สุรเจต ทองเจือ จำได้ไม่แน่ชัดว่าตอนบ่ายของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขณะที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำลังอ่านแถลงการณ์รัฐประหาร ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทย ในมือของเขามีบิลค่าน้ำหรือค่าไฟ
แต่ถึงแม้สุรเจตจะจำรายละเอียดไม่ได้ หากเขาก็ตระหนักดีว่าหลังจากนี้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาและประชาชนคนอื่นๆ จ่ายให้รัฐ ไม่ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ และภาษีต่างๆ มันจะตกอยู่กับคณะรัฐประหารที่กำลังออกทีวีไปหมาดๆ - “แม่งโกรธชิบหาย แต่ทำไงได้” เขากล่าว
ไม่ถึงขนาด เฮนี่ เดวิด ธอโร ที่เลือกปฏิเสธรัฐด้วยการไม่จ่ายภาษีและหนีไปใช้ชีวิตอย่างสันโดษ สุรเจต ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ กิน ดื่ม ทำงานศิลปะ แสดงผลงาน ฯลฯ กระนั้นกิจวัตรที่เพิ่มขึ้นมานอกจากการก่นด่าเผด็จการ คือการสะสมใบเสร็จค่าใช้จ่าย ใบกำกับภาษี และเอกสารทุกอย่างที่เป็นหลักฐานว่าเขาและครอบครัวจ่ายเงินให้รัฐที่ถูกยึดอำนาจโดยทหาร
ประหนึ่งบัญชีแค้น สุรเจตบอกว่าเขาคิดจะนำบิลเหล่านี้ไปทำงานศิลปะ – เอกสารที่เป็นหลักฐานของการจำยอมจ่ายเงินให้กลุ่มบุคคลที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย แม้ตอนแรกเขาจะไม่รู้ว่าจะทำกับมันอย่างไร หากอย่างน้อยที่สุดเขาคิดว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำ อาจมีประโยชน์กว่าการที่คณะเผด็จการเอาภาษีประชาชนไปถลุงเป็นแน่ ซึ่งตลอด 7 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การรัฐประหาร เราก็พบว่าข้อสังเกตนี้เป็นเรื่องจริง
Priceless มีที่มาเช่นนั้น นิทรรศการชุดล่าสุดของสุรเจต ที่ประกอบด้วยงานจิตรกรรมนามธรรม 11 ชิ้น และประติมากรรม 6 ชิ้น ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นจากใบเสร็จที่ศิลปินสะสมมากว่า 7 ปี ทั้งการแปะทับลงบนผืนผ้าใบ ไปจนถึงการนำใบเสร็จเข้าเครื่องย่อยกระดาษ แปรสภาพมาเป็นวัตถุดิบหลักในงานประติมากรรม นิทรรศการชุดนี้กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Manycuts Art Space/ Ari ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ และต่อจากนี้คือความคิดเบื้องหลังว่าด้วยผลงานที่ศิลปินต้องการจะสะท้อน ‘มูลค่า’ และโอกาสที่ประชาชนต้องสูญเสียไปอย่างไม่อาจประเมินได้ อันเป็นผลจากการบริหารงานของกลุ่มทหารที่ไร้ความสามารถ และใช่, มันพังพินาศมาจนถึงทุกวันนี้
คุณเล่าว่าในตอนที่เริ่มเก็บใบเสร็จเพื่อทำงานศิลปะ คุณยังไม่รู้ว่าจะเอาพวกมันไปทำอะไร แล้วไอเดียที่เกิดเป็นงานชุดนี้มาตอนไหน
ก่อนหน้านี้ผมเก็บใบเสร็จไว้เฉยๆ มา 3 ปี บิลทุกอย่างที่ครอบครัวผมใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะบิลเหล่านั้นมันจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่การใช้จ่ายของเราต้องย้อนคืนไปบำรุงรัฐบาล ตอนแรกก็ยังคิดไม่ออกครับว่าจะเอาไปทำอะไร จนช่วงที่รัฐบาลทหารประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้ง เลยเริ่มคิดถึงงานแอ็บสแตรค์เพ้นท์ติ้ง ซึ่งมันเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในบ้านเมืองโดยตรง เพราะตั้งแต่มีรัฐประหาร เราก็พบว่ารัฐบาลทหารจัดการอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างพัง ทั้งการบริหารที่ไม่โปร่งใส การจัดสรรงบประมาณอย่างไม่ชอบธรรมและไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปจนถึงการทำประชามติ มันเหมือนภาพจิตรกรรมนามธรรมที่ดูมั่วไปหมด คือมองในมุมของคนทำงานศิลปะ ต่อให้เราวาดภาพนามธรรม ศิลปินทุกคนจะรู้ว่าเราจะจบงานแต่ละชิ้นยังไง แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่มันเหนือไปกว่านั้นมาก มันไร้เหตุผล และไร้จุดสิ้นสุด เรียกว่าเป็นภาพที่สิ้นหวังก็ได้ครับ
ตั้งใจให้งานสะท้อนภาพความสิ้นหวังของยุคสมัย?
สะท้อนความซ้ำซากที่ไม่สิ้นสุดมากกว่าครับ ประเทศเรามีประชาธิปไตย 89 ปี เรามีรัฐประหาร 13 ครั้ง ตั้งแต่ผมเกิดมา ก็มีรัฐประหารไปแล้ว 3 ครั้ง ในหลายๆ ครั้งดูเหมือนประเทศกำลังจะได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็น ก็กลับมีทหารมายึดอำนาจ และพาเราก้าวถอยหลังกลับไปอีก งานนามธรรมเหล่านี้มันสะท้อนความซ้ำซากและน่าเบื่อของยุคสมัย ซึ่งผมก็มองไปที่รูปทรงอันซ้ำซากของแผ่นกระดาษ แค่กระดาษเส้นๆ เราจัดการกับมันยังไงได้บ้าง แล้วผมก็ติดทับชั้นลงไปบนเฟรมผ้าใบ พยายามทำให้มันเห็นโครงสร้าง ทำให้เห็นความจำเจของมัน
แต่ขณะเดียวกันแพทเทิร์นที่ดูเหมือนจะซ้ำๆ ในงานของคุณก็มีความยุ่งเหยิงปนอยู่มากที่เดียวนะ
ถ้าอธิบายในเชิงเทคนิค ก็ต้องบอกว่านี่เป็นงานมือ เราทำให้มันสมมาตรหรือเสถียรไม่ได้ ส่วนในเชิงความหมาย มันก็สะท้อนโครงสร้างของภาครัฐมันมีอำนาจและความบกพร่องบางอย่างที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในโครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้ หรือแม้แต่อำนาจเหนือรัฐเองที่มันครอบงำเราอยู่ มันทับซ้อนกันอย่างยุ่งเหยิง เละเทะ กระทั่งกลุ่มคนที่ยึดอำนาจมาก็ยังไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เราทุกคนเห็นกันตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา จนถึงทุกวันนี้
แล้วงานประติมากรรมของคุณที่เป็นกระถางต้นไม้ล่ะ เข้าใจว่าคุณใช้เยื่อกระดาษที่ได้จากการย่อยใบเสร็จมาทำเป็นเปเปอร์มาเช่ แต่ผิวนอกของมันเรียบเนียนขัดแย้งกับงานเพ้นท์ติ้งพอสมควร
ประติมากรรมกระถางผมตั้งใจจะสื่อสารผ่านความหมายของฟอร์มครับ เวลาเรานึกถึงกระถาง เราก็คิดถึงต้นไม้ กระถางเป็นที่บรรจุดินซึ่งเป็นบ้านของต้นไม้ ให้ต้นไม้ได้เติบโตงอกเงย ออกดอก ออกผล แต่กระถางที่สร้างขึ้นจากใบเสร็จของผมในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น มันไม่มีอะไรเติบโตขึ้นมาเลย
เหมือนประชาชนจ่ายภาษีเพื่อซื้อกระถางเปล่า
อาจไม่มีกระทั่งต้นไม้ให้โตด้วยซ้ำครับ
แล้วแจกันจีนล่ะ
แจกันจีนผมใช้กระดาษจากหนังสือเรียนสังคมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทยมาย่อยรวมกับใบเสร็จด้วย หลักๆ คือแจกันจีนมันเป็นเครื่องบรรณาการในสมัยก่อนน่ะครับ ถ้าอาณาจักรของคุณอยากผูกมิตรหรือสวามิภักดิ์กับอาณาจักรอื่น เราก็จำต้องแต่งเครื่องบรรณาการไปถวายกษัตริย์หรือผู้ปกครองอาณาจักรนั้น เครื่องบรรณาการมันเชื่อมโยงโดยตรงต่อกษัตริย์ ในขณะเดียวกันจนถึงปัจจุบันแจกันหรือเครื่องเคลือบราคาแพงเหล่านี้ก็ยังเป็นของขวัญที่นักธุรกิจหรือบรรดาเจ้าสัวมอบให้กันอยู่ มันเป็นสัญลักษณ์สะท้อนเครือข่ายที่อุปถัมภ์กลุ่มทหารที่ยึดอำนาจในบ้านเราอีกที
พอเข้าใจเรื่องหนังสือสังคม ซึ่งมันเชื่อมโยงไปกับงาน What Are We Learning ของคุณ แต่หนังสือพิมพ์จีนนี่เกี่ยวยังไงครับ (หมายเหตุ: What Are We Learning คือประติมากรรมที่สุรเจตนำดินสอหลายสิบแท่งมาเรียงต่อกันเป็นดินสอแท่งเดียวที่มีความยาวกว่า 20 เมตร เพื่อสะท้อนถึงปัญหาภาพรวมของการศึกษาไทยที่ยาวยืด และแสนเปราะบาง)
ฟังก์ชั่นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในบ้านเรามันคือการบอกข่าวสารในเครือข่ายของเจ้าสัวมาเป็นสิบๆ ปีแล้วครับ ลูกใครแต่งงานกับใคร ใครเสียชีวิต หรือใครเปิดร้าน ลงทุนที่ไหน หนังสือพิมพ์ภาษาจีนสะท้อนภูมิทัศน์ของเครือข่ายอำนาจทางธุรกิจในบ้านเรา ขณะเดียวกันพอพ้นจากการให้ข้อมูลข่าวสารรายวัน กระดาษของหนังสือพิมพ์ก็มักถูกใช้สำหรับห่อผลไม้ที่ปลูกในบ้านเรา ส่งออกกลับไปยังประเทศจีนอีกทางหนึ่ง
คณะรัฐประหารและรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เกิดจากการสืบทอดอำนาจของกลุ่มบุคคลเดียวกัน ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่มีหน้าที่จัดสรรภาษีของประชาชน แต่เครือข่ายเจ้าสัวที่ได้รับประโยชน์โดยตรงในการลงทุนร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำภาษีประชาชนไปหล่อเลี้ยง เหล่านี้คือต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งมันเชื่อมโยงกันหมด
ในอีกนัย ชื่อ Priceless ในงานของคุณ จึงไม่ใช่แค่ต้นทุนที่ประชาชนต้องสูญเสียไปจากการถูกรัฐประหาร แต่ยังหมายถึงการที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีที่มากจนประเมินค่าไม่ได้
ซึ่งผมคิดว่ามันไม่จำเป็น และโคตรไม่คุ้มค่าเลยครับ
สุรเจต ทองเจือ จบการศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันพำนักอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นศิลปินอิสระ และสมาชิกกลุ่ม Bubble Arts Group Space (อ่านเพิ่มเติม https://botsworld.co/content/the-bubble) นิทรรศการ Priceless จัดแสดงที่ Manycuts Artspace Art ซอยอารีย์ 3 กรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 5 ธ.ค. 2564 https://www.facebook.com/manycuts.ari
พูดคุยกับภัณฑารักษ์สาวแห่งใหม่เอี่ยม ลากยาวตั้งแต่เรื่องเบื้องหลัง The Hunters ไปจนถึงศิลปะกับการเมือง และกลไกพิศวงที่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจศิลปะในประเทศ
คุยกับ SOPER - นพัฒน์ เมธาฤกษ์ นักออกแบบที่ทำงานศิลปะควบคู่กันไป
คุยกับแพร-พัชราภา กับชุดจิตรกรรมเล่าบทกวีของคนตาย