“ดูเหมือนว่ามนุษยชาติไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย พวกเขาห่อหุ้มตัวเองด้วยคำว่า ‘เสรีภาพ’ และ ‘ประชาธิปไตย’ และหาธงชาติมาห้อยประดับโดยไม่เคยตระหนักถึงที่มา หรือความหมายที่แท้จริงของคำเหล่านั้น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในทุกยุค คนตายถูกลืม และอดีตเสื่อมสลาย เราต่างลืมไปแล้วว่าเดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร” Thom Yorke แห่ง Radiohead สะท้อนความคิดจากการได้ดูงานของ Peter Kennard
ตรงไปตรงมา กล้าหาญ และเสียดเย้ยได้อย่างกวนตีน คือคำอธิบายโดยคร่าวถึงผลงานส่วนใหญ่ของ ปีเตอร์ เคนนาร์ด ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ ซึ่งเริ่มสร้างผลงานในช่วงปลายยุค 60s ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เคนนาร์ดเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะโฟโต้มอนทาจ (photomontage) หรือภาพถ่ายตัดแปะที่สะท้อนจุดยืนทางการเมือง เขาต่อต้านสงคราม ปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์ รังเกลียดแนวคิดการแบ่งแยกสีผิว ไม่สนับสนุนทุนผูกขาด รวมไปถึงตั้งคำถามกับบทบาทของราชวงศ์อังกฤษ
ช่วงยุค 70s-90s ถือเป็นยุคที่เคนนาร์ดสร้างสรรค์ผลงานที่สั่นสะเทือนสังคมได้อย่างร้อนแรงและแพร่หลาย เพราะในขณะที่งานส่วนหนึ่งของเขาถูกจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หากเคนนาร์ดยังได้ผลิตผลงานส่วนใหญ่ในรูปแบบของโปสเตอร์ ใบปลิว หรืองานสองมิติอื่นๆ ที่เผยแพร่ในที่สาธารณะ ที่ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินแนวการเมืองคนอื่นๆ มากมายในการทำงานนอกพื้นที่ศิลปะ ใช่ และหนึ่งในนั้นยังรวมถึง Banksy ที่เคยกล่าวกับเคนนาร์ดในเชิงยกย่องและยอมรับ
แม้งานโฟโต้มอนทาจการเมืองจะไม่ใช่ของใหม่หรือเรื่องน่าตื่นตาในทศวรรษ 2020s แล้ว กระนั้นล่าสุด Richard Saltoun Gallery แกลเลอรี่ชื่อดังในลอนดอน ก็ประกาศจะจัดนิทรรศการเดี่ยวที่รวบรวมผลงานตั้งแต่ยุคแรกของเคนนาร์ดมาให้ชมกัน โดยนิทรรศการนี้จะเป็น 1 ใน 8 นิทรรศการที่แกลเลอรี่คัดสรรในโครงการนิทรรศการ On Hannah Arendt ตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยการคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานที่เชื่อมร้อยหรือได้แรงบันดาลใจมาจากปรัชญาของ Hannah Arendt นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ชื่อก้องแห่งยุค post-war
แต่นั่นล่ะ ความที่โควิด-19 ยังไม่หายไปไหน การจะชวนคนอ่านตีตั๋วเครื่องบินไปดูงานจริงที่ลอนดอน คงเป็นไปไม่ได้ BOTS จึงชวนไปสำรวจผลงานเจ๋งๆ ในแต่ละยุคสมัยของเคนนาร์ดที่คาดว่าน่าจะถูกคัดเลือกมาแสดงในนิทรรศการนี้ ไปชมกัน!
STOP (1968-1976)
STOP คือซีรีส์งานจิตรกรรมชุดแรกๆ ที่เคนนาร์ดทำตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่ Slade School of Fine Art ในลอนดอน นั่นคือช่วงที่สองขั้วมหาอำนาจของโลกกำลังทำสงครามเย็น ข่าวการสร้างอาวุธนิวเคลียร์แพร่หลาย และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเริ่มเบ่งบาน เคนนาร์ดสร้างสรรค์งานจิตรกรรมกึ่งนามธรรมชุดนี้เพื่อประกาศจุดยืนให้ผู้มีอำนาจหยุดใช้ความรุนแรง ผ่านการวาดรูปกลุ่มนักศึกษาหรือประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามในที่ต่างๆ ทั้งนี้เคนนาร์ดสร้างสรรค์จิตรกรรมชุดนี้และทยอยเผยแพร่สู่สาธารณะต่อเนื่องมาเกือบสิบปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาเริ่มทดลองเทคนิคใหม่ๆ อย่างการทำโฟโต้มอนทาจที่กลายมาเป็น signature ของเขาในเวลาต่อมา
Nuclear Disarmament (1980s)
ผลงานโฟโต้มอนทาจชุด Nuclear Disarmament เพื่อต่อต้านอาวุธในยุค 80s เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เคนนาร์ดถูกจดจำในฐานะศิลปินการเมือง เขาสร้างงานซีรีส์นี้ไว้หลายชิ้น ซึ่งมีทั้งในรูปแบบชิ้นงานสำหรับสะสม โปสเตอร์ และใบปลิวรณรงค์ ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝ่ายผู้นำการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบาย นายทุน เชื้อพระวงศ์ในอังกฤษ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่เลือกจะเพิกเฉยต่อภัยคุกคามนี้ ทั้งนี้หนึ่งในผลงานที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในชุดนี้คือ Broken Missile (1980) ภาพจรวดมิสไซล์ที่หักเนื่องจากมันไปพุ่งชนสัญลักษณ์สันติภาพ ซึ่งเป็นภาพที่เคยถูกนักศึกษานำมาประกอบป้ายรณรงค์ต่อต้านสงครามบ่อยที่สุดในยุค 80s
Haywain with Cruise Missiles (1980)
งานปริ้นท์ที่ดูเผินๆ เหมือนภาพจิตรกรรมทัศนียภาพชนบทแบบยุคโรแมนติก แต่ดูดีๆ จะเห็นว่ามุมขวาของภาพคือรถม้าที่บรรทุกจรวดมิสไซล์ เคนนาร์ดทำงานชุดนี้ในรูปแบบโปสการ์ด และเขาก็แอบเอาไปสอดไว้กับโปสการ์ดภาพจิตรกรรมยุคโรแมนติกจริงๆ ที่ขายเป็นของที่ระลึกใน National Gallery ในลอนดอนเสียด้วย ทั้งนี้ภายหลังในปี 2003 Banksy ก็หยิบไอเดียคล้ายกันนี้ไปใช้กับผลงานเปิดตัวชิ้นแรกของเขา “Crimewatch UK has ruined the countryside for all of us” ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมทัศนียภาพของท้องทุ่งคล้ายๆ กัน แต่ Banksy เลือดวาดรูปริบบิ้นกั้นเขตอาชญากรรมทับลงบนทัศนียภาพ พร้อมข้อความว่า Do Not Cross ก่อนจะลักลอบนำภาพดังกล่าวไปแขวนไว้ใน Tate Britain
Earth (1970s-1980s)
Earth คือซีรีส์โฟโต้มอนทาจที่เคนนาร์ดใช้ลูกโลกเป็น subject หลัก ซึ่งสอดรับกับช่วงเวลาปลายยุค 60s ที่มนุษย์สามารถส่งยานออกไปนอกโลกเพื่อถ่ายรูปลูกโลกกลับมาให้เราได้เห็นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เคนนาร์ดนำรูปลูกโลกมาตัดแปะกับองค์ประกอบเหวอๆ ที่ชวนให้เห็นถึงพิษภัยจากสงครามอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกคนบนโลก
Photo Op. (2007)
Photo Op. คือภาพตัดแปะที่กวนตีนและแหลมคมที่สุดในยุคมิลเลเนียมของเคนนาร์ด ซึ่งทำร่วมกับ Cat Phillips ในนาม Kennardphillips ในภาพคือโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (1997-2007) กำลังยืนยิ้มถ่ายเซลฟี่อยู่หน้าเปลวเพลิงซึ่งเกิดจากการระเบิดรุนแรง ภาพดังกล่าวสะท้อนช่วงเวลาที่อังกฤษร่วมกับสหรัฐอเมริกาบุกยึดอิรัก เพื่อที่ภายหลังจะมีข้อมูลหลุดมาว่าเหตุผลหลักที่ทั้งสองชาติยักษ์ใหญ่นี้ร่วมสงคราม คือผลประโยชน์จากแหล่งน้ำมันของอิรัก โดยภาพถ่ายดังกล่าวถูกถกเถียงกันอย่างมาก ด้วยเชื่อว่านี่เป็นภาพถ่ายจริงๆ ของโทนี่ แบลร์!
Blue Murder
ต่อเนื่องจากโทนี่ แบลร์ Blue Murder คืออีกหนึ่งผลงานในนาม Kennardphiliips ภาพพอร์เทรทของ เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีสายอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ (2010-2016) ที่เคนนาร์ดนำมาจากหนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียลไทม์ และเข้าสู่กระบวนการตัดต่อเอาใบหน้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของคาเมรอนออก (มีทั้งรีทัชลบทิ้งไปอย่างเนียนๆ รวมถึงฉีกทึ้งให้ขาด) และแทนด้วยรายละเอียดที่สะท้อนห้วงเวลาที่อังกฤษเต็มไปด้วยความล้าหลัง ความขัดแย้งทางการเมือง และการที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน
“แม้จะทำงานกึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่ผมคิดอยู่เสมอว่าการแสดงงานของผมที่แกลเลอรี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเอาเข้าจริงเป็นเรื่องยากที่แกลเลอรี่ศิลปะจะยอมแสดงผลงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะในประเทศนี้ การที่แกลเลอรี่เชิงพาณิชย์เลือกนำเสนองานประเภทนี้ ก็สะท้อนให้เห็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง” เคนนาร์ด กล่าว
ปัจจุบันเคนนาร์ดในวัย 71 ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง (เขามีแผนจะแสดงงานที่ผลิตขึ้นในช่วงล็อคดาวน์โควิดนี้ในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย) ทั้งยังคงลงเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง และมีส่วนเคลื่อนไหวสนับสนุนฝ่ายเสรีนิยมอยู่เสมอ เข้าไปดูผลงานทั้งหมดของเขาได้ที่ https://www.peterkennard.com/ และดูนิทรรศการล่าสุดที่กำลังจะจัดของเขาได้ที่ https://www.richardsaltoun.com/
บทความอ้างอิง
https://www.theartnewspaper.com/news/britain-s-most-important-political-artist-peter-kennard-joins-london-gallery
https://www.iwm.org.uk/history/6-powerful-protest-posters-by-peter-kennard
https://www.theguardian.com/artanddesign/2013/oct/15/tony-blair-selfie-photo-op-imperial-war-museum
Happy New Love Year นิทรรศการศิลปะติดตั้งของ โฆษิต จันทรทิพย์ ที่ทรานส์ฟอร์มแกลเลอรี่ MAI SPACE ให้กลายเป็นวิหารไซคีเดลิกสุดเฟี้ยว ชักชวนให้ผู้ชมละจากอคติและความขัดแย้ง มีความรัก และ (อย่าง) มีสติ
เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงอยู่ใน Gallery Seescape เชียงใหม่ เซ็ทภาพถ่ายพลทหารไร้ใบหน้า ที่ศิลปินมองว่ามันคือภาพแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้
ไก่โอ๊กยางสีเหลืองกลายเป็นหนึ่งในวัตถุที่แทนความป๊อปในยุค 2010s ได้ดีมากๆ ในฝั่งไทยเราจะเห็นเป็นพร๊อพในรายการยูทูปชื่อดังที่ตอนนี้เหลือแต่ชื่อไปแล้ว และมันก็ยังมีอิทธิพลในการสร้างความสนุกเอิ๊กอ๊ากให้กับคนหลายเพศหลายวัย ในหลายโอกาสด้วย