บ้านน้อยหลังนี้สุขีเสียจริง
ย้อนไปในปี 2017 แฮร์รี่ สไตลส์ อดีตสมาชิก One Direction ปล่อยเพลงเดี่ยวเพลงแรกของตัวเอง ’Sign of The Times’ ในแนวบัลลาดร็อกที่ได้อินสไปร์จากพอล แม็คคาร์ทนีย์ เดวิดโบวี่ และวง Queen แบบสำเนาถูกต้อง
เพลงประสบความสำเร็จท้ังยอดขาย อันดับบนชาร์ต คำวิจารณ์ รางวัล และยังช่วยล้างภาพความเป็นบอยแบนด์ของสไตลส์ได้อย่างหมดจด และงดงาม
นับแต่นั้น สไตลส์ก็บินสูงขึ้นเรื่อยๆ ออกอัลบั้มเต็มสองชุด (Harry Styles และ Fine Line) ที่โคตรสุดทั้งคู่ จากการผสมผสานแนวเพลงที่เป็นความชอบอย่างแท้จริงของเขาไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม ไม่ว่าจะร็อก, ไซคีเดลิก, ฟังก์, โฟล์ค โดยมีความป็อปที่ฟังไม่ยากเป็นตัวยืนพื้น บวกกับภาพลักษณ์ที่เปิดกว้างทางเพศ ทั้งจากการสัมภาษณ์หรือการแสดงบนเวที ทำให้แฮร์รี่ สไตลส์ ค่อยๆ กลายเป็นที่ยอมรับและที่ยกย่องของแฟนเพลงหลากหลายกลุ่ม
มาปีนี้ สไตลส์ในวัย 28 ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ‘Harry’s House’ เพื่อต้อนรับแฟนเพลงทุกคนเข้าไปในพื้นที่ของเขาอย่างเต็มตัว ที่ๆ เขาตกแต่งประดับประดาด้วยความสนุก มุ่งมั่นตั้งใจ และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองจริงๆ “ตั้งแต่วันที่เริ่มทำอัลบั้ม ผมก็คิดอยู่เสมอว่า ‘บ้าน’ ในที่นี้จะไม่ใช่บ้านที่เป็นสถานที่ แต่เป็นความรู้สึกทั้งหมดที่อยู่ข้างในนั้น” นักร้องหนุ่มกล่าว
โดยสไตลส์ได้แรงบันดาลใจในการแต่งบ้าน จากอัลบั้ม ‘Hosono House’ งานคลาสสิกในปี 1973 ของฮารุโอมิ โฮโซโนะ ศิลปินญี่ปุ่นรุ่นเก๋าที่ว่ากันว่าทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงแดนซามูไร ซึ่งสไตลส์ได้ฟังตอนตัวเขาอยู่ญี่ปุ่นพอดี ไอเดียเลยบรรเจิด เกิดเป็นอัลบั้มใหม่ในที่สุด
“มันเริ่มจากการที่ผมอยากทำอีพีอัลบั้มแบบอะคูสติกล้วน หรืออะไรก็ตามที่ทำจบได้ง่ายๆ ที่บ้าน” สไตลส์กล่าว แต่ยิ่งลงมือทำ เขาก็ยิ่งดิ่งดำลงไปในห้วงความคิดตัวเอง จนมันไปไกลกว่าการเป็นเพลง ‘อะคูสติก-ฟังสบาย’ ตามความตั้งใจแรก กลายมาเป็นอัลบั้มแห่งความทะเยอทะยาน อลังการงานสร้าง และแตกต่างหลากหลายอย่างลงตัว
ไล่มาตั้งแต่เปิดประตูเข้าบ้าน ก็ป๊ะเข้าให้กับ ‘Music for a Sushi Restaurant’ ฟังก์-แจ๊สคึกคักๆ ที่พูดถึงการตกหลุมรักไปพร้อมๆ กับของกินได้ฟินหูดีแท้ โดยมีพระเอกตัวจริงเป็นริฟฟ์ซินธิไซเซอร์เปรี้ยวๆ พุ่งๆ ที่จดจำได้ต้ังแต่แรกฟัง
หรือซิงเกิลแรกของอัลบั้มอย่าง ‘As It Was’ ซึ่งปล่อยมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน และกำลังฮิตถล่มทลายในหลายๆ แพลตฟอร์ม ก็เป็นซินธ์ป็อปจังหวะกระฉับกระเฉงที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ประหนึ่ง ‘Take On Me’ ของวง A-Ha กลับชาติมาเกิดใหม่ในปี 2022 (ไม่ได้บอกว่าก็อป แต่ทรงมันคล้ายกันจริงๆ)
ส่วนเพลงอื่นๆ ที่ตามมาก็ดีงามไม่แพ้กัน ที่เด่นหน่อยก็อาทิ ‘Late Night Talking’ ซึ่งสไตลส์เคยนำไปเล่นสดในเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ อย่าง Coachella มาแล้ว - มาในซาวด์กรูฟๆ แผงคอรัสฟูลๆ แบบเพลงยุค 70’ กับเนื้อหาหวานๆ ที่มีท่อนซ้ำๆ ให้ร้องตามได้ไม่ยาก
หรือ ‘Cinema’ กับ ‘Daylight’ ที่ได้น้าจอห์น เมเยอร์ มาอัดกีตาร์ให้ ก็เป็นอีกสองแทร็คที่โดดเด่น โดยเฉพาะท่อนท้ายๆ ของเพลงหลังนี่คือระเบิดระเบ้อมากๆ เช่นเดียวกับ ‘Satellite’ ที่กลายร่างไปเป็นเพลงร็อกแบบหน้าตาเฉย (อ้อ..ส่วนเพลงแรกก็เป็นที่พูดถึงในฐานะเพลงที่สไตลส์ทำให้โอลิเวีย ไวลด์ ดาราสาวรุ่นพี่ที่มีข่าวว่ากำลังกิ๊กกันอยู่)
ด้านเพลงอื่นๆ อย่าง ‘Grapejuice’, ‘Daydreaming’, ‘Little Freak’, ‘Matilda’, ‘Keep Driving’, ‘Boyfriends’ และ ‘Love of My Life’ ก็ล้วนมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง ยิ่งแก๊งเพลงช้าอย่าง ‘Boyfriends’ หรือ ‘Matilda’ นี่ยิ่งฟังยิ่งซึม มาน้อยๆ แต่ค่อยๆ เร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนท่วมใจ (ส่วนตัวชอบ Matilda มากกก)
โดยสรุป - ถ้าจะเปรียบ Harry’s House เป็นบ้านจริงๆ ก็คงเป็นบ้านที่ตกแต่งด้วยของวินเทจยุค 70-80 ผสมกับแกดเจตล้ำๆ ได้เข้ากันเป็นอย่างดี แถมยังมีหลายโซนภายในบ้านให้เลือกอยู่อาศัยตามมู้ดของเราในวันนั้นๆ จะสุขหรือเศร้ามาจากข้างนอก ก็สามารถเข้ามานั่งชิลในบ้านนี้ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
เป็นบ้านหลังใหม่ของสไตลส์ที่พร้อมต้อนรับแขกทุกคนอย่างเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จักเขามาก่อนหรือไม่ก็ตาม
ที่มา: https://bit.ly/3ajGFrw
รวบรวมนักวาดภาพประกอบจากสามชาติคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันกว่า 300 คนมาสรรค์สร้างภาพแบบเรโทรตามการตีความที่อยู่ในภาพใหญ่ของความเป็น New Retro
5 เรื่องเพี้ยนแต่จริงของร็อกเกอร์คราบลุง Fred Durst - Limp Bizkit