เบื้องหลังงานอนิเมชั่นพอดแคสต์ของเหล่าสหายวิมานทลาย
วิมานทลาย (Heaven Crumbles: The Marvellous Misadventures of Sudsakorn) คือโปรเจกต์ศิลปะล่าสุดของ แทน-นวิน หนูทอง และ พชร-พชรกฤษณ์ โตอิ้ม พวกเขาชวนคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่หลากสาขาอย่าง สะอาด (Sa-ard) นักวาดการ์ตูน, ตั้ง ตะวันวาด (TangBadVoice) แร็ปเปอร์ และ พูด (Pud) กลุ่มคนทำวิดีโอเล่าเรื่องยากๆ ด้วยภาษาเข้าใจง่ายและสนุก ซึ่งกำลังมาแรงมากๆ ในยุคนี้ ล้อมวงสนทนาถึงสถานการณ์สังคมการเมืองในบ้านเรา ก่อนจะสกัดบทสนทนาที่ได้มาสร้างเป็นวิดีโออนิเมชั่น และเพิ่งเปิดให้ชมตอนแรกทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ Bangkok City City Gallery ไปเมื่อวันศุกร์ (19 พ.ย.) ที่ผ่านมา
แม้จะนิยามไว้ว่าเป็นบทบันทึกร่วมหรือ collective diary ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองของศิลปินในสาขาต่างๆ กระนั้น พชร-พชรกฤษณ์ นักเขียนและคนทำสื่อ หนึ่งในผู้ร่วมก่อการ อธิบายให้เห็นภาพว่างานวิดีโอที่มีความยาว 2 ตอน โดยมี ‘สุดสาคร’ มาร่วมแสดงนำชุดนี้คืองานในรูปแบบ podcast animation กล่าวคือแทนที่จะปล่อยให้ผู้ชมดูภาพประอบภาพหนึ่งภาพใดไปพร้อมกับฟังบทสนทนาแบบที่คุ้นเคยในรายการพอดแคสท์ทั่วไป พวกเขาร่วมกันสร้าง story ซ้อนทับอีกชั้น และเล่ามันผ่านงานอนิเมชั่นเสียเลย
ประสบการณ์วัยเด็กที่เห็นกินรีเปลือยอกในวัดพระแก้ว มังกรเกาะยอดเสาชิงช้าที่ผุพังก่อนจะพ่นไฟเผาร่างคนที่กำลังประกาศผ่านวิทยุ และมุมมองเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากวิดีโอที่พวกเขาถกเถียงกันในตอนแรกที่เพิ่งฉายไป ทั้งนี้ระหว่างรอดูตอนที่สอง ซึ่งมีกำหนดฉายในเดือนธันวาคม Bots World ชวนแทนและพชรมาสนทนาถึงเบื้องหลัง และกระบวนการการทำงานของโปรเจกต์นี้ รวมไปถึงสิ่งที่คาดหวังจากการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ว่ามองไปทางไหนก็ช่างสิ้นหวังเช่นนี้
สารภาพก่อนว่าก่อนเราจะได้ดูวิดีโอตอนแรก พอมาไล่ดูจากไลน์อัพที่มาร่วมงานกับพวกคุณ เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นการทำวิดีโอร่วมกันตามทักษะของแต่ละคน สะอาดวาดรูป มีกลุ่มพูดเขียนบท และมีตั้งมาแร็ปให้ แต่จริงๆ มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย
แทน: ครับ งานนี้หลักๆ คือผมเป็นคนวาดอนิเมชั่น และมีพชรเป็นคนกำกับ โดยในส่วนของสคริปต์มันเกิดจากบทสนทนาที่ผม พชร สะอาด ตั้ง และพูด แลกเปลี่ยนกัน เพราะเรามองเห็นว่าทุกคนล้วนทำงานสาย story telling และมีความคิดในการมองการเมืองเหมือนๆ กัน แตกต่างก็ตรงที่ practice หรือเครื่องมือการเล่าเรื่อง ก็เลยชวนมาคุยกันว่าแต่ละคนต้องสู้กับอะไรกันมาบ้าง เรามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อย่างไร ไปจนถึงความหวังในการทำงานต่อไปในอนาคต
คุณมีหลักในการชวนคนมาร่วมสนทนาในโครงการนี้อย่างไร
พชร: ถ้าตอบแบบเร็วๆ คือชวนคนหัวอกเดียวกันที่หงุดหงิดกับบ้านเมือง และพยายามใช้พื้นที่ของตัวเองร่วมขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงครับ อย่างสะอาดที่วาดการ์ตูนซึ่งพยายามสอดแทรกประเด็นทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ไว้ในผลงานตลอด ตั้งที่ทำเพลงฮิปฮอปที่มีเนื้อหาเสียดสีระบบอุปถัมภ์และปัจจัยที่ฉุดรั้งให้บ้านเมืองเราล้าหลัง รวมถึงเพจพูดที่พยายามขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมและรัฐสวัสดิการผ่านวิดีโอคอนเทนต์
นอกจากนี้ แต่ละคนก็ไม่ได้ทำงานในสกิลแบบเดียว อย่างสะอาดที่กำลังขับเคลื่อนโปรเจกต์การเมืองอีกชิ้นกับผมอยู่ หรือตั้งเขาก็ยังทำงานด้านภาพเคลื่อนไหวและรูปถ่ายด้วย ส่วนภาณุและแชมป์จากเพจพูด ก็ทำงานศิลปะอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงทำงานภาคสังคมในนามสหภาพคนทำงาน (https://www.facebook.com/workersunion.th/?fref=tag) เราจึงสนใจในกระบวนการทำงานที่ยืนอยู่ด้วยขาหลายๆ ขาของพวกเขาด้วยเช่นกัน
แล้วด้วยความหลากหลายของแต่ละคน คุณวางกรอบการสนทนาอย่างไร
แทน: มันจะไม่เป็นทางการเท่าไหร่ครับ เริ่มจากหยิบคีย์เวิร์ดกว้างๆ มาวางไว้ตรงกลางแล้วก็คุยกันเลย หลักๆ ก็คุยเรื่องโครงสร้างที่เรามี ความกดดันจากการถูกเซ็นเซอร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีมาตลอด หรืออย่างผมที่เป็นคนนำสนทนา ใน Ep.1 ก็เปิดเรื่องด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ว่าตอนเป็นเด็ก มีโอกาสไปวัดพระแก้ว ซึ่งตอนนั้นเราอินความเป็นไทยในวัดแห่งนี้มากๆ และมันมีอยู่ห้องหนึ่งที่เราอยากเข้าไป แต่เขาปิดไว้ ก็คิดว่าที่เขาไม่ให้เข้าเพราะกินรีกำลังแก้ผ้าอาบน้ำอยู่ สุดท้ายเรากลับบ้านมา ด้วยระบบและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่มันทำให้เรารู้สึกละอายใจที่ไปเห็นกินรีแก้ผ้า เลยต้องเฆี่ยนตีตัวเองในใจน่ะ พอย้อนกลับมาคิดเราพบว่ามันมีกำแพงใหญ่ๆ ของ critical thinking ในความเป็นเด็ก อันนี้คือคำถามแรกที่เราโยนเข้าไปว่าแต่ละคนมีวิธีการเปลี่ยนผ่าน หรือกะเทาะกรอบที่บดบังกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ของเราอย่างไร
ก่อนที่ไปต่อที่เนื้อหา ขอวกกลับมาที่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ก่อน มันเป็นมายังไงครับ
แทน: ต้องเล่ายาวนิดนึง เริ่มจากประเด็นหลักในนิทรรศการเดี่ยวของผมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา The Immortal are quite busy these days ที่จัดที่ Bangkok City City Gallery ซึ่งผมคำถามกับประวัติศาสตร์ในเกม common sense ของมาตรการวัด (measurement) และการ simulate ประวัติศาสตร์ออกมาในรูปแบบของฉากหรือตัวละครในเกม ซึ่งในนิทรรศการนั้นมันเป็นอินสตอเลชั่นที่นำข้าวของ ฉาก หรือตัวละครจากเกมต่างๆ มาจัดแสดง แล้วพอจบงานนั้นผมก็เอาส่วนหนึ่งในนิทรรศการมาต่อยอดเป็นนิทรรศการ A room, where they are COEVALs [Precise at a dig site door] ซึ่งจัดแบบออนไลน์เมื่อช่วงกลางปี ซึ่งผมจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่าง นิโค โรบิน ตัวละครที่เป็นนักโบราณคดีในมังงะ One Piece กับสิงห์ทวารบาลคู่ที่ติดตาม สกัด ตัวละครนักมวยไทยใน Street Fighter ผมจึงตัวละครและพร็อพประกอบเกมจากสองจักรวาลนี้มาจัดแสดงในห้องเดียวกันพร้อม objects ศิลปะอื่นๆ ที่เกิดจากการตีความบทสนทนา
อันที่จริงคำว่า Coevals ที่นำมาใช้ในชื่อนิทรรศการ มันมาจากนักมานุษยวิทยาที่ชื่อว่า Johannes Fabian ซึ่งเขาพูดถึงความต่างของมาตรวัดเวลาจากการที่เขาลงพื้นที่ไปศึกษาเรื่องชนเผ่า เขาค้นพบว่าเวลาที่เขาใช้ยึดตามหลักคาทอลิกมันช่างแตกต่างจากเวลาที่ชนเผ่าต่างๆ ใช้มากๆ ความต่างเรื่องมาตรวัดเวลานี้แหละที่ทำให้คอนเซปต์ของทุกอย่างมันเปลี่ยน ทำให้คนในเมืองกับชนเผ่าสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง Coevals ที่ผมหยิบมาใช้มันจึงเป็นเหมือนสิ่งที่มาย้ำเตือนว่าคอนเซปต์เวลาที่เราใช้มันต่างกัน
ทีนี้มันจึงเป็นสมมติฐานให้เรากลับไปคิดว่า สิงห์ทวารบาลของสกัด กับตัวละคร นิโค โรบิน จะสื่อสารกันอย่างไร ผมสนใจในคาแรกเตอร์ของนักโบราณคดีของนิโค โรบิน ซึ่งในมังงะมันก็ represent ต่อยุคสมัยนี้มากๆ ส่วนสิงห์ที่มากับสกัดก็เป็นตัวแทนของ Archeo-gaming หรือโบราณคดีในเกม เป็นความโบราณที่อยู่ภายใต้ simulation คือสุดท้ายเราก็จ้องมัน แล้วก็จะเห็นความโบราณไม่ได้ผูกอยู่กับเวลาแล้ว คือหมายถึงว่าเวลาจะตีความ Object ในเกมมันแตกต่างจาก Object ข้างนอก สิ่งนี้แหละที่จุดประกายให้ผมคิดถึงการจับตัวละครต่างๆ ที่มีพื้นเพหรือเงื่อนเวลาที่แตกต่างกันเข้าด้วยกันเพื่อเล่าเรื่องเดียวกัน
(ดูนิทรรศการได้ที่ https://bookshoplibrary.com/activity/archive/y-2021/a-room-where-they-are-coevals-precise-at-a-dig-site-door/ )
พอจะเข้าใจคอนเซปต์ของคุณอยู่ แต่เราสงสัยถึงความเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงน่ะ
แทน: ยกตัวอย่างเรื่องโต๊ะกินข้าวก็ได้ครับ มีพ่อ แม่ และลูกสาวกำลังเถียงกันเรื่องการเมืองขณะกินมื้อเย็นกันอยู่ ส่วนลูกชายเพิ่งเล่นเกมจบมาสมทบทีหลัง และก็เถียงกันเรื่องการเมืองต่อ อันนี้เป็นภาพแทนของหลายครอบครัวที่คนต่างรุ่นก็มีชุดประวัติศาสตร์ที่เรียนรู้มาไม่เหมือนกัน ตัวงานชุดนี้ ผมไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ในแบบงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ แต่ว่าอยากรู้ประวัติศาสตร์บ้านฉบับ practice ของพวกเรามากกว่า
ซึ่งก่อนที่ผมจะจัดแสดงนิทรรศการชุดนี้ (A room, where they are COEVALs) ก็ได้มีโอกาสคุยกับพชรพอดี พชรเป็นแฟนวันพีชเหมือนผม และเราก็ต่างรู้ว่า เออิจิโร โอดะ คนเขียนเรื่องวันพีช เขียนถึงยุค 100 ปีแห่งความว่างเปล่าในเรื่องโดยมี hidden history ที่ผูกเข้ากับนวนิยาย 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และพชรก็ได้ดูวิดีโอที่เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ เราคุยกันหลายเรื่องมาก แต่สิ่งหนึ่งที่พชรแชร์มาได้จากการดูงานของผมคือ เขาคิดถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นอภิมหาบิ๊กโปรเจกต์ในประเทศไทยที่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่ในสมัยที่เริ่มสร้างใหญ่หลวงมากๆ ผมก็เลยชวนพชรเขียนบทความประกอบนิทรรศการนี้เสียเลย (เข้าไปอ่านบทความ The Dangerous Future on the Fracture Mechanics ได้ที่
https://bangkokcitycity.com/wp-content/uploads/2021/09/The-Dangerous-Future-on-a-Fracture-mechanics-1.pdf)
ว่าแต่บทความที่พชรเขียนประกอบนิทรรศการที่แล้ว มันมาถึงโปรเจกต์อนิเมชั่นนี้ได้ยังไง
พชร: บทความที่ผมเขียนมันพูดถึงเมกะโปรเจกต์ของอำนาจของทุน อำนาจของการถูกเปลี่ยนมาอย่างดี ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมองเป็นในลักษณะเหมือนแบบยูนิเวอร์แซลที่มันเบลนด์อินเข้าด้วยกัน อย่างเช่นตัวละครของ DC กับ Marvel มาเบลนด์กัน ผมรู้สึกว่าการเบลนด์ทางโลกหรือจักรวาลหลายๆ จักรวาลมันไม่ต่างอะไรจากการที่เราเห็นเขื่อนภูมิพล คือมันเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ใหญ่มาก ที่มีทุนที่มันใหญ่มาก และมันพยายามจะเปลี่ยนแลนด์สเคปทางความคิดของคน หรือว่าสร้าง World Building บางอย่างให้มันเกิดขึ้นจริงในความคิดของคน มันก็เลย sync กับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ภาวะทางการเมืองในไทยหรือว่าในกรุงเทพฯ มันอยู่ในภาวะที่พีคทั้งจากแง่การบริหารงานของรัฐและโรคระบาด และคนก็เศร้ามากๆ เจ็บปวดมากๆ แล้วก็ล็อกดาวน์อีก
พอนิทรรศการจบลง พี่แทนก็เลยชวนว่า เฮ้ยจริงๆ แล้วอยากจะลองคุยกับคนทำงานสร้างสรรค์ที่สร้างตัวละครของตัวเองเป็นภาพแทนอะไรบางอย่างดู ก็นึกถึงสะอาดที่เขาวาดการ์ตูนเป็ดเพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน หรือตั้งที่ใช้ห่านเป็นตัวละคร อะไรแบบนี้ ซึ่งก็อยากรู้ว่าในสถานการณ์ที่มันโคตรโกลาหลอย่างตอนนี้ แต่ละคนที่ทำงานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน พวกเขาดีลกับมันอย่างไร
กลับมาเรื่องอีกนิดนึง อย่างคนที่มันมีอำนาจมากๆ หรือว่าคนที่เขาถือเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ บางทีพวกเขาพร้อมจะฉกฉวยในความโกลาหลตรงนี้ออกมาทำเงินได้ ยกตัวอย่างเช่นคนที่มีสิทธิ์ในการผูกขาดการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศเรา ก็เลยรู้สึกว่าแล้วจินตนาการใหม่หรือเรื่องเล่า ความคิดที่คุณจะโปรเจกต์ต่อไปในอนาคต คุณมองเห็นอะไรแล้วคุณดีลกับเรื่องพวกนี้ยังไง ก็เลยลากกันมา แล้วก็ดึงจุดประเด็นที่บทความที่ผมเขียนก็คือเรื่องของการรักษความทรงจำบางอย่าง ในฐานะที่เราเป็นคนทำงานเขียนหรือว่าคนที่ดีลกับ text ไม่ว่าจะเป็น text ในรูปแบบต่างๆ หรือว่า text ในความหมายที่กว้างสุด คุณจะดีลกับพีเรียดที่ทรมานแบบนี้ยังไง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเขียนในบทความก็คือ คุณต้องจ้องหน้ากับความทุกข์ยากนี้แล้วบันทึกมันไว้ แล้วก็ใช้แรงของคุณทั้งหมดในการที่จะ brave to บางอย่างนำมาสู่คำถามในสิ่งที่เราอยากจะถามกับคนทำงานสื่อ หรือว่าคนทำงานเกี่ยวกับเรื่องเล่าทุกคนว่า แล้วคุณคิดว่ายังไง เห็นว่ายังไง อะไรประมาณนั้น
แทน: อาจบอกว่ามันเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากนิทรรศการก็ได้ครับ เหมือนมีนิทรรศการแล้ว ก็ชวนวิทยากรมาแลกเปลี่ยน แต่เราก็มาคุยกับทาง Bangkok City City Gallery ว่าไม่อยากให้ดูเป็นวงเสวนาวิชาการไป ซึ่งความที่นิทรรศการมันถูกเล่าเรื่องด้วยงาน drawing ของผมอยู่ส่วนหนึ่งด้วยแล้ว เลยเอามาพัฒนาต่อ
พชร: เราอยากจะ push ให้มันไปไกลกว่าแค่เราบันทึกวิดีโอการพูดคุยเฉยๆ และเราก็รู้สึกว่าในเมื่อมันมี ท่ามกลาง time และ space ที่เรา เหมือนกับพยายามดึงคอนเซปต์ของพี่แทนในนิทรรศการเรื่องsimulation มาจับกับตัวที่เราอยากจะคุยกันถึง อาจจะมองได้ว่าตัวละครทุกตัวก็คือผม พี่แทน สะอาด ตั้ง พูด ทุกคนมีคาแรกเตอร์ซึ่งมันก็คล้ายกันกับงานของพี่แทน ที่นิโค โรบิน คุยกับสิงห์ทวารบาลที่มันพยายามจะหลอมรวมจักรวาลเข้าด้วยกันเพื่อสร้าง World Building ใหม่มันก็เลยกลายมาเป็น โอเคเราก็คุยกันเหมือนเดิมแต่พยายามเราตีหรือเตะจินตนาการของเราให้มันไปไกลกว่าแค่เป็นภาพพวกคนคุยกันเฉยๆ เราก็ใช้เป็นมิกซ์มีเดียที่พยายามจะเล่นกับความเลื่อนไหลของวิชวลดีกว่า จึงออกมาเป็นอนิเมชั่นอย่างที่เห็นครับ
เราสนใจชื่อ ‘วิมานทลาย’ ในโปรเจกต์นี้ อยากรู้ว่ามาได้ยังไงครับ
พชร: จู่ๆ คำนี้มันก็ขึ้นมาครับ เซ้นส์แบบสวรรค์ล่ม คำมันติดปากก็เลยไปคุยกับทีมงาน ทุกคนก็บอกว่าเออ รู้สึกมีความเมโลดราม่าแบบละครไทยที่มีส่วนหล่อหลอมให้คนรุ่นเราหรือรุ่นก่อนหน้าเราเติบโตขึ้นมาดีด้วย
แทน: คือตอนที่เราทำ sound ประกอบอนิเมชั่นชุดนี้ ก็มีน้องที่เป็นแร็ปเปอร์สองคนมาช่วย ก็แบ่งภาคเสียงว่าถ้าเสียงสวรรค์จะเป็นอย่างไร และเสียงตอนสวรรค์ถล่มลงมาเป็นอย่างไร เราคุยกันเหมือนกันครับว่าถ้าในความเป็นจริงสิ่งที่อยู่บนนั้นมันถล่มมาเลยเสียเองก็คงดี
คุณตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า Heaven Crumbles: The Marvellous Misadventures of Sudsakorn ซึ่งหลายช่วงเวลาใน Ep.1 ก็มักจะมีตัวละครสุดสาครกับม้านิลมังกรปรากฏอยู่ แต่ดูเหมือนไม่ได้มีผลอะไรกับเรื่องเลย เลยอยากรู้ว่าทำไมต้องมีเจ้าสิ่งนี้ด้วย
แทน: เขาจะมีบทบาทในตอนจบครับ ถ้าเล่าก็เหมือนสปอยล์ไป
แล้วทำไมต้องเป็นสุดสาครด้วย
พชร: เราเห็นตรงกันเรื่องความกำกวมไปจนถึงการหล่อหลอมสังคมไทยตลอดหลายยุคสมัยผ่านบทประพันธ์อย่างพระอภัยมณี ขณะเดียวกันผมมองว่าสุดสาครมันคือป๊อบคัลเจอร์ของไทยเรามากๆ คนวัยพวกผมส่วนใหญ่ก็จำไม่ได้หรอกว่าพระอภัยมณีมันมีรายละเอียดยังไงบ้าง แต่กับอนิเมชั่นเรื่องจ๊ะทิงจาที่เล่าเรื่องสุดสาคร กลับผ่านตาเราทุกคน คิดว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลในจิตใต้สำนึกเราไม่มากก็น้อย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะหยิบคาแรกเตอร์นี้มาเขย่าหรือมาปั่นอีกครั้ง
เท่าที่ดู EP.1 แล้ว บทสนทนาของพวกคุณมันพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันตรงๆ เลย คิดว่าแกลเลอรี่ (Bangkok City City Gallery) ที่เป็นเจ้าภาพให้พวกคุณจะไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหม
แทน: เราไม่ได้นิยามว่านี่เป็นงานการเมืองแบบตรงไปตรงมาน่ะครับ และเรากับแกลเลอรี่เห็นตรงกันว่าสิ่งที่พวกเราถกเถียงกันอยู่คือปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเราตอนนี้
พชร: พี่อ๊อป (อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bangkok City City Gallery) ถูกถามบ่อยถึงจุดยืนของพื้นที่เขาเหมือนกัน ก็มีคนถามว่าพยายามเลี่ยงที่จะไม่จัดงานศิลปะที่พูดเรื่องการเมืองใช่ไหม แต่พี่อ๊อปก็ปฏิเสธว่า ไม่นะ พื้นที่ของเขาพูดได้หมดนั่นแหละ เพียงแต่ว่าศิลปินที่ผ่านมาเขาเลือกที่จะไม่พูด หรือพูดด้วยวิธีการอื่น ซึ่งที่ผ่านมาผมก็เห็นว่ามีศิลปินสื่อสารประเด็นการเมืองไม่น้อยเหมือนกัน รวมถึงงานวิมานทลายนี้ก็เช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกันหมด ซึ่งเอาเข้าจริง ถ้าเรานำสิ่งที่ทุกคนถกเถียงในพ็อดแคสต์มาลงเต็มๆ ก็อาจเสี่ยง 112 อยู่ ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์กันก่อนว่าเราจะนำเสนอมากน้อยแค่ไหน
แทน: แต่ที่เราพูดกันมันไม่ใช่การด่าเจ้าน่ะครับ เอาเข้าจริงมันก็เป็นการตั้งคำถามแบบที่คนยุคนี้เขาตั้งกันเสียมากกว่า
เช่นอะไรครับ
แทน: ก็คำถามที่กรอบสังคมเดิมๆ มันไม่เคยอนุญาตให้เราตั้ง หรือแม้แต่คิด อย่างเช่น ถ้ารัชกาลที่ 5 ต่อยกับ รัชกาลที่ 7 ใครจะชนะ แล้วพี่สะอาดก็บอกว่ารัชกาลที่ 5 น่าจะชนะน่ะ อะไรประมาณนี้ คือในบทสนทนามันมีบรรยากาศแบบนี้อยู่ มันคือความพยายามจะทำลายกำแพงที่มองไม่เห็นซึ่งปิดกั้นเรามาตลอด อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูต่อเองในคลิปครับ
พชร: เราพยายามลองสร้างสิ่งที่เรียกว่า critical courtyard หรือว่า การรวมตัวให้ผู้คนที่ทำงานศิลปะมาแชร์พลังงานของการพูด การสื่อสาร หรือกระทั่งการใช้อารมณ์ขันเสียดสีสถานการณ์อันผิดเพี้ยน หรือการสร้างประวัติศาสตร์อันบิดเบี้ยวที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อฝังหัวผู้คนอยู่ เราหวังว่ามันจะเป็นแนวร่วมของการต่อสู้ทางการเมืองกับผู้คนในพื้นที่อื่นๆ อย่างที่ทนายอานนท์ เพนกวิ้น หรือรุ้งทำ ซึ่งเราก็ร่วมสู้ในทักษะที่เราถนัดคือการเล่าเรื่อง เราเชื่อในพลังของการเล่าเรื่อง และคิดว่าถ้าเราแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนกัน มันมีส่วนขับเคลื่อนสังคมได้ไม่มากก็น้อย
แทน-นวิน หนูทอง ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้ง Speedy Grandma / พชร-พชรกฤษณ์ โตอิ้ม เป็นคนทำสื่ออิสระ นักเขียน และคอลัมนิสต์ https://s-o-i.io/ / วิมานทลาย Ep.2 มีกำหนดออกฉายวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ไปดู Ep. แรกได้ที่ https://bangkokcitycity.com/viewing-room/heaven-crumbles-the-marvelous-misadventures-of-sudsakorn/
คุยกับแชมป์ Xyclopz จากนักพากย์ E-Sport สู่ Story Teller คุณภาพที่คุณควรรู้จัก
คุยกับอบ-ชุณห์พิมาณ พวงสอาด ล่ามภาษามือและผู้สอนวิชาภาษามือ ว่าด้วยการแปลเพลงให้กลายเป็นภาษามือ