ปี 2018 ลักษณ์ ใหม่สาลี เคยแสดงนิทรรศการเดี่ยวกับ Gallery Seescape ในชื่อ Lucktrospective ในครั้งนั้น ลักษณ์นำคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนชื่อดังอย่าง มิคกี้ เม้าส์, โดนัลด์ ดั๊ก, คิงคอง ฯลฯ มาเป็น subject ในการล้อเลียน ไปพร้อมกับการบิดคำศัพท์และชื่อของผลงาน จนเกิดเป็นศิลปะแบบ pop art ที่วิพากษ์ทั้งตัวเอง และสังคมทุนนิยมอย่างเปี่ยมอารมณ์ขัน
สองปีถัดมา ลักษณ์กลับมาเชียงใหม่ และร่วมงานกับแกลเลอรี่แห่งเดิมอีกครั้ง ในชื่อ Luckthropocene (ลักษณ์โทรโปซีน) ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่างชื่อศิลปิน (Luck) และคำว่า Anthropocene (ยุคสมัยใหม่ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง) เข้าด้วยกัน แม้ในภาพรวมจะดูคล้ายกับงานครั้งก่อนหน้า ทั้งการใช้ตัวการ์ตูน, การบิดหรือผันคำศัพท์ ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุ หากครั้งนี้ ลักษณ์ก็ชัดเจนในประเด็นที่จะเล่า เช่นที่เขาเขียนไว้บนโต๊ะไม้กลางโถงนิทรรศการห้องแรก รวมถึงในผลงานอีกหลายชิ้นว่า “Make Art For Money” ซึ่งก็ให้ความรู้สึกหมิ่นเหม่อย่างน่าสนใจว่าศิลปินต้องการจะประชดประชันธุรกิจศิลปะผ่านการขับเน้นภาพลักษณ์ทุนนิยมในผลงาน หรือจริงๆ แล้วศิลปินก็ซื่อตรงกับสิ่งที่เขาประกาศไว้ว่าเขาทำงานศิลปะเพื่อเงิน
นิทรรศการประกอบด้วยผลงานทั้งหมด 21 ชิ้น ทั้งหมดเป็นงานจิตรกรรมบนวัสดุรีไซเคิลอย่างเศษผ้าจากเต็นท์ทหาร, กระดาษโบราณ, ม้วนกระดาษโบราณของจีน ไปจนถึงตุ๊กตาผ้า ทั้งนี้การชมผลงานของลักษณ์ ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินแบบเดียวกับการชมจิตรกรรมฝาผนังของวัดในต่างจังหวัด กล่าวคือแม้จะมีเส้นเรื่องหลัก (ในผลงานของลักษณ์คือตัวการ์ตูนตัวหนึ่งตัวใดเป็น subject ใหญ่) หากก็มีเส้นเรื่องรองหรือองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาเสริมความขบขัน หรือยั่วล้อเส้นเรื่องหลัก เช่นภาพฉากสังวาส หรือฉากฆาตรกรรมที่ปนอยู่ในภาพชาดกหรือพุทธประวัติในวัดหลายแห่ง
หากแทนที่เราจะได้ชมจิตรกรรมที่มีความต่อเนื่องกันบนฝาผนังผืนใหญ่ เรื่องเล่าของลักษณ์ถูกแยกออกมาเป็นผลงานชิ้นย่อยที่มีตัวละครเป็นเอกเทศจากกัน กระนั้น เมื่อรวมผลงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ความแจ่มชัดของคอนเซปต์ Make Art For Money หรือการเล่นคำผวนเกี่ยวกับ เงินสด (Cash), เงิน (Money), ร่ำรวย (Rich) ฯลฯ มันก็จะกลายเป็นจิตรกรรมฝาผนังในวัดที่มีเรื่องเล่าเรื่องเดียวกันได้เช่นกัน
แต่นั่นล่ะ, หากพิจารณาจากคำว่า Make Art For Money การแบ่งชิ้นงานออกเป็นชิ้นย่อยๆ ออกมาทั้งหมด 20 ชิ้น (มีผลงาน 1 ชิ้นที่เป็นโต๊ะไม้เพ้นท์ตัวอักษร) ก็อาจตรงกับความหมายของการ ‘ทำงานศิลปะเพื่อเงิน’ ของลักษณ์มากกว่า เนื่องจากมันเหมาะกับการซื้อหาเพื่อสะสมของเหล่าคอลเลกเตอร์ไปแขวนผนังบ้านหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทำเงินให้ศิลปินได้มากกว่าการต้องมารอขายผลงานขนาดใหญ่ยักษ์แค่ชิ้นเดียว
ความเพลิดเพลินที่สำคัญอีกอย่างใน ‘ลักษณ์โทรโปซีน’ ซึ่งถือเป็นสไตล์ของศิลปิน คือการตั้งชื่อผลงาน (หรือตัวละคร) ด้วยการบิดคำศัพท์เพื่อลากเข้าคอนเซปต์เรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น Felix the Ca$h (มาจาก Felix the Cat), Richelin (จาก Michelin), Money Mouse (จาก Minnie Mouse), Kill Poor (จาก Kewpie) ไปจนถึงการยั่วล้อศิลปินด้วยกันเองอย่าง Pica$h$o หรือผลงานระดับ icon อย่าง Money Lisa ฯลฯ โดยชื่อของตัวละครบิดไปเช่นไร ภาพที่ศิลปินวาดออกมาก็บิดเบือนและเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบทุนนิยมอย่างสนุกสนานเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม งานในซีรีส์นี้ก็หาได้เล่นกับเรื่อง ‘เงิน เงิน เงิน’ อย่างตรงไปตรงมาเสียอย่างเดียว หากลักษณ์ก็ยังใส่ตัวละครอย่าง Micklitary ที่มีนัยแขวะทหาร (ซึ่งสถาบันนี้ก็กลมกลืนเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองและโลกทุนนิยมในประเทศเราอย่างแนบเนียน) หรือภาพ King Kong ที่ลักษณ์ไม่ได้อาศัยการบิดคำ หากเขาวาดคิงคองที่กำลังเหยียบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สื่อสารไปตรงๆ เลย
ที่ผู้เขียนชอบที่สุด เห็นจะเป็น King Rich ซึ่งเป็นรูปคิงคองแลบลิ้น พร้อมตัวอักษรภาษาไทยเขียนว่า ‘คิง รวย’ – จาก ‘คิงคอง’ สู่ ‘คิงรวย’ นอกจากการแปลชื่อให้เป็นภาษาไทย จะชวนให้เราเล่นมุขผวนคำ หากเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์บ้านเมืองหรือสภาวะเศรษฐกิจอันแสนรากเลือดในปัจจุบัน การพ้องความหมายของคำว่า ‘คิง’ ของลักษณ์ เสริมไปกับคำคุณศัพท์อย่าง ‘รวย’ ที่เป็นธีมหลักของนิทรรศการ ก็ถือเป็นอารมณ์ขันที่ช่างกวนตีนและน่ารัก และสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมามากทีเดียว
ไม่ว่า Make Art for Money ของศิลปินจะเป็นความตั้งใจประชดประชันธุรกิจศิลปะ หรือเป็น statement ส่วนตัวของเขาจริงๆ หาก ‘ลักษณ์โทรโปซีน’ ก็เป็นนิทรรศการที่สนุก เฉียบเท่ และเปี่ยมด้วยความย้อนแย้งอย่างน่าใคร่ครวญ ในแบบที่ควรเข้ามาชมในรายละเอียดด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้ง
Luckthropocene คิวเรทโดย Sebastian Tayac จัดแสดงถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2020 ที่ Gallery Seescape ถ.นิมมานเหมินท์ ซอย 17, เชียงใหม่ / Facebook: Gallery Seescape
Happy New Love Year นิทรรศการศิลปะติดตั้งของ โฆษิต จันทรทิพย์ ที่ทรานส์ฟอร์มแกลเลอรี่ MAI SPACE ให้กลายเป็นวิหารไซคีเดลิกสุดเฟี้ยว ชักชวนให้ผู้ชมละจากอคติและความขัดแย้ง มีความรัก และ (อย่าง) มีสติ
เมื่อประชาชนกลับจำในสิ่งที่รัฐอยากให้ลืม : แผนสำเร็จ Gallery & Consultant คือแกลเลอรี่ศิลปะในย่านแม้นศรี ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสามยอด กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แกลเลอรี่มีแผนจะจัดนิทรรศการศิลปะ Momentos/Monuments & reMinders จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัย 3 คน ได้แก่ ล้วน เขจรศาสตร์, วนะ วรรลยางกูร และอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ โดยมี บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รับหน้าที่คิวเรเตอร์