BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
สนทนา: ในภาวะตาสว่างของศิลปิน
  • สนทนา
  • Aug 14,2021

สนทนา: ในภาวะตาสว่างของศิลปิน

คุยกับ วิทวัส ทองเขียว ผู้ใช้ภาพเรียลลิสติกบอกเล่าความเหนือจริงของสังคมไทย

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

วิทวัส ทองเขียว เรียนปริญญาตรีถึงปริญญาเอกที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาสร้างชื่อจากภาพจิตรกรรมเรียลลิสติกแลนด์สเคป (realistic landscape) ที่สมจริงและประณีตราวกับภาพถ่าย และนั่นทำให้เขากวาดรางวัลระดับประเทศมาแล้วมากมาย อย่างไรก็ดี เขาไม่ปฏิเสธว่าด้วยสภาพแวดล้อมแบบ ‘ศิลปากร’ เข้มข้น มีส่วนทำให้เขาเคยมีวิธีคิดแบบรัฐนิยม ทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ เพื่อรับใช้เบื้องลึกของจิตใจ หรือเพื่ออะไรก็ตามที่ไม่ได้ไกลไปกว่านิยามของศิลปินฝ่ายขวา…

แต่นั่นล่ะ ราวสิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงกลางกรุงเทพฯ ไม่นาน มีหลายปัจจัยที่ทำให้วิทวัส ‘ตาสว่าง’ ซึ่งส่งผลให้เขาย้อนกลับมาตั้งคำถามกับงานทุกชิ้นที่เขาเคยหรือกำลังทำ นั่นทำให้เขาหยุดเขียนรูปไปเกือบ 4 ปี เพื่อแสวงหาความหมายส่วนตัวของการทำงานศิลปะ

หลังห่างหาย วิทวัสยังคงกลับมาทำงานเรียลลิสติกแลนด์สเคปแบบที่เขาคุ้นเคย กระนั้นก็มีหลายสิ่งต่างออกไป โดยผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ผ่านนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่ของเขา Prelude (2561) รวมถึงนิทรรศการล่าสุด นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument (2564) ที่กำลังจัดแสดงที่ SAC Gallery ขณะนี้

“เมื่อคุณตาสว่างแล้ว คุณจะไม่สามารถหรือแม้แต่แสร้งกลับไปคิดหรือเชื่ออะไรแบบเดิมได้อีก” วิทวัส กล่าว ในห้วงเวลาที่วิทวัสกำลังมีงานแสดงชุดใหม่ที่เราเห็นว่าโคตรน่าสนใจ Bots World เลยถือโอกาสชวนเขาคุยในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่จุดยืนทางศิลปะ การเปลี่ยนผ่าน และภาวะตาสว่างผ่านงานศิลปะที่เขาทำในช่วงหลายปีหลังมานี้

 

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

 

เริ่มจากชื่อนิทรรศการครั้งนี้ก่อน คุณตั้งว่า นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument ซึ่งเป็นการเล่นคำพ้องเสียงและมีความหมายสื่อไปถึงการเมืองอย่างชัดเจน เลยอยากให้ขยายความที่มาให้ฟังหน่อยครับ

ชล (ชล เจนประภาพันธ์, ภัณฑารักษ์ SAC Gallery) และอาจารย์ธาริตา (ธาริตา อินทนาม, อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ช่วยกันตั้งครับ ชื่อ นิ/ราษฎร์ มาจากเนื้อหาในงานของผมที่ส่วนใหญ่เป็นงานเรียลลิสติกซึ่งวาดมาจากภาพถ่ายอีกที ชลจึงเห็นว่า การเก็บภาพถ่ายของผมตลอด 3-4 ปีมานี้ก็เหมือนการเดินทางเพื่อบันทึกเรื่องราว เขาก็เลยใช้คำว่า ‘นิราศ’ ขึ้นมาเป็นภาษาไทยก่อน แล้วเราก็เปลี่ยนคำว่าราศเป็น ‘ราษฎร์’ ที่หมายความถึงผู้คนธรรมดา ซึ่งเป็นหัวใจหลักในงานชุดนี้

ส่วนภาษาอังกฤษคือมาจากคำว่า Royal Monument คือเวลาเรามองสภาพแวดล้อมของเมืองในปัจจุบัน เราจะเห็นสิ่งปลูกสร้างและวัตถุแห่งความทรงจำกระจัดกระจายเต็มไปหมด และใช่ ในสิ่งปลูกสร้างกระแสหลักมันล้วนเชื่อมโยงกับสถาบันหลักของประเทศ เป็น Royal Monument

ทีนี้งานศิลปะของผมคือการวาดพื้นที่และผู้คนธรรมดา มันก็คล้ายกับการสร้าง monument คู่ขนาน เราเลยใช้เป็นตัว L แทนตัว R ใน Royal เหมือน L คือ Left ส่วน R คือ Right ผมชอบตรงนี้มาก เพราะระหว่างทำงานผมทำด้วยสำนึกที่ชัดเจนมาตลอดว่าจะไม่มีตรงกลางอีกต่อไป คือถ้าไม่ขวาก็ซ้าย คุณจะเลือกไปทางไหน เพราะฉะนั้นนิทรรศการนี้ก็เลยเป็นการบอกตรงๆ อีกแบบหนึ่ง ว่าเราที่เป็นศิลปินคือตัวผมไม่อยู่ตรงกลาง ไม่มีงานนี้อยู่ตรงกลางก็คือเลือกแล้วไม่ขวาก็ซ้าย ไม่บนก็ล่าง

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

เรารู้จักงานของคุณครั้งแรกในนิทรรศการ Prelude ซึ่งเป็นนิทรรศการเดี่ยวที่ SAC Gallery เมื่อปี 2561 และก็จดจำคุณได้ดีในฐานะศิลปินทำงานแลนด์สเคปสมจริง ขณะเดียวกันก็มองเห็นถึงความตั้งใจจะสื่อความคิดทางการเมือง และความยั่วล้อสังคมในหลายระดับ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นยังปรากฏในนิทรรศการชุดใหม่นี้ที่กลับมาจัดแสดงที่แกลเลอรี่แห่งเดิม เลยอยากให้เล่าถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวให้ฟังหน่อยครับ

ต้องเล่าย้อนไปที่งานนิทรรศการ Prelude ที่ถือเป็นงานตั้งต้นของนิทรรศการนี้ เป็นการรวมผลงานทั้งหมดที่ผมทำตั้งแต่เรียนปริญญาเอก เริ่มสะสมมาตั้งแต่ปี 2557 ไปจนถึง 2560 ก่อนมาแสดงในปี 2561 โดยในคอลเลกชั่นนั้นมีเพ้นท์ติ้งเกือบ 30 ชิ้น แล้วเราก็ได้พื้นที่ของ SAC Gallery ทั้งหมด 2 ชั้น เลยแยกพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ส่วนที่เป็นงานเพ้นท์ติ้งในห้อง 1-3 ส่วนห้องที่ 4 เป็นงานทดลอง ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองควรทำอย่างอื่นด้วยไม่ใช่ว่าทำแต่งานเรียลลิสติกอย่างเดียว ความคิดเราเปลี่ยนตั้งแต่ตัววิทยานิพนธ์ชิ้นท้ายๆ ตอนปริญญาเอก ถ้าจำได้มันจะเป็นงานชิ้นหนึ่งเป็นแถบสีน้ำเงินใหญ่ๆ อยู่บนกำแพง แล้วมันก็จะมีโต๊ะเก้าอี้เด็กอนุบาลตั้งอยู่เป็นงานอินสตอเลชั่นประกอบกับงานจิตรกรรม ก็เกิดจากกระบวนการที่ไปขอความเห็นจากคนในเฟซบุ๊ค เพื่อหาข้อความบางอย่างมาปั๊มลงบนงานแถบสีน้ำเงิน จนมันกลายเป็นสีน้ำเงินเข้มเป็นแผ่น รวมถึงงานวิดีโออาร์ทฉายบนเฟรมที่บิดไปมาคล้ายกระดาษ

มันจะมีงานทดลองแบบนี้อยู่ประมาณ 2-3 ชิ้นในชุดที่แล้ว พอมาแสดงงานชุดนี้จึงถูกคิดทันทีเลย ซึ่งก็อย่างที่เห็นโดยเฉพาะในห้องที่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผมได้ทดลองเทคนิคใหม่ที่ผมไม่เคยทำ โดย เป็นงานอินสตอเลชั่นกองหนังสือที่ผมอ่านและช่วยเปลี่ยนความคิดผม

ก่อนหน้าที่คุณจะมาแสดงงานนิ/ราษฎร์ คุณมีงานแสดง 841.594 ที่ Cartel Artspace ด้วย ชุดนั้นคุณนำเสนอแลนด์สเคปในเฟรมขนาด A1 โดยในวันเปิดงานคุณมีพิธีกรรมฝังหมุดคณะราษฎรลงบนพื้นแกลเลอรี่ด้วย อันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานทดลองของคุณด้วยไหม

อันนั้นเป็นกิมมิกมากกว่าครับ วันเปิดนิทรรศการนั้นคือวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ซึ่งวันนั้นมันมีนัยทางการเมืองหลายอย่าง แล้วทางไลลาและโจ (ไลลา พิมานรัตน์ และอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ – ภัณฑารักษ์) ก็เลยคิดกิมมิกให้กับงานด้วยการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรลงบนพื้นแกลเลอรี่ ก็มีแผนจะชวนไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) และแกนนำคนอื่นๆ มาร่วมงานด้วย แต่ก่อนที่งานจะเปิดมันมีเหตุชุมนุมพอดี ทุกคนก็โดนตำรวจจับกันไปหมดก่อน เราเลยเปิดกันเอง อย่างไรก็ดี นี่เป็นความพยายามหาอะไรมาเล่นในวันเปิดงานมากกว่า ไม่ได้ยึดถือว่านี่เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์อะไร

 

‘หมุดคณะราษฎร์’

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw
หมุดคณะราษฎรในนิทรรศการ 841.594 ที่ Cartel Artspace ที่มา: Facebook: Cartel Artspace

 

คุณเล่าว่าคุณเรียนศิลปะมาด้วยสำนึกแบบศิลปินฝ่ายขวา แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณนิยามมันว่า ‘ตาสว่าง’

มันมีหลายปัจจัยนะ แต่หลักๆ น่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. 2551 ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับอาจารย์น้ำอ้อย (ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ) ตอนแรกๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่อาจารย์คิดหรือแสดงออกทางสังคมการเมืองช่างขัดใจเราเหลือเกิน แต่พอคลุกคลีมากเข้า จึงพบว่าแกมีหลักการที่ชัดจากการที่แกอ่านหนังสือมาก แกเลยใช้เหตุผลได้ดี และถึงแม้ผมพยายามหาข้อมูล หรือเหตุผลมาหักล้างแกในหลายๆ ประเด็น แต่ก็พบว่าเราจำนนต่อหลักฐาน

ต้องเข้าใจก่อนว่าก่อนหน้านั้นผมไต่เต้ามาแบบศิลปินที่จบจากศิลปากรเลยนะ ทำงานที่อาจารย์ผู้ใหญ่ยอมรับ และก็ได้รางวัลทางศิลปกรรมระดับชาติ คือคิดว่าทำงานของเราให้สวย ให้คอลเลกเตอร์มาสะสม ไม่ได้มีอะไรมาก แต่พอได้คุยกับอาจารย์น้ำอ้อยซึ่งทำให้เราได้อ่านหนังสือเพื่อหาเหตุผลมาถกเถียงกับแก ก็พาลทำให้ผมย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงความเป็นไปในประเทศ พอสงสัยมากเข้าก็เปลี่ยนเป็นความหวาดระแวง มันเหมือนภาพยนตร์เรื่อง True Man Show ที่ จิม แคร์รี่ แสดง คือพอตัวเอกเข้าใจปุ๊บ ก็ไม่เคยจะหยุดสงสัยในทุกอย่างรอบตัว ตอนนั้นก็ส่งผลกับชีวิตเพราะว่าหลังจากนั้นอีกประมาณ 2-3 ปีก็ป่วยคล้ายจะเป็นซึมเศร้าเลย มันเหมือนขาดหลักยึด พอความเชื่อเปลี่ยน สิ่งที่เคยยึดเหนี่ยวมันหายไปสิ้น จนมาพบว่าการอ่านหนังสือเพิ่มเติมความรู้นี่แหละ คือเครื่องยึดเหนี่ยวที่แท้จริงของเรา

สิ่งนี้มันยังส่งผลต่อนิทรรศการปัจจุบันนี้ด้วย อย่างเห็นได้ชัดคือห้องสุดท้ายที่มีชื่อว่า The Artist’s Trial คือมันเป็นการทดลองหาพื้นที่ของศิลปิน กระบวนการทั้งหมดว่ามันเจออะไรมาบ้างก็เลยเอาหนังสือที่ผมอ่านและเก็บไว้ที่บ้านนี่แหละ หนังสือพวกนี้ทำให้ผมตื่น ทำให้ผมและอีกหลายคนในประเทศนี้ตาสว่าง เลยเอามาจัดเรียงซ้อนๆ กันเพื่อหวังให้มันดันเพดาน เป็นงานอินสตอเลชั่นไปเลย

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

ได้ทราบว่าคุณทดลองซ้อนหนังสือไว้หลายรูปแบบ เพื่อจะพบว่ากองหนังสือที่คุณเรียงมันพังลงมาหลายต่อหลายครั้ง อยากทราบว่านี่เป็นกระบวนการเพอร์ฟอร์แมนซ์ด้วยหรือเปล่า

ไม่ได้คิดแต่แรกว่าจะต้องเป็นอะไร จุดประสงค์จริงๆ ก็คือจะเอาหนังสือมาเรียงทีละเล่มเพื่อดันเพดานแต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะว่าความสูงของห้องประมาณ 3.5 เมตร แรงกดมันจะทำให้หนังสือค่อยๆ โค้งและโค่นลงมา พอทำไปก็พบว่าทำครั้งที่ 1 ยังไม่ทันเรียงถึง 3 เมตรก็คว่ำ ก็เลยพยายามเป็นครั้งที่ 2 คือทำฐานหนังสือให้หนาขึ้น อาจจะเป็น 3 ตั้ง หรือ 4 ตั้ง ค่อยๆ เพิ่มฐาน กลายเป็นว่ามันก็เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ เพราะว่าตอนที่หนังสือล้มมันก็ตรงกับช่วงที่วันก่อนเปิดนิทรรศการพอดี น่าจะไปเรียงรอบที่ 3 วันก่อนเปิดงานวันที่ 24 มิถุนายน พอวันรุ่งขึ้นตอนเช้ามันก็โค่นไปแล้ว ก็เลยบอกกับคิวเรเตอร์ให้ปล่อยไปเลยเพราะว่าฟลอร์มันสวย ให้คนเห็นว่ามันเป็นกระบวนการที่ทำไม่สำเร็จ เพราะว่าการดันเพดานมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เลยว่างั้นก็ใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปทุกๆ สัปดาห์ ถ้ามันล้มอีกสัปดาห์นึงก็ไปเรียงใหม่ ล่าสุดพอเรียงเสร็จหลังจากเปิดงานมันก็ล้มอีกแต่มันอยู่ได้นานขึ้นประมาณ 2 วัน

ขอย้อนกลับมานิด ตรงที่คุณบอกว่าได้หยุดทำเรียลลิสติกแลนด์สเคปไปพักหนึ่ง เพราะหาวิธีเชื่อมโยงความคิดทางการเมืองกับทักษะส่วนตัวไม่ได้ แล้วอะไรทำให้ค้นพบการเชื่อมโยงนี้ครับ

ปกติแล้วนะครับถ้าเราเป็นคนที่เคยทำงานเพ้นท์แบบที่ต้องใช้คำว่าระบบของสถาบันหลักเลย เขาจะให้เราพยายามคิดให้เป็นสไตล์ขึ้นมา แล้วศิลปินก็จะดิ้นรนหาสไตล์อย่างเดียวเลย เมื่อไหร่ที่เราหาเจอปุ๊บ ก็คือเราทำสำเร็จแล้ว เราก็จะยึดสิ่งที่เราหาไว้อย่างแน่นที่สุดเพราะมันทำได้ยากมาก คุณจะสังเกตเห็นว่าศิลปินหลายคนที่พบสไตล์ที่ชัดแล้ว เอางานตลอด 10 ปีมาเรียงต่อกัน จะเห็นความเปลี่ยนแปลงน้อยมากเลยนะ แต่นั่นล่ะ มันมีคำที่อาจารย์ที่ศิลปากรเคยบอกผมเลยว่า ถ้าเราหาสไตล์ตัวเองได้แล้ว อย่าเปลี่ยนสไตล์บ่อย เพราะมันสะท้อนถึงความไม่มั่นคง

ผมก็มีคำถามในใจว่าไม่มั่นคงกับอะไรวะ ซึ่งถ้าเชื่อตามที่อาจารย์บอก ผมก็อาจทำแลนด์สเคปแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีพัฒนาการอย่างมากก็แค่แทนที่จะเป็นรูปร่างก็จะเป็นวงน้ำ เป็นนามธรรม คิดแล้วอายนะ จนช่วงที่เราตาสว่างนี่แหละ ผมก็ไปไม่เป็นเลย เราจะวาดรูปเหมือนอย่างนี้ไปเพื่ออะไร ผมเลยหยุดเขียนรูปไปเกือบ 3 ปีครึ่ง ช่วงนั้นคือหยุดไปอ่านหนังสืออย่างเดียว จนเวลาผ่านไป เราก็คิดว่าไม่ได้ล่ะ ต้องกลับมาวาดแล้ว แล้วตอนนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากงานของ นที อุตฤทธิ์ พอสมควร งานของนทีเรียบนิ่ง ดูเหมือนง่ายมาก แต่มันไว้ใจไม่ได้ เพราะความนิ่งมันกลับซ่อนสาสน์บางอย่างไว้ เราลองคิดแบบที่นทีคิด และเริ่มทำในแบบของเรา

งานชุดแรกหลังจากเราที่เรากลับมาเขียนรูปใหม่ก็จัดแสดงที่ศุภโชค แกลเลอรี่ (SAC Gallery ในปัจจุบัน - ผู้สัมภาษณ์) ชื่องาน Mythical Reality จัดแสดงปี 2557 เป็นงานที่ผมเริ่มใช้จิตรกรรมตั้งคำถามสังคม โดยมีสองประเด็นหลักๆ คือตั้งคำถามถึงความจริงและความเชื่อ แต่ก็ไม่ได้ทำในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลึกอะไรหรอก พูดตรงๆ ก็กลัว 112 อยู่ แต่หลังจากนั้นงานก็ค่อยๆ พัฒนามา จำได้ว่าผมเอางานชุดนี้ไปสอบเข้าปริญญาเอกที่ศิลปากรด้วย

คุณบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณเคยมีความคิดแบบศิลปินฝ่ายขวาคือการเรียนที่ศิลปากร แต่หลังจากคุณตาสว่างแล้ว แต่คุณก็กลับไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ศิลปากรอีกเนี่ยนะ?

เอาจริงๆ คือพอผมเริ่มตั้งคำถามช่วงปี 2551-2552 ผมกลับไม่ได้สงสัยสถาบันตัวเอง คือแค่คิดว่าจะเรียนต่อ ก็เลยเรียนศิลปากรนี่แหละ แต่พอเข้าไปในสายตาอีกแบบ แล้วนี่มันฉิบหายเลยนะ อย่างที่บอกว่าพอเราตาสว่างแล้ว เราจะกลับมาคิดหรือเชื่อแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว แม้กระทั่งแสร้งทำ แล้วก็พบว่าอึดอัดมากๆ

พอจะเล่าได้ไหมว่ามันเป็นยังไงในเวลานั้น

ง่ายๆ ก็คือคุณมีทั้งคณบดี อาจารย์ และรุ่นพี่ที่เป็นศิลปินกลุ่ม Art Lane เป่านกหวีดร่วมกับ กปปส. ล้มเลือกตั้ง และชวนให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ซึ่งทำให้ประเทศเราพังมาจนถึงทุกวันนี้ และคนพวกนี้ก็อยู่ในระบบอุปถัมภ์อันเหนียวแน่นมาตลอด ถ้าคุณคิดไม่เหมือนกับพวกเขา คุณก็แทบจะไม่มีที่ทางในมหาวิทยาลัยหรอก อย่างไรก็ตามผมก็ยืนยันในจุดยืนผ่านการทำธีสิสนะ ซึ่งมันก็ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ Prelude (2561) โดยมีงานที่ทำเพิ่มเป็นเพ้นท์ติ้งรูปธนบัตร 20 บาท แล้วมาพับเป็นรถถัง รวมถึงงานเรียลลิสติก 7 สีที่ตั้งใจทำให้สีมันเละไปมาจนเหมือนงานนามธรรม

จำได้ว่ามีงาน ‘ทุ่งลาเวนเดอร์’ ที่เป็นอินสตอเลชั่นวิพากษ์วาทกรรมหลักของชาติด้วย ใช่ในนิทรรศการนี้หรือเปล่าครับ

ใช่ครับ มันเป็นทุ่งตัวอักษรสีขาวจัดเรียงบนพื้นที่อัตราส่วนเดียวกับธงชาติ ถือเป็นความบ้าเลือดประมาณหนึ่ง เพราะผมลงทุนทำให้ขนาดมันเต็มห้องนิทรรศการ สุดท้ายก็เจ๊งเพราะมันขายไม่ได้ จมทุนหมดเลย แต่มันได้ความสะใจว่าเราเคยทำอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

 

Lavender Field

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

Lavender Field งานอินสตอเลชั่นจากนิทรรศการ Prelude (2561)

 

กลับมาที่นิทรรศการล่าสุด นอกจากการแบ่งห้องเล่าเรื่องที่มี message ชัดเจน ผมสนใจวิธีการเซ็ทอัพแสงสว่างของแต่ละห้องซึ่งดูเหมือนตั้งใจจะสื่อสารอะไรบางอย่าง พอจะเล่าได้ไหมครับ

ความคิดเกี่ยวกับแสงมาทีหลัง มันมีคำศัพท์คำหนึ่งที่เป็นหัวใจของความคิดนี้คือ Interregnum มันแปลได้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน หัวเลี้ยวหัวต่อ หรือช่วงที่ไร้ผู้ปกครองประเทศ จำได้ว่าฟังคำนี้มาจากอาจารย์ปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล) ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ งานแลนด์สเคปของผม มันคือการบันทึกทิวทัศน์ในห้วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังตก และแสงห้องที่หนึ่งมันจะออกเฉดเทา พอคุณเดินไปห้องถัดมาเรื่อยๆ ไฟในแต่ละห้องก็จะค่อยๆ หรี่ลง

ในวันเปิดงาน มีนักข่าวมาถามผมว่าดูภาพงานท้องฟ้าที่มันครึ้มๆ แบบนี้ จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นตอนย่ำรุ่งหรือย่ำค่ำ ผมบอกว่าจริงๆมันก็ตีความได้เยอะ แต่ถ้าเราดูนิทรรศการจนจบ อาจจะทราบเองว่าเป็นเช้าหรือค่ำ อย่างที่คุณตั้งข้อสังเกต งานนี้ก็เป็นงานแรกที่ผมเซ็ทเรื่องแสงให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานไปด้วย

 

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

และมีอีกสื่อหนึ่งที่เห็นจากงานคุณเป็นครั้งแรกซึ่งจัดแสดงในห้องที่ 3 คือภาพถ่ายจริงๆ และภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก

ผมถ่ายรูปเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะดังที่บอกผมเขียนรูปจากภาพถ่ายที่บันทึกมา อันนี้มันเกิดจากความคิดว่าห้องแรกเป็นจิตรกรรมแลนด์สเคปไปแล้ว ส่วนห้องสองก็เป็นจิตรกรรมรูปบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้ว ห้องที่ 3 นี้เลยไม่อยากทำงานเพ้นท์อีก เลยลองแสดงภาพถ่ายที่ผมสะสมไว้ ภาพส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้าน เป็นคนยากจน คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเหลื่อมล้ำในสังคม และเลือกหนึ่งรูปที่เป็นไฮไลท์มาพัฒนาให้เป็นฟิล์มกระจก เพราะฟิล์มกระจกมันสื่อความหมายถึงชนชั้นชัดเจน

เพราะฟิล์มกระจกเป็นของแพงหรอครับ

ส่วนหนึ่งครับ แต่หลักๆ คือ มันเป็นของเล่นชนชั้นสูง ถูกนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพฟิล์มกระจกมันถูกใช้บันทึกรูปกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์เป็นส่วนใหญ่ กระทั่งทุกวันนี้ฟิล์มกระจกก็เป็นของเล่นของชนชั้นสูงอยู่ เพราะกระบวนการผลิตมันแพงมากๆ มีแต่อีลิทที่อยากบันทึกภาพตัวเองด้วยฟิล์มกระจก ผมเลยคิดว่าในเมื่อนิทรรศการนี้มันคือการสร้าง monument ผ่านสามัญชนแล้ว ก็เลยเอาของเล่นของอีลิทมาบันทึกชีวิตของวณิพกบ้าง

ในฐานะที่คุณเคยมองว่าตัวเองเคยเป็นศิลปินฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก่อนจะเปลี่ยนความคิด และมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน คุณมองเห็นแนวโน้มแบบนี้จากศิลปินคนอื่นๆ หรือในแวดวงบ้างไหม

ผมบอกได้แค่จากมุมที่ผมสำรวจในเฟซบุ๊คนะอาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกลุ่มศิลปินที่ทำงานจริงๆ เห็นวิธีคิดและจุดยืนที่เปลี่ยนไปพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยน ศิลปินเหล่านี้อาจรู้มากขึ้น อ่านมากขึ้น และเริ่มตั้งคำถามกับประเทศนี้อย่างจริงจังมากขึ้น จนมีผลต่อเนื้อหาในงานศิลปะของพวกเขา กับอีกส่วนคือเขาเปลี่ยนเพราะกระแสมันเปลี่ยน พูดตรงๆ ก็คือกลุ่มศิลปากรเป็นแบบนี้ไม่น้อยนะ เหมือนคนที่เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ขอให้เป็นสูตรสไตล์ที่มันอยู่ในยุคนั้นแล้วงานขายได้ ถ้าพูดง่ายๆ คือพวกกลัวตกขบวนนั่นล่ะครับ

 

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

แต่ไม่ว่าจะแบบแรกหรือแบบหลัง เราพอจะมองว่านี่เป็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงได้ไหมครับ

ถ้าหมายถึงศิลปินที่ทำงานโชว์ตามแกลเลอรี่ผมว่ายังน้อยอยู่มากผมกลับอิจฉาคนทำงานศิลปะผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าซึ่งพวกเขาเอาศิลปะมาขับเคลื่อนได้จริงอย่างสินาวิทยวิโรจน์ที่งานของเขาสร้างอิมแพคให้คนรุ่นใหม่เขาสร้างงานได้ทุกวันและยิงเข้าโซเชียลมีเดียร่วมไปกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นรวมถึงศิลปินอย่างกระเดื่อง (พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง) หรือกลุ่มศิลปะปลดแอก คนทำงานศิลปะเหล่านี้สร้างพลวัตได้จริงมากกว่า

ถ้ามองอย่างนั้น ดูเหมือนว่าศิลปะในแกลเลอรี่หรือในหอศิลป์ไม่ได้มีความสำคัญต่อการเมืองหรือครับ

ผมไม่ได้หมายความแบบนั้นศิลปะในแกลเลอรี่มันมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลาน่ะกว่าผมจะมีนิทรรศการเดี่ยวหนึ่งครั้งต้องใช้เวลารวมงานกว่า 3 ปี อย่างนี้ แต่ศิลปินที่ใช้โซเชียลมีเดีย หรือสตรีทอาร์ท เขาทำงานและเผยแพร่ได้ทันทีเลย อย่างไรก็ดีฟังก์ชั่นของศิลปะในหอศิลป์มันก็คนละแบบกับในโซเชียลมีเดียนะ แต่ถ้ามองเฉพาะการเป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนการเมือง ทั้งสองพื้นที่มันควบเดินควบคู่กันไปมากกว่า

แล้วถ้ามองในเชิงหอศิลป์หรือแกลเลอรี่ มันเริ่มมีสเปซที่เปิดกว้างให้พูดถึงการเมืองมากขึ้นหรือยัง

ผมมองว่ามันยังเหมือนเดิมมากกว่าเจ้าของสเปซมีจุดยืนหรือรสนิยมแบบไหนเขาก็เลือกศิลปินมาจัดแสดงแบบนั้นซึ่งมันก็ตอบโจทย์กับการตลาดและนักสะสมของเขาด้วยขณะที่แกลเลอรี่บางแห่งที่โอเคกับงานการเมืองก็ยังมีศิลปินไปแสดงงานต่อเนื่องแต่สัดส่วนในภาพรวมก็ถือว่าน้อยเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมันขายยากครับคอลเลคเตอร์ส่วนใหญ่ไม่ชอบหรอกศิลปินใหญ่ๆเขาก็เลยเลือกที่จะไปพูดถึงเรื่องอื่นแทนอาจพูดถึงการเมืองเชิง global อะไรแบบนี้

แล้วการที่คุณเปิดเผยตรงไปตรงมาว่างานชุดนี้พูดถึงการเมืองในบ้านเรา ก็ส่งผลต่อการขายไปด้วยสิครับ

ตอนปี 2557 งาน Mythical Reality ที่ผมยังไม่พูดตรงๆ อยู่ นี่ขายได้เกือบหมด ส่วนชุดต่อมา Prelude นี่ก็ขายดี ขายได้เกินครึ่ง แต่ชุดนี้ตั่งแต่เปิดงานมาหนึ่งเดือนยังขายไม่ได้สักชิ้น ที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งอาจเพราะคนที่ซื้อสองชุดแรกไป เขาอาจยังไม่รู้ว่าเรามีเป้าหมายหรือจุดยืนอย่างไร แต่พอเริ่มรู้ เขาก็อาจไม่สะสมต่อแล้ว แต่อันนี้ผมคาดการณ์เอานะครับ

อย่างไรก็ตามผมค่อนข้างตรงไปตรงมากับความคิดตัวเองก็ประกาศจุดยืนชัดเจนไปม็อบก็บอกว่าไปม็อบมีมุมมองอย่างไรต่อสถาบันฯก็สื่อสารไปตามนั้นเราคิดอย่างไรเราก็ทำงานศิลปะด้วยความคิดนั้นเรื่องขายได้ไม่ได้นั่นเป็นเรื่องของแกลเลอรี่ครับซึ่งก็ยอมรับตรงนี้อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคอลเลคเตอร์ในประเทศนี้ที่เก็บงานการเมืองเลยนะครับมีแต่ค่อนข้างน้อยและพวกเขามักไม่เปิดเผยตัวเท่าไหร่ครับ

 

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

 

นี่เป็นเหตุผลรึเปล่าที่ศิลปินส่วนหนึ่งเลือกทำงานทางโซเชียลมีเดีย หรือทำ NFTs ขายไปเลย ไม่พึ่งพาระบบแกลเลอรี่แล้ว

ส่วนหนึ่งครับ เพราะตลาดมันเป็นอย่างนี้ คอลเลคเตอร์ในบ้านเราก็ล้วนเป็นเศรษฐี เป็นชนชั้นสูง ซึ่งหลายคนก็เติบโตมากับวิธีคิดแบบขวา ส่วนใหญ่เขาก็พิจารณางานที่มันสวยเป็นหลัก ซึ่งมันก็ส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการทำงานของศิลปิน ผมมองว่าสิ่งนี้ส่งผลลบต่อการทำงานสร้างสรรค์ ศิลปินหลายคนที่เขาได้รางวัล ได้เหรียญเยอะๆ จากการประกวดแห่งชาตินั่นนี่ หรือว่าศิลปินชั้นเยี่ยม เราลองมาแบผลงานดูในรอบ 10 กว่าปีหลัง งานของหลายคนแทบไม่เปลี่ยน มันเป็นไปไม่ได้น่ะ ไอ้ระบบแบบนี้มันกำลังฆ่าศิลปินทางอ้อมนะ เพราะว่าหนึ่งก็คือคุณได้เกียรติยศไปแล้วคุณก็ไม่กล้าเปลี่ยน สอง คืองานคุณน่ะขายได้จริงๆ ซึ่งคนจะมาซื้องานชุดนั้นมันซ้ำซาก ซ้ำไปซ้ำมา มันไม่ส่งผลให้คุณคิดหรือทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม

ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่านักสะสมควรหันมาสนใจความหลากหลายหรือวิธีคิดใหม่ๆ บ้าง เพราะนั่นก็เงินของพวกเขา รสนิยมของพวกเขา แต่การรู้จักเรียนรู้หรือหาความรู้มากๆ ก็เป็นเรื่องดีครับ มีงานหลายชิ้นที่สื่อสารวิธีคิดได้เฉียบคม มีความหมาย หรือสะท้อนยุคสมัยและสังคมได้ดี แม้มันอาจไม่สวยพอที่จะแขวนอวดคนอื่นอย่างงานทั่วไป แต่คุณค่าของงานศิลปะมันไม่ได้มีอยู่แค่สวยหรือดูดีแค่นั้นหรอกครับ

BOTS the-lroyal-monument-wittawat-tongkeaw

นิทรรศการ นิราษฎร์ : The L/Royal Monument จัดแสดงที่ SAC Gallery ถึงวันที่ 18 กันยายน 2564 แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ ล็อคดาวน์อยู่ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าชมเป็นการส่วนตัวที่แกลเลอรี่ https://www.facebook.com/sacbangkok หรือรับชมทางออนไลน์ได้ทาง https://www.artsy.net/show/sac-gallery-bangkok-wittawat-tongkeaw-the-l-slash-royal-monument?sort=partner_show_position 

ขอบคุณภาพถ่ายจาก SAC Gallery

Writer

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียน ที่ใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่

RELATED CONTENTS

คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio

คนฝาก: งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าจาก ddmy studio

พูดคุยกับเด๋อถึงผลงานใหม่ของเขาชิ้นนี้ ผลงานที่เขาบอกว่าเป็นอีกวิธีสะท้อนปัญหาฝุ่นควัน มากไปกว่าการก่นด่า หรือสาปแช่งนายทุนผู้ปลูกข้าวโพด

  • สนทนา
  • Feb 25,2021

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

สนทนา: 
เมื่อความอัปรีย์ทั้งหลายมารวมกันในจังหวะที่เหมาะเจาะ

‘สาวสะเมิน’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเป็นเอก รัตนเรือง

  • สนทนา
  • Apr 26,2021

สนทนา: Priceless 
7 ปีรัฐประหารกับภาษีแค้นในงานศิลปะของ สุรเจต ทองเจือ

สนทนา: Priceless 
7 ปีรัฐประหารกับภาษีแค้นในงานศิลปะของ สุรเจต ทองเจือ

คุยกับสุรเจต ทองเจือ ว่าด้วยผลงานศิลปะที่ประหนึ่งบัญชีแค้นของเขา

  • สนทนา
  • Oct 11,2021

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK