1. Haydn - Symphony No.45 “Farewell Symphony” in F# Minor
ไฮเดินได้รับการยกย่องให้เป็นบิดา แห่ง “Symphony” และ “String Quartet” นอกจากจะเป็นคนแรกที่คิดค้นรูปแบบของการแต่งซิมโฟนี เขาได้แต่งเพลงจำนวนมหาศาล แต่ที่อยากจะขอหยิบยกมาวันนี้ก็คือ Symphony No.45 ที่มีชื่อเล่นว่า “Farewell Symphony” ซึ่งนับเป็นบทเพลงบทเดียวในช่วง ศตวรรษที่ 18 ที่มีการใช้คีย์ F# Minor ซิมโฟนีบทนี้ถูกประพันธ์ขึ้นในช่วงปี 1772 ขณะที่ไฮเดินถวายงานรับใช้เจ้าชาย นิคโคเลาส์ (Nikolaus I,Prince Esterhazy) ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระองค์ท่านประทับอยู่ ณ พระราชวังฤดูร้อน Eszterhaza เป็นเวลานานกว่าทุกๆ ปี นักดนตรีที่จากบ้านมาเพื่อแสดงดนตรีถวาย ต่างคิดถึงบ้านจึงได้มาร้องขอกับ ไฮเดิน ให้บอกเรื่องนี้แก่เจ้าชาย และแน่นอนไฮเดินเลือกที่จะบอกเจ้าชายผ่านทางซิมโฟนีบทนี้
โดยในคืนที่แสดงพอเพลงดำเนินมาถึงช่วง Movement สุดท้าย ไฮเดินให้นักดนตรีที่บรรเลงจบแล้ว ค่อยๆดับเทียนไขตรงหน้า และทยอยเดินออกจากห้องไปทีละคน ทีละคน จนเหลือเพียงแค่ไวโอลิน 2 คน คือตัวไฮเดินเอง และ concert master ของเขา นับเป็นการแสดงอารมณ์ขันของไฮเดินอย่างได้ผล เพราะเจ้าชายเข้าใจสิ่งที่ไฮเดินพยายามสื่อ และทรงอนุญาตให้นักดนตรีเดินทางกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น
2. Mozart - Piano Concerto No.21 in C Major, K.467
โมสาร์ทเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มแต่งเพลง Minuet บทแรกด้วยวัยเพียง 5 ขวบ ตลอดช่วงชีวิตของเขา โมสาร์ทได้แสดงอัจฉริยภาพทางด้านการประพันธ์เพลงและทักษะทางดนตรีที่หลากหลาย รวมถึงสร้างงานชิ้นเอกเอาไว้มากมาย หนึ่งในงานที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างมากคือ Piano Concerto No. 21 in C major, K. 467 คอนแชร์โตบทนี้ถูกประพันธ์ขึ้นในปี 1785 ณ กรุงเวียนนา เป็น คอนแชร์โตแบบ 3 Movement สำหรับ เปียโน, เครื่องสาย, ฟลู๊ต, โอโบ, บาซซูน, ฮอร์น, ทรัมเป็ต และทิมปานี ถือเป็นเพลงตัวอย่างที่แสดงความเป็น Absolute Music และเอกลักษณ์ของดนตรีคลาสสิกได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งในแง่ของทำนองที่สวยงาม ฟังง่าย ติดหู ลักษณะการรวมวง และ การเลือกใช้เปียโนเป็นตัวเอก ก็สะท้อนได้ถึงค่านิยมแห่งช่วงสมัยได้อย่างชัดเจน
3. Mozart Opera – Die Zauberflöte (The Magic Flute), K620
โมสาร์ทนั้นให้ความสนใจอุปรากรและความเป็นอิตาลีอย่างมาก แม้กระทั่งชื่อกลางของเขา ก็พยายามเปลี่ยนให้เหมือนชาวอิตาเลียนจากเดิม Gottlieb เป็น Amadeus ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นที่รักของพระเจ้า แม้ในความเป็นจริงชีวิตของเขาจะอาภัพมากก็ตาม
The Magic Flute เป็นอุปรากร 2องค์ ที่ประพันธ์ดนตรี โดยโมสาร์ท ร่วมกับเนื้อร้องภาษาเยอรมันโดย Emmanuel Schikaneder ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักดนตรี นักประพันธ์ ผู้จัดการ และเจ้าของโรงละคร “ขลุ่ยวิเศษ” จัดแสดงขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1791 ณ โรงละคร Theater auf der Wieden กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นโรงละครของ Schikaneder นั่นเอง
The Magic Flute ใช้เทคนิคการแสดงใหม่ๆ อาทิ การจัดฉาก สลับฉาก การจัดแสง และ เสียงพิเศษ ประกอบกับเนื้อหาที่ดูเผินๆเหมือนนิยายแฟนตาซี ดูสนุก ตลก และ เร้าใจ แต่ลึกๆแล้วกลับแฝงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ ปรัชญา และ อุดมการณ์แบบ Freemasonry ไว้มากมาย
หลังจากการแสดงรอบปฐมทัศน์ The Magic Flute ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ อาการป่วยของโมสาร์ทกลับแย่ลงเรื่อยๆ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ ในวันที่ 5 ธันวาคมปีเดียวกัน ในสภาพยากจน หนี้สินมากมาย ชนิดที่ว่าไม่มีเงินทำศพเสียด้วยซ้ำ โมสาร์ทจากไปก่อนจะได้เห็นความสำเร็จของละคร “ขลุ่ยวิเศษ” ที่ถูกจัดแสดงซ้ำอีกหลายร้อยรอบ สร้างรายได้มหาศาลให้กับ Schikaneder และกลายเป็นอุปรากรที่ เบโธเฟนยกย่องให้เป็น อุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโมสาร์ท
4. Beethoven Symphony No.6 in F Major Op.68, “Pastoral Symphony”
งานเพลงของเบโธเฟนมีลักษณะที่ไม่ซ้ำกับของเดิม แหวกแนวจากแบบแผนอันเก่าแก่ ซึ่งแสดงออกมาจากเจตจำนงเสรีของเขา และแน่นอนก็มักจะทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา ถึงอย่างไรก็ดี ด้วยคุณภาพของผลงานอันสุดยอดก็ทำให้คนส่วนมากนิยมชมชอบเขาในที่สุด ท่ามกลางผลงานมาสเตอร์พีชมากมาย มีซิมโฟนีอยู่บทหนึ่งซึ่งมีความพิเศษและเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่นำพาดนตรียุคคลาสสิก ก้าวผ่านสู่ยุคโรแมนติก
“The Pastoral Symphony” Symphony No.6 in F Major Op.68 ซิมโฟนีบทหมายเลข 6 นี้ ถูกร่างขึ้น ในปี 1802 พร้อมๆกับซิมโฟนีหมายเลข 5 อันเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นช่วงที่เบโธเฟนเริ่มประสบกับอาการหูหนวก และ ประพันธ์เสร็จสมบูรณ์พร้อมจัดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรก ณ โรงละคร Theater an der Wien กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 22 ธค. 1808
ซิมโฟนีบทหมายเลข 6 ประกอบด้วย 5 movement ที่เล่าเรื่องราวความประทับใจที่ผู้แต่งได้พบเจอเมื่อครั้นไปเยือนตามชนบท ท่วงทำนองสามารถถ่ายทอดฉากต่างๆ อาทิ ความสดใสของสภาพอากาศ เสียงลำธารไหลเอื่อย การใช้เสียงเครื่องเป่าหลากชนิดล้อเป็นเสียงนก การสอดแทรกท่วงทำนองแบบพื้นบ้าน พายุฝนโหมกระหน่ำ ก่อนจะเป็นความรู้สึกยินดีหลังพายุสงบ ได้อย่างมีอรรถรสและชัดเจน
เทคนิคพิเศษ ที่เบโธเฟนใช้ในการแต่งซิมโฟนีบทนี้ ภายหลังถูกเรียกว่า “Program music” หรือเพลงบรรเลงที่บรรยายเรื่องราว บทกวี หรือบรรยายภาพ โดยใช้เสียงดนตรีเป็นตัวถ่ายทอด ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะสำคัญที่แบ่งแยกดนตรีบริสุทธิ์แบบยุคคลาสสิกเดิมๆ กับดนตรียุคโรแมนติกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ อิสระ และ จินตนาการ
รวบรวมนักวาดภาพประกอบจากสามชาติคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันกว่า 300 คนมาสรรค์สร้างภาพแบบเรโทรตามการตีความที่อยู่ในภาพใหญ่ของความเป็น New Retro
ก่อนกลายมาเป็นสุภาพบุรุษสุดร็อกผู้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ เดฟ โกรห์ล ฟรอนท์แมนแห่ง Foo Fighters นั้นเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก