ความคิดสร้างสรรค์ก็เรื่องหนึ่ง หากคุณสมบัติที่น่ายกย่องของศิลปินระดับโลกหลายคนคือความดื้อด้านที่จะสร้างสรรค์แม้ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบาก หรือสังขารที่ไม่เอื้ออำนวย
Władysław Szpilman นักเปียโนชาวโปแลนด์ บุคคลต้นเรื่อง The Pianist ของ Roman Polanski ดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอดจากการรุกรานของนาซีเพื่อจะได้กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้ง, Frida Kahlo ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตบนเตียงคนไข้ หากก็สร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมแรงบันดาลใจมากมายหลายชิ้น หรือ สอ เสถบุตร ใช้เวลาระหว่างติดคุกเขียนพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และลักลอบส่งออกมาตีพิมพ์ข้างนอก จนกลายเป็นหนึ่งในพจนานุกรมที่ดีที่สุดในไทย ฯลฯ
ในห้วงเวลาที่อะไรๆ ก็ดูสิ้นหวัง ทั้งโรคภัย เศรษฐกิจ การเมือง และผู้บริหารประเทศ BOTS รวบรวม 7 ผลงานที่สะท้อนประโยคอมตะของเฮมมิ่งเวย์ “มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อพ่ายแพ้ เราอาจถูกทำลาย แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้…” เราหวังให้ทุกคนผ่านวิกฤตที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่ง และทำงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องเหมือนศิลปินต่อจากนี้ นั่นล่ะ, แม้ผู้นำประเทศเราห่วยแตกและไม่สร้างสรรค์ เราทุกคนไม่ควรหมดไฟ
The Old Man and The Sea (1952)
Novel by Ernest Hemingway
มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแพ้
The Old Man and The Sea หรือ ชายเฒ่ากลางทะเลลึก คือนวนิยายขนาดสั้นของ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ หลายคนใช้เวลาไม่นานเพื่ออ่านจบ แต่เรื่องราวในนั้นก็ติดตรึงคนอ่านยาวนานไปทั้งชีวิต เฮมมิ่งเวย์เขียนเรื่องนี้ขณะเขาพำนักที่คิวบาเมื่อปี 1951 เรื่องราวของชายเฒ่าที่ถูกชาวประมงรุ่นน้องสบประมาท เนื่องจากเขาไม่สามารถหาปลาได้เลยมากว่า 84 วัน กระทั่งในเช้าวันหนึ่งเบ็ดของเขาก็ติดปลายักษ์ที่มันสู้เพื่อเอาชีวิตรอดสุดฤทธิ์ ชายเฒ่าใช้เวลาถึงสองวันสองคืนในการสู้กับปลาจนได้ชัยชนะ กระนั้นเมื่อเขามัดมันไว้ที่เรือเพื่อจะกลับเข้าฝั่ง เลือดของปลายักษ์ก็ดึงดูดให้ปลาฉลามมาตอดกินจนเหลือแต่ซาก…
นี่เป็นนวนิยายอารมณ์ขันร้ายที่สะท้อนความไม่ยอมแพ้ของชีวิตมนุษย์ ใช่…หนึ่งในประโยคอมตะที่โลกจดจำเฮมมิ่งเวย์ก็มาจากหนังสือเล่มนี้ “มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อพ่ายแพ้” แม้จะมีชื่อเสียงมากอยู่แล้ว หากหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เฮมมิ่งเวย์ได้รับรางวัลต่างๆ มากเข้าไปอีก รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1954 ทั้งนี้เฮมมิ่งเวย์ยังเป็นต้นแบบของนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขาเคยผ่านสงครามกลางเมืองสเปน, สงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงเคยประสบอุบัตเหตุเครื่องบินตกจนเกือบตาย กระนั้นเขาก็รอดมาได้ แต่น่าเศร้าตรงที่สุดท้าย เฮมมิ่งเวย์ก็ดันมาหักมุมชีวิตในตอนจบด้วยการใช้ปืนลูกซองคู่ดับชีวิตตัวเองในปี 1961 ในวัย 61 ปี
The Diving Bell and the Butterfly (1997)
Memoir by Jean-Dominique Bauby
ร่างกายถูกจองจำด้วยชุดดำน้ำ แต่จิตวิญญาณโบยบินเสรีเช่นผีเสื้อ
ในปี 1995 เดือนธันวาคม ฌอง-โดมินิค โบบี นักเขียนและบรรณาธิการของนิตยสาร Elle วัย 43 ได้ซื้อรถยนต์คันใหม่และออกไปขับรถเล่นกับลูกชาย อยู่ดีๆ โบบี ก็เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก ร่างกายไม่ตอบสนอง สลบลงไปถึง 20 วัน และเมื่อตื่นขึ้นมาที่โรงพยาบาล เขาพบว่าร่างกายเกือบทั้งหมดเป็นอัมพาต เหลือเพียงสมองที่ยังสามารถรับรู้และสั่งการ, เปลือกตาด้านซ้ายที่พอจะกระพริบตา และส่งเสียงอืออาได้ในลำคอ
แทนที่จะนอนเป็นผักเพื่อรอวันตาย โบบีกลับบอกให้ โกล๊ด ม็องดิบิล ผู้ช่วยของเขาอำนวยความสะดวกในการเขียนหนังสือ เขาเริ่มเขียนหนังสืออัตชีวประวัติที่ใช้ชื่อว่า Le Scaphandre et Le Papillo (ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) ด้วยการให้โกล๊ด คอยไล่ชี้ตัวหนังสือฝรั่งเศสที่ใช้กันบ่อยๆ โดยเรียงความถี่จากใช้มากไปหาใช้น้อยทั้งหมด 26 ตัวอักษร เมื่อถึงตัวอักษรที่ต้องการ โบบีก็จะกระพริบตาข้างซ้ายเพื่อเป็นสัญญาณว่าใช้ตัวอักษรตัวนี้ ทั้งคู่ทำอย่างนี้ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย โดยเขาต้องกระพริบตาถึงสองแสนครั้งเพื่อให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ ทั้งนี้โบบีเปรียบร่างกายที่เป็นอัมพาตทุกส่วนของเขาเหมือนถูกจองจำในชุดประดาน้ำ กระนั้นสิ่งที่โลดแล่นได้อย่างเดียวคือจิตวิญญาณและความคิดของเขา ชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายที่ถูกเขียนขึ้นด้วยการกระพริบตาข้างซ้ายมีที่มาเช่นนั้น
‘ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ’ วางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม 1997 และขึ้นอันดับขายดีถล่มทลายตั้งแต่สัปดาห์แรก ก่อนจะถูกแปลในหลายภาษาทั่วโลก สามวันหลังจากหนังสือวางจำหน่าย โบบีก็จากไป
The Other Side of the Wind (1970-2018)
ภาพยนตร์ที่สร้างเกือบครึ่งศตวรรษ
Film by Orson Welles
The Other Side of the Wind เป็นผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของ ออร์สัน เวลส์ ผู้กำกับอเมริกัน ผู้ทำให้ Citizen Kane (1941) กลายเป็นตำนานของโลกภาพยนตร์ หลังจากทำภาพยนตร์มา 6 เรื่อง ในปี 1970 เขาก็เริ่มโปรเจกต์ The Other Side of the Wind ที่ตั้งใจให้เป็นภาพยนตร์ซ้อนภาพยนตร์ด้วยการติดตามชีวิตของผู้กำกับชราคนหนึ่ง กระนั้นก็ดี แม้โปรเจกต์จะต้องเผชิญอุปสรรคนานับประการ อาทิ การหาทุนสร้าง, ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย และอีกสารพัน หากเวลส์ก็คงไม่คาดคิดว่ากว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ออกฉายสู่สาธารณชน ก็เมื่อเวลาผ่านไป 48 ปี… ใช่แล้ว มันเพิ่งถูกออกฉายในปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งนั่นก็เป็นเวลาถึง 33 ปี หลังจากเวลส์เสียชีวิต (เขาเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 1985)
The Other Side of the Wind ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 75 เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 และ Netflix ก็ได้ลิขสิทธิ์ในการจัดฉาย ซึ่งหากใครอยากรู้เบื้องหลังว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงทำลายสถิติโปรดักชั่นที่ยาวนานที่สุดเกือบครึ่งศตวรรษ ก็สามารถไปหาชมได้จากสารคดี They’ll Love Me When I’m Dead ที่พูดถึงเบื้องหลังภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งหาชมได้จาก Netflix เช่นกัน
และหากใครกำลังทำโปรเจกต์อะไรสักอย่างอยู่ แล้วรู้สึกทดท้อกับขั้นตอนหรือระยะเวลาอันยาวนาน ก็แนะนำให้หาภาพยนตร์เรื่องนี้มาชมกัน อย่างน้อยก็อาจพบว่า คุณไม่ได้เดินเพียงลำพัง
You Want It Darker (2016)
เราทำงานเพื่อมีชีวิต
Album by Leonard Cohen
เลียวนาร์ด โคเฮน เริ่มต้นเขียนนิยายและบทกวีในช่วงยุค 50s-60s ที่แคนาดา อย่างไรก็ดีโลกจดจำเขาในฐานะศิลปินเพลงโฟลค์ร็อคที่เจ้าตัวเพิ่งเริ่มต้นในวัย 33 จากอัลบั้ม Songs of Leonard Cohen (1967) เพลงของโคเฮนลุ่มลึก เขามีน้ำเสียงทุ้มต่ำเปี่ยมเสน่ห์ แต่นั่นไม่เท่าเนื้อเพลงที่เขาเขียนซึ่งทำได้อย่างคมคายและงดงามราวบทกวี
โคเฮนออกอัลบั้มมาทั้งหมด 15 อัลบั้มตลอดทศวรรษ 1960s-2010s เขามีเพลงฮิตอย่าง Suzanne, Hallelujah, So Long Marianne และอีกมาก กระทั่งในวัยแปดสิบปี เขายังคงทำเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Popular Problems (2014) และ You Want It Darker หนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของเขาซึ่งออกมาตอนที่เขาอายุ 82 ทั้งนี้ You Want It Darker ออกมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2016 สิบเจ็ดวันหลังจากนั้น เขาก็เสียชีวิตจากโรคลูคีเมีย
โคเฮนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าตัวเองจะจากไปในเวลาดังกล่าว เพราะเขายังมีบทเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่ทำค้างไว้ นั่นคืออัลบั้ม Thanks for Dance ที่ออกมาในปี 2019 ซึ่งหากเขามีชีวิตอยู่ เขาจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำลายสถิติศิลปินที่ยังคงทำงานอยู่แม้ในวัย 85 เรื่องของโคเฮนสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของศิลปินที่การทำงานและใช้ชีวิตคือเรื่องเดียวกัน และเขาทำงานสร้างสรรค์กระทั่งสิ้นชีวิต เช่นเดียวกับศิลปินรุ่นใกล้ๆ กันอย่าง David Bowie ที่ออกอัลบั้มสุดท้ายไม่กี่วัน ก็จากไปในปีเดียวกับที่โคเฮนเสียชีวิต หรือ Bob Dylan ที่ตอนนี้อายุ 79 แล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าเขายังไม่หมดไฟในการทำงาน
Pastoral Symphony (1808)
มาสเตอร์พีชแห่งเสียงที่ถูกสร้างโดยนักประพันธ์ผู้ไม่ได้ยินเสียง
Symphony by Ludwig Van Beethoven
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนมีซิมโฟนีทั้งหมด 9 บท หลายคนจดจำความอหังการของ Symphony No.5 ซึ่งมักนำไปประกอบภาพยนตร์หรือโฆษณามากมาย หรือ Symphony No.9 ที่คล้ายทำให้เขาเป็นเสมือนจักรพรรดิของดนตรีคลาสสิค กระนั้นหนึ่งในซิมโฟนี่ที่ไม่เพียงงดงาม หากเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเขาคือ Symphony No.6 หรือ Pastoral Symphony ซิมโฟนี่ที่เบโธเฟนประพันธ์ขณะเขาพบว่าตัวเองใกล้จะสูญเสียการได้ยินโดยสมบูรณ์
ซิมโฟนีหมายเลข 6 มีลักษณะสำคัญคือการบรรยายความงดงามของชนบทและธรรมชาติดังคำว่า Pastoral ที่แปลว่าทุ่งหญ้า เขาประพันธ์มันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับซิมโฟนี่หมายเลข 5 ในระหว่างที่เขาย้ายไปใช้ชีวิตในเมืองชนบทนอกเวียนนาเพื่อรักษาอาการหูหนวก แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้หูเขาหายดีขึ้นมา เบโธเฟนเคยเขียนจดหมายไปหาเพื่อนสนิทถึงความคิดจะฆ่าตัวตายระหว่างอยู่ที่นั่น เพราะหากเป็นนักประพันธ์ดนตรีแต่ไม่ได้ยินเสียงดนตรีจะมีประโยชน์อะไร กระนั้นเขาก็ไม่ได้ฆ่าตัวตาย และยังคงสร้างสรรค์งานต่อไปจนประพันธ์ซิมโฟนีครบจบที่หมายเลข 9
เล่ากันว่า ขณะเขานำซิมโฟนีหมายเลข 9 ไปให้นักดนตรีเล่นเป็นครั้งแรก เมื่อนักดนตรีเล่นจนจบเพลง เบโธเฟนไม่ได้หันกลับไปหาผู้ชม อาจเพราะหูเขาไม่ได้ยิน หรือขาดไร้ความมั่นใจว่านั่นเป็นเพลงที่ดี กระทั่งเมื่อนักร้องโอเปร่าจับเขาหันไป เขาก็พบว่าผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้เขาด้วยความประทับใจเป็นเวลานาน
__________
Self Portrait with Pastel Stick (1943)
ภาพวาดสุดท้ายของศิลปิน
Painting by Edvard Munch
ทุกคนจดจำเอ็ดเวิร์ด มุงค์ ศิลปินชาวนอร์เวย์ ได้จากผลงานจิตรกรรม The Scream ในปี 1893 ภาพดังกล่าวดูเศร้าและหดหู่อย่างไร ชีวิตของมุงค์ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากภาพนั้นเท่าใดนัก
มุงค์เสียแม่และพี่สาวตั้งแต่เขายังเล็ก ป่วยกระเสาะกระแสะ ถูกพ่อตัดหางปล่อยวัดเมื่อเขาตัดสินใจเรียนศิลปะ และถึงแม้ในโลกศิลปะ เขาจะได้รับการยอมรับอย่างมาก แต่เขาก็ประสบกับภาวะซึมเศร้า และเคยเอาปืนยิงนิ้วมือข้างซ้ายทิ้งไปภายหลังที่เขาผิดหวังจากความรัก เขาติดเหล้าอย่างหนัก และปี 1908 เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าจากอาการวิกลจริต แม้เขาจะได้รับการรักษาจนหาย และสามารถกลับมาทำงานศิลปะได้ใหม่ ช่วงทศวรรษ 1930 ผู้อุปถัมภ์งานของมุงค์หลายคนซึ่งเป็นชาวเยอรมันก็ถูกนาซีไล่ฆ่า มุงค์ยังติดไข้หวัดสเปน แม้เขารอดมาได้ แต่เพื่อนศิลปินของเขาก็จากไปหลายคน
มุงค์ใช้เวลาช่วง 20 ปีสุดท้ายในชนบทใกล้เมืองออสโล ผลงานช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยภูมิทัศน์ชนบทและท้องทุ่ง อย่างไรที่นาซีเลื่องอำนาจ มุงค์ยังถูกดูแคลนว่าผลงานของเขาทำให้โลกศิลปะเสื่อมเสีย และถอดผลงานของเขาเกือบหนึ่งร้อยชิ้นออกจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี
ตลอดชีวิตมุงค์วาดภาพไว้ทั้งหมด 1,789 ภาพ และภาพพิมพ์หมื่นกว่าชิ้น เขาใช้ช่วงเวลายี่สิบปีสุดท้ายของชีวิตอยู่อย่างสันโดษในชนบทไม่ไกลจากกรุงออสโล โดยภาพ Self Portrait with Pastel Stick คือภาพสุดท้ายที่มุงค์วาดในปี 1943 ขึ้นปีใหม่ในวันที่ 23 มกราคม 1944 เขาก็จากไปในวัย 80 ปี ในขณะที่หลายคนจดจำมุงค์จากชีวิตอันหดหู่และภาพวาดที่ดูสิ้นหวัง ภาพสุดท้ายของมุงค์สว่างไสวด้วยสีส้ม ภาพที่เขาจับอิริยาบถตัวเองขณะกำลังวาดภาพ แม้ชีวิตของมุงค์แทบจะไม่โสภา กระนั้นในขวบปีสุดท้ายของชีวิต มุงค์ยังคงทำงานศิลปะด้วยความเชื่อว่าศิลปะทำให้เขามีชีวิต และเขามีชีวิตอยู่ได้จนสิ้นใจตอนอายุแปดสิบก็เพราะศิลปะ
Wrapped Reichstag (1971-1995)
มหากาพย์การห่อรัฐสภาเยอรมัน
Installation Art by Christo and Jeanne-Claude
Christo Vladimirov Javacheff หรือที่รู้จักในนาม คริสโต้ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา โดย Jeanne-Claude คู่ชีวิตและคู่หูที่ทำงานศิลปะร่วมกันกับเขาตั้งแต่ปลายยุค 50s ได้นำเขาไปก่อนในปี 2009
คริสโต้และฌานน์-โคล้ด เป็นผู้อพยพด้วยกันทั้งคู่ คริสโต้มาจากบัลแกเรีย ส่วนโคล้ดมาจากโมร็อคโค ทั้งคู่พบกันที่ปารีส และเริ่มทำงานศิลปะด้วยกันในนาม Christo and Jeanne-Claude จากการใช้ผ้าห่อวัตถุเล็กๆ ไปจนถึงยวดยานพาหนะไปจนถึงอนุสาวรีย์ สะพาน กระทั่งหุบเขาและเกาะทั้งเกาะ และนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก
หนึ่งในชิ้นงานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดคือ Wrapped Reichstag หรือการห่ออาคารไรชส์ทาค ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาของเยอรมนี พวกเขาเริ่มต้นโครงการในปี 1971 แต่นั่นล่ะ การไปยื่นเอกสารขอห่ออาคารรัฐสภาที่มีอายุกว่าร้อยปี ใครที่ไหนเขาจะให้ กระนั้นพวกเขาก็ใช้เวลากว่า 24 ปี เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตรัฐบาล ผ่านการเขียนจดหมายอธิบายโครงการกว่า 700 หน้า จนเรื่องเข้าสู่การอภิปรายในสภา และได้รับการอนุมัติในปี 1995
การห่ออาคารไรชซ์ทากเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 มิ.ย. ด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินขนาด 100,000 ตารางเมตร โครงสร้างเหล็กกล้า 220 ตัน พร้อมความช่วยเหลือจากสถาปนิก วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ นักปีนเขาอาชีพ 90 คน ผู้ติดตั้งผลงาน 120 คน และงบประมาณกว่า 15.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่ทั้งคู่หามาเอง) จนวันที่ 24 มิถุนายน 1995 สถาปัตยกรรมอันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของเยอรมนีก็ถูกห่อหุ้มเสร็จสมบูรณ์
แม้นี่จะไม่ใช่ผลงานศิลปะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของพวกเขา หากเทียบกับระยะเวลาการทำงานและสิ่งที่พวกเขาห่อหุ้มด้วยแนวคิดที่ไม่มีอะไรมากกว่าการแสดงออกด้านสุนทรียะ สิ่งนี้ก็สะท้อนความดื้อด้านและการอุทิศชีวิตเพื่อศิลปะของคนทั้งคู่อย่างเข้มข้น
“คุณรู้ไหมว่าผมไม่มีงานชิ้นไหนหลงเหลืออยู่เลย เมื่องานแสดงเสร็จ มันจะต้องถูกรื้อ ผมคิดว่ามันต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากในการสร้างสิ่งที่จะต้องสูญสลายหายไป มากกว่าการสร้างสิ่งที่อยู่ยืนยง” คริสโต้ กล่าว ขณะที่ ฌานน์-โคล้ด เคยกล่าวไว้ในวัยบั้นปลายที่ซึ่งเธอยังคงทำงานศิลปะอยู่ “ศิลปินไม่มีวันเกษียณ พวกเขาแค่ตาย เหตุผลที่พวกเขาหยุดสร้างงานศิลปะก็คือ พวกเขาตาย”
Let's Stay (Alone) Together : เพราะเราไม่ใช่ผู้ตัดขาดจากสังคมอยู่คนเดียว
เรียนรู้การกำเนิดภูมิทัศน์ของศิลปะร่วมสมัย หรือ Contemporary Art จากอดีต
7 สิ่งที่ ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ อยากให้เข้าใจเสียใหม่เกี่ยวกับ LGBTQ