ตามไปดูนิทรรศการเปิดตัว Jing Jai Gallery แกลเลอรี่ศิลปะแห่งล่าสุดในเชียงใหม่
พลอย เจริญผล เล่าว่าพอกลุ่มเซ็นทรัล ตัดสินใจรีโนเวทพื้นที่บางส่วนของจริงใจมาร์เก็ต (Jing Jai Market) ให้เป็นแกลเลอรี่ศิลปะเมื่อสองปีที่แล้ว โควิด-19 ก็ระบาดทันที กระทั่งการรีโนเวทเริ่มต้นและพื้นที่แสดงงานศิลปะแห่งใหม่แห่งนี้กำลังจะเป็นรูปร่าง โควิดก็ยังคงไม่จากเราไปไหน และนั่นทำให้แกลเลอรี่จำเป็นต้องเลื่อนเปิดออกไป
“นอกจากการก่อสร้างที่ล่าช้า โควิดยังทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราต้องพึ่งพาการประชุมกับทีมงานทุกขั้นตอนบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ กระบวนการพัฒนาพื้นที่และนิทรรศการทุกอย่างถูกทำผ่านทาง Virtual Reality ตลอด เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วถ้าในนิทรรศการไม่มีตัวคนหรือมนุษย์อยู่สักคนเลยก็น่าสนใจนะ” พลอย กล่าว
นั่นคือที่มาของนิทรรศการ Virtual Being นิทรรศการเปิดตัวของ Jing Jai Gallery แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยอย่างเป็นทางการแห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัลที่ตั้งขึ้นในพื้นที่จริงใจมาร์เก็ตของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว BOTS WORLD พูดคุยกับ พลอย เจริญผล ว่าด้วยการปลุกปั้นอาร์ทสเปซแห่งนี้ รวมถึงพาไปสำรวจนิทรรศการศิลปะที่สะท้อนยุคสมัยแห่งโรคระบาดที่เรา (ยังคง) เผชิญอยู่ตอนนี้ได้อย่างเฉียบคม
Jing Jai Gallery เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนของจริงใจมาร์เก็ต โดยเป็นตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ในเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ โดยพื้นที่ทั้งหมดบริหารจัดการโดยกลุ่มเซ็นทรัลมี อ้อมขวัญ สาณะเสน เป็นผู้อำนวยการโครงการ จริงใจมาร์เก็ตอยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มากว่า 10 ปีแล้ว กระทั่งเมื่อราวปี 2019 ทางกลุ่มเซ็นทรัลก็มีแผนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ แผนการใหม่นี้ก็ได้รวมถึงการเปิดแกลเลอรี่ศิลปะ Jing Jai Gallery เข้ามาด้วย
พลอย ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นคิวเรเตอร์ประจำ และเริ่มงานตั้งแต่แกลเลอรี่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง บอกว่าเธอตั้งใจวางทิศทางของแกลเลอรี่ด้วยการดึงคาแรกเตอร์เฉพาะของเมืองศิลปะแบบเชียงใหม่มานำเสนอ กล่าวคือเป็นเมืองแห่งช่างศิลป์ที่มีพื้นเพจากศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ผนวกเข้ากับเมืองอันเป็นที่พำนักของศิลปินร่วมสมัยทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ที่สร้างผลงานท้าทายความคิดมากมาย แกลเลอรี่จึงเป็นพื้นที่กลางของทั้งงานศิลปะแบบดั้งเดิมของโอลด์มาสเตอร์ (old master) ที่มีแฟนๆ หรือคอลเลกเตอร์ติดตามผลงานประจำอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ๆ ได้นำเสนอผลงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่มีระยะเวลาจัดแสดงเฉลี่ยราว 2-3 เดือน ต่อนิทรรศการ
อย่างไรก็ดีนิทรรศการเปิดตัวของแกลเลอรี่อย่าง Virtual Being ดูจะโน้มเอียงไปอย่างหลัง พลอยคัดสรรผลงานของศิลปินรุ่นใหม่และรุ่นกลางที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ อาทิ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, จิรัชยา พริบไหว, นนทวัฒน์ นำเบญจพล, นพัฒน์ เมธาฤกษ์ และหัสกร หิรัญศิริโชค ซึ่งผลงานของพวกเขาครอบคลุมตั้งแต่งานอินสตอเลชั่น ภาพเคลื่อนไหว จิตรกรรม ภาพถ่าย และประติมากรรม โดยทุกชิ้นมีลักษณะร่วมที่พูดถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่และเวลา
“เรามองว่างานทุกชิ้นมันถูกอ้างอิงกับเวลาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่งานวิดีโอของไทกิที่เล่าถึงการซ้อนทับกันของพื้นที่ บรรยากาศ และช่วงเวลาเท่านั้น อย่างงานของจิรัชยาที่นิยามภาพเขียนชุดนี้เป็นบทกวีจากสวนหลังบ้าน ซึ่งศิลปินสร้างขึ้นในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านจากโควิด ก็เป็นคล้ายบันทึกของห้วงเวลาที่ศิลปินต้องถูกจำกัดพื้นที่ แปรเปลี่ยนมาเป็นงานจิตรกรรม” พลอย กล่าว
จัดแสดงอยู่กลางโถงนิทรรศการ โครงสร้างไม้สักขนาดใหญ่ที่ช่างไม้ตั้งใจสร้างให้โน้มเอียง คือผลงานที่เป็นลายเซ็นของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินที่พำนักในเมืองเชียงใหม่ Southeastern Wind (2008) คือสถาปัตยกรรมไม้ขนาดใหญ่ที่ธวัชชัยได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านไม้ที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ของผู้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา บ้านที่ถูกลมมรสุมประจำปีพัดผ่านเป็นประจำ จนบันดาลให้ศิลปินบันทึกห้วงขณะที่สถาปัตยกรรมไม่อาจต้านแรงลมจนเอียงลู่ลม 45 องศา ดังที่เห็น
ควบคู่ไปกับบ้านไม้ที่ถูกพัดเอียง Major Scale (2008) คือบันไดลิงที่ศิลปินจำลองแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวขณะพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากการโปรดพระมารดา ทำจากไม้สักทองสูง 6 เมตร ซึ่งถูกพัดเอียงไปในทิศทางเดียวกับตัวบ้าน ผลงานอีกชิ้นของธวัชชัย
ในขณะที่ประติมากรรมของธวัชชัยบันทึกช่วงเวลาที่สิ่งปลูกสร้างถูกลมโหมกระทบ ผลงานภาพถ่ายของนนทวัฒน์ นำเบญจพล อย่าง Mr. Shadow (2016-2018) และ In Process of Time (2020) กลับบันทึกช่วงเวลาของการสูญหายผ่านภาพถ่ายของชาวไทใหญ่ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กและดอยก่อวัน ในรัฐฉาน ที่ศิลปินจงใจรีทัช (retouch) ให้บุคคลในภาพล่องหน จนเหลือเพียงเครื่องแต่งกาย หรือเครื่องแบบทหาร ขับเน้นสภาวะปัจจุบันที่ว่าด้วยการไร้รัฐ หรือไร้กระทั่งตัวตน – มีอยู่แต่ไม่ปรากฏในสายตาของทั้งรัฐไทยและเมียนมาร์
แตกต่างจากนนทวัฒน์ที่จงใจทำตัวแบบให้สูญหาย ผลงาน The Little Rascals (2020) และ Bulky Baby (2020) ของ หัสกร หิรัฐสิริโชค ได้นำเทคนิคทางประติมากรรมเซรามิกมาจำลองสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งโดยปกติไม่อาจมองด้วยตาเปล่าเห็น หรือแทบมองไม่เห็น ให้ประจักษ์เป็นรูปธรรมขนาดจิ๋ว งานของหัสกรยังไพล่ให้เรานึกถึงห้วงเวลาตลอดหลายปีมานี้ที่โลกกำลังเผชิญกับวิบัติที่มาจากสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุดอย่างเชื้อไวรัสอีกด้วย
จิรัชยา พริบไหว บันทึกช่วงเวลาที่จำต้องถูกจำกัดบริเวณเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาดด้วยการเขียนบทกวีจากที่บ้านในรูปแบบของจิตรกรรมนามธรรม Poems From My Back Garden (2021) และมวลดอกไม้ด้วยสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ และงานวาดเส้นแบบ automatic drawing
และราวกับเป็นการบันทึกช่วงเวลาที่ว่างเปล่าตลอดขวบปีแห่งภาวะโรคระบาดด้วยสีขาวที่ซ้อนทับกับการวาดเส้นและข้อความชั้นแล้วชั้นเล่าในจิตรกรรมขนาดเท่ากันจำนวน 4 ชิ้น No Hope (White) No.1-4 (2021) ของนพัฒน์ เมธาฤกษ์ นำเสนอสีขาวที่เปี่ยมไปด้วยพื้นผิวและรายละเอียด ประหนึ่งการสะท้อนห้วงเวลาอันว่างเปล่า หากก็เต็มไปด้วยความซับซ้อนและยุ่งเหยิงไปจนถึงโกลาหลของสถานการณ์ประเทศและของโลก
ปิดท้ายที่ Tabula Rasa (2018) งานภาพเคลื่อนไหวที่จัดแสดงในห้อง Screening Room วิดิโออาร์ทกึ่งหนังสั้นเล่าเรื่อง ที่พูดถึงความฝันของตัวละคร ทับซ้อนกับทัศนียภาพของผืนป่าในภาคเหนือ ซากวัดร้างอายุกว่า 500 ปีที่ชัยนาท และพื้นที่ฌาปนกิจแห่งหนึ่งในอำเภอแม่ริม เรื่องเล่าที่อื้ออึงและงึมงำที่ค่อยๆ เผยบาดแผลของประวัติศาสตร์ในบ้านเราที่รัฐเลือกที่จะมองข้ามหรือทำเป็นมองไม่เห็น
“เราตั้งเป้าว่าอยากทำให้ที่นี่ (Jing Jai Gallery) เป็นหนึ่งในแกลเลอรี่ที่ดีที่สุดในภาคเหนือ ดูเหมือนทะเยอทะยานเนอะ แต่คิดว่าด้วยศักยภาพของเจ้าของพื้นที่ เป้าหมายนี้จึงมีความเป็นไปได้ ซึ่งเรามองถึงระบบนิเวศรวมของแวดวงศิลปะระดับประเทศเลย เพราะถ้าเรามีอาร์ทสเปซที่ดี มาตรฐานอื่นๆ มันจะถูกยกระดับตามไปด้วย ตั้งแต่ศิลปิน นักสะสม การตลาด ไปจนถึงผู้ชม เราอยากให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ มาดูงาน และอยากแสดงงานกับเราที่นี่ อยากให้เขาพัฒนาผลงานของตัวเองเพื่อแสดงงานกับเรา ขณะเดียวกันในฐานะสถานที่จัดแสดงงาน เราก็พยายามจะยกระดับการทำงานของเราด้วยเช่นกัน” พลอย กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายในระยะยาวของแกลเลอรี่
นิทรรศการ Virtual Being จัดแสดงถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 แกลเลอรี่เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 10.00-18.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ 8.00-18.00 น. www.jingjaigallery.com / https://www.facebook.com/JingJaiGalleryChiangMai