เดือนมีนาคม 2020 ระหว่างที่ Mr.Zen หรือ ดนัย อุศมา เดินทางไปแสดงนิทรรศการเดี่ยว I’m OK ที่บาร์เซโลนา โควิด-19 ก็เริ่มระบาดเข้ายุโรป โชคดีที่ดนัยแสดงงานชุดนี้ในเวลาที่ประเทศต่างๆ ทยอยปิดพรมแดนพอดี เขาบินกลับไทยเพียงไม่กี่วันก่อนสเปนจะปิดประเทศ ระหว่างนั้นเขาศึกษามาตรการรับมือกับโรคระบาดมาอย่างดี และเตรียมตัวว่าเมื่อถึงไทย เขาต้องถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ
กระนั้นเมื่อเครื่องบินแลนด์ดิ้ง และเขาผ่านการตรวจหนังสือเดินทาง ก็กลับไม่มีการตั้งด่านคัดกรองผู้โดยสารและหาได้มีเจ้าหน้าที่คนไหนมาติดตามเขา นั่นทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่ภูเก็ต ดนัยรับผิดชอบตัวเองด้วยการกักตัวอยู่ที่สตูดิโอ 14 วัน ระหว่างนั้นเขาก็เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊คส่วนตัว ตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคระบาดของการท่าอากาศยาน เนื่องจากไม่มีระบบคัดกรองโรคที่สนามบิน นั่นเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรุนแรงพอดี
โพสต์ของดนัยถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ใช้เฟซบุ๊คและสำนักข่าวชั้นนำ โดยหลังจากที่เขากักตัวมาได้เกือบสิบวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บุกมาหาเพื่อจับกุมตัวไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ… ดนัยถูกการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฟ้อง พรบ.คอมพิวเตอร์ ข้อหาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ…
ดนัยถูกจับกุมตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบสวน เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนกรานให้สำนักงานท่าอากาศยานเปิดกล้องวงจรปิดในสนามบินเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่เขาพิมพ์ลงบนสเตตัสเป็นความจริง หลังจากถูกกักขังอยู่หนึ่งวันหนึ่งคืน เขาก็ได้รับการประกันตัวออกมา
“จริงๆ ช่วงเวลาที่ผมถูกคุมขังนี่สั้นมากนะ ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ที่ถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่มีเหตุผล แต่ถึงจะถูกขังอยู่แค่หนึ่งวันหนึ่งคืน ก็นานพอที่จะทำให้เห็นว่าอิสรภาพมันมีคุณค่ามากเท่าไหร่ และระบบความยุติธรรมของประเทศนี้มันล้มเหลวแค่ไหน”
กระทั่งกลางปี 2021 คดีความของดนัยยังไม่สิ้นสุด หากระหว่างนั้นเขาก็นำประสบการณ์ตรงจากการถูกรัฐคุมขังสร้างผลงานศิลปะชุดใหม่ งานสเตนซิล+เพ้นท์ติ้ง และสื่อผสม ที่เล่านิยามของคำว่า FREE ผ่านรหัสมอร์ส (morse code) จัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาในชื่อ FREE ที่ VS Gallery กรุงเทพฯ ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 ที่ผ่านมา
เกิดที่สตูล หากเติบโตและใช้ชีวิตด้วยการร่ำเรียนศิลปะนอกสถาบันการศึกษาอยู่ที่ภูเก็ต ดนัยเริ่มสร้างชื่อจากจิตรกรรมแนวนามธรรม ก่อนจะแพร่ขยายไปสู่เทคนิคอันหลากหลาย รวมถึงงานสื่อผสมและกราฟิตี้ ผลงานของเขาได้รับการสะสมจากคอลเลกเตอร์และแกลเลอรี่ชั้นนำในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา แม้งานส่วนใหญ่ของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการสังเกตวิถีชีวิตของเพื่อนมนุษย์และความเป็นไปในสังคมการเมือง หากเขาก็บอกว่าไม่มีงานชุดไหนที่จะสะท้อนประสบการณ์จริงอันตลกร้ายและแสบสันต์ได้เท่ากับซีรีส์ FREE ที่กำลังแสดงอยู่ขณะนี้
BOTS ต่อสายวิดีโอคอลสัมภาษณ์ดนัยถึงผลงานชุดใหม่ล่าสุดชุดนี้ พร้อมกับชวนคุยถึงประเด็นเสรีภาพในสังคมไทยทุกวันนี้
เราเห็นถึงท่าทียียวนทีเล่นทีจริงปะปนไปกับความโกรธเกรี้ยวในงานชุด FREE ซึ่งมาทราบภายหลังว่างานชุดนี้มันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่คุณถูกตำรวจจับและถูกคุมขังจากการโพสต์สเตตัสวิจารณ์การท่าฯ เลยอยากรู้ว่าอารมณ์จริงๆ ของการสร้างงานชุดนี้เป็นอย่างไร?
ผมสร้างงานศิลปะทุกชุดมาจากเรื่องเล่าที่อยู่รอบตัว เห็นโลกเห็นสังคมเป็นอย่างไรก็สะท้อนมันออกมาอย่างนั้น งานชุดนี้ก็เช่นกัน หลักๆ คือผมพยายามตั้งคำถามถึงเสรีภาพ งานทุกชิ้นในชุดนี้เกิดจากที่ผมสัมภาษณ์คนใกล้ตัวให้พวกเขานิยามว่าอะไรคือความ FREE แล้วก็ถอดคำพูดของพวกเขาออกมาเป็นรหัสมอร์ส เพื่อพ่นสเตนซิลรหัสเหล่านี้ลงบนแคนวาสที่มีเพ้นท์ติ้งเป็นพื้นหลังอีกที นิยามของเสรีภาพจากบุคคลที่หลากหลายเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณมองเห็นถึงความทีเล่นทีจริง ขณะเดียวกันการที่ผมคิดงานชุดนี้ได้ระหว่างที่ถูกคุมขัง เป็นประสบการณ์แรกในชีวิตที่ถูกรัฐคุกคามในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล จึงมีความโกรธแฝงเข้าไปด้วยเช่นกัน
เราสนใจรหัสมอร์สที่คุณใช้เป็นสื่อหลักในงานชุดนี้ มันมาได้อย่างไร?
เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงช่วงที่ผมโดนคุมขัง คือหลังจากที่ตำรวจ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) มาจับผมข้อหา พรบ.คอมพิวเตอร์ แล้วเขาก็พาผมไปฝากขังไว้ที่ ส.น.ทุ่งสองห้องอยู่ครึ่งคืน ก่อนจะถูกย้ายไปฝากขังที่ศาลอาญา ซึ่งผมก็ได้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาช่วยเรื่องคดีให้ โดยระหว่างทำเรื่องประกันตัว เขาก็จับผมขังเดี่ยวด้วยการล็อคกุญแจมือไว้ในห้องสอบสวนที่ไม่มีหน้าต่าง โทรศัพท์โดนยึด และทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งเฉยๆ ในห้องเล็กๆ ที่มีนาฬิกาแขวนผนังที่ตายแล้ว
ความที่ไม่มีอะไรจะทำ และอยากรู้ว่าเวลามันผ่านไปนานเท่าไหร่ ผมเลยใช้นิ้วเคาะโต๊ะเพื่อนับเวลา ด้วยเชื่อว่ายังไงเสียเย็นนี้ ผมก็น่าจะได้รับการประกันตัวออกมา จำได้ว่าถูกพาเข้ามาในห้องประมาณเที่ยง ก็นั่งเคาะโต๊ะไปตามการนับวินาทีในใจ ผมเหมือนพยายามทำสมาธิด้วยการเคาะโต๊ะเพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่าน แต่ภายในมันอัดอั้นมาก เต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งโกรธ ทั้งอ่อนล้า และเต็มไปด้วยคำถาม ไอ้จังหวะเคาะโต๊ะระหว่างถูกจำกัดเสรีภาพตอนนั้นแหละที่ทำให้ผมนึกถึงรหัสมอร์ส
พอคุณได้รับเสรีภาพ สิ่งแรกที่คิดคือรหัสมอร์ส?
ไม่ ผมกลับนึกถึงนกพิราบก่อน วันนั้นผมได้รับการประกันตัวตอนเย็น เจ้าหน้าที่มาถอดกุญแจมือให้ และนำผมออกจากห้อง ออกมาก็เจอทีมทนายความ เพื่อน และภรรยามารอรับ ตอนนั้นผมเบลอมาก คือยังงงๆ เบลอๆ ซึ่งอาจเพราะไม่ได้สูบบุหรี่มา 2 วัน ก็เลยขอบุหรี่เพื่อนเดินไปสูบหลังศาล จังหวะนั้นแหละที่สายตาที่ยังเบลอๆ อยู่มันไปโฟกัสที่นกพิราบเข้า
ที่ผ่านมาผมมองว่าการใช้นกพิราบเป็นสื่อสัญลักษณ์ของเสรีภาพนี่เชยมากเลยนะ ไม่เข้าใจเลย กระทั่งมาเจอกับตัวเอง แล้วเห็นมันโผบินออกไป จากคนที่ไม่ค่อยเข้าใจว่าเสรีภาพคืออะไร เพราะเรามีมันมาตลอด ตอนนี้กลับอินเสียอย่างนั้น งานชุดนี้เลยมีสเตนซิลรูปนกพิราบอยู่ด้วย เป็นงานที่ผมกลับภูเก็ตไปก็เริ่มดราฟท์รูปและตัดกระดาษทำสเตนซิลเลย
แล้วเทคนิคสเตนซิลมีนัยอะไรเป็นพิเศษไหมครับ
จริงๆ ผมไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องยึดติดกับเทคนิคงานอะไร ก็เปลี่ยนไปตามเนื้อหา จำไม่ได้แล้วว่าใช้เทคนิคอะไรบ้าง แต่ที่เลือกกราฟิตี้นี่เพราะหลังๆ ผมพบเซ้นส์ของความตรงไปตรงมาของมันดี คืออยากเล่าอะไรก็พ่นเลยไม่ต้องโชว์พาวเวอร์ หรือไม่ต้องอวดฉลาดมากนัก หลังๆ เลยใช้เทคนิคกราฟิตี้บ่อยหน่อย
กลับมาที่รหัสมอร์สอีกนิด คุณมีกระบวนการทำงานตรงนี้อย่างไร?
มันมาจากความคิดว่าที่ผมโดนฟ้องร้องจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เพราะผมใช้ภาษาไทยสื่อสารข้อเท็จจริง แล้วข้อความเหล่านี้มันก็ถูกแชร์ไปหักหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ผมก็มาย้อนคิดว่าผมคงใช้ภาษาไทยสื่อสารไม่ได้ล่ะ เลยคิดถึงรหัสมอร์สซึ่งมันเคยเป็นวิธีการสื่อสารของสายลับ คอนเซปต์หลักของงานชุดนี้คือคำว่า FREE ก็เลยโทรไปหาเพื่อนให้ช่วยนิยามคำนี้จากมุมมองของแต่ละคน แล้วผมก็เอามาแปลงเป็นรหัสมอร์สพ่นลงบนรูป งาน 12 ชิ้นนี้มาจากการคุยกับเพื่อน 15 คน และมีอีกสองชิ้นแปลงมาจากม็อตโต้ของบุคคลที่ผมสนใจ หนึ่งในนั้นเป็นของมหาตมา คานธี ที่บอกว่า “ไม่มีใครสามารถทำร้ายฉันได้ถ้าฉันไม่อนุญาต” คือผมมองว่าประโยคนี้คือที่มาของความกล้าหาญ ถ้าคุณไม่กล้าหาญ คุณอย่าหวังจะได้รับเสรีภาพที่แท้จริง ผมถูกคุกคามเสรีภาพ เพราะเขาอยากให้ผมหุบปาก แต่มันก็ทำได้แค่นั้น มันทำร้ายผมไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าผมไม่อนุญาต
ส่วนงานอีกชิ้นผมหยิบคำพูดของอาจารย์ทัศนัย (ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปินและอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มาทำ โดยถอดมาจากคลิปวิดีโอที่เป็นไวรัลที่เขาออกมาช่วยปกป้องนักศึกษาจากการโดนคณบดียึดงาน คือในคลิปนั้นก็มีหลายประโยคที่ดีมากเลยนะ อย่างศิลปะไม่ได้เป็นทาสใคร แต่ที่ประทับใจผมที่สุดคือ “ผมเกิดมา 5,000 กว่าปีแล้ว” คือให้อารมณ์ของความเก๋าและ FREE สุดๆ เลยเลือกหยิบคำนี้มาทำเป็นรหัสมอร์สพ่นลงบนเฟรมใสมีประโยคไหนอีกที่คุณชอบสุดในชุดชิ้นงานนี้?
มันมีอีกชิ้นหนึ่งก็คือรูปมือมิคกี้เม้าส์ชูนิ้วกลาง ผมถอดรหัสมอร์สมาจากคำว่า Fuck Now ซึ่งก็เลือกเพราะสันดานภรรยาผม ภรรยาผมมีนิสัยที่จะไม่อดทนเมื่อเห็นความไม่ยุติธรรม อย่างถ้าต่อคิวอยู่แล้วมีคนมาแซงคิว ภรรยาผมด่าเลยนะ คือคนส่วนใหญ่อาจจะหยวนๆ ปล่อยๆ หรือกระทั่งผมเอง ผมก็อาจคิดนานหน่อยว่าจะพูดบอกคนมาแซงอย่างไร แต่ภรรยาผมนี่ตอบโต้ทันที คือ Fuck Now เลย ก็เลยหยิบคำนี้มา
นอกจากงานมิคกี้เม้าส์ ผมยังเห็นแมว และรูปเด็กกำลังร้องไห้ รวมถึงอีกหลายรูปที่รู้สึกถึงความเป็น Pop Art อยู่เหมือนกัน ตรงนี้มีนัยอะไรเป็นพิเศษไหมครับ?
ผมไม่ได้คิดในเชิงป๊อบอาร์ทอะไรนะ แต่น่าจะมาจากการที่ผมมีลูกสาว หลังๆ มาผมเลยใช้สัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นเด็กในงานบ่อยๆ ผมชอบเซ้นส์ของความตรงไปตรงมาของเด็ก หิวก็ร้อง โกรธก็แสดงออกมา ขณะเดียวกันความ FREE ในประเทศนี้มันสะท้อนถึงเยาวชนของเราด้วย รัฐพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ พยายามปิดปากพวกเขา ผู้ใหญ่อย่างเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีที่ทาง ได้มีเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับจริงๆ
แล้ว FREE ของคุณคืออะไรคือ การต้องถูกฟ้องร้องจนต้องขึ้นศาลในเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีผลต่อทัศนคติในเรื่องนี้ของเราไหม?
ใช่เลย เอาจริงๆ ในฐานะที่ผมเป็นศิลปินและมีโอกาสเดินทางไปแสดงงานในประเทศต่างๆ ผมไม่เคยมานั่งคิดถึงเรื่องนี้เลยนะ คือเราอยากทำอะไรก็ได้ โดยไม่รู้มาก่อนว่าเสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นแค่ไหน แต่พอต้องถูกกักขังแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แค่นี้แม่งก็ทรมานมากแล้ว แล้วก็เลยคิดถึงเสรีภาพในแง่มุมอื่นๆ ที่คนในประเทศนี้พยายามต่อสู้อยู่ มีคนตั้งมากมายที่พยายามพูดความจริง หรือชวนตั้งคำถามถึงอนาคตของประเทศ แต่ต้องถูกดำเนินคดี ถูกรัฐปิดปาก และถูกจำกัดให้พูดเฉพาะในสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยินเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว เราอยู่กันแบบนี้ไม่ได้
คิดว่าอะไรที่เป็นปัจจัยทำให้ประเทศนี้ไม่ฟรีเท่าที่คนส่วนใหญ่คิด
มันมีหลายปัจจัยมากนะ ทั้งในแง่มุมของศิลปะก็เป็นเรื่องรสนิยมที่ถูกจำกัดอยู่แค่ไม่กี่แบบ แต่เรื่องสังคมการเมือง ผมคิดว่ามันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่คนในสังคมนี้ ผลประโยชน์อันมหาศาลที่พวกเขาขูดรีดจากเรา นั่นทำให้พวกเขาต้องสร้างความจริงขึ้นมาชุดเดียว ความจริงที่ไม่อนุญาตให้ใครคิดหรือเห็นแตกต่างจากพวกเขา สิ่งนี้ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน จนคนที่สมาทานความคิดนี้ก็ดันเชื่อว่าโลกเรามันมีอยู่แค่นี้ เหมือนประเทศไทยคือโลกทั้งใบ สร้างกะลามาครอบตัวเองและเชื่อว่าสิ่งที่ถือครองอยู่นี้คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
สิ่งนี้มันเชื่อมโยงกันหมดเลยนะ โดยเฉพาะการศึกษา ขณะที่เรารับรู้กันอย่างเป็นสากลว่าการศึกษาทำให้คนฉลาดเพื่อจะไปพัฒนาประเทศ แต่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้กลับทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้เด็กฉลาด เพื่อที่ จะได้ไม่มีใครมาตั้งคำถามพวกเขาได้ สังคมไม่สามารถเจริญได้ถ้าประชาชนไม่ตั้งคำถาม และคำถามไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่มีเสรีภาพพอที่จะพูดมัน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นแล้วว่าผู้มีอำนาจทำไปทุกอย่างเพียงเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองเท่านั้น
นิทรรศการ FREE จัดแสดงที่ VS Gallery (ภายในโครงการ N22 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22) ถึงวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยรายได้จากการจำหน่ายผลงานครึ่งหนึ่ง ศิลปินจะมอบให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นทุนสำหรับสู้คดีแก่ประชาชนที่ถูกรัฐฟ้องร้องด้วยความอยุติธรรมต่อไป https://www.facebook.com/VSGalleryBangkok
ติดตามผลงานของ Mr.Zen ได้ที่ https://www.wua-artgallery.com/
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก Preecha Pattara และบางส่วนจากศิลปิน
คุยกับแชมป์ Xyclopz จากนักพากย์ E-Sport สู่ Story Teller คุณภาพที่คุณควรรู้จัก
พูดคุยกับเด๋อถึงผลงานใหม่ของเขาชิ้นนี้ ผลงานที่เขาบอกว่าเป็นอีกวิธีสะท้อนปัญหาฝุ่นควัน มากไปกว่าการก่นด่า หรือสาปแช่งนายทุนผู้ปลูกข้าวโพด