BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สารจากสิ่งที่ไม่ถูกเห็นใน Informative to Transformative
  • Art & Design
  • May 23,2022

สารจากสิ่งที่ไม่ถูกเห็นใน Informative to Transformative

นิทรรศการใหม่ที่ Jing Jai Gallery

Informative to Transformative

Informative to Transformative คือนิทรรศการกลุ่มที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของแกลเลอรี่เปิดใหม่ในเครือเซ็นทรัล Jing Jai Gallery เชียงใหม่ นำเสนอผลงานของศิลปิน 6 คน ครอบคลุมงานภาพถ่าย อินสตอเลชั่น วิดีโออินเตอร์แอคทีฟ และซาวด์อินสตอเลชั่น ที่ซึ่งนอกเหนือไปจากแง่มุมทางสุนทรียศาสตร์ พลอย เจริญผล ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการบอกว่าเธอคัดสรรงานชุดนี้เพื่อหวังให้เกิดบทสนทนาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากมนุษย์ โดยเฉพาะกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ถึงแม้งานที่จัดแสดงเกือบทั้งหมดในนี้ เดิมทีศิลปินหาได้ตั้งใจจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาใส่ในผลงาน แต่เมื่อถูกจัดวางร่วมกัน ก็กลับบอกเล่าถึงสิ่งที่พลอยตั้งใจไว้ หรืออาจไปไกลเกินกว่านั้นอย่างน่าสนใจ


Informative to Transformative

Informative to Transformative

Informative to Transformative

Informative to Transformative

The Consequence of Our Actions (2022) ของ ddmy studio คือหนึ่งในชิ้นงานที่สะท้อนธีมของนิทรรศการได้ดีที่สุด เมื่อปีที่แล้ว ณครินทร์ รอดพุฒ และอาระยา สุวรรณ แห่ง ddmy studio ผนวกแนวคิดเรื่องเครื่องตรวจจับความร้อนแบบติดตั้งตามจุด เข้ากับงานทัศนศิลป์แบบอินเตอร์แอคทีฟในชื่อ ‘คนฝาก’ (2021) ร่วมจัดแสดงในเทศกาล Chiang Mai Art for Air จากแนวคิดพื้นฐานของเครื่องตรวจจับไฟป่า ทั้งคู่ใช้เทคนิคแบบเดียวกันนี้มาตั้งคำถามถึง ‘ผลกระทบ’ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ในงานชุดใหม่นี้

เสา 6 ต้นใน Jing Jai Gallery ถูกติดตั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวในระยะ 5 เซนติเมตร เซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณเข้าตัวประมวลผลกลาง แสดงผลออกมาเป็นรูปทรงเรขาคณิตนามธรรมปรากฏบนผนังด้านหนึ่งของแกลเลอรี่ ทุกครั้งที่มีคนไปสัมผัสหรือเข้าใกล้เซ็นเซอร์จากเสาต้นหนึ่งต้นใด กราฟิกเรขาคณิตก็จะเคลื่อนตัว หรือเปลี่ยนรูปร่างเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่งหรือวนซ้ำ แม้ภาพที่ปรากฏบนจอไม่ได้สื่อความหมายใดๆ มากไปกว่าเป็นเครื่องแสดงผลจากการกระทำของผู้ชม แต่งานชิ้นนี้ก็เหมือนภาพสะท้อนของธรรมชาติที่โอบล้อมตัวเรา ลำพังมนุษย์หนึ่งคนสามารถส่งผลให้บางสิ่งบางอย่างต่างออกไป หากเมื่อเซ็นเซอร์สะสมความเคลื่อนไหว (หรือกิจกรรมของมนุษย์) มากเข้ามากเข้า แน่นอนที่ภูมิทัศน์ตรงหน้าก็จะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมตลอดกาล


ขณะที่ ddmy studio นำเสนอผลจากการกระทำของมนุษย์ในรูปแบบของโมชั่นกราฟิก อธิษว์ ศรสงคราม บอกเล่าประเด็นคล้ายกันผ่านภาพถ่ายวัตถุ โดยแต่เดิมทีอธิษว์บันทึกภาพถ่ายของบรรดาวัตถุท่ามกลางสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ด้วยความสนใจในรูปทรงและความหมายในการใช้งานที่หลุดพ้นจากขอบเขตเวลา ก่อนจะนำมาจัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการ Objects (2021) ที่ Hop Photo Gallery กรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 2021

Informative to Transformative

Informative to Transformative

Informative to Transformative

Informative to Transformative

Informative to Transformative

หากเมื่อ พลอย เจริญผล คัดสรรภาพถ่ายในซีรีส์ดังกล่าว 9 ภาพมาจัดวางในนิทรรศการที่เชียงใหม่ ภาพถ่ายกลับสร้างความหมายใหม่ ที่บอกเล่าถึงผลลัพธ์อันไม่สิ้นสุดจากน้ำมือมนุษย์อย่างแหลมคม ไม่ว่าจะเป็นภาพเสาคอนกรีตเอียงกระเท่เร่ที่เคยเป็นโครงสร้างของป้ายโฆษณา โครงสร้างของป้ายรถเมล์ที่ถูกทิ้งร้าง หรือผนังอิฐที่ถูกก่อขึ้นเพียงบางส่วนกลางทุ่ง ฯลฯ ภาพถ่ายสิ่งของที่สะท้อนความหมายอันครึ่งๆ กลางๆ ไม่ว่าจะในฐานะของสิ่งของที่ถูกสร้างมาให้มีหน้าที่บางอย่างแต่กลับถูกปลดระวางหรือใช้ไม่ได้ และอนุสรณ์แห่งความสิ้นเปลืองที่ถูกสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยน้ำมือมนุษย์ ที่เมื่อมองพ้นไปจากความงามในมุมมองของศิลปิน สิ่งเหล่านี้คือความกลาดเกลื่อนที่เราพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งดูเหมือนมันจะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ


เช่นเดียวกับ โรจน์วิรุฬห์ วรรณแก้ว ที่นำเสนองานอินสตอเลชั่นจัดแสดงบริเวณโถงกลางนิทรรศการห้อมล้อมด้วยภาพถ่ายของอธิษว์ Earthquake Myths 01 และ Earthquake Myths 02 (2022) คือต้นจันผาในกระถางคอนกรีตซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยโครงเหล็กสีดำจากฐานจรดเกือบสุดปลายยอด พิจารณาจากชื่อผลงานทำให้เราไพล่คิดถึงการสร้างโครงสร้างมารองรับการโค่นล้มของต้นไม้จากเหตุแผ่นดินไหว กระนั้นในอีกมุม เรากลับพบความตั้งใจในการใช้วัตถุมาปกป้องและควบคุมการเติบโตของธรรมชาติ

Informative to Transformative

โครงเหล็กที่ถูกถักทอและดัดไปตามรูปทรงออร์แกนิกของต้นไม้ ยังทำให้ไพล่คิดถึงการเข้าเฝือกหรือการดามโลหะเข้าไปในอวัยวะมนุษย์ สุนทรียะแบบ body modification ที่เราเห็นได้จากภาพยนตร์หลายเรื่องในยุคแรกๆ ของ David Cronenberg ภาพยนตร์ที่บอกเล่าถึงความพยายามในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์ และอื่นๆ ซึ่งไม่เคยมีเรื่องใดจบสวย


Informative to Transformative

PVC Cubic (2022) เป็นงานอีกชิ้นที่โรจน์วิรุฬห์ใช้บอกเล่าความพยายามในการควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ด้วยการเข้าไปกำหนดตำแหน่งแห่งหนของพืชพรรณต่างๆ แทนระบบนิเวศ ผ่านไม้กระถางที่ศิลปินจงใจเลือกใช้ต้นไม้ที่ถูกตั้งชื่อที่เป็นมงคลหรือชื่อที่สะท้อนถิ่นกำเนิดในกรอบคิดของมนุษย์ ไม้กระถางเหล่านี้ถูกจัดวางอยู่ร่วมกันภายในโครงสี่เหลี่ยมของท่อพีวีซีสีขาว ให้ภูมิทัศน์คล้ายสิ่งปลูกสร้างอันร้างไร้อันเต็มไปด้วยพืชพรรณที่ขาดการดูแล นิมิตแห่งอนาคตในโลกหลังศิวิไลซ์ที่ไร้มนุษย์


Informative to Transformative

แม้จะเป็นการตีความในเชิงเนกาทีฟไปจากความตั้งใจของภัณฑารักษ์บ้าง กระนั้นจากการสั่งสมการกระทำของมนุษย์ด้วยรูปฟอร์มนามธรรมใน The Consequence of Our Actions (2022) ของ ddmy studio มายังชิ้นงานที่สื่อนัยของผลลัพธ์จากการกระทำในภาพถ่ายของอธิษว์ และการจัดวางต้นไม้ของโรจน์วิรุฬห์ ก็คล้ายเป็นการปูทางมาสู่ผลลัพธ์ที่กลับสู่ความเป็นนามธรรมอีกครั้งในชิ้นงานจัดวางเสียงของADRUNNOGNT ซึ่งทำให้เราคิดถึง apocalypse

Informative to Transformative

CICADA(O) / .- .-. --- --- -- ..-. ..- .-.. .-.. --- ..-. -.-- --- ..- .-. ... . .-.. ..-. (2022) คือผลงานของ อานนท์ นงค์เยาว์ และ Nguyen Ngoc Tu Dung พวกเขาบันทึกเสียงจากพื้นที่ที่ต่างกันในเวียดนามรวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ก่อนจะเลือกเอาคลื่นความถี่เฉพาะของพื้นที่นั้นๆ มาจัดแสดงผ่านลำโพงบลูทูธ 16 ตัว ซึ่งถูกแขวนรอบๆ ห้องฉายภาพยนตร์ โดยเปิดให้ผู้ชมเข้าไปนั่งบนเก้าอี้กลมกลางห้องเพื่อสดับคลื่นเสียงอันเป็นผลลัพธ์จากการกระทำของผู้คนในพื้นที่ 16 แห่ง ผลลัพธ์ที่เราไม่อาจรับรู้ทั้งบทสนทนา ความเคลื่อนไหว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ มีเพียงกังวานอื้ออึงไม่ทราบที่มา ราวกับเสียงของหลุมดำที่นาซาเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้


Informative to Transformative

กล่าวได้ว่า Informative to Transformative เป็นนิทรรศการที่นำเสนอมิติอันหลากหลายในความเป็นไปได้ของสถานการณ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งการสั่งสม การย้ำคิดย้ำทำซ้ำๆ ไปจนถึงการผุกร่อนเสื่อมถอยแบบไม่มีวันกลับ สิ่งเหล่านี้คือนามธรรมที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากก็ลอยปะปนในชีวิตประจำวันของพวกเราผ่านมวลอากาศที่ทุกคนหายใจ

Informative to Transformative จัดแสดงที่ Jing Jai Gallery ถนนอัษฎาธร เชียงใหม่ จัดแสดงทุกวัน 10.00-18.00 น. (เสาร์-อาทิตย์เปิดให้เข้าชม 8.00 น.) ไปจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ https://www.facebook.com/JingJaiGalleryChiangMai


RELATED CONTENTS

Stability in the Bubble  ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

Stability in the Bubble ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

The Bubble Arts-Group Space แกลเลอรี่ศิลปะสุดลึกลับ จากการลงขันร่วมกันของศิลปินร่วมสมัย

  • Art & Design
  • Jul 23,2020

Action Painting

Action Painting

เมื่อสีเป็นแค่สื่อ การสาดลงไปต่างหากคือความหมายของมัน

  • Art & Design
  • Dec 02,2020

แสง เงา ทางม้าลายบนแม่น้ำ และพรมแดงบนหิมะ

แสง เงา ทางม้าลายบนแม่น้ำ และพรมแดงบนหิมะ

ในสาธารณะอาร์ทวาววับของ เกรกอรี่ โอเรคอฟ

  • Art & Design
  • Feb 01,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK