“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีและศิลปะคือสิ่งที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน และเป็นอย่างนั้นมาหลายศตวรรษแล้ว”
David Hockney ศิลปินอังกฤษ
แม้ว่าการนำเสนอโถส้วมในฐานะชิ้นงานศิลปะของ Marcel Duchamp (Fountain, 1917) หรือการบรรจุอุจจาระของตัวเองใส่กระป๋องของ Piero Manzoni (Artist’s Shit, 1961) จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านและทำลายความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมของศิลปะ แต่แทนที่ชิ้นงานทั้งสอง (รวมถึงอีกหลายๆ ผลงานในศตวรรษที่ 20) จะช่วยขยับให้โลกศิลปะเข้าใกล้กับผู้คน มากไปกว่าพื้นที่ของเศรษฐีที่มีเงินซื้อผลงานไปติดตั้งที่บ้าน หากมันก็มีส่วนผลักไสให้คนส่วนใหญ่พบว่าศิลปะคือสิ่งที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ไปจนถึงคลุมเครือในนิยาม เป็นส่วนก่อกำเนิดภูมิทัศน์ของศิลปะร่วมสมัย หรือ Contemporary Art ในทุกวัน
กระนั้นที่กล่าวมาก็หาใช่เรื่องเลวร้าย เพราะถึงแม้มันจะผลักผู้คนออกไปด้วยเหตุผลด้านความเข้าใจ หากงานของดูชองป์, แมนโซนี่ และศิลปินร่วมยุคคนอื่นๆ ก็บุกเบิกและจุดประกายให้ศิลปินร่วมสมัยรุ่นหลังสร้างสรรค์ผลงานที่ออกจากกรอบเทคนิคหรือนิยามของศิลปะแบบดั้งเดิม
ไล่มาตั้งแต่ที่ Gordon Matta-Clark ผ่าบ้านของตัวเองออกเป็นสองซีกใน Splitting (1974), การเอาผ้าใบมาห่ออาคารหรือกระทั่งสะพานของ Christo and Jeanne-Claude (1935-2000s) หรือที่ Damien Hirst นำซากสัตว์อย่างม้าและปลาฉลามมาจัดแสดงในตู้กระจกใส และทำเงินได้อย่างมหาศาล ฯลฯ… และอย่างไม่อาจปฏิเสธ ‘ความเข้าใจยาก’ ที่ถูกส่งผ่านสื่อที่ดูง่ายหรือน่าตื่นตาเหล่านี้ ก็มีส่วนในการดึงผู้ชมส่วนหนึ่งกลับมาสนใจความเป็นไปในแวดวงศิลปะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่น้อย
ในขณะที่ศิลปะร่วมสมัยถูกใช้เป็น ‘สื่อ’ ส่งผ่านความคิดหรือความรู้สึกของศิลปิน เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงศิลปะร่วมสมัยได้ง่ายขึ้น ทั้งในเชิงการค้นหาและเผยแพร่ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ผลงานเสียเอง เช่นที่ศิลปินโรมันเนีย Ioan Florea ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างงานประติมากรรม (www.floreaart.com) หรือที่ Rafael Lozano-Hemmer นำเสนอ Subtitled Public (2005) ห้องที่ยิงแสงเลเซอร์เป็นคำศัพท์ต่างๆ ติดตามผู้ชมตลอดเวลา รวมถึงที่กลุ่ม Random International จากอังกฤษสร้างสรรค์ Rain Room (2012) ห้องที่มีฝนตกตลอดเวลา หากเมื่อมีผู้ชมเดินเข้าไป ฝนจะหยุดในทุกย่างก้าวที่ผู้ชมคนนั้นอยู่ในห้อง เป็นต้น ซึ่งแน่นอน ผลงานเหล่านี้เป็นที่นิยม และเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้คนที่เดิมไม่เคยเหลียวแล กลับหันมาทดลองสัมผัสหรือมีประสบการณ์ร่วม เพื่อจะพบว่าแท้จริงแล้วศิลปะหาได้เข้าใจยาก แถมยังสนุกอีกต่างหาก
ขณะที่ในซีกตะวันออก การเกิดขึ้นของ teamLab กลุ่มนักสร้างสรรค์งาน interactive digital art ก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านให้งานศิลปะในฐานะชิ้นงานที่บรรจุแนวคิดลึกล้ำของปัจเจก สู่ความบันเทิงอันน่าตื่นตาสำหรับทุกคนในครอบครัว งานอินเตอร์แอคทีฟของ teamLab ที่ใช้โปรเจกเตอร์ความละเอียดสูงเป็นอุปกรณ์แทนที่พู่กันหรือเฟรมผ้าใบ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและมีการจัดแสดงนิทรรศการทั่วโลก กระทั่งในปี 2018 ทางกลุ่มยังได้ก่อตั้ง MORI Building Digital Art Museum: teamLab Borderless เป็นพิพิธภัณฑ์ดิจิทัลอาร์ทแห่งแรกของโลก ซึ่งมันก็ดำรงสถานะของการเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของกรุงโตเกียวไปโดยปริยาย
การเข้ามาของอิทธิพลของ teamLab และเทคโนโลยี 3D Projection Mapping ยังจุดประกายให้ศิลปินในบ้านเราสมาทานเทคโนโลยีนี้สู่การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบเฉพาะตัว เพราะนอกจากงานแสดงแสงสีเสียงในคอนเสิร์ต หรือตามอีเวนท์ต่างๆ ที่มีมาก่อนอยู่แล้ว การประยุกต์เครื่องมือให้เข้ากับสถานที่เฉพาะที่มีความหมาย รวมถึงการผสานกับศาสตร์อื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ ยังก่อให้เกิดผลงานอันน่าตื่นตาอย่าง Bodhi Theater - ‘โพธิเธียเตอร์: แก่นเดิม เปลือกใหม่ของพุทธศาสน์’ ซึ่งเป็นการฉายภาพยนตร์อนิเมชั่นเล่าเรื่องธรรมะลงบนโบสถ์ของวัดสุทธิวราราม หรือ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ที่กลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์จากสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการ Light Installation ภายในห้างสรรพสินค้าร้างกลางย่านบางลำพู เป็นต้น
ศูนย์การค้า River City Bangkok เป็นอีกหนึ่งสถาบันสำคัญในบ้านเราที่พยายามใช้เทคโนโลยีดึงความสูงส่งของศิลปะให้คนทั่วไปจับจ้องได้ผ่านโปรเจกเตอร์และการสร้างบรรยากาศอันน่าตื่นตา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้านิทรรศการ From Monet to Kandinsky Visions Alive (2019) ที่นำเสนอผลงานมาสเตอร์พีชของศิลปินยุคโมเดิร์นชื่อดัง 16 คน ผ่านการฉายโปรเจกเตอร์อย่างอลังการ มาจัดแสดงพร้อมกับ Italian Renaissance (2019) นิทรรศการเทคนิคเดียวกันแต่ฉายภาพผลงานในยุคเรเนอซองส์ของอิตาลี รวมถึง Van Gogh: Life and Art ที่กำลังจัดแสดงไปจนถึงสิ้นปี 2020 นี้
และถึงแม้นิทรรศการล่าสุด Andy Warhol : Pop Art ของ River City Bangkok (https://rivercitybangkok.com/blog/2020/07/andy-warhol--pop-art) จะกลับมาจัดแสดงในรูปแบบดั้งเดิม (จัดแสดงผลงานจริงของศิลปิน) หากการสร้างภาพจำต่อคนส่วนใหญ่ผ่านสามนิทรรศการก่อนหน้า รวมถึงชื่อชั้นของแอนดี้ วอร์ฮอล กับการแสดงผลงานออริจินัลของเขา ก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่เนืองแน่นด้วยผู้ชมไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกวงการศิลปะ
นอกจาก 3D Mapping ที่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกส่วนใหญ่ หรือตัวอย่างยอดนิยมของ art transformation ในปัจจุบัน ยังมีผลงานอีกหลายชิ้นที่นำเทคโนโลยีอื่นมารับใช้ หนึ่งในศิลปินที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ วิทยา จันมา ที่สร้างสรรค์ Into the Wind (Bubble) งานอินสตอเลชั่นที่เปิดให้คนเป่าลมเข้าไปในตัวรับสัญญาณ ก่อนที่ฟองอากาศขนาดยักษ์ซึ่งสัมพันธ์กับแรงลมที่เราเป่าจะพองขึ้นในอีกมุมหนึ่งของห้อง รวมถึงงานอื่นๆ ในซีรีส์ LAB/ART (2016) ของเขา
เช่นเดียวกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดังที่มี side project เป็นนิทรรศการอินเตอร์แอคทีฟกับผู้ชม (และคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ทางบ้าน) อย่าง Second Hand Dialogue ที่เปิดให้ผู้ร่วมนิทรรศการโทรศัพท์ไปหาเพื่อนหรือคนรู้จัก เซ็นยินยอมการบันทึกบทสนทนา และนิทรรศการจะทำหน้าที่แปรรูปบทสนทนาดังกล่าวให้กลายเป็นข้อเขียน ซึ่งก็เป็นนิทรรศการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น
และอย่าลืมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การไปชมศิลปะกำลังเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์วัยรุ่นในบ้านเรา ก็เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารอันก่อให้เกิดวัฒนธรรมอินสตาแกรม หรือ Instagrammable Culture กระตุ้นให้วัยรุ่น (รวมถึงวัยอื่นๆ) ค้นหาสถานที่สวยๆ เพื่อถ่ายรูปลงในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊คของตัวเอง จากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สู่ร้านกาแฟ, คาเฟ่ และบาร์สวยๆ กระทั่งมาถึงพื้นที่ศิลปะอย่างแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้กิจกรรมหรือเทศกาลทางศิลปะและการออกแบบในรอบหลายปีหลังในบ้านเรานี้ อาทิ Bangkok Design Week, Bangkok Art Biennale รวมถึงพิพิธภัณธ์ศิลปะร่วมสมัย MOCA ฯลฯ คึกคักไปด้วยผู้คนอย่างเป็นประวัติการณ์
แม้หลายคนอาจบอกว่าวัฒนธรรมอินสตาแกรมที่เป็นอยู่ไม่ยั่งยืน และดึงดูดแต่คนที่สนใจแต่จะเซลฟี่ตัวเอง หาได้สนใจในศิลปะจริงๆ หรือในทางกลับกัน ผู้จัดกิจกรรมก็จะหาวิธีการสร้างแลนด์มาร์คเด่นๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนให้เข้ามาถ่ายรูป ไม่ได้โฟกัสไปที่แก่นแกนของเนื้อหาจริงๆ แต่ผู้เขียนก็มองว่าอย่างน้อยที่สุด วัฒนธรรมนี้ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ได้มีพื้นฐานหรือไม่ได้เรียนศิลปะ ให้ได้มาทดลองสัมผัสหรือเรียนรู้ไปกับมัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าการได้เห็นแต่บุคคลากรหน้าเดิมๆ ในแวดวงทุกครั้งที่มีการจัดงาน ประหนึ่งเป็นการสร้างสรรค์กันเองเพื่อชมกันเอง
และถึงแม้ว่าผู้ชมสักคนจะมาชมศิลปะ เพื่อหวังมาแค่เช็คอินและได้รูปตัวเองกับชิ้นงานกลับไปอวดเพื่อนทางอินสตาแกรม หากการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียของพวกเขา ก็เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ผลงานของศิลปิน - การประชาสัมพันธ์ที่อาจช่วยจุดประกายให้ใครต่อใครในแวดวงของคนแชร์ ซึ่งดีไม่ดีว่าเราอาจจะได้ศิลปิน, นักวิจารณ์ หรือคิวเรเตอร์หน้าใหม่ จากความตั้งใจมาชมศิลปะเพื่อหวังแค่เซลฟี่กลับไปก็เป็นได้
ผู้ทำลายสถิติถูกขังเดี่ยวยาวนานที่สุดของสหรัฐอเมริกา คุณอัลเบิร์ต วู้ดฟ๊อกซ์ ภายหลังได้รับการปล่อยตัว เขาให้สัมภาษณ์ว่านอกจากความช็อคที่เห็นโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำไม่ได้ เขายังแปลกใจ กับความจริงที่ว่าการเหยียดสีผิวยังคงไม่หมดไปจากสังคมอเมริกัน
สตีเฟน คาลาฮาน (Steven Callahan) นักเดินเรือผู้ต้องติดอยู่ในแพชูชีพลำน้อยของตัวเองเป็นเวลา 76 วัน ผู้รอดชีวิตกลับมาก่อนมีส่วนทำให้ภาพยนตร์ Life of Pi กลายเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการติดอยู่บนเรือเพียงลำพังได้อย่างสมบูรณ์
หนุ่มอเมริกันผู้หน่ายกับระบบ ก่อนจะหนีจากชีวิตในเมืองเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในรถบัสร้างกลางป่า ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหม แน่ล่ะ เขาคือบุคคลต้นกำเนิดของเรื่อง Into the Wild (2007) ภาพยนตร์โมเดิร์นฮิปปี้ขวัญใจของใครหลายคน