BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สนทนา: คุยกับ SALIN จากมือกลองวง ‘อรอรีย์’ สู่ Cosmic Island อัลบั้มเดี่ยวสุดแซ่บจากแคนาดา
  • สนทนา
  • Jul 03,2021

สนทนา: คุยกับ SALIN จากมือกลองวง ‘อรอรีย์’ สู่ Cosmic Island อัลบั้มเดี่ยวสุดแซ่บจากแคนาดา

Salin คือชื่อในการทำงานของ สลิล ชีวพันธุศรี มือกลองชาวไทยผู้เคยเล่นแบ็คอัพให้กับอรอรีย์ตั้งแต่อายุเพียง 16 ก่อนจะย้ายรังไปเรียนต่อที่แคนาดา และเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตีกลองให้วงดนตรีอินดี้ที่นั่น ล่าสุดเธอออกอัลบั้มเดี่ยว Cosmic Island ซึ่งกำลังจัดจำหน่ายทาง Bandcamp or Hiddden Track Records Thailand ดนตรีฟังก์ของ Salin รุ่มรวยไปด้วยท่วงทำนอง ฮิปฮอป, แจ๊ส, โซล ไปจนถึงเวิลด์มิวสิคซึ่งฟังสนุกชะมัด นั่นทำให้ BOTS อยากทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น จึงชวน Frank Dolp มือกลองแห่ง Solitude Is Bliss วิดีโอคอลไปชวนคุยจากเชียงใหม่ และนั่นคือที่มาของบทสนทนาของมือกลองสองคนชิ้นนี้

----------

สลิล ชีวพันธุศรี อยู่ในเมืองที่ห่างจากผมราว 13 ชั่วโมง เรานัดพูดคุยกันทางวิดีโอคอลตอนเช้าตรู่ที่เมืองไทย ซึ่งตรงกับเวลาที่สลิลกลับจากการวิ่งออกกำลังกายยามเย็นที่มอนทรีอัล แคนาดา แม้จะเคยสัมภาษณ์ศิลปินมามาก หากผมก็ยังคงประหม่าทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนศิลปินที่เล่นเครื่องดนตรีเดียวกันเสมอ

ใช่ครับ สลิลเป็นมือกลอง เธอเป็นศิลปินไทยที่ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่แคนาดา และทำงานเพลงที่นั่นมาหลายปีแล้ว ล่าสุดสลิลออกอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกในชื่อ Cosmic Island วางจำหน่ายทั้งในรูปแบบซีดีและแผ่นเสียงผ่าน Bandcamp or Hiddden Track Records Thailand เราจะคุยกันถึงกระบวนการทำงานของอัลบั้มนี้ แต่ก่อนอื่น เช่นศิลปินทุกคนที่ทำเพลงและออกอัลบั้ม ผมชวนเธอคุยถึงจุดเริ่มต้น และเธอเดินมาถึงวันนี้ได้ยังไง

-1-

แบ็คอัพให้อรอรีย์

BOTS salin

“เราอยู่ในครอบครัวที่ได้รับการสนับสนุนให้เล่นดนตรีตั้งแต่เล็ก เริ่มเล่นเปียโนตอน 6 ขวบ จากนั้นก็ได้เรียนทั้งกีตาร์ เบส กลอง แล้วเราพบว่ากลองเล่นง่ายสุดถ้าเทียบกับกีตาร์หรือเปียโน อีกอย่างคือเราได้เจอครูสอนกลองที่เป็นคนตลกและคุยสนุก ก็เลยหันมาเล่นกลองจริงจังตอนอายุ 15 ซึ่งตรงกับราวๆปี 2009 ตอนนั้นเว็บไซต์ YouTube ยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไหร่ เราก็อัดคลิปอัพลงยูทูปเล่นๆ ปรากฏว่าคลิปมีคนเข้ามาดูเกินความคาดหมาย หนึ่งในนั้นคือพี่อรอรีย์ (อรอรีย์ จุฬารัตน์ – ศิลปินอัลเทอร์เนทีฟ – กรันจ์ร็อค ที่แจ้งเกิดจากเบเกอรี่มิวสิคและเป็นหนึ่งในไอดอลของศิลปินอินดี้รุ่นหลังอีกมากมาย - ผู้สัมภาษณ์) ซึ่งก็ชวนให้เราไปตีกลองให้ตั้งแต่ตอนนั้น”

“เรียกว่าเป็นการก้าวกระโดดก็ได้ เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก แล้วจู่ๆ ศิลปินที่เป็นมืออาชีพมากๆ กลับชวนเราไปเล่นด้วยเลย เราได้เรียนรู้อะไรจากพี่เขาเยอะ ได้ทั้งเล่นในห้องอัดและเล่นคอนเสิร์ต แล้วก็ได้รู้จักพี่เท็ดดี้ วงฟลัวร์ (ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน – มือกีตาร์วง Flure) ซึ่งก็สอนเทคนิคเราหลายเรื่อง ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพเลย แต่พอได้ทำงานเป็นมือกลองตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ย้อนกลับมามองอีกที ทุกวันนี้ก็ไม่เคยทำงานอย่างอื่นเลยนอกจากมือกลอง (หัวเราะ)”

-2-

นักดนตรีรับจ้างในแคนาดา

BOTS salin

สลับกับการเรียนหนังสือ สลิลเริ่มการเป็นมือกลองอาชีพกับวงอรอรีย์ตั้งแต่อายุ 16 กระทั่งอายุ 19 เธอก็ย้ายรังไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่เมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา แม้จะไม่ได้เรียนด้านดนตรีโดยตรง กระนั้นด้วยความรักในการตีกลองก็ชักพาให้เธอได้เข้าไปมีเอี่ยวในแวดวงดนตรีที่มอนทรีอัลอยู่เสมอ กระทั่งได้ร่วมวงอินดี้ของที่นั่น

“เราเรียนด้านสังคมศาสตร์ที่ Concordia University แล้วก็ทำงานพิเศษในร้านเบเกอรี่ ระหว่างนั้นก็เปิดอินเทอร์เน็ทหาประกาศดูว่ามีที่ไหนรับออดิชั่นมือกลองบ้าง แล้วก็มีโอกาสรับจ้างเล่นดนตรีอยู่เหมือนกัน จนเรียนจบ ที่บ้านก็อยากให้เรากลับไทย แต่เรายังสนุกที่จะอยู่ที่นี่ ก็เลยทำงานร้านเบเกอรี่ต่อ สลับกับรับงานเล่นดนตรีหรือสอนดนตรีบ้าง ช่วงแรกก็อยู่ยากนะ เพราะงานมันมีไม่แน่นอน แต่เราเป็นคนไม่ยอมแพ้ กลายเป็นว่าที่เรียนปริญญามานี่ไม่ได้ใช้เลย เราสนุกกับการเล่นดนตรี เลยมุ่งมั่นว่าจะเป็นมือกลองอาชีพให้ได้” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

วงดนตรีวงแรกที่แคนาดาของสลิลชื่อ Ogenix เป็นแนว Metal Drum’n Bass ก่อนจะย้ายไปร่วมวง Kara Dura จากสเปนซึ่งทำให้เธอมีโอกาสบินไปใช้ชีวิตอยู่ที่อีบิซ่า (Ibiza) ถึงสองเดือนเต็ม เช่นเดียวกับการร่วมงานกับอรอรีย์ ณ จุดเริ่มต้น คอนเนคชั่นส่วนใหญ่ของสลิลมาจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันการไปร่วม Jam Session กับวงอื่นๆ ก็ทำให้เธอมีเครือข่ายศิลปินในต่างประเทศหลากหลายขึ้น กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสนใจในแนวเพลงหลากหลาย และไม่จำกัดขอบเขตดนตรีของตัวเอง (ล่าสุดเธอกำลังมีโปรเจ็กต์นำเพอร์คัสชั่นของไทยมาผสมกับดนตรีบาโรกเพื่อประกอบวิดีโอรำไทยด้วย!)

-3-

SALIN และ Cosmic Island

BOTS salin

สลิลบอกผมว่าซีนดนตรีที่มอนทรีอัล ไม่ว่าจะในบาร์หรือตามอีเวนท์ต่างๆ วงดนตรีส่วนใหญ่มักจะเล่นเพลงออริจินัลของวงมากกว่าการคัฟเวอร์เพลงของศิลปินคนอื่น นั่นมีส่วนทำให้พร้อมไปกับการตีกลองเพื่อฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ เธอมักจะฝึกเรียบเรียงและสร้างสรรค์บทเพลงของตัวเองไปด้วย และหลังจากที่ตีกลองแบ็คอัพให้ศิลปินคนอื่นติดต่อกันหลายปี (เธอเคยเล่นให้มากที่สุด 15 วงต่อปี!!! ซึ่งทุกวงก็เล่นเพลงออริจินัลของวงนั้นหมด) เธอก็เริ่มคิดถึงการทำเพลงของตัวเองบ้าง และนั่นคือที่มาของ Cosmic Island อัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกที่เธอทำเองแทบทุกกระบวนการตั้งแต่การเขียนเนื้อ ทำเดโม เซ็ทอัพไมค์ ไปจนถึงโปรดิวซ์ ก่อนจะชวนมิตรสหายนักร้องมาลงเสียงให้ (บางแทร็คเธอก็ได้เพื่อนนักร้องเป็นคนเขียนเนื้อเพลงให้) เว้นก็แต่งาน mixing and mastering ที่เธอใช้ mixing engineer มืออาชีพเป็นคนควบคุมการผลิต

“โปรเจ็กต์นี้เริ่มหลังสลิลเรียนจบได้ไม่นาน เรารู้สึกอยากจะพูดอะไรมากกว่าการสร้างจังหวะ ตอนนั้นสลิลก็เริ่มเขียนเนื้อเพลงตอนกลับมาอยู่ไทยประมาณปี 2017 อยู่เพื่อเขียนเนื้ออย่างเดียวนาน 3 เดือนเต็มแบบไม่เจอใคร พอเขียนเสร็จ เริ่มได้ยินทำนองดนตรี เลยรีบอัดทุกอย่างเป็นเดโมไว้ แต่ปัญหาของการเป็นมือกลองแบบเราคือมีคนจ้างไปเล่นโปรเจ็กต์คนอื่นตลอด จริงๆ เราก็ชอบนะที่ได้เรียนรู้ดนตรีหลายๆ แนว แต่มันทำให้ไม่มีเวลาทำเพลงตัวเองเท่าไหร่ กว่าจะมีเวลาทำได้ก็ล่วงมา 2021 นี้” สลิล กล่าว

สลิลได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงมาจากประเด็นทางสังคมการเมืองไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ก่อนเรียบเรียงด้วยบีทอันสนุกสนาน ผสมผสานระหว่างดนตรีฟังก์ โซล ฮิปฮอป ไปจนถึงเวิลด์มิวสิค โดยในอัลบั้มแรกมีด้วยกันทั้งหมด 8 เพลง เธอเผยแพร่และจัดจำหน่ายผ่านทาง Bandcamp or Hidden Track Records Thailand ซึ่งเธอมองว่าช่องทางนี้เหมาะกับสไตล์การทำงานของเธอที่สุด ณ เวลานี้

“เราโตมากับโลกโซเชียลมีเดีย จากที่อัดคลิปลงยูทูปแล้วก็ได้เล่นกับพี่อรอรีย์ จนมาอยู่แคนาดาก็ได้มีเครือข่ายนักดนตรีช่องทางนี้ พอมาทำอัลบั้มเองเราเลยเลือกที่จะไม่เสนอผลงานไปที่ค่ายเพลงไหน และใช้แพลตฟอร์ม Kickstarter.com ในการเข้าหาคนฟัง แม้จะมีข้อเสียที่เราต้องออกเงินทำเพลงและหาวิธีการโปรโมทอัลบั้มเองทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกอิสระที่ได้ทำทุกอย่างอย่างที่ตั้งใจจริงๆ ถามว่าอยากมีค่ายเพลงไหม ก็อยากมีค่ะ แต่ก็ขอเก็บประสบการณ์การทำเพลงเองไปก่อน และก็อยากเลือกที่เหมาะกับเราที่สุดด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ”

-4-

Drums Talk

BOTS salin

เราคุยกันต่อถึงเทคนิคการอัดกลอง ซึ่งสลิลเผยเคล็ดลับให้ฟังว่าเธอชอบเสียงในโทน Warm Sound และ Punchy ที่ให้ความรู้สึกคึกคักและชวนให้คนฟังขยับร่างกายตาม เธอใช้กลองยี่ห้อ Rogers Vintage 1969 (แต่บางเพลงก็ใช้ Ludwig Drums ปี 68-69) ที่เธอเลือกใช้กลองวินเทจเพราะอยากได้ซาวด์แบบย้อนยุคตามเครื่องดนตรีจริงๆ ส่วนเครื่องทองเหลือง (Cymbals) จะผสมรวมๆ และเน้นที่ฟังอันไหนแล้วเพราะก็จะหยิบมาใช้เลย ซึ่งมีทั้ง Istanbul 30th Anniversary สำหรับใช้เป็น Hi-Hat ส่วน Crash จะเป็น Paiste Signature Traditionals Jazz รุ่นเดียวกับที่ Steve Jordan ใช้

อีกข้อสังเกตคือแม้ศาสตร์ด้าน Computer Music จะช่วยอำนวยความสะดวกนักดนตรีค่อนข้างมาก แต่สลิลก็ยังลงทุนอัดเครื่องดนตรีจริงทุกชิ้นเพื่อให้ได้ดนตรีที่เป็น Organic Sound เธอให้เหตุผลว่า “เราชอบอารมณ์ของเพลงยุค 70s ที่มันมีฟีลลิ่งแบบที่เป็นมนุษย์มากๆ ไม่ Robotic แบบเพลงส่วนใหญ่ในยุคนี้ แต่วิธีการอัดเราก็ไม่ได้อัดแบบอนาล็อกทั้งหมด หรือซีเรียสว่าต้องใช้เทปอัดเพลงแบบสมัยก่อนนะคะ เรายังอัดด้วยโปรแกรมทำเพลง เพียงแต่พยายามจะอัดให้เป็นงานฝีมือแบบออร์แกนิก ให้ได้ Live Feeling โดยการอัด นักดนตรีทั้งหมดจะเล่นเพลงในห้องเดียวกัน แบบ (Multitrack) ให้ Groove ด้วยกัน Improvise ด้วยกันแทนที่จะเป็น แบบ Overdub ให้ได้มากที่สุดค่ะ”

ปัจจุบันนอกจากทำเพลงของตัวเอง สลิลก็รับตีกลองให้วงอื่นๆ บ้าง หากที่เล่นให้บ่อยที่สุดคือ Dominique Fils-Aimé  ศิลปินแจ๊ส ชาวแคนาดา ที่เพิ่งได้รับรางวัล Juno Awards and l’ADISQ best jazz album of the year 2020 สลิลมีแผนจะกลับไทยไปโปรโมทอัลบั้ม แต่ก็ดันเจอสถานการณ์ล็อคดาวน์จากโควิด-19 เสียก่อน อย่างไรก็ดี สามารถจับจองอัลบั้มทั้งในรูปแบบซีดีและไวนิล (แถมไฟล์ดิจิทัลด้วย) ซึ่งมีให้ pre-release ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะจัดจำหน่ายจริงพร้อมกันกับลง Spotify ในวันที่ 20 สิงหาคม 2021

https://salinofficial.bandcamp.com/album/cosmic-islandhttps://www.kickstarter.com/projects/salin/pre-order-cosmic-island

หาซื้อผลงานของเธอได้ที่ hidden tracks https://www.facebook.com/HiddenTracksRecords 
และติดตามศิลปินได้ที่ https://www.instagram.com/salin.stic/

 

Writer

Frank Dolp

Frank Dolp


มือกลองวง Solitude Is Bliss พักวงเพราะโควิด เลยหันมาทำสัมภาษณ์และเขียนบทความ

Illustrator

DEV482

DEV482

Art Director of Everlong Creative House

RELATED CONTENTS

สนทนา: วิมานทลาย

สนทนา: วิมานทลาย

เบื้องหลังงานอนิเมชั่นพอดแคสต์ของเหล่าสหายวิมานทลาย

  • สนทนา
  • Nov 23,2021

สนทนา: บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔

สนทนา: บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔

งานชุดใหม่ของ ประกิต กอบกิจวัฒนา

  • สนทนา
  • Jan 26,2022

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

สนทนา: อุโมงค์ของคนไกลบ้าน Paphonsak La-or’s Prospects

นิทรรศการใหม่ของ มิตร ใจอินทร์ กับการอุทิศให้ผู้ลี้ภัยและเพื่อนศิลปิน

  • สนทนา
  • Feb 05,2022

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK