เบโธเฟ่น บาค และบรามส์ เป็นคนเยอรมัน โชแปงมีพื้นเพอยู่โปแลนด์ วิวัลดีมาจากอิตาลี เห็นจะมีแต่โมซาร์ทกับไฮเดินที่น่าจะใกล้สุด เพราะคนแรกเกิดที่ซัลซ์บวร์กส์ ส่วนคนหลังเกิดที่โรเรา ประเทศออสเตรีย อย่างไรก็ตามไม่ว่าคีตกวีระดับตำนานเหล่านี้เกิดที่ไหน เวียนนาคือจุดหมายหรือหลักไมล์สำคัญในช่วงชีวิตของพวกเขา
เวียนนาคือเมืองหลวงของออสเตรีย เมืองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี มันเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรออสเตรียน และออสโตร-ฮังกาเรียน เคยเป็นศูนย์กลางของยุโรป และแน่นอน เป็นมหานครอันเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของดนตรีคลาสสิกของโลก LISTEN TO THE CITY ตอนนี้พาไปฟังเสียงเมืองเวียนนา และพาไปดูกันว่าทำไมเมืองแห่งนี้จึงเป็นเมืองหลวงของดนตรีคลาสสิกที่ยังคงไม่เสื่อมมนต์เสน่ห์จนถึงปัจจุบัน
คลาสสิกมาจากไหน
ดนตรีคลาสสิกคือหนึ่งในรากเหง้าทางเสียงเพลงของคนยุโรป ย้อนกลับไปในช่วงยุคกลาง ราวศตวรรษที่ 5 ภายหลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย คริสต์ศาสนาเริ่มเติบโตในแผ่นดินยุโรปพร้อมๆ กับดนตรีที่ใช้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาจากการร้องเพลงสวดแบบสอดประสานในโบสถ์ซึ่งพัฒนามาจากดนตรีในยุคกรีกโบราณ จนมาถึงยุคสมัยเรอเนซองส์ ราวศตวรรษที่ 16 เพลงสวดก็ถูกบรรเลงไปพร้อมกับพัฒนาการของเครื่องดนตรี พ้นไปจากเนื้อหาของบทเพลงทางศาสนา ก็บังเกิดอุปรากรหรือการแสดงการขับร้องประสานเสียงพร้อมบรรเลงดนตรีเล่ามหากาพย์เรื่องต่างๆ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี การแสดงอันแปลกใหม่นี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วยุโรป รวมถึงศูนย์กลางของอาณาจักรออสเตรียนอย่างเวียนนาในเวลาต่อมา
คลาสสิกอย่างไร – ที่ทางของดนตรีบริสุทธิ์
ลักษณะทางดนตรีที่เปลี่ยนไปอย่างชัดก็คือการใช้ทำนองสอดประสานแบบ Polyphony หรือ Counterpoint ที่ทุกทำนองล้วนเป็นแนวเด่นดำเนินเรื่องไปพร้อมๆกัน สอดประสานกัน ด้วยความซับซ้อน และยุ่งยาก ก็ถูกแทนที่ด้วยแนวทาง Homophonic ซึ่งตัดให้เพลงเหลือทำนองหลักเพียงหนึ่งเดียว และมีแนวอื่นๆ เล่นเป็น Arpeggio หรือ Chord เพื่อทำหน้าที่ Support ทำนองหลักให้โดดเด่นแทน แนวคิดแบบ Melody + Chord นี้ก็ยังเป็นที่นิยม และถูกใช้ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ในส่วนโครงสร้าง (Form) ของเพลงก็ถูกกำหนดให้มีท่อนที่ชัดเจน ช่วงที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีด้นสด (Improvise) ถูกตัดทิ้งออกไป (Dynamic) ความดัง-เบา ความเร็ว-ช้า และ อารมณ์เพลงถูกกำหนดโดยนักประพันธ์ทั้งหมด ด้วยวิธีการเหล่านี้ ทำให้ดนตรีที่ได้ออกมามีความสมดุล ชัดเจนในรูปแบบ ปราศจากการตีความ จินตนาการของผู้บรรเลง หรือการนำบทกวีมาอยู่เบื้องหลัง เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่ง ดนตรีบริสุทธิ์ (Absolute Music) อย่างแท้จริง
ทำไมต้องเวียนนา
ศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องมาถึงต้นศตวรรษที่ 19 คือยุคสมัยที่เวียนนาเจริญถึงขีดสุด เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยขุนนาง ผู้มีอันจะกิน และเหล่าปัญญาชน ขณะที่ราชวงศ์ฮาพส์เบิร์ก (Habsburg) ซึ่งปกครองเวียนนาในยุคนั้นก็รับบทท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญในการสนับสนุนคนทำงานศิลปะ วรรณกรรม และดนตรี โดยเฉพาะอย่างหลัง ที่ซึ่งเกิดค่านิยมที่บรรดาเชื้อพระวงศ์และผู้มีอันจะกินทุกคนต้องได้รับการศึกษาดนตรีหรือมีความสามารถในการร้อง เล่น และประพันธ์เพลง อันนำมาซึ่งการผุดขึ้นของโรงละครทั่วทุกมุมเมือง และนั่นคือแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักประพันธ์เพลงชั้นเยี่ยมมากมายหลายคนให้เดินทางมาพำนักในเมืองแห่งนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟรานซ์ โยเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn, 1732-1809) โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756-1791) และลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven, 1770-1827) ที่ซึ่งภายหลังสามคนนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น The First Viennese School หรือเป็นต้นแบบการประพันธ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของยุคได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ความหลากหลายของคลาสสิก
ในช่วงปี ค.ศ. 1750-1825 มีผลงานนับหลายร้อยชิ้นถูกประพันธ์ขึ้น ครอบคลุมงานดนตรีแทบทุกประเภท แม้งานอุปรากร (Opera) ที่มีเนื้อหาความรักและโศกนาฏกรรมจะเริ่มไม่ค่อยได้รับความนิยม หาก Comic Opera หรืออุปรากรเบาสมองที่เน้นการสร้างสรรค์การแสดง กลับรับความนิยมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันทางด้านเพลงบรรเลง ก็ถูกพัฒนาขึ้นจนเกิดรูปแบบเพลงประเภทใหม่อย่าง Sonata และ Symphony ซึ่งประสบความสำเร็จและกลายเป็นสูตรสำเร็จให้นักประพันธ์ทุกคนล้วนทำตาม รวมไปถึงยังมีการรวมวง Chamber แบบใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น วงบรรเลงเครื่องสาย Trio หรือ String Quartet เครื่องดนตรีหลายชิ้นถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้แทนเครื่องดนตรีเก่าๆ อันจะเห็นเด่นชัดที่สุดคือเปียโน ที่เข้ามาแทนเครื่องดนตรีเดิมอย่าง ฮาร์ปซิคอร์ด ด้วยความสามารถที่ครอบคลุมช่วงเสียงที่กว้างขึ้น การทำเสียงดัง-เบา ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้นักประพันธ์นิยมเลือกใช้เป็นเครื่องมือถ่ายถอดบทเพลงของพวกเขาแทน เรียกได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของยุคทองของดนตรีคลาสสิก…
มองเมืองผ่านเสียงเพลง
และถึงแม้ปัจจุบันดนตรีคลาสสิกจะไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักของโลกและของเวียนนาอีกต่อไปแล้ว หากเมืองหลวงของออสเตรียแห่งนี้ก็ยังคงดึงดูดคอเพลงคลาสสิกจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนไม่ขาดสาย มีโปรแกรมทัวร์มากมายที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมเมืองเวียนนาตามรอยนักประพันธ์ดังๆ ขณะที่อพาร์ทเมนต์ในย่านเมืองเก่าที่โมสาร์ทเคยใช้ชีวิตในช่วงปี 1784-1787 ยังถูกพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เช่นเดียวกับ Pasqualati Haus อพาร์ทเมนต์ที่เบโธเฟ่นเคยพำนัก ระหว่างปี 1804-1811 และได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้หลายบท โดยเฉพาะซิมโฟนีหมายเลข 5 อันโด่งดัง ก็เกิดขึ้นในสถานที่ที่ถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หรือแค่การหาเวลาเข้าชมออร์เครสตาที่ Musikverein หอแสดงดนตรีที่มีระบบอคูสติกที่ดีที่สุดในโลก ก็คล้ายเป็นการได้ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของดนตรีคลาสสิก - และไม่ว่าจะผ่านไปกี่สมัย เวียนนาก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของดนตรีคลาสสิกที่ยังคงคลาสสิกมาถึงปัจจุบันอย่างแท้จริง
ไปดูกันว่าทำไมเมืองแห่งนี้จึงเป็นเมืองหลวงของดนตรีคลาสสิกที่ยังคงไม่เสื่อมมนต์เสน่ห์จนถึงปัจจุบัน