BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สนทนา: ในวันที่วงการศิลปะไทยเปราะบางเสียเหลือเกินกับ จอยส์ -กิตติมา จารีประสิทธิ์
  • สนทนา
  • Apr 18,2021

สนทนา: ในวันที่วงการศิลปะไทยเปราะบางเสียเหลือเกินกับ จอยส์ -กิตติมา จารีประสิทธิ์

 

 

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

 

 

เราพบ จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) เชียงใหม่ มิวเซียมที่เธอรับบทเป็นภัณฑารักษ์ในปัจจุบัน

จอยส์กำลังเตรียมจัดแสดงนิทรรศการ The Hunters นิทรรศการในโครงการ Pollination ที่เธอเป็นภัณฑารักษ์ร่วมกับ LIR จากยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย จัดแสดงผลงานของมาริอันโต้ ศิลปินจากอินโดนีเซีย และ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินชาวไทย

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า จอยส์เพิ่งให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวของไทยพีบีเอส ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ที่ได้จัดซื้อผลงานศิลปะรวมมูลค่า 19 ล้านบาทเพื่อเก็บเข้าเป็นสมบัติชาติ ขณะที่ไม่กี่สัปดาห์ให้หลัง แวดวงศิลปะก็เพิ่งมีประเด็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตหัวหน้างานของเธอ บุกยึดผลงานศิลปะของนักศึกษา จนเกิดดราม่าแพร่สะพัด…

จบปริญญาตรีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทสาขา Curating & Collections จาก Chelsea College of Arts จากอังกฤษ นอกจากเป็นภัณฑารักษ์ที่ใหม่เอี่ยม จอยส์ยังเคยสอนนักศึกษาภาควิชาทัศนศิลป์ระดับปริญญาโท คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งห้องทดลองภัณฑารักษ์เป็นของตัวเองในนาม Waiting You Curator Lab และเคยคิวเรท (และร่วมคิวเรท) นิทรรศการให้ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำในบ้านเราทั้งแบบงานเดี่ยวและกลุ่มหลากหลายท่าน อาทิ พินรี สัณฑ์พิทักษ์, ธาดา เฮงทรัพย์กุล, อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล, คามิน เลิศชัยประเสริฐ ฯลฯ

อันที่จริง เราตั้งใจจะคุยกับจอยส์เกี่ยวกับนิทรรศการที่เธอกำลังจัด แต่ในฐานะที่เธอก็เคยเป็นทั้งนักศึกษาและอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ สถาบันที่เพิ่งเกิดดราม่าไปหมาดๆ รวมถึงเป็นคิวเรเตอร์รุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน บทสนทนาต่อจากนี้จึงลากยาวตั้งแต่เรื่องเบื้องหลัง The Hunters ไปจนถึงศิลปะกับการเมือง และกลไกพิศวงที่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจศิลปะในประเทศ

เริ่มที่ตัวนิทรรศการก่อน The Hunters มีที่มายังไง

นิทรรศการนี้อยู่ภายใต้โครงการ Pollination โครงการที่ริเริ่มโดย The Factory Art Center ในโฮจิมินห์ เวียดนาม เป้าหมายหลักของโครงการคือการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กรศิลปะเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละปีโครงการนี้จะเลือกประเทศในอาเซียนสองประเทศเป็นแม่งาน มีการคัดสรรภัณฑารักษ์อาวุโสหนึ่งคน และภัณฑารักษ์รุ่นใหม่อีกหนึ่งคน โดยภัณฑารักษ์ที่ถูกเลือก จะเป็นผู้คัดสรรศิลปินที่ตัวเองสนใจให้มาทำนิทรรศการอีกที และทั้งภัณฑารักษ์กับศิลปินจากทั้งสองประเทศก็จะต้องทำโชว์ร่วมกัน อย่างเช่นปีแรกมีเวียดนามทำคู่กับอินโดนิเซีย ปีที่สองอินโดนีเซียกับมาเลเซีย โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 คืออินโดนีเซียกับประเทศไทย ซึ่งก็มาจัดแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

The Hunters คือนิทรรศการที่พูดถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกคุณเลือกหัวข้อนี้

เรามีโอกาสไปเจอกับภัณฑารักษ์ร่วมที่เมืองบันดุงในอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว นั่นเป็นช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประเทศต่างๆ จะล็อคดาวน์เพราะโควิด-19 ระหว่างเดินทางอยู่ที่นั่น เราสนใจกระบวนการที่ทำให้เมืองกับป่ากลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว คนอินโดนีเซียมีแนวคิดในการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมผ่านการเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น หรือผ่านทางพิธีกรรม พวกเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า kearifan lokal ทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ผ่านกระบวนการเล่าเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่คล้ายๆ กับหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย

ประกอบกับทั้ง LIR และคุณมาริอันโต้ ที่เป็นคิวเรเตอร์และศิลปินของทางฝั่งอินโดนีเซีย ก็สนใจในพื้นที่ภูเขาไฟเมาราปี ซึ่งภูเขาเมอราปีเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในพื้นที่ ศักดิ์สิทธิ์ขนาดมีการปักปันเขตหวงห้ามในบางจุด จนมาปี 2010 ภูเขาไฟลูกนี้เกิดระเบิด ความเชื่อดั่งเดิมคือเมื่อภูเขาไฟระเบิดที่ไหน ความร่ำรวยและอำนาจก็จะไปตกอยู่ที่นั่นด้วย การปะทุครั้งนั้นทำให้แร่ธาตุจำนวนมากไหลออกมาพร้อมกัน จากภูเขาที่เต็มไปด้วยเขตหวงห้าม ชาวบ้านก็เฮกันเข้าไปทำเหมืองทรายตักตวงแร่ธาตุเหล่านั้นแบบทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย คือชาวบ้านเขากลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็กลัว แต่เงินก็อยากได้น่ะ ความย้อนแย้งตรงนี้แหละคือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ

เราพยายามจะทำความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ต่างกัน ผ่านการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ด้วยการลงสำรวจพื้นที่ และนำเสนอปัญหาเหล่านั้นในรูปแบบงานศิลปะ ทั้งปัญหาเหมืองทรายรอบภูเขาไฟเมอราปีเอง หรือในมุมของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินฝั่งไทยที่สนใจสถานะของแม่น้ำโขง อันเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการทำเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนล่าง ส่งผลให้แม่น้ำโขงขาดตะกอนแร่ธาตุ เป็นเหตุทำให้เราเห็นแม่น้ำมีสีฟ้า ทั้งแม่น้ำโขงและภูเขาไฟเมอราปีล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองประเทศ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในโลกปัจจุบัน ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ดูจะไม่สามารถปกป้องพื้นที่จากทุนนิยมได้อีกต่อไป

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

ดูเหมือนว่าทั้งของไทยและอินโดนีเซียจะมีแนวคิดเริ่มต้นเกี่ยวกับพื้นที่ธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์เหมือนๆ กัน ในฐานะภัณฑารักษ์ คุณพบความแตกต่างที่น่าสนใจในแง่มุมของการตีความของศิลปินทั้งสองท่านบ้างไหม และเป็นอย่างไร

ที่น่าแปลกใจคือแม้ทั้งสองจะพูดถึงผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ในธรรมชาติ แต่ผลงานของทั้งคู่กลับไม่มีภาพของมนุษย์ปรากฏอยู่เลย สำหรับเรืองศักดิ์เราว่าสิ่งที่น่าสนใจคือการประมวลผลข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นงานศิลปะ การเอาข้อมูลเหล่านั้นมาทำให้เกิดผลทางสายตา ขณะเดียวกันยังต้องคงไว้ซึ่งอารมณ์ เขาเลือกทำแผนที่แม่น้ำโขงจากการใช้เศษซากกระดูกสัตว์ สร้างเป็นภาพแทนของการเสื่อมสลายของธรรมชาติ ทำให้ความเป็นนามธรรมของความตายให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ผลงานชิ้นนี้จึงเหมือนเป็นการทำนายอนาคตด้วยภาพสะเทือนขวัญของการเสื่อมสลายของธรรมชาติที่ยังคงไหลไปอย่างไม่สิ้นสุดราวกับสายธาร

ขณะที่ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ของมาริอันโต้วาดขึ้นจากผงชาโคล ภาพวิวทิวทัศน์ของภูเขาไฟเมอราปี พร่าเลือนไปกับร่องรอยของกิจกรรมการทำเหมืองทราย เส้นร่างที่เกือบจะดูเป็นภาพของแม่น้ำแท้จริงคือท้องถนนสำหรับรถบรรทุก ธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแทบจะแยกกันไม่ออก ราวกับมาริอันโต้เองตั้งคำถามถึงความเป็นจริงว่าสามารถขีดแยกเส้นแบ่งทางศีลธรรมกับปากท้องของผู้คนท้องถิ่นได้จริงหรือ

เหมือนว่าเรืองศักดิ์ชี้ให้เห็นผลกระทบในเชิงลบของธรรมชาติจากการกระทำของมนุษย์อย่างชัดเจนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนมาริอันโต้ คล้ายจะชี้ให้เราเห็นว่าธรรมชาติกับมนุษย์ กระทั่งโลกทุนนิยมมันอยู่ด้วยกันได้ เพียงแต่จะอยู่ด้วยกันอย่างไร

มีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องความเชื่อหรือจิตวิญญาณ มันอาจเป็นลักษณะร่วมของวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ก็ได้ ในวันเปิดงาน นอกจากเราจะได้รับฟังฟีดแบ็คจากผู้ชมในเชิงสุนทรียะที่หลากหลาย มีผู้ชมบางท่านที่เหมือนจะมีญาณมาบอกเราว่าเขารู้สึกถึงจิตวิญญาณลึกลับของภูเขาไฟติดมากับผลงานด้วย หรือในงานหลอดแก้วที่บรรจุสาหร่ายไกที่เรืองศักดิ์เก็บมาจากแม่น้ำโขง ก็มีผู้ชมมาบอกว่าเขาได้ยินเสียงประหลาดแว่วมาจากในนั้น ซึ่งอันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลค่ะ

อย่างไรก็ดี นอกจากชิ้นงานจัดแสดง นิทรรศการนี้ยังนำเสนอฟุตเทจวิดีโอที่ศิลปินทั้งสองลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเชิงภูเขาไฟเมาราปีและบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมถึง archive อื่นๆ ทั้งภาพถ่าย เอกสาร หรือภาพร่างก่อนพัฒนาเป็นชิ้นงาน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นกระบวนการเก็บข้อมูล ประมวลความคิด และการพัฒนาเป็นชิ้นงาน แต่ยังชี้ว่าแม้จะเป็นผลงานที่ทำงานในแง่มุมของจิตวิญญาณหรือความเชื่อ มันก็ยังมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เป็นกระบวนการสร้างสารให้เกิดเป็นศิลปะ ขณะเดียวกันก็ใช้ศิลปะเป็นอีกหนึ่งสารเพื่อบอกเล่าสิ่งที่ศิลปินให้ความสนใจ

 

 

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

 

 

พูดถึงเรื่องการใช้ศิลปะเป็น ‘สาร’ เลยอยากชวนคุยเรื่องนี้หน่อย เพราะช่วงสองปีหลังมานี้ ศิลปะร่วมสมัยในบ้านเราถูกนำมาใช้เป็นสารทางการเมืองมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันมันก็ถูกปิดกั้นหรือเซ็นเซอร์จากผู้มีอำนาจมากกว่าครั้งไหนๆ ด้วย ในฐานะที่คุณเป็นทั้งภัณฑารักษ์ และเคยเป็นทั้งอาจารย์สอนศิลปะ คุณมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีที่คณาจารย์ระดับบริหารในที่ทำงานเก่าของคุณไปบุกยึดผลงานของนักศึกษาอย่างนั้น

เรื่องนี้น่าสนใจก็ตรงที่เมื่ออ่านแถลงการณ์ชี้แจงจากคณะวิจิตรศิลป์ จะเห็นได้ว่าแม้แต่คณาจารย์ในระดับบริหารก็ยังมองศิลปะในนิยามแบบเดิมๆ ที่แยกขาดจากบริบทสังคมและการเมืองอยู่เลย เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่าศิลปะคือเครื่องมือสำหรับการสื่อสารความคิดของศิลปิน มันไม่มีทางแยกขาดออกจากสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการเมืองได้เลย และไม่ว่าจุดยืนของศิลปินอยู่ตรงไหน ในฐานะอาจารย์ แม้เราจะสอนหนังสือนักศึกษา แต่ก็ไม่ควรไปปิดกั้นการแสดงออกของพวกเขาผ่านการทำงานศิลปะ

ในทางกลับกันสถาบันทางการศึกษาควรต้องเป็นพื้นที่ของการทดลองและเรียนรู้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยซ้ำ มหาวิทยาลัยต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่พวกเขา ไม่ใช่พื้นที่ที่จะปล่อยให้ใครเข้ามาคุกคามได้ น่าเศร้าที่กลับกลายเป็นว่าผู้บริหารสถาบันลงมาคุกคามนักศึกษาเสียเอง

ถ้ากล่าวเช่นนั้น หากคุณเป็นอาจารย์และพบว่าลูกศิษย์ของคุณมีผลงานที่สะท้อนจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากคุณคนละขั้ว คุณจะทำอย่างไรได้บ้าง

ก็ไม่ยังไงค่ะ หน้าที่ของอาจารย์ศิลปะคือการชี้วัดว่าแนวคิดของผู้เรียนและรูปแบบของผลงานมันสะท้อนกันและกันมากแค่ไหน แน่นอน เราหลีกเลี่ยงการมีอคติกับความคิดของนักศึกษาที่อาจไม่ตรงกับเราไม่ได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น อาจารย์ก็จะต้องใช้เหตุและผลแจกแจงให้เห็นที่มาที่ไปของความคิดในการมองสิ่งต่างๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน แต่เอาจริงๆ เลยคือผ่านมาเราไม่เคยเจอนักศึกษาที่มีจุดยืนฝักใฝ่เผด็จการเลยแม้แต่น้อยนะ

ตรงกันข้าม กลายเป็นอาจารย์เสียมากกว่าที่มีความอนุรักษ์นิยม และพยายามปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาผ่านการใช้อำนาจของสถาบันการศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยอยู่ภายใต้อำนาจนิยม รวมถึงมันยังสะท้อนภาพรวมของวงการศิลปะไทยด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาศิลปินไทยชั้นนำส่วนใหญ่หากไม่ได้มีชื่อเสียงมาจากผลงานที่รับใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นศิลปินที่มีฝีมือเชิงช่าง หรือหัตถศิลป์ที่มีความประณีตมากๆ โดยความประณีตแบบนี้ก็มีแบบเบ้ามาจากศิลปะจากสถาบันการศึกษาที่รับถ่ายทอดมาจากในรั้ววังอีกที มันผูกติดกับชนชั้นและการรับใช้มาตลอด

 

 

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

 

 

นั่นคือรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์?

ใช่ค่ะ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันศิลปะในไทยเป็นตัวอุ้มชูให้เกิดระบบอุปถัมภ์นี้ขึ้นมา ขณะเดียวกันมันมีการไต่บันไดในการเป็นศิลปินในประเทศไทยผ่านระบบที่เรียกว่าการประกวดศิลปกรรม ไม่ว่าจะรุ่นเยาว์หรืองานประกวดแห่งชาติ มีศิลปินมากมายสร้างชื่อเสียงและชื่อชั้นจากการประกวดจนกลายเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะเมื่อคุณชนะ คุณก็ได้สถานะต่อท้าย เช่น ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินชั้นยอด ศิลปินเหรียญทอง เป็นต้น และก็มีเงื่อนไขอีกว่าคุณจะต้องเก็บกี่ครั้งจนกว่าคุณจะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น ที่สำคัญ การประกวดเหล่านี้ให้ความสำคัญไปที่ความประณีตของชิ้นงาน มากไปกว่าการนำเสนอความคิดด้วย

ขณะเดียวกันองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น แบรนด์เจ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า ปั้มน้ำมัน หรือธนาคาร ก็ใช้พื้นที่การประกวดศิลปะเหล่านี้เพื่อสร้าง CSR ลดหย่อนภาษี เขาอาจจะต้องการสนับสนุนแวดวงศิลปะในบ้านเราจริง แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการต่อรองให้บริษัทเหล่านี้ได้ชิ้นงานศิลปะเข้ามาประดับตกแต่งอาคารของพวกเขาในราคาไม่แพง ขณะที่ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหน กรรมการตัดสินการประกวดเกือบทั้งหมดก็ล้วนมาจากเครือข่ายเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน และถือครองความดีงามของศิลปะในแบบเบ้าเดียวกัน ซึ่งพวกเขาก็จะมีส่วนผลักดันให้ศิลปินในสังกัด หรือ ‘เด็ก’ ของพวกเขาได้รับรางวัล คุณเคยสังเกตไหมว่างานศิลปะที่ชนะการประกวด ส่วนใหญ่ก็มีลักษณะหรือแนวเรื่องที่ไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไหร่ แล้วคุณจำผลงานที่ชนะเลิศในปีที่ผ่านๆ มาได้กี่ชิ้นกัน

ดูคล้ายกันไปหมด

ล่าสุดมีการประกาศการจัดซื้อชุดงานศิลปกรรมโดยสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เพื่อเข้าสู่คลังสะสมของชาติ มูลค่า 19 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีความน่าสงสัยตรงเอกสารชุดหนึ่งที่หลุดขึ้นมาเป็นเอกสารจัดซื้อ-จัดจ้างพัสดุที่ระบุจำนวนชิ้นงาน ชื่อศิลปิน และมูลค่าของชิ้นงานอยู่ในนั้น แต่กลับไม่บอกว่าชิ้นงานที่ซื้อมาเป็นชิ้นไหน และเหตุผลที่เลือกสะสมผลงานชิ้นนั้นๆ ขณะเดียวกันแม้ว่าหมวดหมู่ในการซื้อระบุว่าเป็นศิลปะร่วมสมัย แต่พอลองกูเกิ้ลดูหน้าตาผลงานของศิลปินเหล่านั้น เราพบว่าผลงานมันไม่น่าจัดอยู่ในหมวดของศิลปะร่วมสมัยเลย มันเป็นงานศิลปกรรมไทยแบบประเพณีนิยมใหม่ (Neo-Traditional) แบบเดียวกับงานศิลปกรรมที่ชนะการประกวดระดับชาติต่างหาก

แล้วเกณฑ์ในการประเมิน การเลือกซื้องานศิลปะแต่ละชิ้นด้วยเงินภาษีของพวกเรามันคืออะไร ของเหล่านี้เข้าหมวดในการเป็นศิลปะร่วมสมัยจริงๆ รึเปล่า แล้วการเป็นของที่เป็นสมบัติแห่งชาติ ใครมีคุณสมบัติในการพิจารณาเลือกซื้อ ซึ่งเป็นที่ตั้งคำถามมาก ไม่ใช่แค่มัน 19 ล้านบาท ซื้องานไปไม่กี่ชิ้นแต่ไร้คุณภาพ และดูจากรายชื่อในเอกสารชุดนั้นแล้ว… ขอโทษนะคะ ไม่สามารถนับเครดิตให้เป็นศิลปินร่วมสมัยได้จริงๆ

สองอาทิตย์ต่อมา สศร. เลยจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์ราชดำเนิน เอาผลงานของศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกผลงานเข้าคลังสะสมนั่นแหละมาจัดแสดง แต่ผลงานที่เหล่านั้นกลับเป็นคนละชิ้นกับที่ถูกซื้อไป กลายเป็นงานที่ดูร่วมสมัยกว่า ดูเหมือนเขาพยายามจะแสดงความโปร่งใส แต่กลับตอบไม่ตรงคำถาม เวรี่ราชการไทยสุดๆ ค่ะ

แต่ตรงนี้เราสามารถโต้แย้งได้ไหมว่าศิลปะร่วมสมัยมันคือเรื่องของรสนิยม มันไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว

แต่เราก็เถียงได้ว่างานที่ถูกเลือกซื้อมามันไม่ร่วมสมัยนี่สิ แค่นี้ก็ไม่ผ่านแล้ว ขณะเดียวกันเงิน 19 ล้านบาท มันคือเงินภาษีของประชาชน มันก็ควรมีเกณฑ์การวัดและประเมินอย่างชัดเจนว่าทำไมคณะกรรมการจึงเลือกสะสมงานศิลปะชิ้นนี้ ทำไมมันจึงสำคัญต่อสังคมหรือบ้านเมืองเรา ซึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปวัฒนธรรมจริงๆ นั้น ตามปกติแล้วจะมีเกณฑ์ในการประเมินหรือบอร์ดบริหารในการคัดเลือกงานเข้าเป็นชุดสะสมของชาติ ซึ่งบอร์ดเองก็จะประกอบด้วยศิลปินและกรรมการที่มาจากบุคคลหลายหน่วยงานที่มีความรู้และความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่แค่ข้าราชการกระทรวงกลุ่มหนึ่งที่ไปว่าจ้างศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งมาให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษา

กระทั่งในหน่วยที่ย่อยกว่าอย่างพิพิธภัณฑ์ของรัฐเอง ก็ยังต้องมีบอร์ดบริหารแต่ละพิพิธภัณฑ์ในการคัดเลือก เขาก็จะตั้งงบประมาณขึ้นมาว่าเท่านี้สามารถเลือกซื้อได้เลย ซึ่งก็จะต้องให้ภัณฑารักษ์มานำเสนอแข่งขันกันระหว่างแผนกอีกทีว่างานชิ้นนี้มันสำคัญยังไง หรือบางชิ้น บางพิพิธภัณฑ์ก็จะมีเกณฑ์ว่าอายุต่ำกว่า 50 ปียังพิสูจน์ความมีค่าของวัตถุไม่ได้ ก็จะซื้อไม่ได้นะ

ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุแบบที่ประเทศไทยทำ ประเทศไทยซื้องานในคอลเลคชั่นก็จัดซื้อ-จัดจ้างพัสดุ แล้วให้แกลเลอรี่ไปยื่นชิ้นงานเสนอ แล้วเลือกซื้อตามงบประมาณ ทำเหมือนกับว่าการซื้องานศิลปะของชาติเป็นแบบเดียวกับการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ และที่สำคัญผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้คำปรึกษา สศร. ก็ล้วนเป็นบุคลากรหน้าเดิมๆ ที่คอยตัดสินการประกวดศิลปกรรมต่างๆ คนเหล่านี้ยึดกุมอำนาจและรสนิยมทางศิลปะของประเทศไว้หมดจด จะบอกว่ามันไม่ใช่ระบอบอุปถัมภ์ได้ยังไงกัน

แต่พอมันเป็นศิลปะ หลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่พื้นที่ของเขา หรืออาจจะมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาอะไรด้วยซ้ำ เราจะโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจได้ยังไงกัน

แต่เรามองว่าปรากฏการณ์ของอาจารย์ทัศนัยที่หอศิลป์ ม.ช. (ที่ช่วยโต้เถียงคณาจารย์ที่มายึดผลงานแทนนักศึกษา - ผู้เรียบเรียง) ปลุกให้คนทั่วไปตั้งคำถามถึงพื้นที่ศิลปะในบ้านเราอย่างมีนัยสำคัญมากเลยนะ การที่อาจารย์บอกว่า ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านาย และไม่เป็นขี้ข้าใคร’ ยังสั่นคลอนสถาบันศิลปะที่ผูกติดกับสถาบันของชาติในรูปแบบเดียวมาเนิ่นนาน

เราคิดว่าที่ผ่านมาเรามีศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีผลงานได้รับการยอมรับในระดับโลกมากมาย แต่ความที่รสนิยมกระแสหลักมันผูกอยู่กับกลุ่มอำนาจเดิมๆ ยังส่งผลไปถึงภาพรวมของการศึกษาศิลปะในบ้านเรา หรือกระทั่งบนพื้นที่สื่อซึ่งนำเสนอแต่แวดวงศิลปะแบบเดิมๆ คุณไปถามคนที่ไม่ได้สนใจศิลปะสิ ว่ารู้จักศิลปินไทยคนไหนบ้าง เราก็จะพบคำตอบแค่ไม่กี่ชื่อ ถ้าไม่ใช่ศิลปินที่วาดภาพวัดหรือสรวงสวรรค์มาทั้งชีวิต ก็เป็นคนที่วาดภาพนรกมาทั้งชีวิตนั่นแหละ

ศิลปะร่วมสมัยมันควรเดินไปพร้อมกับสังคม เป็นเครื่องมือสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดผู้คน เราทุกคนจึงควรต้องช่วยกันทำให้มันถูกต้องผ่านการตั้งคำถาม เราต้องการคำอธิบาย เราก็เห็นอยู่ว่าที่คณะวิจิตรศิลป์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแถลงการณ์ พวกเขานอกจากไม่อยู่ข้างนักศึกษา ยังตอบได้ไม่ตรงคำถาม เป็นมายด์เซ็ทแบบเดียวกับที่สศร. ทำในกรณีการซื้องานศิลปะ หรือนายทหารระดับสูงที่กุมอำนาจทางการเมืองของประเทศนี้ตอบผู้สื่อข่าวแทบทุกครั้งที่ผ่านมา คือชอบให้คำตอบแบบจบๆ ไปทีอย่างเสียมิได้
 
ที่ผ่านมาเราเคยได้รับฟังคำตอบหรือคำอธิบายจากผู้บริหารประเทศคนไหนที่พอจะฟังขึ้นบ้าง? เขาตอบไปอย่างนั้น ไม่เคยมองว่าหน้าที่ของพวกเขาคือรับใช้ประชาชน กลับกลายเป็นประชาชนต่างหากที่ต้องให้เกียรติพวกเขา สิ่งที่อาจารย์ทัศนัยพูดเลยเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะพูดว่า คุณต้องให้เกียรติคน คุณต้องให้เกียรติงานศิลปะ และคุณต้องให้เกียรติทุกคน หมาแมวคุณก็ต้องให้เกียรติ คุณเป็นคน คุณก็ต้องให้เกียรติคนอื่นอยู่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่ รบกวนเห็นคนให้เป็นคน เห็นคนให้เท่ากันค่ะ 

จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ botsworld

นิทรรศการ Hunters จัดแสดงถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum)
เปิดวันศุกร์-จันทร์ 10.00 น. – 18.00 น. ค่าเข้าชม 150 บาท https://www.facebook.com/MAIIAMchiangmai/

ติดตามผลงานภัณฑารักษ์ของจอยส์ได้ที่
http://waitingyoucuratorlab.com/ 

ภาพถ่ายโดย กรินทร์ มงคลพันธ์

Writer

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

Photographer

Karin Mongkolphan

Karin Mongkolphan

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ถ่ายรูปภูมิทัศน์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหาร และผู้คน ยกเว้นก็แต่ผู้คนที่สนับสนุนเผด็จการ

RELATED CONTENTS

สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY

สนทนา
: BODHISATTAVE LGBTQ+ GALLERY

สนทนาธรรมกับ โอ๊ต-มณเฑียร ว่าด้วยสเปซศิลปะแห่งใหม่อันสดใสและไร้เพศ

  • สนทนา
  • Jun 10,2021

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

นิทรรศการใหม่ของ มิตร ใจอินทร์ กับการอุทิศให้ผู้ลี้ภัยและเพื่อนศิลปิน

  • สนทนา
  • Feb 05,2022

สนทนา: 7 งานติดตั้งกับการเติบโตของ supernormal

สนทนา: 7 งานติดตั้งกับการเติบโตของ supernormal

รำลึก 16 ปีแห่งความหลังของผู้บุกเบิกงานเบื้องหลังศิลปะร่วมสมัยไทย

  • สนทนา
  • Mar 30,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK