นิทรรศการใหม่ของ มิตร ใจอินทร์ กับการอุทิศให้ผู้ลี้ภัยและเพื่อนศิลปิน
“จำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนผมอดอาหารประท้วงมาตรา 112 น้อยเนื้อก็มาร่วมอดอาหารด้วย ตอนนั้นกำหนดไว้ว่าจะอดข้าวเป็นเวลา 112 ชั่วโมง แต่พอผ่านไปได้สองวัน ตอนดึกๆ น้อยเนื้อก็แว็บออกไป ก่อนจะกลับมาสารภาพด้วยหน้าเจื่อนๆ ว่าน้ามิตร ผมไปกินต้มเลือดหมูมา ขอโทษด้วย ผมอดไม่ไหว” มิตร ใจอินทร์ เล่าด้วยรอยยิ้ม
‘น้อยเนื้อ’ คือชื่อเล่นของ ปพนศักดิ์ ละออ ศิลปินร่างท้วมฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้งานศิลปะวิพากษ์เผด็จการและความไม่เป็นธรรมในสังคมบ้านเราอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง “น้อยเนื้อเป็นศิลปินที่มีความสุขกับการทำอาหารและการกิน พอเขารับปากว่าจะมาอดอาหารด้วย แค่นี้ผมก็ชื่นชมในตัวเขามากแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดเขายอมแพ้ก่อน ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่ก็ดีมากๆ แล้ว” มิตร เล่าต่อ
ในนิทรรศการเดี่ยวชุดล่าสุดของ มิตร ใจอินทร์ ที่เป็นนิทรรศการเปิดตัว 39+ Art Gallery แกลเลอรี่เปิดใหม่ในสิงคโปร์ ไม่เพียงมิตรจะชวนน้อยเนื้อ ศิลปินรุ่นน้องที่ร่วมทำงานศิลปะขับเคลื่อนการเมืองกับมิตรมากว่ายี่สิบปี ให้มาร่วมงานในฐานะผู้ร่วมผลิตชิ้นงาน แต่เขายังนำชื่อและเรื่องราวของน้อยเนื้อมาเป็นธีมหลักของงานชุดนี้ด้วย
Paphonsak La-or’s Prospects คือชื่อของนิทรรศการที่ว่า นิทรรศการศิลปะที่ศิลปินเจ้าของผลงานใช้ศิลปินอีกคนเป็นตัวละครหลักในเรื่องเล่า “เหมือนงานทอดผ้าป่าน่ะ” มิตรนิยามกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่ประกอบด้วยงานอินสตอเลชั่นในรูปลักษณ์ของถ้ำจิตรกรรมขนาดยักษ์ และชุดภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ขึ้นและตก “ผมชวนศิลปินมาร่วมงานคนละไม้คนละมือแบบบ้านๆ มันเหมือนงานอย่างไม่เป็นทางการ คนมาร่วมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เครดิตอะไร แต่ในทางกลับกัน เราก็เคารพความเป็นศิลปินของเขา นิทรรศการนี้จึงเป็นเหมือนการอุทิศให้กับน้อยเนื้อและผลงานของเขา” มิตรกล่าว
น่าเสียดายอยู่นิดที่สถานการณ์โรคระบาด ทำให้ Bots ไม่สามารถไปร่วมลอดอุโมงค์ ชมผลงานชุดนี้ด้วยตาตัวเองได้ถึงสิงคโปร์ กระนั้นพร้อมไปกับการชวนคนอ่านชมผลงานบนหน้าจอ เราได้ชวนมิตรเล่าถึงที่มาของชิ้นงาน รวมไปถึงมิตรภาพของมิตรที่มีต่อศิลปินรุ่นน้องอย่างปพนศักดิ์ จนเกิดเป็นผลงานที่ซ่อนนัยทางการเมืองอันแสนตราตรึงชุดนี้
นิทรรศการ Paphonsak La-or’s Prospects แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือศิลปะจัดวางในรูปแบบอุโมงค์ขนาดยักษ์ความยาวกว่า 12 เมตร ซึ่งเปิดให้ผู้ชมเดินเข้าไปสำรวจรวมถึงสัมผัสพื้นผิวของมันได้ อุโมงค์ดังกล่าวมีพื้นผิวภายนอกเป็นภาพภูมิทัศน์ของท้องฟ้าในยามพลบค่ำที่พระอาทิตย์ใกล้ลับ ขณะที่พื้นผิวภายในกลับเป็นท้องฟ้ายามเช้าตรู่ พระอาทิตย์เปล่งแสงอ่อนๆ กระจายไปทั่วทั้งผืนผ้าใบ
ทั้งนี้ ภายในช่องทางเดินของอุโมงค์ ยังมีหน้าต่างที่ชวนให้ผู้ชมผลักออก หรือแง้มเปิดเพื่อมองไปออกไปภายนอกอุโมงค์ และเมื่อผู้ชมเดินลอดมายังสุดปลายทาง จะพบผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่อีกชิ้น ทำหน้าที่เหมือนฉากกั้น เป็นภาพวาดของแสงสุดท้ายบนท้องฟ้าในเวลาพลบค่ำได้รับการแต่งแต้มด้วยดวงอาทิตย์นับสิบที่กระจายตัวอยู่ทั่ว โดยด้านหลังของผลงานชิ้นนี้คือแสงแรกของภาพท้องฟ้าในยามเช้า
ส่วนที่สองจัดแสดงอยู่ในห้องนิทรรศการอีกห้อง ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม 12 ชิ้น นำเสนอภาพบรรยากาศท้องฟ้าจาก 12 ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทยอาศัยอยู่ ผลงานเหล่านี้ถูกเรียงต่อกันตามไทม์โซนต่างๆ เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น หมุนวนรอบโลกไปทางทิศตะวันออก และจบลงที่ประเทศไทย กลุ่มผลงานบนกำแพงด้านซ้ายสุดถูกวาดขึ้นเพื่อให้สะท้อนช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น กำแพงตรงกลางคือภาพแทนของบรรยากาศเวลากลางวัน และกลุ่มผลงานบนกำแพงด้านขวาคือช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก
ผลงานแต่ละชิ้นมีจะมีจิตรกรรมสี่เหลี่ยมขนาดเล็กทับอยู่ด้านบน ศิลปินเรียกมันว่าหน้าต่าง ที่บ้างมีหนึ่งบาน บ้างมีสามบาน หน้าต่างแต่ละบานคือภาพของช่วงเวลาที่ตรงกันข้ามกับฉากหลังของผลงานชิ้นนั้นๆ เช่นหากผลงานชิ้นนั้นคือภาพเวลาย่ำรุ่ง ในหน้าต่างจะเป็นเวลาย่ำค่ำ และเมื่อเปิดแง้มดูจะเจอท้องฟ้าในเวลากลางวันสลับวนต่างช่วงเวลากัน
มิตร ใจอินทร์ นำแรงบันดาลใจจากการสร้างงานชุดนี้มาจากผลงาน ‘ไกลบ้าน’ (Far From Home, 2017 จัดแสดงครั้งแรกที่ ARTIST+RUN Gallery) ของปพนศักดิ์ ละออ ที่ศิลปินอ้างอิงมาจาก พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 บันทึกขึ้นขณะเดินทางไปเยือนยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2450 หาก ‘ไกลบ้าน’ ของปพนศักดิ์ กลับเป็นบันทึกด้านกลับว่าด้วยชะตากรรมของผู้ลี้ภัยจากคดีอาญามาตรา 112 ที่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างแดน
ไกลบ้านของปพนศักดิ์ ประกอบด้วยสมุดบันทึก ภาพจิตรกรรมบุคคลใบหน้าของผู้ลี้ภัยที่ถูกวาดซ้อนทับกับ และภาพทิวทัศน์ในต่างแดนอันเป็นทัศนียภาพที่ผู้ลี้ภัยเห็นระหว่างการเดินทางไปตั้งรกรากใหม่ยังต่างประเทศ และไม่มีโอกาสได้กลับเมืองไทยอีกเลย
นี่เป็นงานที่สะท้อนวิกฤตการเมืองไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ที่ซึ่งกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้ปิดปากผู้คนที่เห็นต่าง มีการดำเนินคดี อุ้มหาย ไปจนถึงฆาตรกรรมเหล่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย ซึ่งทำให้บางส่วนต้องลี้ภัยไปต่างแดน อันเกิดเป็นบันทึกที่ปพนศักดิ์รวบรวมความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้ออกมาเป็นสื่อศิลปะ
มิตรเล่าว่าพอนึกถึงปพนศักดิ์ กับผลงานไกลบ้าน ทำให้เขาคิดถึงภาพจิตรกรรม Wanderer Above the Sea of Fog (1818) ผลงานของจิตรกรเยอรมันยุคโรแมนติก Caspar David Friedrich ที่ซึ่งเป็นภาพของบุรุษคนหนึ่งผู้กำลังมองทิวทัศน์ของทะเลหมอกกลางหุบเขาไกลออกไปสุดสายตา ขณะที่ภาพทิวทัศน์ในชิ้นงานดังกล่าว เชื่อมโยงกับภาพทิวทัศน์ของปพนศักดิ์ในงานไกลบ้าน บุรุษที่อยู่กลางภาพก็คล้ายเป็นคนเล่าเรื่อง (narrator) หรือตัวละครในผลงานชุดใหม่ชุดนี้ของมิตร ที่เขาใช้ตัวตนของปพนศักดิ์เข้ามาแทนที่
“น้อยเนื้อมีบุคลิกที่น่าสนใจมาก เขาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝั่งประชาธิปไตยมาเกือบยี่สิบปีแล้ว เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายในหลักการ และเป็นนักสังเกตการณ์สังคมที่ดี ไม่ถึงกับเป็นแนวหน้านำขบวนเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เขาใช้ทักษะทางศิลปะของเขามีส่วนในการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง เขาเป็นศิลปินที่มีความเป็นมนุษย์การเมืองและมนุษยธรรม พอแกลเลอรี่ที่สิงคโปร์ติดต่อมาว่าอยากให้เราทำงานไปแสดง ก็เลยคิดถึงน้อยเนื้อคนแรก ซึ่งไม่ใช่ในฐานะที่ให้เขามาทำงานร่วมกับเรา แต่ในฐานะให้เขาเป็นคนเล่าเรื่องให้เรา” มิตร กล่าว
นอกเหนือจากการทำภาพทิวทัศน์ของท้องฟ้าเพื่อเป็นการคารวะผลงาน ‘ไกลบ้าน’
ของปพนศักดิ์ มิตรยังตั้งใจใช้ทิวทัศน์ยามเช้าตรู่และยามโพล้เพล้พระอาทิตย์จวนตกที่ปรากฏอยู่ในจิตรกรรมเกือบทั้งหมดในซีรีส์นี้ เป็นดังอุปมาของสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
“ผมคิดถึงกุศโลบายของคนโบราณที่เขาใช้สอนลูกหลานไม่ให้นอนตอนเย็นเพราะเป็นช่วงผีตากผ้าอ้อม น่ะ เพราะถ้าคุณเผลอหลับไปตอนเย็น แล้วคุณตื่นมา คุณอาจสับสนว่าท้องฟ้าตอนนั้นมันคือตอนจวนจะเช้าหรือจวนจะค่ำ ท้องฟ้ามันคล้ายกันจนแยกไม่ออก…
“ผมสนใจช่วงเวลานี้ในฐานะการเปลี่ยนผ่าน เพราะถ้ามองกลับมาที่สถานการณ์ในบ้านเรา ท้องฟ้าในบ้านเราก็เป็นแบบนี้ มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่าน คือคุณจะมองว่ามันอยู่ในสภาวะครึ่งๆ กลางๆ ที่การเมืองไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้า ติดหล่มอยู่กับเผด็จการกลุ่มเดิมก็ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความสุกงอมในสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเมืองใหม่ได้เหมือนกัน เหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นในยามเช้าอันสดใส” มิตร กล่าว
ทั้งนี้ แม้ศิลปินไม่ได้เล่า หากนอกเหนือจากทิวทัศน์กึ่งเช้ากึ่งเย็น เรายังมองเห็นอุปมาของ ‘อุโมงค์’ ที่ศิลปินจงใจเจาะหน้าต่างเพื่อให้แสงจากภายนอกทอดเข้ามา ราวกับเป็นการโต้แย้งภาพจำของใครหลายคนที่มีต่อสถานที่นี้ในฐานะพื้นที่ภายในอันอับแสง มืดบอด หรือไร้ซึ่งความศิวิไลซ์ หรือคำเปรียบเปรยอย่าง ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ ที่ว่าด้วยการเฝ้ารอความหวังท่ามกลางความมืดมิด อุโมงค์ใน Paphonsak La-Or’s Prospects ไม่เพียงถูกฉาบทับด้วยจิตรกรรมของท้องฟ้าและแสงสว่าง หากหน้าต่างเหล่านี้เป็นเสมือนกำลังใจแด่พวกเราและเหล่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง ว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ประเทศเปลี่ยนผ่านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้สิ้นหวัง หรือว่างเปล่าเสียทีเดียว
หมายเหตุ: นิทรรศการจัดแสดงถึงวันที่ 12 มีนาคม 2022 ที่ 39+ Art Space สิงคโปร์ โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายผลงานชุดนี้ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้กับการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงเพื่อการสนับสนุนพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่
ต่อสายวิดีโอคอลสัมภาษณ์ดนัยถึงผลงานชุดใหม่ล่าสุดชุดนี้ พร้อมกับชวนคุยถึงประเด็นเสรีภาพในสังคมไทยทุกวันนี้
คุยกับ วิทวัส ทองเขียว ผู้ใช้ภาพเรียลลิสติกบอกเล่าความเหนือจริงของสังคมไทย
คุยกับสุรเจต ทองเจือ ว่าด้วยผลงานศิลปะที่ประหนึ่งบัญชีแค้นของเขา