา) ตระหง่านอยู่
ส่วนชานพักระหว่างบันได ยังมีชุดตัวอักษรกองอยู่บนพื้น ให้ผู้ชมสามารถเลือกประกอบคำจากตัวอักษรเหล่านั้นประดับบนผนัง ประหนึ่งว่าเมื่อเราเดินผ่านคำว่า ‘สงคราม’, ‘ความรุนแรง’ และ ‘เรา’ ขึ้นมาแล้ว ศิลปินอยากให้เราเลือกคำอธิบายเหตุการณ์หลังจากนั้นด้วยตัวเอง คล้ายจะบอกว่ามีแต่มนุษย์อย่างเราๆ เองเท่านั้นที่จะเลือกให้เกิดหรือไม่เกิดสงครามและความรุนแรงบนโลกใบนี้
เป็นวิหารอย่างไร?
โฆษิตเปรียบพื้นที่นี้ให้เหมือนศาสนสถานที่มีคำสอนสำคัญคือการทำให้คนรักกันและมีสติ เราเห็นป้ายพุทธสุภาษิตที่ประดับอยู่ตามต้นไม้ในวัดฉันใด ศาสนสถานของโฆษิตก็มี ‘ชุดคำ’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคำสอนเกี่ยวกับความรักประดับอยู่ทั่วบริเวณฉันนั้น
เส้นสายสีแดงยึกยือบนพื้นยังคงตามมาก่อกวนต่อในโถงนิทรรศการหลัก และมันเรียงตัวกันเป็น grid เพื่อขับเน้นกราฟิตี้รูปหัวกะโหลกสีเขียวที่ประดับอยู่บนผนังห้อง หัวกะโหลกบรรจุคำว่า ‘สติ’ ขนาดใหญ่ไว้ทุกอัน เป็นการส่งสาสน์ให้เรามีสติ ได้อย่างย้อนแย้งกับสภาพห้องที่วูบวาบไปด้วยแสงสีและความยุ่งเหยิง ชวนให้เราเสียสติได้อย่างเฉียบเท่และมีอารมณ์ขัน
รูปแบบตัวอักษรในสติกเกอร์คำคมติดท้ายรถบรรทุกที่ศิลปินเคยใช้ทำงานศิลปะในยุคหนึ่ง ถูกนำกลับมาใช้ประดับบนผนังรอบบันไดทางขึ้นชั้นบนสุดของแกลเลอรี่ คำคมเหล่านั้นวนเวียนอยู่กับความรัก ทั้งในเชิงสบถ ตัดพ้อ หรือเพียงแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เช่นคำว่า ‘รักตุ๊ด’
ทั้งนี้ศิลปินยังแบ่งพื้นที่ของแกลเลอรี่เพื่อเป็นการสื่อสารถึงแนวคิดไตรภูมิ เพราะหากสังเกตดีๆ เมื่อเราเดินเข้ามาในอาคาร (แกลเลอรี่อยู่ชั้นบนของร้านอาหารญี่ปุ่น บุญปั๋น ซารุ & ด้ง) ขึ้นบันไดที่ประดับด้วยคำว่า WAR เราจะเห็นห้องกระจกเล็กๆ ที่ (ในวันงาน) จัดแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ของมนุษย์แปลกประหลาดที่แออัดกันอยู่ในห้องนั้น โฆษิตเปรียบพื้นที่ดังกล่าวเมื่อโลกใต้พิภพ หรือขุมนรก เมื่อเดินพ้นขึ้นมายัง main gallery พื้นที่ตรงนี้จึงเปรียบให้เป็นโลกกลางหรือโลกมนุษย์ ส่วนชั้นบนสุดที่เป็นดาดฟ้า ถูกปรับให้เป็นบาร์แบบโอเพ่นแอร์ จึงทำหน้าที่ประหนึ่งสวรรค์ที่มีคราฟท์เบียร์เย็นๆ ยี่ห้อ ‘ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์’ รวมถึงเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ ให้ได้รื่นรมย์ ไปโดยปริยาย
HAPPY NEW LOVE YEAR คือนิทรรศการแรกของโครงการ ONE YEAR PROJECT ของ MAI SPACE ที่จะจัดแสดงผลงานของศิลปินเช่นนี้ไปตลอดหนึ่งปี โดยทุกๆ เดือนก็จะมีนิทรรศการใหม่เข้ามาจัดแสดงทับผลงานเก่า คล้ายเป็นการ Graffiti Bombing ในแวดวงสตรีทอาร์ท ที่เชื้อชวนให้ศิลปินคนต่อๆ ไปมาสร้างงานทับร่องรอยของศิลปินก่อนหน้าอย่างท้าทาย
รวบรวมภาพจิตรกรรมของศิลปินชั้นนำของโลกที่สะท้อนเหตุการณ์โรคระบาดครั้งสำคัญ จากกาฬโรค (Black Death) ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 ล้าน ถึงไข้หวัดสเปนในต้นศตวรรษที่ 20 และการระบาดครั้งแรกของ HIV ในทศวรรษ 80s ไปดูกันว่าศิลปินแต่ละคนในแต่ละยุค มีมุมมองต่อโรคอย่างไร
The Bubble Arts-Group Space แกลเลอรี่ศิลปะสุดลึกลับ จากการลงขันร่วมกันของศิลปินร่วมสมัย