“คอนเทนต์ลอยอยู่ในอากาศ ที่เหลือก็คือการหาวิธีบรรจุมัน”
แชมป์-ตรีภพ เที่ยงตรง หรือ แชมป์ Xyclopz คือชื่อแรกๆ ที่คุณจะพบเมื่อคุณเสิร์ชกูเกิ้ลด้วยคำว่านักพากย์เกม หรือผู้บรรยายกีฬา E-Sport ในฐานที่เขาเป็นนักพากย์เกมภาษาอังกฤษคนแรกของไทย แถมยังเคยติดอันดับ 1 ของเอเชีย และติดอันดับ top 10 ของโลกเมื่อปี 2018
ควบคู่ไปกับอาชีพนักพากย์ แชมป์ยังเป็นนักเขียน ทั้งที่เขาเขียนประจำอยู่ในเพจเฟซบุ๊ค ‘ย่อยประวัติ’ ซึ่งมีผู้อ่านติดตามถึง 120,000 คน โดยเมื่อปี 2018 เขายังออกหนังสือชื่อ ‘ย่อยประวัติ 1.0’ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Se-Ed ซึ่งยังเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์อีกด้วย
ไม่เท่านั้น ชายวัย 34 ผู้นี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษด้าน story telling การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไปจนถึง business pitching ให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพฯ พร้อมไปกับการดำรงสถานะนักธุรกิจเจ้าของบริษัท Spectre ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเอเจนซี่โฆษณาแทบทุกอย่าง หากแต่เฉพาะเจาะจงตรงแวดวง E-Sport
ทั้งหมดทั้งมวล แชมป์ไม่ได้ร่ำเรียนมาด้านนิเทศศาสตร์หรือบริหารธุรกิจ เขาจบวิศวะฯ และทำงานเป็นวิศวกรให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจนถึงอายุสามสิบ ก่อนหน้านี้เขาพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ และไม่เคยเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน แต่นั่นล่ะปัจจุบัน แชมป์เดินทางไปบรรยายเกมในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ มาแล้วทั่วโลก ขณะที่เอเจนซี่โฆษณานับจำนวนไม่ถ้วนต่างติดต่อให้เขาเขียนบทความโปรโมทสินค้าให้ในเฟซบุ๊ค ไม่นับรวมวิชาที่เขาเปิดสอน ไปจนถึงเวิร์คช็อปการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เขามีแผนจะเปิดตัวต่อไปในอนาคต
ในช่วงเวลาที่ไม่ว่าจะใครก็ตามก็สามารถมีชื่อเสียงได้เพียงข้ามคืนจากคอนเทนต์ที่ตัวเองมี และหนึ่งในอาชีพในฝันและยอดฮิตของคนรุ่นใหม่คือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ BOTS พูดคุยกับแชมป์ทั้งในฐานะนักพากย์ นักเขียน และนักผลิตคอนเทนต์ ว่าด้วยเส้นทางชีวิต การเปลี่ยนผ่านในวิชาชีพ และการทำอย่างไรจะเปลี่ยนผ่านความสนใจส่วนตัวให้กลายเป็นคอนเทนต์ที่ใครก็ไม่อาจรูดผ่านมันไปง่ายๆ
ทัวร์ Dota 2 ศูนย์เหรียญ กับจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพากย์
“ผมเป็นวิศวกรที่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก จนปี 2013 ผมทดลองจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขัน Dota 2 เล็กๆ ขึ้นมาทางออนไลน์ด้วยตัวเอง เป็นทัวร์ศูนย์เหรียญน่ะ ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีเงินรางวัล ใครชนะเลิศก็จะแค่ปรบมือให้เท่านั้นเลย ก็คิดว่าคงมีคนสมัครสัก 8-10 ทีม แข่งกันขำๆ แต่ปรากฏว่ามีคนเล่นจากทั่วโลกสมัครรวมกัน 132 ทีม ทีนี้ผมก็เลยว่างั้นน่าจะยกระดับเกมสักหน่อย มี live streaming บางแมทช์ แล้วก็หาคนมาบรรยายการแข่งขัน แต่นั่นล่ะ ไปชวนนักพากย์มา ไม่มีเงินให้เขา ใครเขาจะมา สุดท้ายผมก็เลยพากย์เอง
“ผมพากย์เป็นภาษาไทยก่อนในแมทช์แรก เท่านั้นล่ะโดนคนด่าเละ เกมเมอร์มาจากทั่วโลก แล้วมึงพูดภาษาเอเลี่ยนอะไรของมึง พอมาแมทช์ที่สอง ผมก็เลยลองพากย์อังกฤษดู ทั้งๆ ที่ผมแทบไม่เคยพูดภาษาอังกฤษมาก่อน คือเราโตมาในสังคมไทยเลยไง ตอนเรียนก็สอบภาษาอังกฤษได้โอเค แต่ชีวิตประจำวันเราจะไปคุยภาษาอังกฤษกับใครที่ไหนกัน พอมาพากย์อังกฤษก็โดนด่าอีก แต่ก็พอรู้เรื่องนะ พอพากย์ไปเรื่อยๆ มาแมทช์ที่สาม แมทช์ที่สี่ ผมกลับพบว่าเราก็พากย์ได้นี่ พอทัวร์นาเมนต์นี้จบเท่านั้นล่ะ ผมก็เลยเขียนอีเมลไปหาผู้จัดการแข่งขันเกมรายอื่นๆ เลย บอกว่าผมพากย์เกมได้นะ จะอาสาเป็นผู้บรรยายให้ฟรีๆ เลย คืออยากทำต่อเพราะเรารู้สึกสนุกกับมัน”
ภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ ที่พาเขาเดินทางไปรอบโลก
“ตอนนั้นผมยังทำงานเป็นวิศวกรอยู่ ก็ใช้เวลาหลังเลิกงานมาพากย์เกม จากพากย์ให้เขาฟรีๆ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนมีออร์แกไนเซอร์มาจ้างให้ไปพากย์บ้างแล้ว ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรงด้วย เลยไม่รู้ว่าอะไรคือถูกหรือผิด เราก็พากย์แบบตรงไปตรงมา มีแอคชั่นในแบบของเรา คนจ้างเขาก็คิดว่าไอหมอนี่มันดู unique ดีมั้งน่ะ ผมพากย์หมดเลย Overwatch, PUBG, Special Force, RoV กระทั่ง Tekken หรือ Street Fighter ก็ด้วย
มาเลเซียคือประเทศแรกที่จ้างผมไปพากย์เกมที่บ้านเขา หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปบราซิล เยอรมัน แคนาดา อเมริกา ไปมาแทบทุกทวีป จนมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ผมใช้วันลาจากงานประจำทั้งหมดไปกับการเดินทางไปพากย์เกม แล้วผมพบว่ารายได้จากการพากย์เกมหนึ่งวันมันมากกว่าเงินเดือนทั้งเดือนของผมเสียอีก นั่นคือปี 2016 ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำในวัยสามสิบ ไม่เป็นวิศวกรแล้ว เป็นนักพากย์เต็มตัวเลยดีกว่า”
ระบบนิเวศของ E-Sport
“ไม่เคยนับจริงๆ ว่าพากย์ไปทั้งหมดกี่แมทช์ แต่ 5 ปีมานี้ก็น่าจะเกิน 1,000 แมทช์แล้ว ตอนแรกๆ มีผมเป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นผู้บรรยายเกมภาษาอังกฤษน่ะ ส่วนใหญ่ในแถบนี้จะเป็นผู้บรรยายสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีภาษาอังกฤษดีกว่า แต่ผมอาจจะได้ตรงสไตล์ ซึ่งก็พากย์สะสมทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ มาเรื่อยๆ พอมาจัดอันดับจากจำนวนทัวร์นาเมนต์ ก็กลายเป็นว่าผมติดอันดับท็อป 10 ของโลก เหมือนเราทำงานไปเรื่อยๆ สะสมประสบการณ์ ranking มันก็ขึ้นเอง
“พอยิ่งทำไป ผมก็ยิ่งเห็นระบบนิเวศของแวดวง E-Sport นะ เวลาใครนึกถึง ก็จะนึกถึงแต่เกมเมอร์หรือผู้เล่นใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วมันมีโปรดักชั่นที่ใหญ่มากๆ รองรับอยู่ มีโปรดิวเซอร์ มีทีมสตรีมเมอร์ มีสปอนเซอร์ ทีมการตลาดก็สำคัญ ในช่วงที่ E-Sport เริ่มเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา ผมก็เลยร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัท Spectre ขึ้น เป็น E-Sport Agency Company โดยตรง คือเมื่อก่อนค่ายเกมเขาจะใช้เอเจนซี่โฆษณาทั่วๆ ไป แต่ผมก็บอกว่าบริษัทนี้อินไซท์กว่านะ เพราะทีมงานก็เป็นเกมเมอร์และนักพากย์กันหมด แล้วเราก็หาให้ได้หมด ผู้บรรยายเกม ช่องทางการตลาด ไปจนถึงเขียนคอนเทนต์รีวิวเกม ล่าสุดเรากำลังเปิดเวิร์คช็อปผู้บรรยายเกม ชวนคนมาเรียนรู้แนวทางการบรรยายเกม เป็นต้น”
มันต้องมีวันหนึ่งที่เราต้องตกกระป๋อง
“ช่วงต้นปี 2019 ที่ผมรู้สึกซึมเศร้ากับอาชีพผู้บรรยายเกมของตัวเอง คือตอนนั้นมันก็ไปได้ดีแหละ มีคนจ้างตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งผมก็คิดว่าแล้วถ้าวันหนึ่งเรา fall out of favorite หรือตกกระป๋องไปล่ะ คือถึงเราจะเป็นผู้บรรยายเกมภาษาอังกฤษคนเดียวในประเทศนี้ แต่สุดท้ายยังไงเสีย เราก็จำเป็นต้องรอให้ออร์แกไนเซอร์มาเลือกหรือมาจ้างเราไปทำงานอยู่ดี เรื่องนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงการทำงานอย่างอื่นที่เราสามารถควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเราเองคนเดียวได้ ก็คิดว่าจะทำอะไรดี แล้วจู่ๆ ก็มาลงเอยกับการเขียน
“ช่วงกลางปีที่แล้วมันเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วิหารนอเทรอดามที่ปารีส แล้วผมก็พบเรื่องราวของมงกุฎหนามของพระเยซูที่จัดแสดงอยู่ที่วิหารนั้น ก็ไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วเขียนลงบนสเตตัสส่วนตัวนี่แหละ ปรากฏว่าสเตตัสนั้นมีคนแชร์ไป 12,000 แชร์ และมียอด reach ไปสองล้าน มันกลายเป็นไวรัลเพียงข้ามคืน แล้วก็มีคนอ่านมาฟอลโลว์ผมเต็มไปหมด จากที่คิดจะเขียนเล่นๆ ก็มีคนบอกให้ผมเปิดแฟนเพจ ก็เลยตั้งเพจชื่อว่า ‘ย่อยประวัติ’ จำได้ว่าวันแรกที่เปิดแล้วเอาบทความนี้ไปแชร์ใหม่ มีคนมากดไลค์วันเดียวหมื่นไลค์ ทุกวันนี้มีคนกดไลค์เพจนี้แสนเก้าหมื่นเศษๆ มียอดฟอลโลเวอร์ประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นคน”
ผมเข้าใจความรู้สึกของศิลปินที่ออกอัลบั้มที่สองมาไม่แล้วมันไม่ฮิตเท่าอัลบั้มแรก
“ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเขียนอะไรยาวๆ เป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน ก่อนหน้าจะเขียนเรื่องมงกุฎหนาม ผมเคยเขียนถึงคดีปานามาเปเปอร์เมื่อสักสองสามปีก่อน อันนั้นน่าจะเป็นบทความแรกที่เขียนจบ พอบทความแรกของเพจมันมี engagement ดีมากๆ มันก็จุดประกายให้ผมอยากเขียนเรื่องอื่นๆ ต่อไป
“ผมตั้งใจว่าจะเปิดเพจมาเพื่อเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองสนใจ แล้วก็มาพบว่าสิ่งที่ผมสนใจคือเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งนั้น เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่นั่นล่ะ พอช่วงแรกๆ บทความฟีดแบ็คมันดีมาก ก็เลยเขียนไม่หยุดเลย สัปดาห์หนึ่งออกมาที 3 บทความ แล้วช่วงไหนมีประเด็นสังคมอะไร ผมก็หาแง่มุมเขียนถึง เขียนของผมคนเดียว
“จนมาถึงจุดหนึ่งผมก็พบว่าการทำอะไรให้เป็นไวรัลนี่มันน่ากลัว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทุกคนต้องการ engagement ต้องการ reach มากๆ จากที่เราเคยทำได้มากขนาดนี้ แต่งานชิ้นต่อๆ ไปมันกลับไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเดิม กลายเป็นว่าเราเศร้าใจเลยนะ เหมือนศิลปินที่เคยทำเพลงฮิตออกมา แต่อัลบั้มต่อมามันกลับไม่ฮิต ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แล้วผมก็พบว่าการวิ่งไล่ตามกระแสเรื่อยๆ มันไม่เวิร์ค ถึงอย่างไรเราก็วิ่งตามไม่ทัน สุดท้ายเลยกลับมาคิดถึงจุดประสงค์แรกที่ทำเพจ คือเขียนในสิ่งที่เราสนใจกับมันจริงๆ เขียนในสิ่งที่เราสนุกกับมัน ไม่ต้องคิดว่ายอดไลค์จะต้องเยอะ หรือจะเป็นไวรัลก็ได้ ให้มันเป็นของมันเอง”
เวลาคุณเขียน คุณจะไม่มีทางทำให้คนอ่านร้องไห้ได้ ถ้าคุณไม่ได้ร้องไห้เองก่อน
“บทความชิ้นหนึ่งจะมีความยาวเฉลี่ยเกือบๆ สามพันคำ ผมไม่ได้เรียนการเขียนมา แต่ก็อาศัยว่าการมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากๆ ของเรานี่แหละมากำกับจังหวะการเขียน พารากราฟหนึ่งในบทความจะต้องมีความยาวไม่เกิน 6 บรรทัด คำซ้ำต่อพารากราฟต้องไม่เกินสองครั้ง ผมให้ความสำคัญกับวรรคตอน การเว้นบรรทัด หรือการแบ่งบทมากๆ เพราะมันเป็นอรรถรส แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือโครงเรื่อง เพราะการเล่าประวัติศาสตร์ ถ้าเราเล่าตรงๆ บางเรื่องก็อาจน่าเบื่อนะ ซึ่งการทดลองไอเดียในการเล่าเรื่องใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ
“อย่างเรื่องยาสึเกะ ซามูไรผิวดำ ผมใช้เทคนิคตัดสลับแบบภาพยนตร์ หรือเรื่องประวัติเพลง ‘ที่ว่าง’ ของวงพอส ซึ่งผมไปค้นเจอว่าคนแต่งเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของคาริล ยิบราน ผมก็ทดลองเขียนด้วยการเอาเนื้อเพลงแต่ละท่อนมาวางสลับกับประวัติชีวิตในช่วงต่างๆ ของยิบราน หรือบางเรื่องที่มีความดราม่าอยู่แล้ว ก็เล่ามันอย่างตรงไปตรงมาเลย แล้วก็กลายเป็นว่าผมเสพติดกับการหาข้อมูลเพื่อมาเขียน เหมือนเอาชีวิตช่วงนั้นๆ ไปจมอยู่กับเรื่องที่จะเขียน จากที่เน้นการเขียนเชิงปริมาณ ผมก็เริ่มไม่แคร์แล้วว่าจะเดือนหนึ่งจะต้องออกกี่ชิ้น เดือนนี้อาจไม่ออกเลยก็ได้ แต่ถ้าออกมาแล้ว บทความมันต้องลึก ต้องอ่านสนุก หรือถ้าคุณจะเขียนเรื่องเศร้าๆ ให้คนอ่านร้องไห้ สิ่งแรกที่คนเขียนต้องทำคือร้องไห้กับเรื่องที่ตัวเองเขียนออกมาให้ได้เสียก่อน ประมาณนั้น
“มีเอเจนซี่หลายรายติดต่อมาให้ผม tie in โฆษณาลงในบทความ แต่ผมก็ปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่าหยิ่งอะไรหรอก แต่ผมยังรู้สึกเขินกับการขายของน่ะ คือถ้าจ้างให้ผมเขียนเกร็ดประวัติของแบรนด์หรือของสินค้าสักอย่าง ผมก็อาจทำได้ แต่ไม่ค่อยมีคนจ้างน่ะสิ (หัวเราะ)”
การจัดระเบียบความคิดคือทักษะสำคัญในปัจจุบันและอนาคต
“ผมเชื่อว่าถ้าเราทำอะไรให้มันเต็มที่สักอย่างหนึ่ง เราจะพบโอกาสที่เปิดให้เราทำอย่างอื่นที่อยู่ในกรอบความสนใจ และต่อยอดไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผมพากย์เกม ก่อนเปิดบริษัทเอเจนซี่ แล้วก็ลองทำเพจ ก่อนจะมีสำนักพิมพ์มาชวนไปรวมเล่ม แล้วก็มีมหาวิทยาลัยมาชวนไปสอนเรื่องการทำคอนเทนต์ ทุกอย่างใหม่สำหรับผม และผมก็ค่อยๆ เรียนรู้มันไปจากการลงมือทำ อย่างการสอนหนังสือก็เหมือนกัน ผมเริ่มสอนจากสิ่งที่ตัวเองรู้ดีจากมันก่อนอย่างการพากย์เกม และ story telling แล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายต่อมา อย่างล่าสุดผมเปิดสอน business pitching ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ซึ่งที่เปิดสอนวิชานี้ เพราะจริงๆ แล้วผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาทำกันอย่างไร ก็เลยเรียนรู้ไปพร้อมกับสอนนักศึกษาด้วยเลยแล้วกัน
“ทุกวันนี้บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำอาชีพอะไร ผมเป็นทั้งนักพากย์และก็เป็นนักเล่าเรื่องไปพร้อมกัน มันเหมือนวิชาชีพจะใกล้เคียงกัน แต่ทักษะมันคนละเรื่องเลย อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าทักษะที่สำคัญที่สุดที่ผมมี และจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต ไม่ใช่แค่สองวิชาชีพนี้คือการจัดระเบียบความคิดน่ะ ถ้าความคิดเรามีระเบียบ การใช้เครื่องมือทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น แล้วเราจะต่อยอดกับหลายๆ สิ่งได้ดี อย่างทุกวันนี้คนรุ่นใหม่หลายคนอยากจะเป็นยูทูปเบอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งนอกจากความสนใจเฉพาะตัวแล้ว ผมมองว่าถ้าเราจัดระเบียบความคิดได้ เราก็สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีได้ง่ายขึ้น คอนเทนต์อยู่ในสมองเราพอๆ กับที่มันลอยอยู่ในอากาศ อยู่ที่ว่าเราจะหาวิธีบรรจุหรือสกัดมันออกมาอย่างไร”
ผมไม่เคยกังวลกับคลื่นลูกใหม่เลย ตรงกันข้าม ผมอยากให้มีเยอะๆ เสียด้วยซ้ำ
“เอาเฉพาะอาชีพผู้บรรยายเกม ผมคิดว่าตัวเองยังมาไม่ถึงครึ่งทางด้วยซ้ำ ผมยังสนุกกับมัน ไม่หมดไฟไปง่ายๆ คือคิดว่าอาจจะทำไปจนแก่ยังได้
ผมไม่เคยกังวลกับคลื่นลูกใหม่ในวงการนี้เลยนะ อยากให้มีเยอะๆ ด้วยซ้ำ ตอนแรกคิดว่าผมโคตรคูลเลย เป็นนักพากย์เกมภาษาอังกฤษคนเดียวในประเทศ แต่พอเวลาผ่านไป ก็พบว่าเฮ้ยทำไมไม่มีคนอื่นเลยวะ แล้วรู้สึกว่าการที่ผมเป็นคนเดียว มันไม่ใช่เรื่องดี เพราะถ้าเราลองคิดในมุมของผู้จัดงานระดับโลก แล้วต้องหานักพากย์ เขาก็ไปหาประเทศอื่นที่มีคนใช้ภาษาอังกฤษดีๆ ก็ได้ ซึ่งมองมาที่ประเทศไทย กลายเป็นว่ามีผมคนเดียว เขาไม่เห็นหัวหรอก มันเป็นผลกระทบโดยรวมต่อวงการ ผมจึงคิดว่ามันจำเป็นที่เราต้องสร้างผู้บรรยายเกมหน้าใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะๆ ทำให้อาชีพนี้เป็นที่รู้จัก และให้คนเห็นว่ามันมั่นคงและรายได้ดีเลยนะ ถึงเวลานั้น ทุกคนจะอยู่รอด และเป็นผลดีต่อระบบนิเวศของ E-Sport ในบ้านเราด้วย”
ถ้าถามว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร ผมไม่รู้ว่ะ
“ผมเรียนวิศวะ ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นนักพากย์เกมมาก่อน เช่นเดียวกับที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวเองจะได้เป็นนักเขียนตอนอายุ 33 รวมถึงต่อมาจะได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่สมัยเรียนผมไม่เคยตั้งใจเรียนเลย เช่นนั้นแล้ว ถ้าถามว่าเป้าหมายของชีวิตของผมคืออะไร ผมไม่รู้ว่ะ life is mystery จริงๆ ผมไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเจออะไร หรือมีโอกาสได้ทำอะไรอีก แค่รู้สึกว่าทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดี ทำด้วยความรู้สึกสนุกไปกับมัน เอาเท่านี้ก่อน พอแล้ว”
ไปฟังแชมป์พากย์เกมและดูความเคลื่อนไหวของเขาในแวดวง E-Sport ได้ที่ https://www.facebook.com/Xyclopzdota
และตามอ่านบทความย่อยประวัติสนุกๆ ของเขาได้ที่ https://www.facebook.com/yoyhistory
คุยกับ SOPER - นพัฒน์ เมธาฤกษ์ นักออกแบบที่ทำงานศิลปะควบคู่กันไป
ชวนรู้จักวง Garage Rock จากเชียงใหม่ที่เชื่อในความเท่าเทียมของคนในสังคมและความเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ของการเมืองกับดนตรี
รำลึก 16 ปีแห่งความหลังของผู้บุกเบิกงานเบื้องหลังศิลปะร่วมสมัยไทย