คิงส์ตันคือเมืองหลวงของจาเมกา เมืองเล็กๆ ที่เป็นต้นกำเนิด ‘เร็กเก้’ ดนตรีแขนงใหม่ที่พัฒนามาจากดนตรีพื้นเมืองและสกาในช่วงปลายยุค 60s ก่อนที่ บ็อบ มาร์เลย์ และขบวนการเคลื่อนไหวราสตาฟารีจะสวมบททูตวัฒนธรรมพาเร็กเก้ไปถึงหูและหัวใจของคนทั้งโลก LISTEN TO THE CITY พาย้อนกลับไปสำรวจเมืองต้นกำเนิดของมัน ผ่าน 5 อัลบั้มของศิลปินจากเมืองคิงส์ตัน ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เร็กเก้ยังคงเป็นอมตะอย่างทุกวันนี้
Funky Kingston (1972)
by Toots & The Maytals
ฟอร์มวงตั้งแต่ต้นยุคหกศูนย์ Toots & The Maytals เป็นวงจากคิงส์ตันที่เริ่มทำเพลงสกาและร็อกสเตดี้ ก่อนที่ในปี 1968 พวกเขาจะปล่อยซิงเกิ้ล Do the Reggae ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คำว่า ‘เร็กเก้’ ปรากฏสู่สาธารณะ ที่ซึ่งในท้ายที่สุด สกาและร็อกสเตดี้ที่วงดนตรีวงนี้เล่นจะมีวิวัฒนาการสู่ดนตรีเร็กเก้ในที่สุด Funky Kingston เป็นอัลบั้มที่ออกในปี 1972 ซึ่งวางแผงทั้งในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งนั่นยังเป็นช่วงที่เร็กเก้ยังใหม่ต่อหูคนฟังนอกแผ่นดินจาเมกานัก บทความรีวิวอัลบั้มจาก International Times ที่ออกมาในปีนั้นยังนิยามอัลบั้มนี้ว่าเป็นจาเมการ็อคแอนด์โรลอยู่เลย กระนั้นอัลบั้มที่เนื้อเพลงส่วนใหญ่พูดถึงการดิ้นรนของชนชั้นแรงงานในคิงส์ตัน ก็คล้ายเป็นเสาเข็มวางรากฐานให้กระแสดนตรีเร็กเก้ที่พุ่งถึงขีดสุดในยุค 70s
The Harder They Come (1972)
by Jimmy Cliff
The Harder They Come คืออัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่ออกฉายในปี 1972 โดยผู้กำกับ Perry Henzell ซึ่งนำแสดงโดย Jimmy Cliff นักดนตรีและนักแสดงชื่อดังของจาเมกา ภาพยนตร์พูดถึง Ivan Martin ตัวละครเอกที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและหางานทำในคิงส์ตัน ก่อนจะพบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมากมาย จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม นี่เป็นหนังสู้ชีวิตและสะท้อนความเหลื่อมล้ำและฉ้อฉลในจาเมกา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ความสำเร็จของมันยังส่งผลให้อัลบั้ม The Harder They Come เป็นอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องว่าพาดนตรีเร็กเก้ออกนอกเกาะไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้เป็นครั้งแรก
Catch A Fire (1973)
Bob Marley & the Wailers
สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 ของวง The Wailers ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่บ็อบ มาร์เลย์ และทางวงสิ้นสุดการออกทัวร์ที่อังกฤษ และพบว่าพวกเขาไม่มีเงินทุนพอจะซื้อตั๋วเครื่องบินกลับจาเมกา ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงหางานทำไม่ได้ ด้วยเหตุนั้นทางวงจึงติดต่อไปที่ค่าย Island Records ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่นำผลงานของพวกเขามาเผยแพร่ในอังกฤษ เพื่อขอเงินล่วงหน้าสำหรับการทำอัลบั้มต่อไป ทางค่ายก็ให้เงินมา ทุกคนได้กลับบ้าน เข้าห้องอัดในเมืองคิงส์ตัน ก่อนจะเข็นอัลบั้ม Catch A Fires ออกมา อัลบั้มนี้มีเพลงเจ๋งๆ อย่าง Stir It Up และ Slave Driver ซึ่งเพลงหลังบ็อบเขียนออกมาเพื่อสะท้อนการต่อต้านระบบทาสอย่างตรงไปตรงมา เนื้อเพลงส่วนใหญ่ของอัลบั้ม พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ชะตากรรมของคนผิวดำ และความยากจน เป็นอัลบั้มสำคัญที่ทำให้บ็อบ มาร์เลย์ โด่งดังในระดับโลก เช่นเดียวกับการเผยแพร่ดนตรีเร็กเก้ ซึ่งเดินตามความสำเร็จจาก The Harder They Come ที่ออกไปเมื่อปีก่อนหน้า
Marcus Garvey (1975)
By Burning Spear
Burning Spear ตั้งชื่ออัลบั้มนี้ (Marcus Garvey) ตามชื่อของนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของจาเมกา นี่คืออัลบั้มที่ส่งสานส์การเมืองและปลุกสำนึกด้านความเท่าเทียมแก่ผู้คนทุกสีผิวอย่างจริงจัง ดุดัน และไม่ประนีประนอม ในท่วงทำนองเร็กเก้ที่ฟังสบายและชวนให้เต้นรำ ซิงเกิ้ล Slavery Day คือหนึ่งในเพลงฮิตจากอัลบั้ม และเพลงเร็กเก้ระดับขึ้นหิ้งที่พาผู้ฟังย้อนกลับไปสำรวจความทุกข์เข็ญของคนแอฟริกันที่ตกเป็นทาสคนขาว เผยบาดแผลฉกรรจ์ของแผ่นดินจาเมกา ก่อนจะชี้ชวนให้มองไปถึงอนาคตที่ดีกว่านี้ด้วยสำนึกแห่งมนุษยธรรมและสันติ
Night Nurse (1982)
สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 12 ของศิลปินที่ The New York Times ยกย่องว่าเป็นนักร้องเร็กเก้ที่มีเสียงไพเราะที่สุด Gregory Isaacs อยู่บนโลกนี้ได้เพียง 59 ปี (1951-2010) หากเขามีอัลบั้มออกมามากถึง 72 อัลบั้ม (ไม่นับรวมอัลบั้มรวมฮิตที่ค่ายเพลงรวบรวมออกมาในหลายวาระซึ่งมีอีกหลายร้อย!) อย่างไรก็ดี Night Nurse คืออัลบั้มที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด วางแผงครั้งแรกในรูปแบบไวนิลในปี 1982 ก่อนซีดีจะเข้ามาในอุตสาหกรรมเพลงยุค 90s อัลบั้มนี้ก็ถือเป็นอัลบั้มแรกๆ ที่ถูกผลิตใหม่ในรูปแบบซีดี เป็นอัลบั้มสายชิลล์ ฟังสบาย โดยหลายเพลงเป็นเพลงรักที่หวานฉ่ำแต่ไม่เลี่ยน สะท้อนให้เห็นถึงชั้นเชิงของคนเร็กเก้ที่บอกรักสาว (ขณะที่เคลิ้มสมุนไพรไปด้วย) ว่าเขาทำกันอย่างไร
รวบรวมนักวาดภาพประกอบจากสามชาติคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันกว่า 300 คนมาสรรค์สร้างภาพแบบเรโทรตามการตีความที่อยู่ในภาพใหญ่ของความเป็น New Retro