อ่านเส้นทางไปบ้านที่อาจารย์อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เขียนมาทางอีเมล – เลาะไปตามถนนข้างวัดดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เลี้ยวหักศอกเลียบแม่น้ำปิง ขวามือหาซอยเล็กๆ ส่วนตัวซอยหนึ่งแยกจากถนนหมู่บ้านแบบท้องถิ่น จะได้ยินเสียงหมาเห่าต้อนรับอย่างเอิกเกริก
เป็นเช่นนั้น ทันที่ที่เลี้ยวรถเข้าซอย ยังไม่ทันเห็นหลังคาบ้าน เสียงเห่ากรรโชกเซ็งแซ่รับแขก ประตูทางเข้าบ้านอาจารย์มีสองชั้น เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นมาจากความปลอดภัยของสุนัขเป็นหลัก หาใช่คน บนที่ดินหนึ่งไร่ครึ่งที่ล้อมรอบไปด้วยที่นาฉ่ำน้ำ กว่า 80% คือลานโล่งให้หมาได้วิ่งเล่น และต้นไม้ที่สูงใหญ่เบียดเคียงมากมายเสียจนกลืนบ้านไปทั้งหลัง ศิลปินหญิงและโสดใช้ชีวิตอยู่ลำพังกับหมาเกือบยี่สิบตัว ใครหลงเข้ามา ก็อาจคิดว่านี่เป็นมูลนิธิสุนัข แม้อาจารย์จะออกตัวว่าไม่ใช่ หากเมื่อได้พูดคุยถึงที่มาของสมาชิกแต่ละตัวในบ้าน – ตัวนี้เคยอยู่ที่คณะ ป่วย เลยต้องรับกลับมาเลี้ยง, อีกตัวโดนรถชน เก็บมาจากตลาด และอีกตัวเคยจรจัดอยู่เชียงรายและอาจารย์พากลับมา ฯลฯ - นิยามก็ไม่ต่าง
ผู้หญิง สุนัข และสำนึกเรื่องความตาย คือสามสิ่งแรกที่หลายคนจะนึกถึงศิลปินวัย 63 หนึ่งในผู้บุกเบิกที่ทางของศิลปินหญิงร่วมสมัยในประเทศนี้ - อาจารย์อารยาเกิดที่จังหวัดตราด เรียนศิลปะที่กรุงเทพฯ และเยอรมนี ก่อนจะกลับมาสอนหนังสือที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน ระหว่างเส้นทางดังว่า อาจารย์สร้างชื่อระดับโลกจากผลงานหลากเทคนิคที่ส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมคล้ายกัน - หากไม่เป็นการปั่นกวนกระแสหรือจารีตดั้งเดิมของสังคม ก็จะมีศพ, ความตาย และสุนัข มาเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ปฏิสัมพันธ์กับซากศพในห้องดับจิตในช่วงต้นยุค 2000s ไปจนถึงการพาหมาจรจัดไปใช้ชีวิตสุดหรูในกระท่อมของเมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี ในเทศกาลศิลปะระดับโลก dOCUMENTA (13) หรือการพาร่างไร้วิญญาณของสุนัขในรูปแบบสัตว์สตั๊ฟ ไปเป็นเพื่อนนั่งตักชมมหรสพโก้หร่านในเทศกาลศิลปะที่ต่างประเทศ เป็นต้น
ตัวตนและผลงานของอาจารย์เป็นอย่างไร เคหสถานก็เป็นแบบนั้น - ฝูงสุนัข, ผลงานศิลปะบางส่วน, ภาพถ่ายเก่าก่อนที่บ่มเพาะวิถีชีวิต, ความเรียบง่ายของสิ่งปลูกสร้างที่กลมกลืนไปกับพื้นที่สีเขียว ราวกับม่านต้นไม้ที่ปรกทับความเป็นอยู่ และร่างของหมาไร้ชีวิตที่ล้วนนอนสงบอยู่ใต้ผืนดินรอบบ้าน เว้นก็แต่ซากศพมนุษย์ที่ศิลปินไม่ได้พามาอยู่ด้วยกันที่นี่ บ้านอันเรียบนิ่ง หากก็เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา… องค์ประกอบประจักษ์ชัด นี่ไม่อาจเป็นบ้านของใครอื่น
อาจารย์ปลูกบ้านหลังนี้ปี 2001 ก่อนหน้านี้เคยอยู่ทาวน์เฮ้าส์ในซอยวัดเจ็ดยอด เป็นบ้านหลังแรกที่เชียงใหม่หลังกลับมาจากเยอรมัน แต่ความที่ในซอยวัดเจ็ดยอดมันพลุกพล่านไป สี่ทุ่มแล้วข้างบ้านยังมีปาร์ตี้ ตีสองนักศึกษาอีกหลังก็ยังไม่นอนกันเลย เลยตัดสินใจขับรถกับหมา ตระเวนหาที่ดินทั่วเชียงใหม่ ไปทุกทิศจนมาเจอที่นี่ เป็นที่นาชาวบ้านบอกขาย ตอนมาถึงหมาชาวบ้านสองตัวขาวกับดำมาเชื้อเชิญเดินไปบนที่ยาวลึกจากฝั่งถนน เป็นหน้าฝน มองผ่านสุมทุมเขียวรก เห็นทิวเขาขณะขบขำกับไมตรีของหมาเจ้าถิ่น ก็เลยซื้อ ถมที่นา และสร้างบ้านให้ลึกที่สุด ก่อนหน้านี้บ้านอาจารย์เหมือนเกาะกลางเวิ้งนาเลยนะ จนมีบ้านข้างๆเขาเห็นแววคฤหาสน์ของบ้านอาจารย์ เลยมาสร้างติดกันฝั่งหนึ่ง
อาจารย์พูดเสียงเรียบเย็นแฝงอารมณ์ขันระหว่างพาเราเดินผ่านสวนหน้าบ้าน แนวต้นหลิวสูงชะลูดขนาบไปกับทางเดินหินกรวดเข้าตัวบ้าน ซ้ายมือคือสนามหญ้ารูปวงรีล้อมรั้ว เป็น facility ของเหล่าหมาอย่างไม่ต้องสงสัย “เอาไว้วิ่งเล่นตอนเย็น” บ้านสีขาวยกไต้ถุนกึ่งปูนเปลือย มีรั้วกันด้านหน้าตรงสุดบันไดอีกหนึ่งชั้น อาจารย์เลื่อนเปิดให้เราเข้าไปพลางกันหมาจากหน้าบ้านไม่ให้ตามเรา
18 ตัวคือจำนวนสมาชิกปัจจุบันในบ้านหลังนี้ อาจารย์บอกว่าก่อนหน้าเรามาไม่กี่วัน สมาชิกตัวที่ 19 มีชื่อว่า ‘หนูนิล’ (ลูกหมาพิการที่ไปพบในสวน หลังจากถูกรถชนมาไม่นานในระหว่างที่อาจารย์หลีกหนีโควิด-19 ไปพำนักอยู่ที่สวนจันทบุรีเป็นเวลาสามเดือน จึงตัดสินใจนำกลับมารักษาที่เชียงใหม่) เพิ่งจากไป สมาชิกส่วนใหญ่ล้วนเป็นหมาพันธุ์ทางที่อาจารย์อุปการะมาจากที่ต่างๆ และความที่สมาชิกมีร้อยพ่อพันแม่และต่างรุ่น อาจารย์จึงต้องต่อเติมรั้วบ้านเพื่อแยกโซนหมาแก่-หนุ่ม / ใหม่-เก่า ออกจากกัน เพื่อป้องกันสงครามย่อยๆ ภายใน
"มีสามโซนหลักๆ คือโซนหน้าบ้านจะตัวใหญ่บู๊ๆหน่อย ‘เจ้างับ’ ที่ไม่คุ้นคนที่สุดก็อยู่ในกลุ่มนั้น ซึ่งถ้าใครมาก็ต้องกันเขาออกไป ส่วนกลางรอบบ้านและใต้ถุนที่ปล่อยผ่านมาได้จะเป็นหมามิตรภาพ และอีกโซนก็คือด้านหลัง กลุ่มนี้ก็จะวิ่งเล่นกันสลอนในสวนหลังบ้านเป็นหมาตัวขนาดประมาณกันเป็นนักสันติระหว่างหมานิยมล่าหนูงูอยู่กับกลุ่มแก่และป่วย บางตัวที่เพิ่งเอามาใหม่ก็จะให้อยู่ใต้ถุนทำเป็นห้องพักแบ่งเป็นพื้นปูน นอนและมีดินขับถ่ายมีเรือนพยาบาลหลังคาสูงคลุมไม้เถาติดมุ้งลวดกันยุงสำหรับหมาพิการมีถังส้วมไว้ฉีดล้างในตัว ตกกลางคืนก็ต้อนตัวแก่ๆกระย่องกระแย่ง กับหมาตาบอดที่ดูแลตัวเองไม่ได้มานอนด้วยกันในบ้านจะได้จากลากันด้วยความสุขว่าปฏิบัติต่อกันด้วยดีจนนาทีสุดท้าย" อาจารย์กล่าว
"อ่อ… แล้วก็มีอีกฝั่ง ดินแดนเล็กๆของหมาที่ตายแล้ว หมาชุดแรกๆที่มาอยู่ด้วยกันเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน อย่างเจ้าเนื้อ หรือน้ำตาลพอเขาจากไปอาจารย์ก็เอาฝังไว้ในสวนข้างหน้าต่างห้องนอนในหลุมรูปไข่ ปลูกไม้ดอกหอม พุดสามสี มหาหงส์แต่เน้นกุหลาบให้เขาอยู่ในสวนสวย ล่าสุดหนูนิลที่ตายปลูกต้นสายหยุดให้ แล้วฝังไว้ใกล้ๆ เลยตั้งชื่อสวนนี้ว่า ‘สวนเนื้อน้ำนิล’ เอาชื่อเจ้าของที่ดินทั้งสามมาตั้ง" อาจารย์เสริม ก่อนชี้ให้เราเห็นสวนดังกล่าว - สวนกุหลาบของผู้วายชนม์
ตอนสร้างบ้าน เพื่อนสถาปนิกถามว่าความเป็นไทยของบ้านหลังนี้อยู่ที่ไหน เราตอบว่ากลิ่นดอกไม้ไทย เวลาเดินในสวนจะมีกลิ่นโมก บุหงาส่าหรี ค่ำมีพุดตะแคง บางฤดูกาลมีกลิ่นดอกแก้ว ดอกพุดซ้อน หลายต้นยังหอมประหลาดในฤดูร้อน บ้างฝน แต่เราลืมชื่อไปแล้ว บ้านไม่เคยขาดกลิ่นดอกไม้ มันชโลมใจ จรุงใจ เตือนเราว่าโลกยังน่าอยู่อยู่บ้าง
อาจารย์เสริม
แตกต่างจากศิลปินส่วนใหญ่ ภายในบ้านของอาจารย์เรียบง่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ ผนังสีขาว พื้นปูนเปลือยทาอีพ็อกซี่ใส เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น หนังสือถูกเก็บอย่างเรียบร้อยในตู้กระจก ขณะที่งานศิลปะอย่างจิตรกรรมหรือประติมากรรมแทบไม่ปรากฏ เห็นจะมีแต่รูปเจ้าของบ้านถ่ายร่วมกับฝูงหมาและรูปครอบครัวในงานศพของแม่ (ขณะที่อาจารย์ยังมีอายุเพียงสามขวบ) ถูกขยายใหญ่ ใส่กรอบขรึมแขวนผนัง เคยเป็นส่วนประกอบของงานแสดงที่โตเกียวนานมาแล้ว (Vision of Happiness, 1995) มีก้อนเมฆจำลองขนหมากับผมขาวเจ้าของบ้านที่เป็นผลงานศิลปะคัดออกจากการขนส่งไปแสดงนิทรรศการเดี่ยวในนิวยอร์คครั้งล่าสุด (A Novel in Necessity’s Rhythm, 2020) ห้อยอยู่เหนือฟูกนอนในห้องสำหรับแขก ที่ซึ่งแสงแดดในยามสายลอดหน้าต่างมากระทบมลังเมลืองและงามแปลกตา แท่นเหล็กคล้ายเตียงหรือโลงศพ เก้าอี้ไม้มีรูปแม่ขาวดำอยู่ใต้เก้าอี้ จะเห็นเมื่อวางบานกระจกเก่าไว้ข้างใต้ เหล่านี้วางตัวระหว่างของใช้ในชีวิตกับบางส่วนของงานไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
อาจารย์บอกว่าเธอไม่แขวนงานศิลปะใดไว้เลย ไม่สะสมของอะไรด้วย อยากให้แวดล้อมเรียบเกลี้ยงที่สุด ขณะที่งานของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็อยู่ในไฟล์ดิจิทัล เห็นจะมีแต่กองเอกสารจากงานวิจัยที่สุมกันอยู่ร่วมกับอุปกรณ์บันทึกวิดีโอ ข้างคอมพิวเตอร์แมคอินทอชในห้องทำงานที่พอจะบอกได้ถึงวิชาชีพของเจ้าของบ้าน บ้านอาจารย์ไม่มีโทรศัพท์ (ขนาดโทรศัพท์มือถือเธอก็ยังเลิกใช้) อุปกรณ์สื่อสารต่อโลกภายนอก จึงมีเพียงคอมพิวเตอร์ที่เธอใช้เขียน-ตอบอีเมลกับนักศึกษา คิวเรเตอร์ เจ้าของแกลเลอรี่ และเพื่อน
ในความเรียบนิ่งที่แปลกตาที่สุดเห็นจะเป็นสระว่ายน้ำในร่มถัดห้องนอนอาจารย์สระวางตัวยาวขนานระเบียงไม้จากสุดฝั่งขวาชนริมฝั่งซ้ายของตัวบ้าน กระจกใสด้านหลังล้อมสระเผยให้เห็นสวนลั่นทม พิกุล จำปีใหญ่หลังบ้าน, อ่างเก็บน้ำกว้างผันมาจากแม่น้ำแม่สา, ทุ่งนาฉ่ำน้ำ มีทิวดอยสุเทพสีครามเคล้าเมฆไกลถัดออกไป อาจารย์ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำในสระแห่งนี้ ขณะที่การจับจ้องทิวทัศน์ดังกล่าว – หมอกปกคลุมดอยในยามเช้า, แสงแดดตกกระทบทุ่งนาและบ่อน้ำในยามสายหรือพระอาทิตย์ที่เคลื่อนคล้อยลับยอดดอยในยามเย็น ฯลฯ ก็ไม่ต่างอะไรจากการซึมซาบเข้าไปในงานศิลปะชั้นเยี่ยมสักชิ้นทิวทัศน์ที่ใครมาเห็นก็ต้องอิจฉา
นอกจากการว่ายน้ำ, เล่นและเลี้ยงหมา กับเตรียมการสอน (ปัจจุบันอาจารย์ยังสอนอยู่ที่สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์และปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อีกกิจกรรมสำคัญที่ทำในบ้านหลังนี้ อาจารย์บอกว่าเธอจะต้องอ่านหรือเขียนอะไรสักอย่างในแต่ละวัน หากไม่ใช่นิยายที่เขียนค้างไว้อยู่ ก็อ่านบทความศิลปะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เขียนความคิดตัวเองออกมาหาความหมายให้ได้สักสามสี่ประโยค การงานนิ่งๆนิดๆหล่อเลี้ยงหัวใจเฉกเช่นการทำงานศิลปะเคียงโคมไฟสวยที่หอบกลับมาหลังจากใช้สอยขณะอยู่ต่างแดนสมัยเรียนหรือสมัยไปเป็นศิลปินในพำนัก
“เราชอบแสงจากหน้าต่าง ปนแสงจากโคมดอกกุหลาบในกระถางริมหน้าต่างบานกว้างคุยกับกิ่งใบต้นไม้ในสวนเหล่านี้ปนๆกันเหมือนบทกวีหรือไม่ก็จิตรกรรมชิ้นเล็ก เคยปักดอกไม้ในแจกันแล้วไม่สบายใจตอนเขาเหี่ยวเลยยกกระถางมาไว้ขอบหน้าต่าง ห้องเขียนหนังสือ ห้องนอน ริมสระ”
ระหว่างอาจารย์เดินมาส่งเราที่รถ อาจารย์เล่าถึงเหตุผลสำคัญในการล้อมรั้วภายในบ้านรวมถึงรั้วรอบบ้านอย่างมิดชิด ความทรงจำถึง ‘เจ้าเนื้อ’ สมาชิกรายแรกๆ ของบ้านหลังนี้ที่ตอนนี้นอนอยู่ในหลุมใต้สวนกุหลาบ…
"ตอนมาอยู่บ้านนี้ใหม่ๆ มีช่องรั้วนิดเดียวหลิวหมาเก็บมาจากอุบัติเหตุบนถนนแหวกหนีไปจีบสาว เจ้าเนื้อลอดรั้วตามหลิวไป ไม่ใช่เพราะรักใคร่แต่ออกไปบ้าซึ่งก็ทำให้เย็นวันนั้นต้องเดินไหว้ชาวบ้านเป็นระวิง เหมือนเดินหาเสียงเลย มันไปไล่กัดเป็ดหน้าบ้านทั้งเล้า ทั้งเล้าจริงๆ กัดไก่ตายบนถนนเรียงรายบอกทางเข้าบ้านพร้อมรอยเลือดไปเก้าตัวข้ามทุ่งไปกัดขาฝูงวัวผูกไว้กลางทุ่งนา ข้ามถนนไปริมน้ำกัดไก่ชนของอดีตทหารที่เขาเลี้ยงไว้จนพิการ อาจารย์ต้องตามไปขอโทษชาวบ้านเจ้าของสรรพสัตว์ เขาก็ให้อภัยแต่ก็เตือนเข้มๆว่าคราวหน้าอย่ามีอีก จากนั้นอาจารย์ก็เดินไปเจอเจ้าเนื้อนั่งอยู่ริมตลิ่งน้ำแม่ปิง นั่งชมแม่น้ำตอนเย็นสุนทรีย์เชียวหละ เราก็เรียก ‘เจ้าเนื้อกลับบ้าน’ มันก็เฉย ไม่ได้ยิน ไม่กลับ นั่งแชเชือนดูแม่น้ำเฉิบอยู่อย่างนั้น สุดท้ายเราก็เลยเดินกลับคนเดียว กลายเป็นว่าเจ้าเนื้อแอบมานั่งปร๋อรอประจบอยู่หน้ารั้วแล้ว…เหนื่อย สะบักสะบอมสุดๆเพราะไล่ตามกันในฉากของหนังแอ๊คชั่นเพี้ยนๆ กรีดร้องเป็นชั่วโมง เจ้าเนื้ออยู่ทาวเฮ้าส์มาสี่ปี เดินทางใกล้ไกลไปพันกิโลเป็นสิบรอบพร้อมสายจูงไม่เคยขาด ถือเป็นการฉลองอิสรภาพปล่อยความเก็บกดมาทั้งชีวิตอย่างหาที่เปรียบมิได้ ก็เข้าใจ สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำรั้วบ้านให้แข็งแรงอย่างที่เห็นนี่แหละ" อาจารย์เล่าอีกว่า
"ครั้งหนึ่งเรา เจ้าเนื้อ น้ำตาล หมารุ่นแรกออกจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพด้วยกันสามตน ใช่สามตน” อาจารย์ย้ำ… “เราขับ หมาให้กำลังใจ ห่อข้าวไปกินทั้งคนและหมานั่งกันตรงชายป่า มีสายรัดตลอดไม่เคยปล่อย เจอรถชนที่อยุธยา แถมเข้ากรุงเทพไปหลงตรงทางสร้างใหม่แถวบางบัวทอง นัดกินข้าวกับลุงเยอรมันแถวท่าอิฐหกโมง เราถึงบ้านแกสี่ทุ่ม ลุงประชดว่าเราตรงเวลาจริงๆ พอแกเห็นเราเอาหมาขึ้นบันไดบ้านไม้ขัดมันของแก แล้วไปกระโดดขึ้นเตียงหรูแผ่หราในห้องนอน แกว่า เธอเลี้ยงหมาไม่เป็นหมาเลย ฤทธิ์เดชของเจ้าเนื้อตอกย้ำคำลุงวันนั้น”
เมื่อเดินมาด้วยกันถึงหน้าบ้าน อาจารย์รับไหว้ร่ำลาเราอีกครั้ง นึกขึ้นได้ว่าอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับเราเมื่อปีที่แล้ว ถึงความรู้สึกอิ่มกับชีวิตกับความคิดที่จะหาวิธีจากโลกนี้ไปในทุกขณะจิต กระนั้นก็ตาม การมาเยือนบ้านหลังนี้ ก็ทำให้เราก็ประจักษ์ว่าหนึ่งในเหตุผลที่อาจารย์ยังคงดำรงลมหายใจ ทำงาน และสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป หาใช่อื่นใดเลย นอกจากมิตรภาพจากฝูงเพื่อนสี่ขาที่เดินตามเธอมาส่งเราที่รถ… และแน่นอน พวกมันบอกลาเราด้วยเสียงเห่าเอิกเกริก เช่นตอนที่เข้ามา
ปัจจุบันอาจารย์อารยากำลังทำโครงการศิลปะ Necessity’s Rhythm เปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือสุนัขจรจัด ไปพร้อมกับเป็นสปอนเซอร์ให้เธอทำการุณยฆาตตัวเองที่ต่างประเทศ (https://puthertosleepsaveusandours.com/) และในเดือนตุลาคมนี้ อาจารย์เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยไทยร่วมจัดแสดงใน Bangkok Art Biennale 2020 ติดตามได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ภาพถ่ายโดย ปฏิภาณ ดาวราม
จากเด็กวัด หนุ่มบาร์ นักวาดการ์ตูน สู่ศิลปินพเนจรที่ตอนนี้อยู่เชียงใหม่
เยือนบ้านที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์
เยือนบ้าน ห้องสมุด และที่ทำงานของนักจัดคอนเสิร์ตที่ฮิปที่สุดในลพบุรี