เป็นเรื่องปกติที่ศิลปะแขนงหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปะอีกแขนง ในช่วงวิกฤตที่เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าหาอะไรทำอยู่บ้าน BOTS จึงจัดเพลย์ลิสต์ รวบรวมเพลงที่ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากงานทัศนศิลป์ ไปดูและไปฟังกัน
__________
Andy Warhol – David Bowie
in Andy Warhol works
ในปี 1971 ภายหลังจากออกอัลบั้มอันดับที่สาม The Man Who Sold the World ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ทำให้ David Bowie เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เขาได้เขียนเพลงที่ชื่อ Andy Warhol
เพื่อเป็นการทริบิวต์แด่ศิลปินที่เขารัก เพลงเริ่มต้นด้วยซาวด์สังเคราะห์ที่คล้ายกับการเชื่อมต่อสัญญาณในเครื่องคอมพิวเตอร์ เฟดเข้าหาเสียงพูดคุยเกี่ยวกับการสะกดชื่อที่ถูกต้องของแอนดี้ วอร์ฮอล์ ก่อนที่ซาวด์แบบอคูสติกร็อคจะบรรเลงพร้อมกับเนื้อหาที่พูดถึงการทำงานศิลปะของศิลปิน โบวี่บรรจุเพลงนี้อยู่ในอัลบั้มอันดับที่สี่ Hunky Dory (1971) ซึ่งก่อนที่อัลบั้มจะวางแผง โบวี่ยังได้นำเดโมของเพลงนี้ไปให้แอนดี้ฟังถึงสตูดิโอของเขาเพื่อถามฟีดแบ็ค แอนดี้ฟังจบ เขาไม่ได้ตอบอะไรนอกจาก “ผมชอบรองเท้าของคุณ” ซึ่งก็เข้าใจได้แหละ เพราะว่าไปมันคือเพลงสรรเสริญพระบารมีดีๆ นี่เอง คนปกติที่ไหนกันจะพึงพอใจฟังเพลงที่คนอื่นเขียนสรรเสริญตัวเองเสียสุดลิ่มทิ่มประตู
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=n--Ro4-hNbo
__________
Vincent – Don McLean
in The Starry Night (1889) by Vincent Van Gogh
เพลงโฟล์คละมุนละไมของ Don McLean ที่ตั้งแต่ท่อนแรกของเนื้อเพลงก็บรรยายรายละเอียดของภาพเขียน The Starry Night ของ Vincent Van Gogh อย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่ศิลปินจะบอกว่าเออ ฉันเข้าใจที่แกจะพูดล่ะวินเซนต์ และก็เข้าใจด้วยว่าการต้องต่อสู้กับความวิกลจริตของตัวเองมันหนักหนาแค่ไหน ไหนจะการที่คนในยุคของแกไม่ซาบซึ้งในผลงานของแกอีก แต่ตอนนี้คนทั้งโลกเข้าใจในความเจ๋งสุดๆ ของแกแล้วนะ… ว่าไปก็เป็นเนื้อเพลงที่เชยแหละ แต่แมคลีนก็เรียบเรียงออกมาอย่างไพเราะและสะกดคนฟังมากทีเดียว นี่ยังเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของ Tupac Shakur แร็ปเปอร์ระดับตำนานที่เขาบอกคนใกล้ชิดให้เปิดเพลงนี้ให้เขาฟังที่โรงพยาบาล ไม่นานก่อนที่เขาจะสิ้นใจจากบาดแผลที่มีลูกกระสุนฝังอยู่ในนั้น
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=oxHnRfhDmrk
__________
Viva La Vida – Coldplay
in Viva La Vida (1954) by Frida Kahlo
Viva La Vida เป็นภาษาสเปนแปลว่า ‘ชีวิตจงเจริญ’ นี่คือชื่อภาพเขียนชิ้นสุดท้ายในชีวิตอันแสนสั้น (แต่ศิลปะยืนยาว) ของ Frida Kahlo ศิลปินเม็กซิกันผู้เป็น icon ของสาวๆ โบฮีเมียน เธอวาดรูปแตงโมซึ่งสื่อถึงความหมายของวันแห่งความตายตามความเชื่อของเม็กซิกัน โดยเขียนคำว่า Viva La Vida ต่อท้ายด้วยชื่อของเธอไว้บนเนื้อแตงโม
Chris Martin นำชื่อนี้มาตั้งเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัว และชื่ออัลบั้มในปี 2008 ของ Coldplay โดยบอกกับนิตยสาร Rolling Stone ว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากความพยายามฟันฝ่าความเจ็บปวดมาตลอดชีวิตของศิลปิน และต้องการเฉลิมฉลองให้แก่ชีวิตของเธอ ขณะเดียวกันเนื้อเพลงใน Viva La Vida ที่คริสเขียนถึงกษัตริย์ที่เคยปกครองโลก หากสุดท้ายก็ถูกโค่นอำนาจ และกำลังจะถูกนำตัวไปประหาร ซึ่งก็เชื่อมโยงกับภาพเขียน Liberty Leading the People ของ Eugene Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ถ่ายทอดห้วงเวลาที่ประชาชนลุกขึ้นมาปฏิวัติโค่นกษัตริย์ (ครั้งที่ 2) ในปี 1830 ซึ่ง Coldplay ได้นำมาเป็นปกอัลบั้มลำดับที่ 4 ของพวกเขา
ฟังเพลงเต็มๆ ประกอบกับแฮชแท็กร้อนแรงที่เคยติดเทรนทวิตเตอร์บ้านเรา ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=dvgZkm1xWPE
__________
What the Water Gave Me – Florence and the Machine
in What the Water Gave Me (1938) by Frida Kahlo
นอกจาก Coldplay ผลงานของ Frida Kahlo ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินร็อคร่วมรุ่นอย่าง Florence and the Machine ซึ่ง Florench Welch เขียนเพลง What the Water Gave Me ตามชื่อผลงานในปี 1938 ของฟรีด้า – ภาพเขียนสีน้ำมันที่เผยให้เห็นขาของศิลปินแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำ ภายในนั้นปรากฏองค์ประกอบแปลกประหลาดที่มีทั้งอาคารสูงระฟ้าผุดขึ้นมาจากภูเขาไฟ, หญิงเปลือยกำลังตั้งท้อง, ศพของนกหัวขวาน, เปลือกหอยที่มีรอยกระสุน ฯลฯ ภาพที่ต่างสะท้อนจิตไร้สำนึกของฟรีด้า ถูกบรรจุในอัลบั้มที่สอง Ceremonials (2011) เพลง What the Water Gave Me เป็นเพลงป๊อบร็อค-โซลที่พูดถึงการปล่อยวางจากความล้มเหลวของชีวิต ตามสไตล์ที่แฟนๆ ฟลอเรนซ์คุ้นเคย การหยิบกระแสเสียงที่อีกนิดจะเป็นโกธิคร็อค มาใช้ปลอบประโลมคนฟังให้มองโลกในแง่ดี…
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=am6rArVPip8
__________
Escher – Teenage Fanclub
in Relativity (1953) by M.C. Escher
Relativity (1953) คือภาพพิมพ์หินรูปทัศนียภาพของบันไดภายในอาคารที่เชื่อมต่อกันอย่างประหลาดในมิติ ของ M.C. Asher ศิลปินชาวดัตช์ผู้บุกเบิกศิลปะแบบไซคีเดลิกช่วงทศวรรษ 60s ภาพบันไดของแอสเชอร์สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์ในยุคของเขาและต่อมาให้ไปต่อยอดในเชิงทัศนศิลป์จำนวนนับไม่ถ้วน แต่กับวงอินดี้ร็อคจากสก๊อตแลนด์ที่เป็นหนึ่งใน icon แห่งยุค 90s อย่าง Teenage Fanclub กลับเอาไปเขียนเป็นเพลงรักที่พูดถึงการรักผู้หญิงสักคนหนึ่งซึ่งเขาพร้อมจะเคียงข้างเธอไม่ว่าเธอจะหลงไปทางไหน เพลงนี้ชื่อว่า Escher ซึ่งเป็นชื่อของศิลปิน บรรจุอยู่ในอัลบั้ม Thirteen อัลบั้มอันดับที่สี่ของวงที่วางจำหน่ายในปี 1993 ทั้งนี้หน้าปกของอัลบั้มเป็นรูปวอลเลย์บอล (เขียนชื่อวงและชื่ออัลบั้ม) ที่ลอยอยู่ในน้ำ ยังคล้ายคลึงกับผลงาน One Ball Total Equilibrium Tank (1985) ที่เป็นลูกบาสเก็ตบอลลอยอยู่ในตู้ปลาของ Jeff Koons
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=M-77gPBSZ2Q
__________
Picasso Baby – Jay Z
in Pablo Picasso, Mark Rothko, Jeff Koons, Jean Michael Basquiat, etc.
Jay Z ได้ชื่อว่าเป็นแรปเปอร์ที่ชอบสะสมงานศิลปะ หากยังจำกันได้ไซด์โปรเจ็กท์ที่เขาทำร่วมกับ Beyoncé ที่ชื่อ The Carters ในปี 2018 มีเพลงดังอย่าง Apeshit ที่เข้าไปถ่ายมิวสิควิดีโอใน Louvre Museum ของปารีส ซึ่งทำออกมาได้สวยมากๆ กระนั้นก่อนหน้านั้นในปี 2013 เขาได้ปล่อยเพลง Picasso Baby ในอัลบั้ม Magna Carta… Holy Grail โดยเพลงดังกล่าวไม่เพียงที่เขาจะพล่ามถึงความรวยและ passion ที่อยากสะสมงานของ Pablo Picasso ไว้ในปราสาทของตัวเอง นอนในห้องที่มีภาพโมนาลิซ่าแขวนอยู่ และติดตั้งงานของ Jean Michel Basquiat ไว้ในห้องครัว ฯลฯ หากยังถูกต่อยอดเป็นโปรเจ็กท์ศิลปะซึ่งได้แรงบันดาลใจ มาจากงาน Artist is Present ของ Marina Abramovic (งานที่ศิลปินนั่งอยู่บนโต๊ะกลางมิวเซียม และให้ผู้ชมต่อคิวกันเข้ามานั่งจ้องตากับเธอโดยไม่พูดอะไร) ในชื่อ Picasso Baby: A Performance Art Film เป็นการบันทึกวิดีโอที่ Jay Z ยืนแร็ปอยู่กลางโถง Peace Gallery ในนิวยอร์ก และมีผู้ชมล้อมวงเข้ามาฟังศิลปินแร็ปแบบตัวต่อตัว ซึ่งมารีนา อบราโมวิช ก็มายืนฟังด้วย
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=3kVIZFEKs4M
__________
Paint it Black – The Rollin Stones
in Abstract Painting (1963) by Ad Reinhardt
Ad Reinhardt คือจิตรกรชาวอเมริกันในกลุ่ม Abstract Expressionism ผู้ที่เริ่มต้นสร้างงานจาก รูปทรงเรขาคณิตด้วยสีที่หนาหนักเพียงสีเดียว ก่อนที่ในทศวรรษ 60s เขากลับสร้างความฮือฮาในยุคนั้นด้วยการนำเสนองานศิลปะที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเพ้นท์สีดำเพียงสีเดียวลงบนผืนผ้าใบ สามปีต่อมา Mick Jacker ฟร้อนท์แมนของ The Rollin Stones เขียนเพลง Paint it Black ขึ้นมา ซึ่งเป็นเพลงฮิตในอัลบั้ม Aftermath ว่ากันว่ามิคได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ Ulysses นิยายเล่มหนาของ James Joyce นวนิยายที่พาคนอ่านท่องไปในความดำมืดของสรรพสิ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อฟังเนื้อเพลงของมิค กับท่วงทำนองอันอึกทึกทว่าหม่นดำที่เขียนโดย Kieth Richards เนื้อเพลงได้นำคนฟังทะลุทะลวงตัวหนังสือของจ๊อยซ์ เข้าสู่สีน้ำมันอันมืดดำสุดลิ่มของไรน์ฮาร์ดท์อย่างกึกก้อง
ฟังเพลงประกอบได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=O4irXQhgMqg
__________
ติดตาม BOTS ได้ใน https://www.facebook.com/botsworld.co และ www.instagram.com/botsworld.co
It’s More Fun to Compute/ Home Computer
จากยานอวกาศแห่งจิตวิญญาณของอาม่า สู่เรือโนอาห์แห่งความทรงจำของต่อลาภ ลาภเจริญสุข