ใครบางคนกล่าวไว้ว่าดนตรี คือ ภาษาสากลของโลก
แม้จะเป็นเพลงที่มาจากคนละภาษา แต่ท่วงทำนอง ความไพเราะของเมโลดี้ และการสื่ออารมณ์ของศิลปินในเพลงก็ยังสามารถส่งมาถึงผู้ฟังให้รู้สึกตามไปกับบทเพลงได้
อย่างไรก็ตามดนตรีจะไม่มีทางเป็นภาษาสากลได้เลยหากปราศจากผู้หญิงคนนี้ คิมเบอลี่ เร เชฟเฟอร์ (Kimberly Rae Schafer) ล่ามแปลภาษามือชาวอเมริกันที่เข้ามาเป็นสะพานเชื่อมถ่ายทอดดนตรี โดยเฉพาะดนตรีร็อกแอนด์โรลล์สู่ผู้พิการทางการได้ยิน
การทำงานของเธอได้รับการถูกบันทึกไว้ในทัวร์คอนเสิร์ตปี ค.ศ. 2000 ของวงดนตรีกรันจ์ชื่อดัง เพิร์ลแจม (Pearl Jam) ในบทเพลง Given to Fly หนึ่งในเพลงฮิตของวงที่พูดถึงการก้าวข้ามทุกอุปสรรคที่เข้ามาขวางกั้น
ขณะที่สมาชิกวงเพิร์ลแจมกำลังแสดงบทเพลงนี้อยู่บนเวที คิมจะยืนอยู่ด้านข้าง และคอยแปลเนื้อหาของเพลงเป็นภาษามือด้วยท่วงท่าสนุกสนาน เมามันไปกับท่วงทำนอง แม้แต่ผู้ชมทั่วไปก็สามารถรับรู้ได้ถึงความสนุกของดนตรีที่เธอถ่ายทอดมา และในช่วงท้ายของเพลง เอ็ดดี้ เวดเดอร์ (Eddie Vedder) นักร้องนำของวงยังได้เดินมาชวนเธอให้เต้นรำไปพร้อมกับเขา
เหตุการณ์ในวันนั้นสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้กับผู้คนที่ได้เห็น และกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สุดพิเศษของประวัติศาสตร์ดนตรี
"ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นอยู่ที่ด้านข้างของเวที ผมไม่แน่ใจว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ เพราะมีคนๆ หนึ่ง กำลังแปลทุกคำที่เราพูดหรือร้อง และมันน่าสนใจเสียยิ่งกว่าการแสดงของพวกเราด้วยซ้ำ" เอ็ดดี้ เวดเดอร์ กล่าวให้เกียรติเธอบนเวทีในวันนั้น
(ลิงก์ชมคลิป www.youtube.com/watch?v=Fce0CUrFmGU)
ตลอดชีวิตการทำงานเป็นล่ามภาษามือของคิม บันทึกการแสดงของวงเพิร์ลแจมครั้งนั้น คือ บันทึกเพียงอันเดียวที่ทำให้เราได้เห็นการทำงานของเธออย่างน่าเสียดาย เพราะหลังจากนั้นมา 15 ปี เราต้องสูญเสียผู้หญิงสุดมหัศจรรย์คนนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ด้วยโรคภัยของเธอ
อย่างไรก็ตามแรงบันดาลใจที่เธอให้ไว้กับโลกนี้ยังคงอยู่ต่อไปในบันทึกการแสดงครั้งนั้น เธอทำให้เห็นแล้วว่าการเป็นล่ามภาษามือนั้นก็สามารถที่จะดูเท่ ดูน่าสนุกได้ และยังสามารถยืนอยู่บนเวทีเดียวกับวงร็อคระดับโลกได้
ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกๆ ปี จะนักศึกษาจำนวนหนึ่งตั้งใจที่จะลงเรียนในวิชา ภาษามือ เพราะกิจกรรมหนึ่งในวิชาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเพลงโปรดของตัวเองมาลองแปลเป็นภาษามือนำเสนอแก่เพื่อนๆ สร้างความแปลกใหม่ให้กับเพลงและยังเป็นที่สนุกสนานของผู้เรียนไม่น้อย วิชาภาษามือจึงได้รับความสนใจทุกปี
วันนี้เราจึงชวน อบ-ชุณห์พิมาณ พวงสอาด หนึ่งในล่ามภาษามือและผู้สอนในกระบวนวิชาภาษามือจากศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอธิบายการทำงานของคิมและของล่ามภาษามือว่ามีวิธีการแปลบทเพลงต่างๆ อย่างไร และแท้จริงแล้วการใช้ภาษามือแปลเพลงสามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้พิการทางการได้ยินได้จริงๆ หรือไม่
หลายอย่างที่เราได้ฟังเธออธิบาย ทำเอาทึ่งในกระบวนการทำงานของล่ามภาษามือเป็นอย่างมาก และต่อไปนี้คือสิ่งที่เธอเล่าให้เราฟัง
ไม่ใช่แค่มือ
”การแปลเพลงเป็นภาษามือ ไม่ใช่แค่การแปลคำด้วยมือเท่านั้น ล่ามต้องคำนึงถึงสีหน้า ท่าทาง ขณะที่แปลด้วย เราต้องอินกับเพลง ต้องดูว่าเพลงที่กำลังแปลมีเนื้อหาแบบไหน สนุกสนานไหมหรือเศร้าเสียใจ เพราะล่ามต้องสามารถสื่ออารมณ์ในเพลงออกไปให้ผู้พิการทางการได้ยินรับรู้และมีอารมณ์ร่วมได้มากที่สุด
"ผู้แปลเพลงเป็นภาษามือจะต้องตีความหมายในเพลงนั้นให้แตก เหมือนกับเราเป็นศิลปินเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าท่อนที่กำลังแปลควรแปลยังไง ด้วยข้อจำกัดของภาษามือ มันจึงเหมือนการสรุป เราไม่ได้แปลทีละคำ แต่เน้นใจความสำคัญของท่อนต่างๆ แล้วหาคำในภาษามือที่สื่อความหมายตรงกัน
"นอกจากเป็นศิลปินตีความเนื้อเพลง ล่ามภาษามือยังมีความเป็นนักออกแบบท่าเต้นด้วยนะคะ เพราะเราต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องของมือขณะแปล ถ้าเราทำภาษามือแบบที่เราเห็นในทีวี มันก็ดูจะแข็งๆ เกินไปไม่เหมาะกับการถ่ายทอดเพลง ดังนั้นการแปลเราเลยต้องมาคิดว่าจะแสดงท่าทางมือยังไงให้มันต่อเนื่องและสอดคล้องไปกับทำนองของเพลง เหมือนกับการเต้นเลยค่ะ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า ลักษณะการจำของคนหูหนวกเขาจะจำเป็นภาพ มีความสามารถในเรื่องการใช้สายตา คนหูหนวกหลายคนจึงมีพรสวรรค์ทางด้านการวาดรูป"
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเห็นคิมแสดงสีหน้าและท่าทางราวกับเต้นไปพร้อมๆ กับการแปลเพลงของวงเพิร์ลแจม เพราะสิ่งที่เธอกำลังถ่ายทอดไม่ได้มีแค่เนื้อหาของเพลง แต่เพลงหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ก็ต้องมีอารมณ์ด้วย ซึ่งจากปฏิกิริยาของผู้ชมก็ทำให้เราเห็นว่า คิมสามารถถ่ายทอดอารมณ์ให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน
ภาษามือเล่มไหน
"ในการทำงานแปลภาษามือ เขาจะเป็นของต่างประเทศซึ่งมีการทำงานที่แตกต่างจากเรา ในกระบวนการนั้นคล้ายกัน แต่ที่ต่างคือเรื่องการแปลคำต่างๆ เป็นมือ ซึ่งประเทศไทยเราจะมีหลักภาษามืออยู่สองแบบที่ใช้กันนะคะ คือ ภาษามือที่มาจาก 'สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย' ซึ่งจะเป็นที่ใช้แพร่หลายในกลุ่มคนที่มีอายุ เราจะเห็นบ่อยๆ ทางทีวี อีกอันคือภาษามือของ 'วิทยาลัยราชสุดา' ซึ่งเป็นที่ใช้กันในกลุ่มคนหูหนวกที่มีอายุน้อยหรือกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งใช้รูปแบบมือแตกต่างกัน และอีกอันก็คือ 'ภาษามือธรรมชาติ' หรือ 'ภาษามือชุมชน' เป็นภาษามือที่เกิดจากการคิดขึ้นเองของคนหูหนวกที่ยังไม่ได้รับการศึกษาด้านภาษามือ
"ก่อนที่ล่ามภาษามือจะแปล พวกเขาเลยต้องดูก่อนว่ากลุ่มคนที่ล่ามกำลังสื่อสารออกไปเป็นกลุ่มไหน ล่ามที่ดีจึงควรที่จะรู้ภาษามือของไทยทั้งสองแบบ รวมไปถึงภาษามือของต่างประเทศด้วย"
ไม่ได้อยู่แค่ในทีวี
"สำหรับภาษามือ เราน่าจะคุ้นล่ามในกรอบเล็กๆ ที่เราเห็นบนจอทีวี แต่พื้นที่การทำงานของล่ามภาษามือมีมากกว่านั้นค่ะ เรายังไปเป็นล่ามให้ในโรงพัก ศาล โรงพยาบาล ทุกที่ที่คนหูหนวกต้องการความช่วยเหลือ
"ส่วนของอบจะทำในสถานศึกษา ที่ศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจะรับผิดชอบในส่วนของนักศึกษาผู้พิการทุกแบบ แต่ส่วนของอบคือทางการได้ยิน ตั้งแต่การเข้าไปนั่งในชั้นเรียนร่วมกับเขา แปลสิ่งที่อาจารย์สอนให้เขาเข้าใจ ซึ่งหลายครั้งอย่างวิชาศิลปะ หรือ วิทยาศาสตร์ ที่มีคำศัพท์เฉพาะค่อนข้างยาก เราก็ต้องตกลงกับนักศึกษาว่าจะใช้เป็นรูปแบบไหน
"นอกจากวิชาในหลักสูตร เรายังพยายามสอนให้นักศึกษาในความรับผิดชอบของเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะเราอยากให้เขาจบไปแบบมีคุณภาพที่สุด ให้เขาภูมิใจในตัวเอง ไม่เป็นภาระของครอบครัวหรือคนรอบข้าง มากไปกว่านั้นคือเขาสามารถช่วยเหลือสังคมได้
"หน้าที่ของล่ามในมุมมองส่วนตัวของเรา เรามองว่าไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน ทำอะไร เขาก็ควรจะได้รับรู้ ได้มีกิจกรรมเหมือนคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน คือเวลาเราเห็นใครพูดอะไรเราก็สามารถดูจากล่ามภาษามือได้ ดูละครยังมีซับไตเติ้ลให้อ่านได้ แต่พอเป็นเพลงกลับมีจำนวนน้อย ไม่ค่อยมีใครแปล ซึ่งเขาก็ควรจะมีสิทธิ์ได้รับความสนุกหรือเพลิดเพลินใจจากเพลงเหมือนกันกับเรา ล่ามที่แปลเพลงเป็นภาษาแปลมือจึงมีกระบวนการทำงานที่ละเอียดเพื่อถ่ายทอดเพลงนั้นไปสู่เขาให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่ทำได้"
ภาษามือสามารถส่งบทเพลงไปสู่ใจของคนหูหนวกได้ไหม
"สำหรับคนหูหนวกในระดับที่ไม่สามารถได้ยินอะไรเลย ที่ศูนย์ฯ ของเรามีน้องคนหนึ่งที่หูหนวกสนิทตั้งแต่กำหนด แต่ความพิเศษของเขาก็คือ เขาสามารถร้องเพลงได้ค่ะ ซึ่งเขารับรู้จากการสังเกตการสั่นสะเทือนในร่างกายกับการอ่านริมฝีปาก น้องคนนี้สามารถสนุกกับเพลงที่้ร้องได้ และเขายังเต้นตามเพลงที่ฟังได้ด้วยนะคะ คนหูหนวกจึงสามารถสนุกไปกับเพลงได้ไม่ต่างกับเราเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแปลเพลงไทยเป็นภาษามือก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เพราะล่ามภาษามือจำเป็นต้องแปลแต่ละท่อนโดยสรุปเป็นใจความสำคัญ ทำให้การรับรู้เนื้อเพลงของเขาไม่เหมือนกับเรา แต่เขาก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงจังหวะและอารมณ์ของเพลง เขาสามารถที่จะสนุกหรือโศกเศร้าไปกับบทเพลงได้ไม่ต่างกับเรา"
...ดนตรีในโลกใบนี้จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไร้พรมแดน
คุยกับ SOPER - นพัฒน์ เมธาฤกษ์ นักออกแบบที่ทำงานศิลปะควบคู่กันไป