ไม่ต่างจากเมืองไทย กระทั่งหลายมุมในยุโรป เราอาจพบภูมิทัศน์ของเมืองที่ชวนให้รำคาญสายตาไปจนถึงทัศนอุจาด และผู้คนในเมือง ทำอะไรไม่ได้ไปมากกว่าการบ่น กระนั้น Express Doors Direct สตูดิโอออกแบบจากอังกฤษ ก็สร้างสรรค์กว่านั้น ด้วยการคัดสรร 10 เมืองที่ว่ากันว่ามีภูมิทัศน์ที่น่าเกลียดที่สุดบนโลกมา transform มันใหม่ ผ่านงานดิจิทัลอาร์ท สร้างจินตภาพว่าหากศิลปินระดับโลก 10 คนมาพบเมืองเหล่านี้ พวกเขาจะใช้ทักษะทางศิลปะเฉพาะตัว แปรเปลี่ยนให้เป็นความงามได้อย่างไร
นั่นทำให้เราเห็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูงคลุ้งฝุ่นที่ไม่มีวันสร้างเสร็จของไคโร ประเทศอียิปต์ (ชาวไคโรมักจะสร้างอาคารสำนักงานหรือบ้านของตัวเองให้ไม่เสร็จสมบูรณ์ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐ) ถูกทรานส์ฟอร์มให้เหลือเพียงรูปทรงสีน้ำเงินที่พอให้เห็นว่าเป็นอาคารและพีรามิดตามสไตล์ผลงาน Blue Nude อันลือลั่นของ Henri Matisse
หรืออดีตเมืองอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยโรงงานร้างจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าเกลียดที่สุดของยุโรปอย่างชาเลอร์รัว ประเทศเบลเยี่ยม ก็ถูกทรานส์ฟอร์มด้วยเทคนิคโพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ แบบเดียวกับงาน The Starry Night
เมืองอย่างลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ก็ไม่เว้น ทีมออกแบบเปลี่ยนทิวทัศน์อันน่าเวิ้งว้างและน่าเกลียดของพื้นที่ริมน้ำชานเมืองให้กลายเป็นภาพอิมเพรสชันนิสต์ที่ดูเพลินตาของ โคลด์ โมเนต์ ส่วน เอดัวร์ มาเนต์ รับหน้าที่ทรานส์ฟอร์มทิวทัศน์ริมน้ำที่เต็มไปด้วยเรือรบในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ให้กลายเป็นภาพกลุ่มสีเขียว-ฟ้าอันสอดประสานได้งามจับใจ
และหนึ่งในการทรานส์ฟอร์มที่เฉียบขาดที่สุด เห็นจะเป็นที่อัมมาน เมืองหลวงที่แออัดไปด้วยตึกแถวสีน้ำตาลของประเทศจอร์แดน ทีมนักออกแบบ Express Doors Direct ก็จับมาทรานส์ฟอร์มให้เหลือเพียงงานจิตรกรรมเรขาคณิตช่องสีในซีรีส์ Composition ของพีต มองเดรียน ศิลปินดัตช์ – มินิมัลแบบ ‘ฮาวทูทิ้ง’ ที่แท้ทรู
นอกจากนี้ยังมีภาพทางด่วนของเมืองฮูสตัน สหรัฐอเมริกา ทรานส์ฟอร์มในสไตล์ของ แฟรงค์ เบนสัน, ทางยกระดับที่พาดผ่านย่านดาวน์ทาวน์ของดีทรอยท์ ทรานส์ฟอร์มในในสไตล์ของ ฮัวคิน โซโลรา, ทิวทัศน์ของสวนสาธารณะในเมืองที่ติดท็อปลิสต์น่าเกลียดที่สุดในอังกฤษอย่างสวินดอน ที่ถูกทรานส์ฟอร์มโดยปอล เซซาน เป็นอาทิ
น่าคิดเหลือเกินว่าทิวทัศน์เหล่านี้คือเมืองที่กลุ่มนักออกแบบจากอังกฤษมองว่าน่าเกลียดที่สุดแล้ว? ซึ่งเราก็เชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า พวกเขาคงไม่เคยมาเห็นเมืองที่ทางเท้าปะผุไปด้วยยางมะตอย สายไฟฟ้ารุงรัง กองขยะ และป้ายโฆษณาที่แปะทับจนท่วมท้นอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็อยากรู้เหมือนกันว่า ด้วยทัศนีภาพเหลือรับขนาดนั้น ควรต้องใช้ศิลปินท่านใดมาทรานส์ฟอร์มดี
นักเขียน นักปรัชญา และปรมาจารย์แห่งการใช้ชีวิตสันโดษ คุณเฮนรี่ เดวิด ธอโร การเอาชีวิตรอดในป่า การตั้งคำถามถึงความเป็นไปในชีวิต รวมไปถึงการรับมือกับความเปลี่ยวเหงา และการแสวงหาเสรีภาพที่หลุดพ้นจากศาสนาและการครอบงำของรัฐ
ผู้หญิงที่ใช้เวลาอยู่ในห้องใต้ดินเพียงลำพังเป็นเวลาสี่เดือนเศษ เพื่อทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจระบบนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์
หนุ่มอเมริกันผู้หน่ายกับระบบ ก่อนจะหนีจากชีวิตในเมืองเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในรถบัสร้างกลางป่า ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหม แน่ล่ะ เขาคือบุคคลต้นกำเนิดของเรื่อง Into the Wild (2007) ภาพยนตร์โมเดิร์นฮิปปี้ขวัญใจของใครหลายคน