BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
รู้จัก มณเฑียร บุญมา ศิลปินร่วมสมัยคนแรกของไทยผ่านนิทรรศการ Departed < > Revisited ที่วัดอุโมงค์
  • Art & Design
  • Mar 02,2021

รู้จัก มณเฑียร บุญมา ศิลปินร่วมสมัยคนแรกของไทยผ่านนิทรรศการ Departed < > Revisited ที่วัดอุโมงค์

หลายคนรู้จัก นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เจ้าของรางวัลศิลปาธรปี 2553 จากผลงานจิตรกรรมดูสนุกที่นำแรงบันดาลใจมาจากโปสเตอร์โรงหนังและการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งได้รับการจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชั้นนำทั่วโลก กระนั้นก็ดี หากไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในบ้านเรามาโดยตรง ต่อให้เป็นศิลปิน ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักหนึ่งในอาจารย์ผู้ล่วงลับคนสำคัญของนาวิน - มณเฑียร บุญมา

แล้ว มณเฑียร บุญมา คือใคร?

นอกจากเขาเคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - เป็นอาจารย์ของนาวินและศิลปินร่วมสมัยในบ้านเราอีกหลายคน มณเฑียรยังถือเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ปักหมุดหมายของ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ในช่วงทศวรรษ 1990s ของไทย ผลงานศิลปะที่เปิดพรมแดนไปไกลกว่าภาพจิตรกรรมบุคคล ภูมิทัศน์ สวรรค์ นรก และงานโมเดิรน์นิสม์อื่นๆ ด้วยงานอินสตอเลชั่นที่ประกอบขึ้นจากวัสดุ ‘บ้านๆ’ ที่หลายคนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเอามาทำงานศิลปะได้ และใช่, ผลงานหลายชิ้นของมณเฑียร ก็เกิดคำถามถึงความหมายของศิลปะในหมู่ผู้ชมยุคนั้น เท่าๆ กับที่มันเป็นเสมือนใบเบิกทางให้ผลงานของศิลปินร่วมสมัยในบ้านเราเริ่มเป็นที่รู้จักบนเวทีโลก

มณเฑียร บุญมา เกิด พ.ศ. 2496 นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ‘The Story from Farm’ ที่หอศิลปแห่งชาติ เขาได้นำวัสดุท้องถิ่นมารื้อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยเสียใหม่ด้วยโลกทัศน์ร่วมสมัยและอย่างที่ไม่เคยมีศิลปินไทยคนใดทำได้มาก่อน นั่นทำให้แวดวงศิลปะร่วมสมัยทั่วโลกไม่อาจมองข้ามเขาได้ แต่น่าเศร้าที่เขามีเวลาในการทำงานศิลปะและชื่นชมความสำเร็จสั้นเกินไป เมื่อมะเร็งมาพรากชีวิตเขาไปราวสิบปีหลังจากนั้น ในตอนที่เขามีอายุเพียง 47 ปีเท่านั้น

เดือนมีนาคม 2562 นาวินในวัยปลาย 40 จัดนิทรรศการ ‘กลับไป จากมา’ Revisited < > Departed ที่ Bangkok City City Gallery กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการรำลึกการจากไปครบ 20 ปี ของ มณเฑียร บุญมา และล่าสุดปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 นาวินในวัย 50 ปี กลับมาเชียงใหม่ และจัดนิทรรศการ ‘จากไป กลับมา’ Departed < > Revisited ที่วัดอุโมงค์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบวันเกิดครบ 68 ปีของผู้เป็นอาจารย์

แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีนิทรรศการจัดแสดงในวัดอุโมงค์ เพราะย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ทั้งมณเฑียร นาวิน และศิลปินคนอื่นๆ อีกมาก เคยร่วมกันจัดเทศกาลศิลปะซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งแรกของประเทศในชื่อ ‘เทศกาลเชียงใหม่จัดวางสังคม’ แต่การย้อนกลับมาจัดนิทรรศการ Departed < > Revisited ของนาวินจึงไม่ใช่เพียงการรำลึกถึง มณเฑียร บุญมา เท่านั้น แต่ยังเป็นการชวนให้เราย้อนกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับพื้นที่สาธารณะที่กำลังเลือนลางลงไปกับยุคสมัยทุกทีๆ อย่างน่าสนใจ

 

The Reproduction of Memory

ฟื้นคืนชีวิตให้ผลงานของศิลปินผู้ล่วงลับ

เพื่อเป็นการสะท้อนภาพของ มณเฑียร บุญมา ในช่วงเวลาที่เขาขึ้นมาสอนหนังสือที่เชียงใหม่ รวมถึงการทำให้คนทั่วไปที่อาจไม่รู้จักศิลปินท่านนี้มาก่อนได้เข้าใจ นาวินจึงประกอบสร้างนิทรรศการ Departed < > Revisited จาก 3 องค์ประกอบ ด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง. ส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะ สอง. การฉายวิดีโอสารคดี และ สาม. นิทรรศการเชิงข้อมูลที่บอกเล่าชีวิตและผลงานของมณเฑียร

เริ่มต้นจากงานศิลปะที่เป็นไฮไลท์ของงาน เมื่อเข้ามาในอาณาเขตของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) บริเวณทางเดินก่อนขึ้นสู่ลานอุโมงค์ โครงสร้างเหล็กสีดำขนาดยักษ์มีลักษณะคล้ายอุโมงค์เหล็ก ที่ซึ่งพื้นผิวถูกฉลุลายเป็นช่องแสงรูปเครื่องหมายคำถาม ซึ่งเป็นลายเส้นของมณเฑียรจำนวนนับไม่ถ้วน คือสิ่งแรกที่เราจะพบเมื่อเดินเข้าสู่นิทรรศการ

Black Question (After Montien Boonma) คือชื่อของมัน ผลงานอินสตอเลชั่นที่นาวินนำหนึ่งในงานมาสเตอร์พีชของมณเฑียรอย่าง In Between (1994) มาขยายขนาดจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เปิดให้ผู้ชมเดินเข้าไปภายในได้ ที่ซึ่งเมื่อเราเข้าไป จะพบเงารูปเครื่องหมายคำถามนับไม่ถ้วนอันเกิดจากแสงแดดที่ลอดผ่านช่องว่างบนผนังเข้ามา กลิ่นสมุนไพร (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มณเฑียรมักใช้) ลอยอวลอยู่ในอุโมงค์ เช่นเดียวกับเสียงเปียโนเพลง Funeral March ของ Chopin หนึ่งในเพลงโปรดของมณเฑียร

ผนังด้านในสุดของห้องคือภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่โทนขาว-ดำ ที่นาวินและทีมงานวาดรูปเหมือนบุคคลที่แวดล้อมชีวิตของมณเฑียรเอาไว้ด้วยกันนับร้อยชีวิต ทั้งนี้ตรงกลางภาพคือเฟรมผ้าใบว่างเปล่า ซึ่งนำมาจากบ้านของมณเฑียร นี่คือเฟรมที่มณเฑียรได้เตรียมไว้ให้ลูกชายของเขาวาดภาพในช่วงเวลาไม่นานก่อนที่มณเฑียรจะพบมะเร็งและเสียชีวิต อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดลูกชายของมณเฑียรก็ไม่ได้วาดรูปลงไปบนผ้าใบ โดยตัดสินใจเก็บไว้เป็นที่ระลึกเช่นนั้นที่บ้าน เมื่อนาวินมาเห็น จึงได้ขอยืมมาจัดแสดงพร้อมกับงานจิตรกรรมของเขา

 

บนลานด้านหน้าโรงภาพปริศนาธรรม ยังมีผลงานของมณเฑียรอีกชิ้น ที่นาวินร่วมกับเพื่อนศิลปินผู้เป็นลูกศิษย์และลูกมือของมณเฑียรอีกคนอย่าง ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ทำขึ้นใหม่อีกครั้ง นั่นคือ Vipassana-Vessel (1993) งานอินสตอเลชั่นที่ประกอบขึ้นจากถ้วยชามดินเผากว่า 600 ซึ่งถูกบรรจงเรียงเป็นวงกลมสูง 24 ชั้น โดยมีตะเกียบหล่อเป็นรูปกระดูกนิ้วมือปักอยู่ตามต้นไม้รอบๆ นาวินตั้งใจเลือกผลงานชิ้นนี้มาจัดแสดง เนื่องจากนี่คือผลงานที่มณเฑียรเคยทำขึ้น และจัดแสดงอยู่บนลานหน้าโรงภาพปริศนาธรรมของวัดอุโมงค์ ณ ที่เดิมแห่งนี้เมื่อ 27 ปีก่อน

นอกจากนี้ยังมี Room (1994) คืออีกหนึ่งงานของมณเฑียร ที่นาวินนำมาประกอบสร้างใหม่เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการนี้ งานอิสตอเลชั่นโครงสร้างไม้สนปรุโปร่ง เป็นห้องขนาดคนเข้าไปยืนได้ทีละคน รวม 7 ห้อง ตั้งอยู่บนลานด้านข้างเจดีย์ของวัด ผลงานที่มณเฑียรได้แรงบันดาลใจจาก ‘กลด’ สำหรับทำสมาธิของพระธุดงค์   มณเฑียรเคยจัดแสดงงานชิ้นนี้ในปี 2537 ในงาน Adelaide Festival ประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะเป็นช่วงที่ภรรยาของเขากำลังป่วยหนัก เขาจึงมอบหมายให้นาวินเป็นคนเดินทางไปติดตั้งผลงานแทน นั่นคือเหตุผลสำคัญที่นาวินเลือกงานชิ้นนี้มาประกอบสร้างใหม่เพื่อย้อนรำลึกถึงความสัมพันธ์ของเขากับผู้เป็นอาจารย์

Montien Atelier Archive

หอจดหมายเหตุศิลปิน

นอกเหนือจากการจัดแสดงศิลปะของมณเฑียร (ร่วมกับผลงานบางส่วนของนาวิน) อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานคือ หอจดหมายเหตุ มณเฑียร บุญมา (Montien Atelier Archive) ที่จัดแสดงอยู่ภายในโรงภาพปริศนาธรรม โดยนิทรรศการส่วนนี้นาวินได้ทีมงานจาก Montien Atelier ที่กรุงเทพฯ มาคัดสรรเอกสาร ภาพถ่าย ภาพร่างความคิด คลิปวิดีโอ และตัวอย่างผลงานบางส่วนของมณเฑียรในช่วงเวลาที่เขาขึ้นมาทำงานเป็นอาจารย์ที่เชียงใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ชมเห็นภาพกระบวนการทำงาน รวมถึงไทม์ไลน์ชีวิตและผลงานของศิลปินผู้นี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน กระทั่งเสียชีวิต 

ส่วนสุดท้ายคือห้องจัดแสดงวิดีโอสารคดีที่นาวินเดินทางไปกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในอีสานเพื่อพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมณเฑียร บุญมา ทั้งเพื่อนสมัยเด็กในจังหวัดอุดรธานี เพื่อนร่วมรุ่นที่ช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงเพื่อนศิลปิน และลูกศิษย์ นาวินถ่ายทอดสารคดีนี้ด้วยรูปแบบของการเล่าข้อความในจดหมายที่เขาเขียนถึงอาจารย์ผู้ล่วงลับด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจ ซึ่งตัววิดีโอยังบอกเล่ามุมมองของผู้คนหลากหลายที่มีต่อ มณเฑียร บุญมา ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และถึงแม้จะต่างวาระ แต่แทบทุกคนในวิดีโอต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความมีหัวจิตหัวใจที่กว้างขวาง และความมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินของมณเฑียร

ควบคู่ไปกับการจัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นใหม่ของนาวิน พร้อมไปกับการนำผลงานชิ้นเก่าของอาจารย์ผู้ล่วงลับมาจัดแสดง กล่าวได้ว่านิทรรศการ ‘จากไป กลับมา’ เป็นเหมือนการบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รู้จักปูชนียบุคคลของแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทย ผู้บุกเบิกพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นหลังๆ รวมถึงนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ให้มีพื้นที่บนเวทีโลกในปัจจุบัน

นิทรรศการ ‘จากไป กลับมา’ เปิดให้เข้าชมทุกวันยกเว้นวันจันทร์และอังคาร (9.00-17.00 น.) ที่วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ถึงวันที่ 18 เมษายนนี้ ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/NavinProduction

 

Writer

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียน ที่ใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่

RELATED CONTENTS

Stability in the Bubble  ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

Stability in the Bubble ‘เสถียร(ละ)ภาพ’ ใน The Bubble Arts-Group Space

The Bubble Arts-Group Space แกลเลอรี่ศิลปะสุดลึกลับ จากการลงขันร่วมกันของศิลปินร่วมสมัย

  • Art & Design
  • Jul 23,2020

TRANS-ition from On the Road & Edward Hopper ซีรีส์ภาพถ่ายโร้ดทริปที่เปลี่ยนผ่านจากนิยายดัง

TRANS-ition from On the Road & Edward Hopper ซีรีส์ภาพถ่ายโร้ดทริปที่เปลี่ยนผ่านจากนิยายดัง

The Road Not Taken คือซีรีส์ภาพถ่ายของ Arnaud Montagard ช่างภาพฝรั่งเศสผู้เดินทางโร้ดทริปจากนิวยอร์กข้ามอเมริกาสู่ชายฝั่งตะ วันออก ตามรอยเส้นทางในหนังสือ On the Road (1957) ของ Jack Kerouac นวนิยายดังปลายยุค 50s ก่อนที่วัฒนธรรมฮิปปี้จะถือกำเนิดขึ้นไม่นาน

  • Art & Design
  • Sep 09,2020

โอ๊ก-เอิ๊ก-อ๊าก ส่องท่อไก่โอ๊กกัญชาคัสตอมจากสตาร์ทอัพสุดกวน

โอ๊ก-เอิ๊ก-อ๊าก ส่องท่อไก่โอ๊กกัญชาคัสตอมจากสตาร์ทอัพสุดกวน

ไก่โอ๊กยางสีเหลืองกลายเป็นหนึ่งในวัตถุที่แทนความป๊อปในยุค 2010s ได้ดีมากๆ ในฝั่งไทยเราจะเห็นเป็นพร๊อพในรายการยูทูปชื่อดังที่ตอนนี้เหลือแต่ชื่อไปแล้ว และมันก็ยังมีอิทธิพลในการสร้างความสนุกเอิ๊กอ๊ากให้กับคนหลายเพศหลายวัย ในหลายโอกาสด้วย

  • Art & Design
  • Jan 13,2021

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK