สตูดิโอทำงานศิลปะของ พรเทพ จิตต์ผ่อง มีความหมายเดียวกับคำว่า ‘บ้าน’ ทาวน์เฮ้าส์สองชั้นในย่านตำบลดอนแก้ว ไม่ไกลจากศาลากลางเชียงใหม่ เขาแบ่งเช่ากับเพื่อนศิลปิน แยกกันทำงานและใช้ชีวิตอยู่คนละชั้น
พรเทพอยู่ชั้นล่าง จักรยานทัวริ่งที่เขามักใช้เป็นพาหนะประจำคือสิ่งแรกที่ได้เห็นเมื่อเปิดประตูเข้ามา มันพิงผนังที่ใช้แขวนภาพถ่ายชุดล่าสุดที่เขากำลังจัดแสดงผ่านนิทรรศการออนไลน์ หันไปซ้ายมือคือชั้นวางของที่สุมทับด้วยเฟรมผ้าใบบรรจุผลงานจิตรกรรมนามธรรม ซีรีส์ล่าสุดของเขา โต๊ะทำงานตั้งอยู่มุมในสุด ส่วนพื้นที่ด้านหลังคือห้องน้ำ ห้องครัว และเต็นท์ขนาดหนึ่งคนนอนกางไว้กลางบ้าน ทุกคืน พรเทพนอนในนั้น
ผมพบพรเทพครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีก่อน ตอนนั้นเขาเปิดสตูดิโอและร้านจำหน่ายผลงานศิลปะและภาพวาดในห้องแถวเล็กๆ ในซอยหลังสถานีตำรวจอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขาตั้งชื่อสตูดิโอแห่งนั้นว่า One June ตามวันเกิด 1 มิถุนายน ของเขา นั่นเป็นช่วงเวลาที่พรเทพเริ่มเล่นเฟซบุ๊ค และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากซีรีส์ภาพ portrait ที่ชื่อ Human Blue ซึ่งเขาวาดรูปเพื่อนในโลกออนไลน์ด้วยลายเส้นเฉพาะตัว ฉาบทับด้วยสีฟ้าจากกระป๋องสเปรย์
ไม่ต่างจากเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วนั้น เขายังคงสวมแว่นสายตาทรงกลม เสื้อเชิตเดินป่า และเขายังคงทำงาน อยู่กิน และนอนในสตูดิโออันเรียบง่าย ซึ่งไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรมากไปกว่าชั้นหนังสือและงานศิลปะ (รวมทั้งแมวสามสีหนึ่งตัวที่เขาแต่งตั้งให้มันเป็นคิวเรเตอร์) เลี้ยงชีพด้วยการวาดรูปเหมือนบุคคลที่เขานิยามมันว่า Funny Portrait ควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ มีงานอดิเรกคือขี่จักรยาน และพักผ่อนด้วยการเดินถ่ายรูปเล่นในเมือง
และเช่นเคย ในทุกวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เขาจะจัดนิทรรศการศิลปะแสดงผลงานในช่วงนั้นๆ คล้ายเป็นการฉลองวันเกิดตัวเอง อย่างไรก็ดี ปีนี้ไม่เหมือนปีที่ผ่านมา Covid-19 ทำให้แกลเลอรี่ทุกแห่งปิด หากศิลปินผู้นี้ไม่เลิกล้ม เขาจัดนิทรรศการออนไลน์ ส่ง link ให้มิตรสหายได้รับชมผ่านหน้าจอ พร้อมกันนั้นเขาแขวนผลงานที่จัดแสดงบนผนังของสตูดิโอ เผื่อใครอยากมาชมงานจริง ก็สามารถมาชมได้ และนั่นทำให้ผมมีโอกาสมาพบเขาที่นี่
ผมแยกข้อเขียนถึงนิทรรศการที่ว่าไว้อีกบทความ ส่วนข้างล่าง - ไหนๆ ก็มาแล้ว จึงวิสาสะพูดคุยกับเขาเรื่อง ‘บ้าน’ – บ้านของศิลปินที่หมุนเปลี่ยนไปตามกาล และมีความหมายเดียวกับสถานที่ผลิตงานศิลปะตลอดหลายสิบปีของเขา
“พื้นเพผมเป็นคนสุพรรณบุรี แต่ผมไม่ค่อยมีความทรงจำกับบ้านเกิดเท่าไหร่ อยู่ที่นั่นสักพัก ผมก็เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ พักอยู่กับน้าที่เปิดร้านถ่ายรูป ระหว่างที่ยังลังเลว่าจะเรียนต่อทางไหน ก็ช่วยน้าทำงานไปพลาง ผมเริ่มเรียนรู้การถ่ายรูปจากที่นั่น พออยู่ไปสักพัก ก็พบว่าอยากใช้ชีวิตเป็นของตัวเองเลยออกมาอาศัยวัดหัวลำโพงอยู่ เป็นเด็กวัดได้ระยะหนึ่ง จนหาเงินได้เองจากการวาดการ์ตูนลงบนโปสการ์ดปูเสื่อขายแถวหน้าห้างอิเซตันตรงแยกราชประสงค์ ผมเลยเช่าหอพักอยู่ หลังจากนั้นก็ย้ายที่พักไปเรื่อยๆ แล้วแต่โอกาส ซึ่งว่าไป ผมอยู่มาสี่มุมเมืองทั่วกรุงเทพฯ แล้ว (หัวเราะ)” พรเทพ ย้อนไปถึงวารวันของตัวเขาในขณะค้นหาความชอบของตัวเอง เพื่อพบมันผ่านหนังสือศิลปะและการ์ดอวยพร ที่เขามักไปยืนอ่านที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ ก่อนจะสร้างงานในแบบฉบับของตัวเอง
โปสการ์ดที่วางขายแบกับดินซึ่งพรเทพเล่าเรื่องสุนัขชื่อป๋องที่กำลังจะไปดาวอังคารออกมาเป็นตอนๆ ไปเข้าตาบรรณาธิการวารสารภาษาญี่ปุ่นฉบับหนึ่ง บรรณาธิการชวนให้เขามาวาดภาพประกอบประจำในวารสารฉบับนั้น ในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ผลงานและชื่อเสียงของชายหนุ่มถูกบอกต่อผ่านหน้ากระดาษ จากนั้นก็มีงานวาดภาพประกอบคอลัมน์ประจำให้นิตยสาร LIPS ภาพประกอบหนังสือหลายเล่มของแพรวสำนักพิมพ์ รวมถึงในหน้าหนังสือฉบับอื่นๆ
“ผมไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง จนวาดรูปขายไปได้สักพัก ก่อนจะย้ายไปวาดรูปอยู่บนถนนข้าวสาร และเริ่มมีเพื่อนที่เป็นนักศึกษาศิลปะมาวาดรูปขายด้วยกันที่นั่น ก็เลยคิดจะลองไปเรียนศิลปะที่วิทยาลัยสารพัดช่าง อยากไปเรียนรู้ในแบบ academic บ้าง แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่จริตเรา จนมีการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตัวเอง (นิทรรศการ Time (1999) ที่ร้าน Comme’ Restaurant, กรุงเทพฯ) ก็เป็นศิลปินที่ไม่มีการศึกษา (ยิ้ม)”
“ปี 2005 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ที่ปายไม่นาน ผมมีโอกาสย้ายไปทำงานที่ร้านเหล้าที่นั่นช่วงสั้นๆ ไปอยู่ประมาณสองเดือน ตอนนั้นปายสงบมาก ยังไม่พลุกพล่านเท่าทุกวันนี้ ยิ่งผมอยู่แต่กรุงเทพฯ มา ไปอยู่ที่นั่นเหมือนไปอยู่คนละโลก เลยเอาความประทับใจมาทำชุดภาพพิมพ์โมโนปริ้นท์ตั้งชื่อว่ายูโทปายกลับมาแสดงที่กรุงเทพฯ (นิทรรศการ Utopai ที่ Reflection Hotel, กรุงเทพฯ) พอไปอยู่ปายแล้วกลับมากรุงเทพฯ ก็พบตัวเองทนชีวิตที่กรุงเทพฯ ต่อไปไม่ได้แล้ว เลยตัดสินใจหอบเสื้อผ้าและอุปกรณ์วาดรูปใส่เป้ นั่งรถไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ปาย"
“ช่วงแรกๆ ผมอาศัยหน้าร้านมิตรไทยของพี่สกนธ์ (สกนธ์ สังขมี) เป็นที่วาดรูปตอนกลางวัน และก็ทำงานร้านเหล้าเลี้ยงชีพตอนกลางคืน ทำไปได้สักพักก็คิดว่าน่าจะมีที่ทางเป็นของตัวเอง"
“บ้านหลังแรกของผมคืออาคารพาณิชย์หลังเล็กๆ ในซอยด้านหลังสถานีตำรวจ ผมเช่าที่นั่นเพื่อใช้พักอาศัยและเป็นสตูดิโอ พร้อมกับเปิดหน้าร้านสำหรับขายโปสการ์ดและงานศิลปะให้นักท่องเที่ยว ตั้งชื่อว่า One June ตอนนั้นมีเฟซบุ๊คแล้ว และผมก็เริ่มทำงาน Human Blue โดยรับวาดรูปเหมือนสไตล์ Funny Portrait จากเพื่อนที่เฟซบุ๊ค ขณะเดียวกัน ระหว่างที่อยู่ที่นั่นผมก็ได้สร้างงานศิลปะไปแสดงนิทรรศการอยู่หลายงาน"
“ปายทำให้ผมคิดถึงเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน เป็นเมืองในฝัน มันสุขสงบ และเหมาะจะอยู่นิ่งๆ เพื่อทำงานศิลปะ ผมอยู่ที่นั่น 10 ปี จนช่วงหลังๆ ปายกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัว คนมาอยู่เยอะขึ้น ประกอบกับผมอิ่มตัวกับชีวิตที่นั่นแล้ว เลยตัดสินใจย้ายที่อยู่อีกครั้ง”
พรเทพย้ายที่อยู่อีกครั้งในปี 2016 จากเมืองที่เขามองว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อนขณะใช้ชีวิตอยู่ปาย ความที่เขาต้องการจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปพร้อมกับเปิดโอกาสให้เข้าถึงงานศิลปะได้มากขึ้น เมืองเชียงใหม่จึงเปลี่ยนสู่บ้านและที่ทำงานแห่งใหม่ เริ่มจากเช่าหอพักอยู่ย่านสันป่าข่อย ก่อนจะใช้เวลาช่วงสั้นๆ ไปเป็นอาสาสมัครสอนศิลปะเด็กๆ ที่จังหวัดลำปาง และกลับมาเช่าบ้านหลังล่าสุดในชุมชนดอนแก้วร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกคน
“จะว่าไปจักรยานก็เป็นบ้านอีกหลังของผม ถ้ามีโอกาส ผมมักจะขี่จักรยานไปทริปไกลๆ อยู่เสมอ ผมชอบชีวิตกลางแจ้ง การได้เดินป่าหรือขี่จักรยาน สร้างแรงบันดาลใจให้ผมต่อการทำงานศิลปะหลายชิ้น ตอนใช้ชีวิตอยู่ปาย ช่วงไหนเบื่อๆ ก็จะหอบจักรยานขึ้นรถเมล์เข้ามาเชียงใหม่ และก็เริ่มปั่นจากเชียงใหม่ลงไปกรุงเทพฯ หรือไปต่างจังหวัดไกลๆ บ้าง ระหว่างปั่นจักรยาน ผมรู้สึกเหมือนได้รีเซ็ทตัวเอง มันโล่ง เบาสบาย ก็เหนื่อยแหละ แต่รู้สึกเหมือนได้พักผ่อน”
ในทาวน์เฮาส์หลังย่อม - อีกหนึ่งรังนกชั่วคราวองศิลปินพเนจร พรเทพผู้กางเต้นท์นอนในบ้านทุกคืนบอกกับเราว่าบ้านไม่ใช่สถานที่ หากเป็นความรู้สึกที่ผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งสิ่งที่ว่าเขาไม่ได้บอกชัด หากที่คุยมาเราก็พออนุมานได้ว่านั่นคือจักรยานและการทำงานศิลปะ
เยือนบ้าน-สตูดิโอของศิลปินนักประกอบสร้าง ต่อลาภ ลาภเจริญสุข
ในบ้านของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข เสียงหมาเห่าอย่างเอิกเกริก คือการต้อนรับอย่างอบอุ่น