5 เรื่องจริงของอัลบั้มชั้นดีที่ชื่อแย่ของเจ้าหญิงตลอดกาลแห่งวงการ J-Pop
ต่อให้ไม่ใช่คอเพลงญี่ปุ่น อย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ อูทาดะ ฮิคารุ ศิลปินซูเปอร์สตาร์จากแดนซามูไร ไม่ก็ต้องเคยได้ยินเพลงฮิตของเธออย่าง First Love, Automatic, Flavor of Life, Prisoner of Love, Come Back to Me และอีกหลายๆ เพลงจากวิทยุหรือรายการเพลงในทีวีสมัยก่อน
นั่นเพราะฮิคารุ หรือในชื่อเล่นที่แฟนๆ เรียกเธอจนชินว่า ‘ฮิกกี้’ เป็นตำนานที่อยู่มาทุกยุค ได้รับการยอมรับทั้งในบ้านเกิดและทั่วโลก มีเพลงฮิตทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ เป็นไอคอนิกที่ทั้งสวย เก่ง และสง่างามจนได้รับฉายา ‘เจ้าหญิงแห่งวงการ J-Pop’ มาแต่ไหนแต่ไร
เข้าปี 2022 เจ้าหญิงของเราปล่อยอัลบั้มลำดับที่ 8 ในวันคล้ายวันเกิดครบ 39 ปีของตัวเอง (19 มกราคม) ในชื่อ ‘Bad Mode’ ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของเธอที่มีทั้งเพลงภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ “ฉันเลิกสร้างข้อจำกัดให้ตัวเองไปแล้ว ทำไมจะมีเพลงญี่ปุ่นและอังกฤษอยู่ในอัลบั้มเดียวกันไม่ได้ ในเมื่อฉันก็อาศัยและหายใจอยู่ในที่ๆ ใช้ทั้งสองภาษา”
นอกจากนี้ยังมีซิงเกิลที่ปล่อยก่อนอัลบั้มเต็มถึง 6 เพลง (เท่ากับ Ultra Blue (2006)) หนึ่งในนั้นคือ One Last Kiss เพลงประกอบหนัง Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time ส่วนเพลงใหม่ในอัลบั้ม ก็มีไฮไลท์อยู่ที่ ‘Somewhere Near Marseilles’ ซึ่งเป็นเพลงที่มีความยาวที่สุดของฮิกกี้ (11.54 นาที)
เมื่อเป็นงานที่เธอทำขึ้นในช่วงเวลาแห่งโรคระบาดที่โลกมนุษย์อยู่ในสภาวะไม่ปกติ ย่อมมีหลากหลายความรู้สึกเกิดขึ้นระหว่างทาง มีหลายๆ อย่างที่ได้เรียนรู้ อาทิ การรู้จักความรักที่มีต่อตัวเอง “ฉันคิดว่าความรักคือการให้สัญญาว่าจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อคนที่เรารัก ซึ่งฉันก็พยายามทำสิ่งนั้นกับตัวเอง เพลงในอัลบั้มจึงว่าด้วยการรักตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง เช่นเพลง ‘Find Love’, ‘PINK BLOOD’ หรือ ‘Bad Mode’”
“มันคือส่วนสำคัญในการผญภัยสั้นๆ ที่พาฉันมาอยู่ในจุดนี้ค่ะ”
ยังมีเรื่องจริงอีกมากมายเกี่ยวกับการผจญภัยที่ชื่อว่า Bad Mode ของเจ้าหญิงตลอดกาลนามอูทาดะ ฮิคารุ ติดตามได้ใน The Fact Five: Utada Hikaru - Bad Mode
ที่มา https://bit.ly/33y3oNA
ทำไมตั้งชื่ออัลบั้มว่า Bad Mode?
เออ มันมีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ สะท้อนสัญญะอะไรที่ลึกซึ้ง หรือมีความหมายที่เป็นส่วนตัวสำหรับฮิกกี้หรือเปล่า เธอให้คำตอบว่า “จริงๆ ฉันรู้ว่ามันดูไม่มีเหตุผลมากนักในภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ในภาษาญี่ปุ่น (การเขียนว่า Badモード) แต่ฉันว่ามันสมัยใหม่ดี และเมื่อคุณเห็นคำว่า Bad คนก็มักจะนึกถึงความรู้สึกแย่ๆ เครียดๆ หรือบรรยากาศที่แสนอึดอัด (Bad Vibe) โดยทันที”
“ใช่ นั่นแหละ..มวลอารมณ์โดยรวมของเพลงในอัลบั้ม อะไรก็ตามที่ตรงข้ามกับความรู้สึกในแง่บวก”
แล้วมันคือความรู้สึกตลอดการทำอัลบั้มของฮิกกี้หรือเปล่า “ก็ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกที่ฉันรู้สึกระหว่างการทำงานนี้ มันก็มีทั้งขึ้นและลงเหมือนทุกๆ คนแหละ โดยเฉพาะในช่วงเวลายากๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดแบบนี้”
ซึ่งคงเป็น Bad Mode ของจริงในความหมายของฮิกกี้-ที่ไม่ต้องอธิบายอะไรต่อให้มากความว่ามัน Bad แค่ไหน เราต่างเข้าใจกันดี
ได้แรงบันดาลใจจาก RuPaul Drag Race
ฮิกกี้เคยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำอัลบั้มก่อนๆ ว่า มักเกิดจากความรักและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
สวนทางกับอัลบั้มนี้ ที่ว่าด้วยความรักที่เธอมีให้ตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกและเรียนรู้ จากการเป็น ‘ติ่ง’ ขุ่นแม่แห่งแดรกควีน “ฉันรักรูพอลมากกก เธอคือแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประโยคที่เธอพูดเสมอว่า “if you can’t love yourself, how are you going to love somebody else? Amen!” คือโดนฉันสุดๆ”
ถึงขนาดจำเป็นประโยคได้ ไม่บอกก็รู้ว่าเธอคือสาวก Drag Race ตัวจริงเสียงจริง “ฉันดูรายการตั้งแต่ซีซั่นแรก ผู้เข้าแข่งขันหลายคนสุดยอดมาก จริงๆ ก็ทุกคนนั่นแหละ แต่ถ้าต้องเลือกสักคนที่ตรงจริตฉันจริงๆ ขอผายมือไปทาง Bimini Bon Boulash จาก Drag Race UK”
“ฉันรู้สึกถึงความคล้ายคลึงระหว่างฉันและเธอ มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นตัวเองเติบโตขึ้น หรือได้เปิดใจให้กับบางสิ่ง หรือค้นพบบางอย่างภายในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันเห็นผ่านตัวเธอ เป็นเหตุผลว่าทำไมฉันถึงแอบชื่นชมและเชียร์เธอเป็นการส่วนตัว”
ฮิกกี้เพิ่งคัมเอาท์กลางไลฟ์ของตัวเองเมื่อมิถุนายนปีก่อน (ซึ่งเป็น Pride Month) ว่าเธอเป็น ‘non-binary’ หรือเพศที่ไม่ได้ยึดตามกรอบความเป็นชาย-หญิง “จำได้ว่าฉันสั่นเล็กน้อยก่อนจะพูดมันออกไป และหลังจากวันนั้นก็ไม่เข้าโซเชียลไปพักใหญ่ เพราะปฏิกิริยาของคนคือดุเดือดมาก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น แต่ฉันก็แฮปปี้ที่ได้พูดมันนะ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต”
“เพราะมันทำให้เห็นว่า ความรักและการสนับสนุนที่ทุกคนมีให้ฉันนั้นสวยงามแค่ไหน”
ภาพปกอัลบั้มสุดชิลที่สะท้อนชีวิตแม่ๆ แบบเรียลๆ
เป็นอันรู้กันในหมู่แฟนเพลงของอูทาดะ ฮิคารุว่า ถึงเพลงในอัลบั้มเธอจะประเสริญเลิศเลอเพียงใด ก็มักจะตกม้าตายที่ภาพปกเสมอในทุกๆ อัลบั้ม ไม่เชื่อก็ลองเอาทุกปกมาวางเรียงกันสิ จะเกตทันทีว่าทำไมคนถึงเรียกเธอว่า ‘queen of ปกห่วย’ (อันนี้แบบซอฟต์ๆ)
ปก Bad Mode ก็ยังคงคอนเซปต์นั้น ไม่เชื่อก็เชื่อเหอะว่าภาพฮิกกี้ในอิริยาบถสบายๆ ภายใต้ชุดอยู่บ้าน กับเงาลูกที่วิ่งผ่านเฟรมแบบไวๆ ภาพนี้ จะถูกใช้หน้าปกอัลบั้มจริงๆ
หากจะว่าไป มันก็สะท้อนความเป็นแม่ (เลี้ยงเดี่ยว) ที่ต้อง work from home ในช่วงโควิดได้ดีทีเดียว งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเลี้ยง ก็ชุลมุนวุ่นวายประมาณนี้แหละในชีวิตจริง
อย่างไรก็ตาม ภาพปกนี้ไม่ได้ถ่ายโดยยามหน้าหมู่บ้านเธอเหมือนที่คนล้อ แต่แชะโดยช่างภาพมืออาชีพชาวญี่ปุ่นนาม Takay ที่ลอนดอนในปี 2021 - Takay ทำงานเป็นตากล้องที่นิวยอร์กและลอนดอนเป็นหลัก คร่ำหวอดในสายแฟชั่นและโฆษณา เคยถ่ายภาพให้กับนิตยสารดังหลายเจ้า รวมถึงภาพโฆษณาของ Armani Jeans, Emporio Armani, Y-3, Shiseido
ทั้งยังเป็นคนถ่ายภาพปกซิงเกิล PINK BLOOD ในอัลบั้ม Bad Mode, ภาพปกอัลบั้มที่ 7 ‘Hasukoi’ และอีกหลายๆ ภาพของฮิกกี้ด้วย - เรียกว่าเป็นคนที่ทำงานคุ้นไม้คุ้นมือกันอยู่แล้ว (และไม่ใช่ยามหน้าหมู่บ้านแต่อย่างใด)
ติดตามผลงานของ Takay ได้ที่ https://www.instagram.com/takayofficial/
เป็นอัลบั้มแรกที่ลูกชายของเธอมีส่วนร่วมด้วย
ลูกชายคนเดียวของอูทาดะ ฮิคารุ ลืมตาดูโลกเมื่อปี 2015 และเผลอแป๊บเดียวก็โตทันใช้แล้ว
เมื่อลูกชายของเธอมีส่วนร่วมในหลายๆ พาร์ทของอัลบั้ม Bad Mode - นอกจากจะโผล่มาร่วมเฟรมในภาพปก ยังมาช่วยถือกล้องถ่ายฟุตเทจมิวสิกวิดีโอเพลง One Last Kiss, อัดไวโอลินในเพลง BADモード และร่วมร้องในท่อนลอยๆ ช่วงท้ายๆ เพลง ‘Not in the Mood’
“นั่นแหละเสียงลูกชายฉันเอง ฉันทำเพลงนี้อยู่ในห้องที่บ้าน และเขาก็เดินมานั่งที่ตัก ฉันเลยเปิดเพลงนี้ให้ฟังแล้วถามว่าเขาชอบไหม เขาก็พูดถึงเรื่องการร้อง ฉันเลยถามต่อว่าอยากใส่เสียงตัวเองเข้าไปในเพลงหรือเปล่า”
เป็นที่มาของการมีเสียงเล็กๆ จ้อยๆ ของลูกชายอยู่ในเพลง ซึ่งฮิกกี้ก็ออกตัวว่า เธอใช้มันเพราะเข้ากับเพลงจริงๆ ไม่ใช่เพราะความเป็นแม่-ลูก “ฉันบอกเขาว่า แม่ให้สัญญาไม่ได้นะว่าเสียงนี้จะไปอยู่ในเพลงจริง แต่ก็จะพยายาม ซึ่งสุดท้าย พอเขาได้ฟังตัวไฟนอล ฉันก็บอกเขาว่าเสียงเขามหัศจรรย์จริงๆ ทำให้ช่วงสุดท้ายของเพลงกลายเป็นช่วงที่ดีที่สุดเลย เขาก็เสริมอีกว่า ที่จริงก็อยากให้มีเสียงตัวเองเป็นเหมือนเอคโค่ของเสียงฉันในท่อนฮุคด้วย คือเขาจะมีไอเดียแบบนี้เสมอ และก็มั่นใจที่จะพูดมันออกมา”
ไม่ต้องสืบเลยว่าความรักและพรสวรรค์ทางดนตรีของเขาได้มาจากใคร “เขาเคยพูดกับช่างตัดผมว่า ผมอยากจะเป็นนักร้อง เพราะแม่ผมก็เป็นนักร้องเหมือนกัน! ฉันรู้สึกโชคดีมากที่ได้รู้ว่าเขาเห็นในสิ่งที่ฉันทำ และภูมิใจในตัวฉันมาตลอด”
ให้ความรู้สึกสดใหม่และแปลกประหลาด เหมือนตอนทำอัลบั้ม Exodus
เมื่อถูกถามว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมา อัลบั้มไหนที่เธอภูมิใจกับมันที่สุด ฮิคารุก็ตอบแบบไม่ลังเลว่า Exodus อัลบั้มภาษาอังกฤษลำดับ 2 ของเธอที่ปล่อยตั้งแต่ปี 2004 “เพราะฉันรักในความกล้าหาญของตัวเองตอนทำอัลบั้มนั้นมากๆ และทุกวันนี้ เวลาเอากลับมาฟังใหม่ ซาวด์ของมันก็ยังแปลก ใหม่ และน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับฉันเหมือนเดิม”
ไม่แปลกที่เธอจะเลือก Exodus เพราะมันคืองานทดลองหัวก้าวหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ฮิกกี้ได้เล่นสนุกกับการหยิบโน่นมาชนนี่ จนได้เพลงอิเล็กทรอนิกส์-อาวองการ์ดชวนเหวอที่เกิดจากการผสมผสานกันของเครื่องดนตรีหลากชนิด โดยมีเพลงชูโรงที่แฟนๆ ยังจดจำกันได้อย่าง ‘Devil Inside’, ‘Easy Breezy’ และ ‘Exodus ‘04’
“ถัดจากนั้น ฉันออกอีกสองอัลบั้ม (Fantôme และ Hatsukoi) ซึ่งก็ยังเป็นกึ่งๆ งานทดลอง และก็เป็นประสบการณ์การทำงานที่สนุกไม่แพ้กัน” ฮิกกี้กล่าว “แต่พอมาอัลบั้มนี้ ฉันก็อยากกลับไปทำอะไรที่สุดโต่งหลุดโลกเหมือนตอนทำ Exodus มันเป็นความรู้สึกแห่งเสรีภาพที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นในใจฉัน ทำให้ฉันอยากจะทำงานที่ได้ปลดปล่อยตัวเองอีกครั้ง”
“ฉันอินกับ house music สุดๆ ตอนทำเพลง Find Love มีศิลปินหลายคนที่ฉันเพิ่งรู้จัก เช่น Moodymann และ Glenn Underground ซึ่งทำเพลงดีมาก ฉันว่าถ้าคุณได้ฟังเพลง May Datroit ของ Glenn Underground ก็จะรู้ทันทีว่าฉันได้อิทธิพลในการทำ Find Love จากไหน”
สำรวจเมืองต้นกำเนิดของมัน ผ่าน 5 อัลบั้มของศิลปินจากเมืองคิงส์ตัน ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เร็กเก้ยังคงเป็นอมตะอย่างทุกวันนี้