เคยรู้สึกไหมว่าแทนที่เราจะได้พักผ่อนกับครอบครัว เปิดหูเปิดตากับสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือชาร์จพลังให้เต็มที่ในช่วงวันหยุดยาว กลับกลายเป็นว่าเราหมดพลังไปกับการฟันฝ่าขบวนรถอันยาวเหยียดเพื่อออกนอกเมือง นั่งทนหิวเพื่อรออาหารจานเด็ดจากร้านดังซึ่งพ่อครัวทำให้ไม่ทัน หรือการต้องแย่งชิงกับฝูงชนอีกคับคั่งในการหามุมถ่ายรูปกับแลนด์มาร์คของแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ติดรูปคนอื่น…
และในเช้าวันจันทร์ เมื่อกลับเข้าออฟฟิศอีกครั้ง เราก็พบว่าความเหนื่อยจากการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ อาจไม่เท่ากับการใช้พลังงานในช่วงวันหยุด (ที่คาดว่าจะ) สุขสันต์ตลอดหลายวันที่ผ่านมา
คุณอาจเถียง วันหยุดยาวก็อย่างนี้ ใครๆ ก็อยากเที่ยวกันทั้งนั้น เลือกได้ที่ไหนกัน แต่นั่นล่ะ เราเลือกไม่ได้จริงหรือ?
แม้ในแต่ละปีจะมีจำนวนวันไม่เท่ากัน หากโดยเฉลี่ยประเทศไทยมีวันหยุดราชการประมาณ 16-20 วันต่อปี (รวมวันหยุดชดเชย) ซึ่งแบ่งเป็นวันหยุดที่เป็นวันสำคัญทางศาสนา, วันหยุดที่ตรงกับวันสำคัญในราชวงศ์จักรี และอื่นๆ ข้อมูลจาก Gulf Business ระบุว่าประเทศเรามีวันหยุดมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอินเดีย กัมพูชา และจีน ขณะที่ข้อมูลจากกฎหมายแรงงาน มาตรา 30 ระบุว่า “ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์ขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี” ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทก็จะเพิ่มวันหยุดประจำปีให้ตามอายุงานของลูกจ้าง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท (โดยมากจะอยู่ที่ 8-10 วันต่อปี) เมื่อรวมกับวันหยุดราชการ พนักงานราชการหรือลูกจ้างบริษัทเอกชนหนึ่งคน จะมีวันที่ไม่ต้องทำงานรวมๆ แล้วก็เกือบ 30 วันต่อปี ซึ่งนี่ยังไม่รวมวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดปกติ
หยุดกันมากขนาดนี้ทำไมยังเหนื่อย? คำตอบในเรื่องนี้อาจเป็นว่า เพราะเราไม่มีอิสระพอในการออกแบบวันหยุดได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่เราทำได้อย่างดี คือการขอใช้วันลาติดต่อกับวันหยุดราชการเพื่อให้ได้วันหยุดเพิ่มแบบคอมโบ แต่แน่นอน, วิธีการแบบนี้มันซ้ำกับแผนการของคนอื่นๆ อยู่แล้ว และนั่นทำให้การท่องเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งหนึ่ง คุณก็ต้องพบเพื่อนร่วมทางที่มีเป้าหมายเดียวกันอีกนับร้อยนับพันราย ที่ต่างใช้ทรัพยากรร่วมกับคุณ
ในทางกลับกัน หากคุณต้องการวันหยุดคุณภาพที่จะได้กินร้านอาหารอร่อยๆ โดยไม่รอนาน หรือไม่ต้องเบียดเสียดกับฝูงชนที่ทยอยอพยพกันออกจากกรุงเทพฯ คือการที่คุณขอใช้สิทธิ์วันลาพักผ่อนติดต่อกันยาวๆ ในช่วงที่ผู้คนส่วนใหญ่เขาไม่หยุดเสียเลย แต่นั่นก็ต้องแลกมากกับการที่คุณอาจเสียสิทธิ์ใช้วันลาในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
ว่าแต่คุณเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่าวันหยุดราชการที่รัฐมอบมาให้เรา เราต้องการมันจริงๆ หรือเปล่า?
ไม่ใช่ว่ามีวันหยุดแล้วไม่ดี ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าวันหยุดคือสมดุลสำคัญสำหรับชีวิตและการทำงาน แต่การต้องถูกบังคับให้หยุดในช่วงเวลาที่แท้จริงแล้วเราอาจไม่ได้ต้องการจะหยุดจริงๆ ก็คล้ายเป็นการบังคับให้เราต้องใช้มันเพื่อการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวในแบบที่เราไม่อาจออกแบบได้อย่างเต็มที่ นั่นทำให้แทนที่วันหยุดยาวจะเป็นปัจจัยในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี มันกลับกลายเป็นมูลเหตุแห่งมลภาวะทางอารมณ์ไปเสียอย่างนั้น
เรามาดูกันดีกว่าว่าประชากรในประเทศอื่นเขาหยุดอย่างไร เริ่มจากเดนมาร์ค หนึ่งในดินแดนที่ถูกจัดอันดับจากสำนักจัดอันดับและสื่อหลายสำนักว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก มี public holidays เพียง 11 วันต่อปี ส่วนฝรั่งเศสมี 11 วันเท่ากัน, อังกฤษ 8 วัน และ ออสเตรเลีย 7 วัน เป็นอาทิ
หากดูเผินๆ จำนวนวันหยุดราชการน้อยกว่าไทยเกินครึ่ง แต่เมื่อมาดูสวัสดิการวันหยุดที่คนทำงานในประเทศนั้นๆ สามารถขอลาหยุดได้ตามกฎหมายโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ ชาวฝรั่งเศสสามารถหยุดได้ถึง 30 วัน, อังกฤษ 28 วัน, เดนมาร์คและประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอื่นๆ 25 วัน และออสเตรเลียมี 20 วัน
นั่นหมายความว่า ชาวฝรั่งเศสสามารถมีวันที่ไม่ต้องทำงานใดๆ โดยไม่นับรวมวันเสาร์-อาทิตย์มากถึง 41 วันต่อปี ซึ่งบางบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานสามารถลาต่อเนื่องแบบหายหน้าหายตาไปได้ถึงหนึ่งเดือนเต็ม ไปเที่ยว ไปพักผ่อน ไปที่ชอบที่ชอบได้หมด เช่นเดียวกับอังกฤษ, เดนมาร์ค หรือออสเตรเลีย เช่นนั้นแล้ว เราอาจเห็นผู้คนใช้เวลาในวันหยุดราชการไปกับการพักผ่อนอยู่บ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางสั้นๆ ขณะเดียวกันพวกเขาก็สามารถเลือกวันลาเพื่อการท่องเที่ยวไกลๆ ได้ตามต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่าการพักผ่อนที่เราสามารถออกแบบได้จริงๆ และอย่างไม่อาจปฏิเสธ นี่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ประเทศเหล่านั้นมีประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักยภาพในการทำงาน
กระนั้นก็ดี การมีหรือไม่มีอิสระในการเลือกวันหยุด หาได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เรา (คนไทย) รู้สึกเหนื่อยกับการใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาว หนึ่งในปัจจัยสำคัญอีกเรื่องคือระบบคมนาคม ซึ่งก็อย่างที่เห็นในทุกเย็นวันทำงานวันสุดท้ายก่อนช่วงวันหยุดยาว ขบวนรถยนต์ส่วนตัวที่ต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อออกนอกกรุงเทพฯ ภาพของสถานีขนส่งผู้โดยสารและสนามบินที่คลาคล่ำด้วยผู้คนประหนึ่งมีม็อบ รวมถึงสถานีรถไฟที่แทนที่จะเป็นตัวเลือกในการขนส่งผู้คนได้มากที่สุดและปลอดภัยที่สุด กลับกลายเป็นตัวเลือกหลังสุดของผู้คนในการเดินทาง… ใช่ครับ ตอนนี้เห็นความสำคัญของรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศนี้ควรจะมีได้แล้ว (แต่ถูกอำนาจอันอุ้ยอ้ายและคร่ำครึปัดตกไปเสียก่อน) กันหรือยัง?
ทั้งนี้นี่ยังไม่นับรวมโครงสร้างการขนส่งสาธารณะที่ก็ยังคงรวมศูนย์แต่ในกรุงเทพมหานคร เราแทบไม่มีรถไฟหรือรถบัสดีๆ วิ่งระหว่างหัวเมืองใหญ่ๆ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปลี่ยนเส้นทางเลย และใช่ครับ นี่เป็นการเดินทางที่เหนื่อยโดยใช่เหตุ
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจมีข้อถกเถียงต่อว่า ก็ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราเปลี่ยนอะไรได้ ถ้างั้นเรามาลองพิจารณากันไหม ว่าวันหยุดราชการที่เราได้รับจริงๆ เราใช้มันไปกับอะไรตามความหมายของวันหยุดนั้นบ้าง และเรามีความซาบซึ้งต่อวันสำคัญนั้นๆ มากพอที่เราจะยอมหยุดหน้าที่การงานไปหนึ่งวันเต็มๆ เพื่อมันเลยหรือเปล่า (แทนที่เราจะยังคงทำงานได้ต่อไปตามปกติ หากสามารถเลือกหรือสะสมวันหยุดต่างๆ เพื่อนำไปใช้กับช่วงเวลาที่เราต้องการให้มันเป็นของเราจริงๆ)
ในห้วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ต่างร่วมใจออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เท่าทันโลกและมีเหตุมีผล หรือเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น แน่นอน ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มสวัสดิการวันหยุดแทนที่การบังคับให้หยุดตามวันสำคัญของทางราชการ อาจดูเบาหวิวกว่าประเด็นอื่นๆ ที่ แต่ก็อย่าลืมว่าการกำหนดวันหยุดได้เองนี่แหละคือหนึ่งในรากฐานสำคัญของคุณภาพชีวิตประชากรอย่างพวกเรา และถึงที่สุด ต่อให้คุณจะเถียงว่า มีคนอีกตั้งหลายคนเลือกจะอยู่บ้านเฉยๆ ในวันหยุดยาว โดยไม่เดือดร้อนอะไร แต่นั่นล่ะ การเลือกที่จะ ‘อยู่เฉยๆ’ ตามวันและเวลาที่เราเลือกได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าไม่ใช่หรือ
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าข้อเสนอนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงต่อไปในอนาคตหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งเดียวที่มั่นใจ คือมันจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมี mindset ว่าการเพิ่มวันหยุดยาวแบบคอมโบในช่วงสิ้นปี คือการส่งเสริมให้ประชาชนออกมาเดินทางท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่เรายังไม่เห็นแผนการที่เป็นรูปธรรมที่รัฐบาลจะนำมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังอยู่ในปัจจุบัน…
ใช่ และเราอยู่กันแบบนี้แหละครับ
จากยานอวกาศแห่งจิตวิญญาณของอาม่า สู่เรือโนอาห์แห่งความทรงจำของต่อลาภ ลาภเจริญสุข
เมื่อวลีที่ว่าด้วยพรสวรรค์ไม่สำคัญเท่าพรแสวง สร้างความเจ็บปวดให้กับคนไร้พรสวรรค์ ซึ่งคนทะเยอทะยานหลายๆ คน จำเป็นต้องเรียนรู้
กำกับโดย สาลินี อัมมวรรธน์และ เบญจมินทร์ ตาดี