อดีตมือเปียโนแจ๊สข้างถนน เจ้าของรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ จากเวที Grammy Awards 2022
“ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจ..ไม่มีนักดนตรีที่ดีที่สุด ศิลปินที่ดีที่สุด นักเต้นที่ดีที่สุด หรือนักแสดงที่ดีที่สุด เพราะความหลงใหลในงานศิลปะนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพลงที่ผมสร้างขึ้นก็เช่นกัน มันก็เพียงมีเรดาร์สำหรับมองหาคนที่ต้องการมันที่สุด แค่นั้นเอง”
จอน บาติสต์ ศิลปินเจ้าของรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ คนล่าสุดจากงาน Grammy Awards กล่าวบนเวทีอย่างถ่อมตัว แม้เพิ่งจะเอาชนะผู้เข้าชิงในสาขาเดียวกันที่เป็นถึงศิลปินเบอร์ท็อปๆ ของวงการป็อปได้อย่างเหนือความคาดหมาย
ทั้งยังพ่วงด้วยการเป็นศิลปินที่เข้าชิงแกรมมี่มากที่สุดในปีเดียวถึง 11 รางวัล (เทียบเท่าที่ เคนดริก ลามาร์ ทำได้เมื่อ 6 ปีก่อน) และคว้ามาครองได้ถึง 5 รางวัล - ในปีที่คนพูดถึงแต่ความสำเร็จของ Silk Sonic, Foo Fighters หรือ โอลิเวีย โรดริโก แต่บาติสต์ต่างหาก คือคนที่กวาดรางวัลจากงานไปได้มากที่สุด
เขาเป็นใคร? น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย
ยังจำอนิเมชั่นฟีลกู๊ดดังจากค่ายดิสนีย์-พิกซ่า เรื่อง Soul (2020) ได้ไหม บาติสต์นี่แหละคือผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ (ร่วมกับ เทรนต์ เรซเนอร์ และ แอตติคัส รอสส์) และยังเคยสัมผัสถ้วยออสการ์เพราะงานนี้มาแล้วด้วย
ก่อนหน้านั้น เขาก็คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงแจ๊สอย่างยาวนาน ตั้งแต่ข้างถนนจนถึงบนเวทีใหญ่ๆ ออกอัลบั้มมาแล้วมากมาย ร่วมงานกับศิลปินดังมาก็เพียบ (อาทิ สตีวี วันเดอร์, พรินซ์, เอ็ด ชีแรน) ทั้งยังเป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำรายการ The Late Show with Stephen Colbert มาตั้งแต่ปี 2015 แถมยังเป็น Creative Director ให้กับพิพิธภัณฑ์แจ๊สแห่งชาติใน Harlem ด้วย เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในระดับเมนสตรีมเท่านั้นเอง
แต่ความสำเร็จในระดับแกรมมี่นี่แหละที่จะเป็นบัตรผ่าน พาเขาเข้าไปเจอโอกาสใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ คนฟังใหม่ๆ เพื่อสรรสร้างผลงานชั้นยอดชิ้นใหม่ๆ ต่อไป โดยที่เขาก็ยังเป็นบาติสต์ ‘เด็กหนุ่มผู้หลงรักดนตรีแจ๊ส’ คนเดิม
“หลังจากนี้ ผมก็คงจะก้มหน้าทำเพลงด้วยความตั้งใจเหมือนเดิม เพราะดนตรีคือสิ่งที่ผมรักมาตั้งแต่เด็ก สำหรับผมมันเป็นมากกว่าความบันเทิง เรียกว่าเป็นการฝึกฝนจิตวิญญาณเลยก็ว่าได้”
ยังมีอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับจอน บาติสต์ ที่น่าสนใจ มารู้จักชีวิตเขาให้มากขึ้นไปพร้อมกันได้ใน The Fact Five - Jon Batiste
ที่มา: https://time.com/5953464/jon-batiste-soul-interview/
เข้าสู่โลกแห่งแจ๊ส ผ่านเกมอย่าง Street Fighter, Final Fantasy VII, Sonic
เฉกเช่นเด็กผู้ชายทั่วไป เด็กชายโจนาธาน บาติสต์ ก็รักวิดีโอเกมเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะ Street Fighter, Final Fantasy VII หรือ Sonic the Hedgehog
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรักทั้งตัวเกมและเพลงประกอบเกมเหมือนเขา บาติสต์มักตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของเพลงในเกม รวมถึงสิ่งที่เขารู้สึกเมื่อได้ยินเพลงเหล่านั้นขณะกำลังตะลุยด่าน
และความสงสัยนั้นก็นำมาสู่การหาคำตอบ จนเพลงประกอบเกมกลายเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่สอนให้บาติสต์รู้จักและรักในดนตรี โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว “เกมสอนผมเกี่ยวกับเพลงธีม และการพัฒนามัน จะทำยังไงให้เพลงธีมติดหูจนคนอยากได้ยินมันซ้ำๆ”
“คุณต้องหาจุดลงตัวให้เจอว่าเพลงนั้นก็ต้องไม่น่ารำคาญจนเกินไป หากคนเล่นเกมนี้และต้องได้ยินเพลงประกอบเป็นร้อยๆ รอบ มันก็มีโอกาสสูงที่เขาจะกด mute เพราะได้ยินจนเบื่อแล้ว ฉะนั้นมันจึงยาก”
แต่กับบาติสต์ นอกจากมันจะไม่น่าเบื่อสำหรับเขาแล้ว เพลงประกอบเกมยังช่วยนำทางเขาไปรู้จักตำราดนตรีเล่มถัดไปที่กลายเป็นวิชาดีติดตัวเขาจนถึงปัจจุบันด้วย
‘แจ๊ส’
เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวง Stay Human วงดนตรีประจำรายการ The Late Show with Stephen Colbert
บาติสต์ เข้าเรียนที่ Juilliard School สถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2004 และฟอร์มวงสามชิ้นกับเพื่อนร่วมสถาบัน โจ เซย์เลอร์ (กลอง) และ ฟิล คิวเอน (เบส) เพื่อตระเวนเล่นตามที่ต่างๆ ในนิวยอร์ก ทั้งคลับแจ๊สและข้างถนน โดยเรียกตัวเองว่า ‘Stay Human’
ก่อนที่ขนาดวงของบาติสต์จะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ เช่นเดียวกับชื่อเสียงของวงที่เริ่มถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปาก จากการหอบเครื่องดนตรีไปเล่นตามที่สาธารณะ เช่นอัลบั้ม MY N.Y. ที่ปล่อยในปี 2011 วงก็เลือกที่จะบันทึกเสียงทุกเครื่องแบบสดๆ ที่สถานีรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก ซึ่งบาติสต์เล่าว่าเป็นโมเมนต์ที่ทำให้เขาเข้าใจในความสัมพันธ์อันแสนวิเศษระหว่างมนุษย์กับดนตรี
จุดเปลี่ยนสำคัญของวงเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อพวกเขาออกอัลบั้มเต็ม ‘Social Music’ โดยมีซิงเกิลเอกชื่อ Express Yourself และมีโอกาสไปเล่นสดเพื่อโปรโมทเพลงในรายการ The Colbert Report ของ สตีเวน โคลแบร์
เพราะหลังจากนั้นหนึ่งปี โคลแบร์ก็ได้รับเลือกให้เป็นพิธีกรในรายการทอล์คโชว์ใหม่ The Late Show with Stephen Colbert และโคลแบร์ก็ประกาศกลางรายการว่า Stay Human จะมาเป็น House Band หรือวงดนตรีประจำรายการให้กับเขา โดยที่บาติสต์จะควบตำแหน่ง Music Director ของรายการด้วย
“ดนตรีของพวกเขาทำให้ผู้ชมของผมฟินสุดๆ จนผมว่าเราน่าจะต้องมีป้าย ‘ห้ามมีอะไรกัน’ ระหว่างโชว์เลยล่ะ” โคลแบร์กล่าวติดตลก ขณะที่บาติสต์ก็ให้ความเห็นว่า “ผมตื่นเต้นโคตร! มันเป็นเหมือนการจับคู่จากสวรรค์เลยนะ และพวกผมก็พร้อมแล้วที่จะมอบความบันเทิงเต็มรูปแบบในทุกๆ คืนแก่ผู้ชม”
และมันก็เป็นอย่างที่บาติสต์กล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ที่วงเริ่มประจำการในรายการของโคลแบร์ในปี 2015 จนถึงตอนนี้
ไม่ต้องสืบเลยว่ารายการแรกๆ ที่เขาไปนั่งให้สัมภาษณ์หลังกวาดรางวัลแกรมมี่กลับบ้าน คือรายการอะไร
ทำอัลบั้มร่วมกับ แชด สมิธ มือกลอง Red Hot Chili Peppers เพื่อประกอบหนังที่ยังไม่ได้เขียนบท และไม่ได้ถูกสร้างจริงในที่สุด
ขยี้ตาอีกสักร้อยครั้งมันก็ยังเป็นแบบนี้ เพราะถึงจะแปลก แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่นักดนตรีมือฉมัง 3 คนจากต่างศาสตร์อย่าง จอน บาติสต์, บิล ลาสเวลล์ มือเบสชั้นครู และ แชด สมิธ มือกลองพลังร็อคจาก Red Hot Chili Peppers มารวมตัวกันทำอัลบั้มแบบงงๆ ในชื่อ ‘The Process'
"ไอเดียตั้งต้นคือ เราแค่อยากถ่ายวิดีโอนักดนตรีที่ไม่รู้จักกันมาก่อน รวมตัวกันเล่นดนตรีในห้องอย่างไร้แบบแผน” ลาสเวลล์เท้าความ “แต่ไปๆ มาๆ มันกลับลงเอยด้วยการลงมือทำอัลบั้มจริงๆ ซะอย่างนั้น"
แต่ใช่ตามที่ลาสเวลล์บอก ทั้งเขา บาติสต์ และสมิธ ไม่รู้จักหรือเคยพบปะกันมาก่อน ทั้งยังช่ำชองในศาสตร์ทางดนตรีที่ต่างแขนง มันจึงท้าทายและชวนสงสัยอย่างสุดๆ ว่าอัลบั้มที่ทั้งสามทำด้วยกันจะออกมาหน้าตาอย่างไร “เราเริ่มด้วยการแชร์ประสบการณ์ดนตรีของแต่ละคน แล้วก็เอาโครงสร้างเพลงมากางเพื่อปู้ยี่ปู้ยำมัน เพิ่มอันนี้นิด อันโน้นหน่อย ลองผิดไปเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม เพราะผมมักจะพูดว่า มันกำลังดำเนินการ (Process) ให้เวลากับมันหน่อย"
"เชื่อไหม ไม่มีสักเพลงในอัลบั้มที่ถูกแต่งมาก่อนพวกเราสามคนจะเจอกันที่สตูดิโอ” แชด สมิธ เล่าบ้าง “และเราก็ปล่อยไอเดียให้ไหลแบบฟรีสไตล์เลย ตัวผมเองก็จะพยายามเลี่ยงที่จะเล่นสิ่งที่เคยเล่นมาก่อน ซึ่งคนอื่นๆ ก็คงเป็นเหมือนกัน โปรเจกต์นี้จึงเป็นเหมือนแบบเรียนที่ช่วยให้เราเติบโตทางดนตรี และรู้จักเชื่อใจคนที่เราร่วมเล่นด้วย"
ซึ่งนอกจากทั้งสามแล้ว โปรเจกต์นี้ยังได้นักดนตรีมากฝีมือมาร่วมแจมอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ทุนเด อะเดบิมเป (TV on the Radio), คิลลาห์ พรีทส์, การ์ริสัน ฮอว์ค, โทชิโนโระ คอนโดะ, ปีเตอร์ แอปเฟลบอม และ โดมินิค เจมส์
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือเพลงฟิวชั่นรสเข้มที่เป็นส่วนผสมของหลากหลายวัตถุดิบ บางเพลงเป็นฟังก์มันส์ๆ บางเพลงเป็นฮิปฮอป บางเพลงเป็นอาวองการ์ด บางเพลงเป็นเวิลด์มิวสิค - กลายเป็นเหมือนงานทดลองที่เต็มไปด้วยความทะเยอะทะยาน เดาทางได้ยาก และเออ…มันแปลกและใหม่จริงอย่างที่พวกเขาเคลม
อ้อ..อีกความแปลกของโปรเจกต์นี้คือการมีคำโปรยว่า เป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังไม่ถูกเขียนบท และอาจจะไม่ถูกสร้างด้วยซ้ำ ซึ่งสุดท้ายก็สมพรปาก เพราะไม่มีการสร้างหนังเรื่องนี้จริง นับตั้งแต่ปล่อยอัลบั้มในปี 2014 ถึงปัจจุบัน
ได้ออสการ์จากการทำเพลงประกอบ ‘Soul’
“คุณลองจินตนาการถึงการประชุมที่มีคนพูดขึ้นมาว่า…จะทำหนังที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการการดำรงอยู่ของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลอย่างอิสระ ว่าคนเราตายแล้วไปไหน เล่าผ่านตัวละครที่เป็นคนผิวสีวัยกลางคน แถมยังทำเป็นอนิเมชั่นที่ใช้เพลงประกอบเป็นแจ๊สทั้งเรื่องด้วยนะ…อื้ม นี่แหละสิ่งที่เราทำกัน และผมก็รู้สึกโดยทันทีว่าผมเกิดมาเพื่อสิ่งนี้”
จอน บาติสต์ พูดถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาดูแลในพาร์ทเพลงประกอบอนิเมชั่นฟีลกู๊ดเรื่อง Soul ของผู้กำกับ พีท ดอกเตอร์
Soul ว่าด้วย โจ การ์ดเนอร์ (ให้เสียงโดย เจมี่ ฟ็อกซ์) ครูสอนดนตรีธรรมดาๆ ที่กำลังจะได้รับเลือกให้เป็นมือเปียโนประจำวงแจ๊สชื่อก้อง แต่แล้วโชคชะตากลับเล่นตลก พาเขาพลัดเข้าไปยังโลกหลังความตาย โจจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพาวิญญาณตัวเองกลับเข้าร่างที่โลกแห่งคนเป็น
บาติสต์ร่วมมือกับ เทรนต์ เรซเนอร์ (ฟรอนท์แมน Nine Inch Nails) และ แอตติคัส รอสส์ ทำเพลงประกอบหนัง โดยที่สองคนหลังจะดูแลดนตรีประกอบเป็นหลัก ส่วนพาร์ทที่เป็นเพลงแจ๊สจะแต่งและเล่นโดยบาติสต์ อย่างไรก็ดี ทั้งสามก็จะช่วยกันดูในภาพรวม เพื่อให้พาร์ทของ ‘เสียง’ ทั้งหมดทั้งมวลออกมาเป็นหนึ่งเดียวกัน
แม้จะต่างคนต่างมา และต่างมีพื้นเพทางดนตรีที่ไม่เหมือนกัน แต่พอรวมกันกลับปังสุดๆ กลายเป็นชิ้นงานที่งดงามจนได้รับคำชมล้นหลาม และได้รับรางวัลการันตีความยอดเยี่ยมมากกว่า 20 รางวัล (จากการเข้าชิงร่วม 30) โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การคว้าลูกโลกทองคำ (Best Original Score), แกรมมี่ (Best Score Soundtrack) และออสการ์ (Best Original Score)
“จดหมาย, หลังไมค์, อีเมล หลั่งไหลเข้ามาหาผมจนนับไม่ไหว” บาติสต์เล่าถึงสิ่งที่ตามมาหลังได้ชูถ้วยตุ๊กตาทอง “มีฟีดแบ็คหนึ่งบอกว่า..ลูกสาวฉันอยากจะเล่นเปียโนขึ้นมาทันที เธออายุ 7 ขวบ และไม่เคยเล่นดนตรีเครื่องไหนๆ มาก่อน”
“ผมจึงรู้สึกว่า ไม่ว่าจะได้ถ้วยรางวัลสักกี่ถ้วยก็ไม่สำคัญอีกแล้ว เพราะแค่ได้ทำเพลงให้กับหนังเรื่องนี้ ก็ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มากๆ แล้วสำหรับผม” บาติสต์กล่าวอย่างถ่อมตัวเช่นเคย
We Are อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี ที่ทำขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจเป็นเพลงของจัสติน บีเบอร์
“ผมเริ่มบันทึกเสียงอัลบั้มนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014 ไปพร้อมๆ กับสำรวจความหลากหลายของมิติทางดนตรีในกลุ่มคนผิวสี แต่ก็ยังไม่ได้โฟกัสกับมันมาก จนกระทั่ง 2019 ถึงจะเริ่มอัดเสียงแบบจริงจังในห้องแต่งตัวของผมในรายการ The Late Show เพราะผมไม่ได้มีเวลาว่างมากพอที่จะทำมันในที่อื่น”
บาติสต์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ ‘We Are’ อัลบั้มเดี่ยวลำดับที่ 5 ของเขา “ผมอัดเสียงที่นั่นอยู่ 6 วัน ก่อนจะหอบไฟล์ไปทำต่อแบบเนี้ยบๆ ในสตูดิโอ ซึ่งสิ่งแรกๆ ที่ผมทำเมื่อถึงสตู คือการกำหนดไดเรคชั่นของอัลบั้ม โดยมีต้นแบบเป็นเพลง ‘Let Me Love You’ ของจัสติน บีเบอร์ กับ DJ Snake”
ใช่, อ่านไม่ผิด มันเป็นอย่างนี้จริงๆ “เพราะผมโคตรจะรักในเพลง edm รักในความสนุกของมัน รักในความเป็นเพลงเพื่อมวลชน และความร่วมสมัย” หากก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำเพลงของตัวเองให้ออกมาเป็น edm เพียวๆ “แน่นอน ถ้าคุณฟังดีๆ จะได้ยินแซมเปิลของดนตรีพื้นเมืองอียิปต์ หรือเพลงโฟล์คจากหลายๆ ที่บนโลก ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ดนตรี”
“เรื่องของเรื่องคือผมอยากจะทลายกรอบการทำเพลงแจ๊ส ให้หลีกหนีไปจากแบบแผนเดิมๆ ที่ผมหรือคนอื่นเคยทำในอดีต เพื่อหาความลงตัวใหม่ๆ และทำให้มันเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับคนฟังในสมัยนี้ที่สุด”
ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่อัลบั้มเพลงแจ๊สตามขนบ หรือจริงๆ ต้องบอกว่า ยากที่จะนิยามแนวของมันแบบชัดเจน เพราะบาติสต์คิดว่านั่นไม่สำคัญเท่าการทำให้เพลงเข้าไปทำงานกับหัวใจคนฟังให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยสุ้มเสียงอย่างไรก็ตาม - เพลงอย่าง We Are, Cry, Freedom, I Need You และทุกเพลงที่เหลือในอัลบั้ม คือผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมของการทำงานบนแนวคิดนี้
ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จตั้งแต่ที่ปล่อยอัลบั้มในเดือนมีนาคมปีก่อนจนถึงตอนนี้ การันตีด้วยการได้รับยศ ‘อัลบั้มแห่งปี 2021’ จากเวทีแกรมมี่หนล่าสุด (พร้อมด้วย Best Music Video (Freedom), Best American Roots Performance (Cry), Best American Roots Song (Cry))
บาติสต์กล่าวว่า ณ โมเมนต์ที่นั่งรอฟังผลผู้ชนะในสาขานี้ แทบจะมีแค่แม่เขาคนเดียวที่เชื่อว่าพิธีกรจะประกาศชื่ออัลบั้มเขา เมื่อไล่เรียงดูคู่แข่งที่เป็นระดับบิ๊กเนม (จัสติน บีเบอร์, เทย์เลอร์ สวิฟต์, โดจา แคท, เลดี้ กาก้า, โอลิเวีย โรดริโก, บิลลี่ ไอลิช, คานเย เวสต์) ก็แทบจะตัดชื่อเขาออกเป็นชื่อแรกได้เลย
แต่ในที่สุด รางวัลก็ตกเป็นของเขา ท่ามกลางความยินดีของทุกๆ คนที่รักในเสียงดนตรี “มันเป็นบรรยากาศที่สุดยอดมากๆ ในโมเมนต์ที่ผมยืนขึ้นเพื่อจะเดินไปรับรางวัล และหันไปทางไหนก็เห็นแต่คนปรบมือและโห่ร้องแสดงความดีใจกับผม” บาติสต์เล่า ด้วยน้ำเสียงที่ยังไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้มันสำเร็จ
และเป็นน้ำเสียงที่ยังถ่อมตัว เฉกเช่นบาติสต์คนที่เล่นดนตรีแจ๊สด้วยความเมามันที่ข้างถนนคนเดิม
รวบรวมนักวาดภาพประกอบจากสามชาติคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันกว่า 300 คนมาสรรค์สร้างภาพแบบเรโทรตามการตีความที่อยู่ในภาพใหญ่ของความเป็น New Retro
สำรวจเมืองต้นกำเนิดของมัน ผ่าน 5 อัลบั้มของศิลปินจากเมืองคิงส์ตัน ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เร็กเก้ยังคงเป็นอมตะอย่างทุกวันนี้