นักเดินเรือผู้ต้องติดอยู่ในแพชูชีพลำน้อยของตัวเองเป็นเวลา 76 วัน ผู้รอดชีวิตกลับมาก่อนมีส่วนทำให้ภาพยนตร์ Life of Pi กลายเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการติดอยู่บนเรือเพียงลำพังได้อย่างสมบูรณ์
เพราะเราไม่ได้ต้องตัดขาดจากสังคมอยู่คนเดียว BOTS จึงทำคอนเทนต์ให้กำลังใจผู้กำลังจมจ่อมในวาระของ social distancing ขณะนี้ ด้วยการแนะนำเหล่ามาสเตอร์ของความสันโดษรอบโลก แขกรับเชิญคนที่สี่ คือ คุณสตีเฟน คาลาฮาน นักเดินเรือผู้ต้องติดอยู่ในแพชูชีพลำน้อยของตัวเองเป็นเวลา 76 วัน เขารอดชีวิตกลับมา ก่อนมีส่วนทำให้ภาพยนตร์ Life of Pi กลายเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการติดอยู่บนเรือเพียงลำพังได้อย่างสมบูรณ์
76 Days of Solitude
สตีเฟน คาลาฮาน (Steven Callahan)
ระยะเวลาของการโดดเดี่ยวจากสังคม: 76 วัน
สถานที่: เรือชูชีพของตัวเอง
สาเหตุ: เรือล่ม
นั่นคือปี 1981 สตีเฟน คาลาฮาน เพิ่งหย่าจากภรรยา เขาตัดสินใจเริ่มชีวิตใหม่ด้วยการผจญมหาสมุทรแอตแลนติกเพียงลำพัง ด้วยเรือที่เขาตั้งชื่อให้มันว่า ‘นาโปเลียน โซโล’ คาลาฮานออกจากฝั่งที่นิวพอร์ท โร้ด ไอส์แลนด์ สหรัฐอเมริกา มุ่งหน้าสู่เบอร์มิวด้า ก่อนจะข้ามไปยุโรป หนึ่งสัปดาห์ให้หลังจากที่เขาออกเรือจากอเมริกา เรือของเขาก็ประสบอุบัติเหตุถูกปลาวาฬชนอย่างจัง
นโปเลียน โซโล ไปต่อไม่ได้ เขาต้องสละเรือและนั่งแพยางชูชีพ โดยรีบหยิบอุปกรณ์ยังชีพติดแพมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยอาหารกระป๋องและน้ำดื่มจำนวนหนึ่ง รวมถึงเบ็ดตกปลา จุดที่เรือเขาอับปางอยู่ห่างจากชายฝั่งของหมู่เกาะคานารี่ของสเปนไป 800 ไมล์ ไม่มีทางที่เขาจะว่ายไปหามัน
เขารองน้ำฝนดื่ม และตกปลากินแบบสดๆ ประดิษฐ์เครื่องวัดแสงจากดินสอ และล่องแพยางไปยังทิศของดาวเหนือ หวังว่าจะมีเรือสักลำผ่านมาช่วยชีวิตเขา แต่นั่นล่ะ เขาอยู่กับความหวังที่สลับกับความสิ้นหวังวันแล้ววันเล่า จนเช้าวันที่ 76 ก็มีชาวประมงมาพบเขาเข้า
มีเรื่องราวระทึกมากมายตลอดเวลาสองเดือนเศษ ซึ่งเขาบันทึกมันไว้ในหนังสือ 76 Days Lost at Sea ตีพิมพ์ในปี 1986 หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเอาชีวิตรอดกลางท้องทะเล และพออั้งลี่จะทำภาพยนตร์ Life of Pi จากหนังสือของยานน์ มาร์เทล อั้งลี่ก็เชิญเขามาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบฉาก พรอบ รวมถึงบรรยากาศของการติดอยู่บนเรือ
นอกจากนี้จากประสบการณ์อันทรหด เขายังเป็นหนึ่งในทีมออกแบบเรือชูชีพที่มีฟังก์ชั่นที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเขาตั้งชื่อให้มันว่า The Clam ซึ่งมีลักษณะเป็นกระโจมที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้รอดชีวิตต้องเผชิญกับแสงแดดอันแรงกล้าในเวลากลางวัน (ซึ่งเขาเผชิญมาเต็มๆ จนผิวไหม้) ทั้งกระโจมยังช่วยในการกักเก็บน้ำฝนไว้ดื่มกินอีกด้วย ปัจจุบันคาลาฮานยังมีชีวิตอยู่ในวัย 67 ปี เป็นที่จดจำในฐานะมาสเตอร์แห่งการเอาชีวิตรอดกลางทะเล และผู้ทำให้ Life of Pi เป็นหนังที่เล่าเรื่องเซอร์เรียล (ที่ว่าด้วยเด็กชายติดอยู่บนเรือกับเสือสองต่อสอง) ที่เซอร์ได้อย่างสมจริง
ผู้หญิงที่ใช้เวลาอยู่ในห้องใต้ดินเพียงลำพังเป็นเวลาสี่เดือนเศษ เพื่อทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจระบบนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์
พระมหาชนก ชายผู้ว่ายน้ำเพียงลำพัง 7 วัน 7 คืนกลางมหาสมุทร ก่อนจะเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า
เรื่องราวของศิลปินระดับโลก ผู้ดื้อด้านที่จะสร้างสรรค์ผลงาน แม้ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบาก