รำลึก 16 ปีแห่งความหลังของผู้บุกเบิกงานเบื้องหลังศิลปะร่วมสมัยไทย
สิบกว่าปีที่แล้ว พีม-พัสภัค กล่อมสกุล ได้ชื่อ supernormal จากการอ่านบทความหนึ่งว่าด้วยแนวคิดในงานออกแบบที่ย้อนกลับไปหาความเรียบง่ายอย่างที่สุดในหน้าที่การใช้งานของผลิตภัณฑ์ และพบว่าคำคำนี้สามารถอธิบายรูปแบบการทำงานของสตูดิโอติดตั้งงานศิลปะของเขาได้ดี – “หน้าที่ของเราคือการเอางานศิลปะไปวางไว้ในพื้นที่จัดแสดง พูดอย่างนี้ก็ดูเป็นงานธรรมดาๆ แต่จริงๆ มันมีรายละเอียดในความธรรมดานั้นเยอะไปหมด” พีม กล่าว
เป็นการเปรียบเปรยที่เชยอยู่ แต่เราก็ไม่พบคำไหนที่จะอธิบายการทำงานของพีมและทีมงาน supernormal ของเขาได้ดีไปกว่าคำว่า ‘ปิดทองหลังพระ’ อีกแล้ว
BOTS WORLD เพิ่งกลับมาจาก Thailand Biennale Korat 2021 ที่นครราชสีมา เทศกาลศิลปะระดับนานาชาติที่สตูดิโอของพีมรับเหมาติดตั้งงานสื่อศิลปะไปเกือบจะทั้งหมดของเทศกาล ซึ่งใช่, หากคุณได้ไป จะเห็นว่าเกินครึ่งของผลงานที่โชว์นั้นศิลปินนำเสนอด้วยเทคนิคอันแปลกล้ำทั้งนั้น และล่าสุด พวกเขาก็เพิ่งติดตั้งนิทรรศการที่จัดแสดงไล่เลี่ยกันอย่าง Pure Perception? (Debris) ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining Challenge in Times? นิทรรศการกลุ่มของศิลปินไทยและไต้หวันที่ Jim Thompson Art Center จะว่างานชุกก็ใช่ แต่พีมบอกว่าหลายปีก่อนหน้านี้ งานที่สตูดิโอของเขาเดือดกว่านี้มาก
“เคยมีอยู่ปีเรามานั่งไล่ดูแล้ว เราทำงานติดตั้งเล็กบ้างใหญ่บ้างรวมกัน 30 งานต่อปี ไม่ปฏิเสธงานใครเลย ย้อนกลับไปก็จำไม่ได้แล้วว่าเอาเวลาที่ไหนไปคิดงาน จนมาหลังๆ ก็คิดว่าเราควรคัดงานที่เราสนุกกับมันจริงๆ หน่อย ปีนึง 6-7 โชว์ก็น่าจะพอแล้ว” พี่ กล่าว
จากกลุ่มเพื่อนคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มองหาสถานที่จัดแสดงผลงาน จนพบอู่ซ่อมรถเก่าไม่ไกลจากอาคารที่ยังไม่ถูกสร้างเป็นหอศิลป์กรุงเทพฯ เช่นทุกวันนี้ พวกเขาปรับปรุงพื้นที่บางส่วนให้กลายเป็น art space แสดงงานศิลปะของพวกเขาเอง และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจนนำมาสู่การค้นพบเส้นทางใหม่ในแวดวงศิลปะ - “เราพบว่า…เฮ้ย การออกแบบและติดตั้งนิทรรศการนี่มันสนุกและท้าทายดีว่ะ กลายเป็นว่าเราอินกับการหาวิธีการติดตั้งงานศิลปะมากกว่าการทำงานศิลปะเองเสียอีก พอจบงานนั้น ก็เลยมีคนนั้นคนนี้มาชวนพวกเราให้ติดตั้งงานเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นอาชีพเรามาจนทุกวันนี้” พีม กล่าว
supernormal สตูดิโอติดตั้งงานศิลปะอย่างเป็นทางการเจ้าแรกของเมืองไทย มีจุดเริ่มต้นเช่นนี้, จากนิทรรศการส่วนตัวของเพื่อนๆ สู่การรับจ้างจัดโชว์ให้ศิลปินคนอื่น ไปจนถึงเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ และนิทรรศการของศิลปินไทยในเวทีต่างประเทศ นับนิ้วดีๆ นี่ก็ผ่านมา 16 ปีแล้ว
บนเส้นทางของการเติบโตมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ ทั่วประเทศในรอบทศวรรษ BOTS WORLD ชวนพีมสนทนาถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จาก supernormal รวมถึงขอให้เขาคัดเลือก 7 นิทรรศการที่ทีมของพีมติดตั้ง และมองว่าเป็นหมุดหมายสำคัญตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
Que Sera Sera (2006)
นิทรรศการกลุ่มของนักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ
Location: อู่ล้างรถเก่าใกล้แยกปทุมวัน, กรุงเทพฯ
“ถ้าไม่มี Que Sera Sera ก็อาจไม่มี supernormal เพราะนี่เป็นนิทรรศการกลุ่มของนักศึกษารุ่นผมเองเมื่อ 16 ปีก่อน คือเรามีงานจะโชว์แล้ว แต่ปัญหาคือเรายังไม่มีสถานที่ที่จะโชว์น่ะ ตอนนั้นหอศิลป์หรืออาร์ทสเปซมันก็ไม่เยอะเหมือนทุกวันนี้ ขณะเดียวเงื่อนไขสำคัญคือเรามีเงินกันจำกัด ให้ไปเช่าสถานที่ดีๆ ก็คงไม่ไหว ก็พอดีไปเจออู่ล้างรถเก่า ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางจะเดินจากแยกปทุมวันไปบ้านจิมทอมป์สัน พื้นที่ตรงนั้นมันมีลักษณะคล้ายโกดัง เพดานสูง โอ่โถง ซึ่งรองรับงานศิลปะที่มีรูปแบบที่หลากหลายได้ดี อีกเรื่องคือทำเลตรงนั้นดีมาก เพราะอยู่ใกล้ทางขึ้นรถไฟฟ้า เลยคิดว่า เออ เราน่าจะปรับให้มันเป็นสถานที่โชว์งานศิลปะได้นะ
“เรากับเพื่อนก็เลยไปขออนุญาตเจ้าของ ขอต่อน้ำ ต่อไฟเข้ามาเพื่อรับรองคนมาดูงาน ปรากฏว่าพอถึงวันงาน มีคนเข้ามาดูเยอะเลย เลยเริ่มเป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นถึงคราวทำนิทรรศการธีสิสเพื่อจบการศึกษา ก็ใช้รูปแบบแบบที่เราจัด Que Sera Sera ไปทำกับโกดังเก็บสีเก่าบนถนนเพชรบุรี ก็ทำให้มีคนรู้จักทีมเรามากขึ้นไปอีก คือเขาอาจไม่ได้จดจำจากงานศิลปะที่แสดงนะ แต่จำเพราะการจัดการพื้นที่แสดงงานมากกว่า แล้วพอศิลปินหลายคนมาเห็นนิทรรศการนี้เข้า เขาก็คงคิดว่าน่าจะใช้อะไรไอ้เด็กพวกนี้ได้ ก็เลยมีคอนเนคชั่นต่อจากนั้น ได้ทั้งงานติดตั้งงานศิลปะ จัดอีเวนท์ ออกแบบนิทรรศการ จนมามีโอกาสได้ทำงานติดตั้งนิทรรศการของกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านทางอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งพอรับงานกับราชการ เราก็ต้องไปจดเป็นบริษัท ก็เลยมี supernormal เกิดขึ้น
ซึ่งแม้ทุกวันนี้สมาชิกรุ่นก่อตั้งของเราแยกย้ายกันไปหมดแล้ว แต่ทุกคนในวันนั้นก็กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการด้านศิลปะในบ้านเราทุกวันนี้นะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมภูมิใจมากๆ”
Twist & Shout (2009)
นิทรรศการกลุ่มศิลปินญี่ปุ่นจัดโดย Japan Foundation
Location: Bangkok Art & Culture Center
“เราเติบโตมากับยุคที่พื้นที่ศิลปะแบบ alternative space มันเฟื่องฟูมากๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ Project 304 ของพี่เจี๊ยบ-กฤติยา กาวีวงศ์ คือก่อนหน้านี้ถ้าไม่นับหอศิลป์ตามมหาวิทยาลัย บ้านเราก็แทบไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเลย และมันก็ประจวบเหมาะพอดีที่ทีมเราเริ่มสร้างชื่อจากการเป็นทีมติดตั้งนิทรรศการ พร้อมๆ กับที่หอศิลป์กรุงเทพเปิดทำการ เราก็เลยได้งานติดตั้งนิทรรศการให้กับหอศิลป์กรุงเทพในยุคแรกๆ หลายงานทีเดียว
“Twist and Shout คือนิทรรศการกลุ่มของศิลปินญี่ปุ่นจัดโดย Japan Foundation ซึ่งมาจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพ ถ้าจำไม่ผิด งานนี้น่าจะเป็น international show ครั้งแรกของที่นั่น และก็เป็นงานที่เราติดตั้งให้ศิลปินต่างชาติครั้งแรกด้วยเช่นกัน
“นิทรรศการนั้นมีงานของคุณป้ายาโยอิ คุซามะ ด้วยนะ พูดแบบคุยอวดหน่อย คือเราได้ติดตั้งงานยาโยอิตั้งแต่เริ่มทำสตูดิโอใหม่ๆ เลย (หัวเราะ) แต่เหนือสิ่งอื่นใด การได้ทำงานนี้ทำให้เราได้เรียนรู้จริงๆ ว่าศิลปินและทีมออกแบบนิทรรศการของญี่ปุ่นเขาทำงานกันอย่างมืออาชีพมากแค่ไหน และก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของเขาด้วย ซึ่งพอจบงานนี้ เรายังได้รับการสนับสนุนจาก Japan Foundation ให้ไปแลกเปลี่ยนงานด้าน exhibition design ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 เดือน จนนำมาซึ่งผลงานติดตั้งชิ้นถัดไป”
Cloud Forest (2010)
Artist: Fujiko Nakaya และ Shiro Takatani
Location: YCAM, Yamaguchi, Japan
“ปี 2010 เราได้ไปโครงการแลกเปลี่ยนที่ Yamaguchi Center for Arts and Media (YCAM) ที่เมืองยามากูชิ ความเจ๋งของเขาคือเขาทำโชว์ด้าน media art แค่ปีละ 1-2 นิทรรศการ โดยจะเน้นการชวนศิลปินมา collaborate กัน ตอนที่เราไป ที่นั่นกำลังจะมีนิทรรศการของ Fujiko Nakaya ที่ทำงานร่วมกับ Shiro Takatani โดยพวกเขาจะสร้างหมอกจำลอง แสดงตรงสนามหญ้าหน้า YCAM
“เราได้ไปร่วมแล็บเขา ช่วยเขาจัดการระบบการติดตั้งแสง ติดตั้งเครื่องพ่นควัน ไปดูเรื่องเซอร์วิสของระบบ ซึ่งมันโคตรซับซ้อนเลยนะ เพราะงานนี้มีสายไฟเป็นพันเส้น ไหนจะระบบน้ำ ระบบไฟ แต่ก็ได้เรียนรู้วิธีการจัดการระบบของเขา คือพบเลยว่ามาตรฐานการทำงานของคนญี่ปุ่นนี่มันอีกระดับหนึ่งเลย คือทุกอย่างถูกคิดมารอบด้านแล้ว ขณะเดียวกัน เขาไม่ได้คิดงานแค่ทำโชว์แล้วจบไป แต่เขาคิดให้มันเป็น product ต่อยอดที่ทำให้งานศิลปะมันยั่งยืนด้วย แล้วอีกเรื่องคือ ความที่หน่วยงานทางศิลปะที่ญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็ได้ทุนมาจากรัฐ เวลาจะสร้างงานอะไรขึ้นมา เขาก็จะคิดกันต่อว่ามันจะสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับชุมชน หรือผู้ชม คือทำให้ศิลปะมันสื่อสารกับคนดูให้ได้มากที่สุด เห็นแล้วก็ เออว่ะ หน่วยงานรัฐเราน่าเอาอย่างเขาบ้างนะ”
Mechanic Artichoke (2010)/ ทะเลหมอก (2011)/ Flip Dots (2011)
Artist: DuckUnit
Location: Central World/ Chiang Rai/ Central Ladprao
“เรารู้จักพี่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ มาตั้งแต่สมัยเรียน และพอเราจบมาและทำสตูดิโอ ก็ได้พี่วิชญ์นี่แหละที่ไม่แค่ช่วยหาคอนเนคชั่นให้เรา แต่ยังชวนเราไปทำงานกับ DuckUnit สตูดิโอของเขาด้วย ได้ทำอยู่หลายงานเหมือนกัน เพราะพี่วิชญ์ได้งานกับเซ็นทรัล แล้วปีหนึ่งแกทำอยู่ 12 โชว์ ก็ใช้ Supernormal ติดตั้งให้ 7 โชว์แล้ว
“ยุคนั้นพี่วิชญ์แกกำลังอินกับงาน kinetic sculpture มาก ที่เราไปติดตั้งให้พี่วิชญ์ก็เป็นงานประเภทนี้หมด เริ่มจากงาน Mechanic Artichoke ที่พี่วิชญ์ทำให้เซ็นทรัลเวิล์ดซึ่งกำลังเปิดใหม่ เป็นประติมากรรมอาร์ติโชคที่ติดตั้งกลไกให้มันขยับไปมาบนวอยด์ จากนั้นเราไปทำต่อที่เซ็นทรัลเชียงราย งานชื่อ ‘ทะเลหมอก’ เป็นอินสตอเลชั่นกระดาษ และใช้กลไกกับคอมพิวเตอร์ทำให้กระดาษมันขยับเป็นจังหวะเหมือนคลื่น และปีเดียวกันนั้นเองก็มี Flip Dots ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นงานแผ่นเหล็กทรงกลมทำสีขนาดเท่าล้อรถ แล้วก็ไปติดตั้งกับกลไกที่ทำให้แผ่นพวกนี้มันหมุนได้ อารมณ์คล้ายเกมโอเทโร่
“การได้ทำงานให้พี่วิชญ์เปิดมุมมองเรามากเลย เพราะงานของพี่วิชญ์ผสานทั้งงานออกแบบโครงสร้าง สถาปัตยกรรม อุตสาหกรรม ไปจนถึงวิศวกรรม ซึ่งมันก็ตอกย้ำให้เราเห็นว่าการทำศิลปะมันไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องสุนทรียะและความพิถีพิถัน แต่มันคือการใช้หลักเหตุและผล และการนำศาสตร์ที่หลากหลายมารับใช้สุนทรียะด้วย”
The Serenity of Madness (2016)
Artist: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
Location: Maiiam Contemporary Art Museum, Chiang Mai
“นิทรรศการ The Serenity of Madness เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของพี่เจ้ยที่เชียงใหม่ และเป็นนิทรรศการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมด้วย น่าจะเป็นครั้งแรกด้วยที่เราร่วมงานกับพี่เจ้ยแบบจริงจัง คือก่อนหน้านี้เรามักจะได้งานจำพวกติดตั้งภาพเขียน ประติมากรรม หรืออินสตอเลชั่น แต่โชว์นี้เกินครึ่งเป็นงานวิดีโออาร์ท ซึ่งมองเผินๆ ก็เหมือนแค่เอาโปรเจกเตอร์มาต่อและฉายงานลงผนังใช่ไหม แต่ไม่ใช่เลย คือพอได้ทำกับพี่เจ้ย เลยรู้ว่าโปรเจกเตอร์แต่ละแบบมันมีผลกับชิ้นงานมากพอสมควร พี่เจ้ยละเอียดถึงขั้นว่าถ้าวิดีโอมีสัดส่วนแบบนี้ ก็ต้องหาโปรเจกเตอร์ที่มันเข้ากันมา รวมถึงระบบเสียงที่สอดคล้องกับไฟล์ต้นฉบับ และความที่พี่เจ้ยมีโอกาสไปแสดงงานที่ต่างประเทศเยอะ แกก็มักจะเอาเทคนิคการจัดแสดงของที่ต่างๆ มาแชร์ หรือให้เราลองเอาไปต่อยอดดู อย่างงานโชว์รูปถ่ายผ่านตู้ไฟ นี่ก็เป็นงานที่พี่เจ้ยเคยไปแสดงที่ต่างประเทศมาแล้ว ก็เอามาให้เราลองทำดู จนทุกวันนี้เทคนิคแบบนี้มีให้เห็นในบ้านเราเต็มไปหมด
“อีกเรื่องคือ นิทรรศการนี้มันยังสะท้อนว่าทำไมงานพี่เจ้ยถึงได้รับการยอมรับในระดับโลกมากขนาดนี้ คือมันไม่ใช่แค่พิถีพิถัน แต่ยังคำนึงถึงสุนทรียะ และการเป็นนิทรรศการ ใครจะไปคิดว่าโชว์ที่งานส่วนใหญ่เป็นวิดีโอจะทำออกมาได้ดูสนุกและน่าตื่นตาขนาดนี้ การได้ทำงานกับพี่เจ้ย ให้อารมณ์คล้ายตอนเราได้ไปญี่ปุ่น หรือทำงานกับพี่วิชญ์ คือเป็นการทำงานที่ช่วยยกระดับมาตรฐานของเราให้สูงขึ้นตามไปด้วย คือได้ทำงานกับคนเจ๋งๆ ก็ทำให้เราเจ๋งขึ้นไปด้วยน่ะ”
Errata: Collecting Entanglements and Embodied Histories (2021)
นิทรรศการกลุ่มที่ใหม่เอี่ยม / ภัณฑารักษ์โดย กฤติยา กาวีวงศ์
Location: Maiiam Contemporary Art Museum, Chiang Mai
“โชว์นี้เพิ่งทำไปเมื่อปีที่แล้ว ที่เลือกมาเพราะเราได้ร่วมงานกับพี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์) ตั้งแต่กระบวนการคอนเซปต์ คือพี่เจี๊ยบมาเล่าให้เราฟังว่าการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดงแต่ละชิ้นมีแนวคิดอย่างไรบ้าง พอเราได้บรีฟงานมาอย่างนี้ ก็ทำให้เราเห็นภาพและร่วมกับพี่เจี๊ยบเล่าเรื่องผ่านการจัดวางชิ้นงานไปพร้อมกัน
“ซึ่งระยะหลังเรารู้สึกสนุกที่ได้ร่วมมีส่วนออกแบบนิทรรศการกับคิวเรเตอร์หรือศิลปินมากขึ้น คือจากที่แต่เดิมเราจะได้บรีฟมาว่าต้องเอางานนี้ไปติดตั้งแบบนี้ แต่พอได้คุยกับศิลปินและคิวเรเตอร์ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น และเราก็ช่วยเขาคิด ช่วยเขาหาวัสดุหรือเทคนิคการนำเสนอมาเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง มันก็ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น แล้วยิ่งเห็นว่าจากงานที่เราเป็นฝ่ายเขียนแบบถูกพัฒนาจนออกมาเป็นรูปร่าง มันน่าภูมิใจนะ (ยิ้ม)”
Thailand Biennale Korat 2021
Location: นครราชสีมา
“แม้จะมีดราม่าหลายเรื่อง แต่เราก็ดีใจที่ได้มีโอกาสติดตั้งงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งนี้ ที่สำคัญเราเห็นว่าผู้จัดงานเขาก็ทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
การได้ทำงานนี้ยังทำให้เราตระหนักด้วยว่าสิ่งเดียวที่กระทรวงวัฒนธรรมทำได้ดีที่สุดคือการจ่ายเงินน่ะ (ยิ้ม) ไม่ได้หมายถึงแค่จ่ายเงินให้เราทำงานนะ แต่คือการหางบประมาณให้เพียงพอสำหรับให้ศิลปินได้สร้างผลงานตามความต้องการให้ออกมาดีที่สุด งานนี้จะคล้ายๆ กับที่เราร่วมงานกับพี่เจี๊ยบใน Errata คือเราได้คุยกับทีมคิวเรเตอร์และศิลปินบางท่านตั้งแต่กระบวนการสร้างงาน ได้เข้าใจคอนเซปต์ว่าทำไมงานบางชิ้นต้องจัดวางแบบนี้ หรือเลือกใช้เทคนิคหรือวัสดุแบบนี้ และอย่างที่บอกว่าพอกระทรวงวัฒนธรรมทุ่มงบประมาณ เราก็ได้ลองใช้ media equipment ใหม่ๆ ที่มีส่วนทำให้เนื้องานมันออกมาดี และมันก็ช่วยเปิดชุดความรู้ใหม่ๆ ให้เรา เราเลยอยากให้คนไปดูกันเยอะๆ ไม่ใช่ว่าเพราะเราเป็นคนติดตั้งงานนะ แต่เพราะงานหลายชิ้นในนี้มันดีในระดับที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คนดูได้จริงๆ”
ติดตามผลงานของ supernormal ได้ที่
https://www.facebook.com/sprnormal
พูดคุยเกี่ยวกับแพสชั่น ความเคลื่อนไหวในเมือง และการขับเคลื่อนพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในเมืองเล็กๆ เมืองอย่างเมืองพะเยา
สำรวจงานของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ก่อนจะเป็น A Blue Man in the Land of Compromise