การมาเยือนบ้านและสตูดิโออย่างเป็นทางการแห่งแรกและแห่งปัจจุบันของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ไม่เพียงทำให้เราได้เห็นต้นธารความคิดของศิลปินไทยร่วมสมัยหนึ่งในผู้มีอิทธิพลต่อแนวทางการออกแบบและสถาปัตยกรรมเชิง upcycling ในบ้านเรา หากยังทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของศิลปินผู้นี้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านผลงานบางส่วนที่ถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านที่เจ้าตัวแขวนไว้ในสตูดิโอ
ตั้งอยู่ในชุมชนอันเงียบสงบในตำบลสุเทพ ลึกเข้าไปจากถนนเลียบคลองชลประทาน ต่อลาภสร้างบ้านหลังนี้ด้วยตัวเขาเอง (ร่วมกับแรงของช่างฝีมือ) เมื่อสิบกว่าปีก่อน ภายหลังที่เขาบังเอิญไปเจอประกาศขายที่ดินทอดตลาดในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ที่ดินเปล่า 160 ตารางวาค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ brutalist ต้นไม้ใหญ่ และโกดังที่ศิลปินใช้เป็นสตูดิโอ ซึ่งหากไม่นับงาน installation ขนาดใหญ่ ผลงานแทบทุกชิ้นของต่อลาภล้วนถูกสร้างขึ้นจากที่นี่
“ผมซื้อบ้านหลังนี้ตอนที่งาน (ศิลปะ) ยังขายไม่ค่อยได้เลยนะ ตอนนั้นเรายังหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านเหล้า และทำโคมไฟหรือสมุดไปขายตามงาน Nap หาเงิน 4-5 หมื่นบาทยังยากเลย แต่ต้องมาเป็นหนี้หลักล้าน บ้านจึงเป็นสเต็ปสำคัญของชีวิต” ศิลปินวัย 43 เล่าย้อนไปเมื่อเขาอยู่ในวัย 29 จุดเริ่มต้นของบ้านที่สะท้อนรสนิยมและแรงบันดาลใจต่อการทำงานในชุดต่อๆ มาจวบจนถึงปัจจุบัน
“คล้ายกับการทำงานศิลปะ บ้านสะท้อนความชอบและตัวตนผมทั้งหมด ทั้งความเป็น brutalist จากวัสดุดั้งเดิม, การเลือกใช้ของเก่ามาเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่, ความพยายามทำให้ธรรมชาติกลมกลืนไปกับสิ่งปลูกสร้าง หรือการเลือกเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าๆ ซึ่งผมคุ้นชินมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านแพที่อยุธยา” ต่อลาภ กล่าว
ต้นลั่นทมสูงใหญ่ที่เจ้าของบ้านจงใจล้อมมันลงดินให้เอียงรับไปกับบันไดนอกบ้านกลายเป็นราวบันไดธรรมชาติ, บันไดที่ทำจากเหล็กกล่องแทงทะลุผนังเพื่อทำให้เกิดฟังก์ชั่นของบันไดทั้งด้านในและนอกบ้าน และทำหน้าที่เป็นเหล็กฝากให้กันและกันไปในตัว, หน้าต่างทรงกลมอารมณ์เดียวกับหน้าต่างเรือดำน้ำอันเกิดจากการประกอบสร้างใหม่ของท่อปูนและล้อของเกวียน (ซึ่งกลายมาเป็นเทรนด์การออกแบบคาเฟ่ในเชียงใหม่หลายต่อหลายแห่งในหลายปีหลังมานี้), ช่องดูดาวบนหัวเตียงที่ถูกดัดแปลงมาจากปล่องพัดลมระบายอากาศของโรงงาน หรือบันไดวนที่ต่อเติมมาจากที่ม้วนเมทัลชีท ฯลฯ เหล่านี้คือรูปธรรมของสิ่งที่ต่อลาภอธิบายจากพารากราฟก่อนหน้า
ในทางกลับกันสถาปัตยกรรมที่ดูจะเรียบง่ายที่สุดในนี้ กลับเป็นสตูดิโอที่ทำงานของเขาซึ่งอยู่ด้านข้างของบ้าน ซึ่งไม่เป็นอะไรมากไปกว่าโกดังสูงโปร่งที่ใช้สำหรับคุ้มแดดและฝนให้คนที่อยู่ข้างใน แต่นั่นล่ะ โกดังเรียบๆ แห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่ทำงานของศิลปิน หากก็ยังใช้เป็นที่เก็บ (กึ่งจัดแสดง) ผลงานที่ผ่านๆ มาบางส่วนของต่อลาภด้วย
ใช่, และอย่างที่บอกในตอนต้น ผลงานเหล่านี้ก็สะท้อนการเติบโตในเส้นทางศิลปะของต่อลาภได้อย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นผลงานในซีรีส์ชุดแรกๆ อย่าง Empty Land งานจิตรกรรมสื่อผสมที่เขาสร้างสรรค์ร่วมกับเศษวัสดุที่พบจากบริเวณบ้านเช่าหลังเก่าของเขาในซอยวัดอุโมงค์ (ก่อนจะย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้) หรืองานในซีรีส์แรกๆ ในปี 2007 ที่เขาทดลองทำงานจิตรกรรมร่วมกับเครื่องใช้อย่างหลอดไฟหรือลำโพงเพื่อชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงคุณค่าของศิลปะ (เมื่อมันถูกผนวกเข้ากับข้าวของเครื่องใช้), งานจิตรกรรมที่สามารถประกอบขึ้นเป็นประติมากรรมรถตู้ Live There Life Here (2013) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปเป็นศิลปินพำนักที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
ไปจนถึงงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงนอกแวดวงศิลปะอย่างประติมากรรมหัวสวิตซ์ไฟ Besto Boy จาก The Jouney of Switch Head (2015) และงาน installation ในยุคหลังอย่าง Spiritual Spaceship (2018) ซึ่งจัดแสดงใน Bangkok Art Biennale 2018 รวมถึงซีรีส์จิตรกรรมกึ่งนามธรรม Air Border (2018) ที่เขาจำลองแผนที่สภาพภูมิอากาศด้วยงานจิตรกรรมอันเป็นผลจากการสร้างสรรค์ร่วมของเขาและสภาพอากาศจริงในแต่ละวัน เป็นต้น
“จริงๆ ก็ไม่ได้มีความตั้งใจให้ผลงานในนี้สะท้อน timeline การทำงานของเราเท่าไหร่ แค่บางงานที่เราชอบและตัดสินใจไม่ขาย และก็มีบางชิ้นที่ยังทำค้างไว้ อย่างมอเตอร์ไซค์ไม้ที่วางอยู่กลางห้อง (Under the Eaves) ตั้งใจให้มันเป็นจิตรกรรมกึ่ง artefact ที่ตอนแรกจะเอาไปจัดวางไว้ใต้ชายคานอกมิวเซียมที่สิงคโปร์ แต่โปรเจกต์นี้ก็ถูกพักไว้ก่อน ในสตูดิโอนี่จึงเป็นงานที่คละๆ กันระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในงานที่กำลังจะทำ” ต่อลาภกล่าว
ทั้งนี้ นอกจากงานของต่อลาภเอง ยังมีผลงานบางส่วนของศิลปินที่เคยมาจัดแสดงที่ Gallery Seescape อย่างประติมากรรมศาลาเอียงและแบบร่างใน Mistaken Elements (2015) ของธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ (ต่อลาภบอกว่าเป็นงานจากซีรีส์แรกที่แกลเลอรี่ขายได้ หลังจากเปิดแกลเลอรี่และเลือกแสดงงานเชิงทดลองมา 8 ปี), ภาพพิมพ์จากซีรีส์ Lucktrospective (2017) ของลักษณ์ ใหม่สาลี หรือภาพถ่ายประกอบงาน performance ของกวิตา วัฒนะชยังกูร จาก Unveil Escape (2019) ซึ่งอยู่ระหว่างการแพ็คเพื่อจัดส่งให้คอลเลกเตอร์ เป็นอาทิ โดยผลงานเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับเส้นทางตลอด 12 ปีของการทำงานในบทบาทเจ้าของ Gallery Seescape ของเจ้าของบ้านได้อีกทางหนึ่ง
โซนสุดท้ายซึ่งอยู่ติดกับสตูดิโอศิลปะคือบ้านอีกหลังซึ่งต่อลาภเพิ่งต่อเติมขึ้นใหม่เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว อาคารเพดานสูงโปร่งที่ต่อเชื่อมกับบ้านหลังแรกด้วยสะพานลอยแบบเดียวกับบ้านของฟรีด้า คาห์โล ที่เม็กซิโก ซิตี้ ต่อลาภสร้างบ้านหลังนี้สำหรับรับรองศิลปินที่มาแสดงงานที่แกลเลอรี่ ขณะเดียวกันหากไม่มีศิลปินพัก เขาก็จะเปิดเป็นที่พัก Airbnb สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเชียงใหม่ และประสงค์จะเข้าพักในบ้านที่งานออกแบบสถาปัตยกรรมกลมกลืนไปเป็นเนื้อเดียวกับศิลปะ
“แทนที่จะเรียบนิ่งไปตามวัย ผมเพิ่งมาสังเกตว่ายิ่งอายุมากขึ้น งานออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมของผมยิ่งไปจนสุดทางมากกว่าเก่า ช่วงหลังๆ ผมจึงตัดสินใจไม่รับงานออกแบบบ้าน โรงแรม หรือ private space ให้ใคร เพราะลูกค้าคงจะไม่สบายใจ และความที่ผมมองว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมของผมคือการทำงานศิลปะด้วย เลยรู้สึกไม่สนุกหากต้องทำงานตามโจทย์ อย่างบ้านหลังนี้ (บ้านพักแขก-ผู้สัมภาษณ์) เกือบครึ่งก็เป็น recycle material ที่ผมเก็บไว้หมด มันยังมีฟังก์ชั่นของการอยู่อาศัย แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนสุนทรียะทางศิลปะอย่างที่ผมตั้งใจไว้ไปพร้อมกัน”
ปัจจุบันต่อลาภกำลังก่อสร้างบ้านหลังที่สอง หลังจากเขาได้ที่ดินแปลงงามแปลงหนึ่งในผืนป่าของอำเภอแม่ริม และใช้มันเป็นโกดังและสตูดิโอสำหรับทำงาน installation ขนาดใหญ่อยู่ได้สักพัก หากภายหลังที่เขามีลูกชาย จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ที่นั่น ซึ่งต่อลาภได้พูดถึงแนวทางการออกแบบบ้านหลังใหม่ว่าสุดโต่งไปกว่าหลังปัจจุบัน ในแบบที่ว่าหากใครมาเห็นแล้วไม่ชอบก็คงเกลียดไปเลย
“นอกจากปลูกบ้าน ผมตั้งใจให้พื้นที่ตรงนั้น (บ้านหลังใหม่ที่แม่ริม-ผู้สัมภาษณ์) เป็น art space และคาเฟ่เล็กๆ ไปพร้อมกัน อยากให้คนมาดูงานศิลปะในป่า ให้ศิลปะบำบัดเราไปพร้อมกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็อยากให้ลูกเราโตท่ามกลางธรรมชาติด้วย แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าเขาอยากอยู่ที่ไหน” ต่อลาภกล่าว ทั้งนี้เขามีแผนจะเปิด space แห่งที่ว่าในช่วงปลายปีนี้
“ผมจะทำงานหลักๆ อยู่สองแนวทางคืองานจิตรกรรมกับงาน installation ถ้างานชิ้นเล็กก็จะทำที่บ้านหลังนี้ แต่งานขนาดใหญ่ๆ ก็จะไปทำที่แม่ริม เหมือนเป็นกิจวัตรไปแล้วว่าทุกปี ผมต้องมีโปรเจกต์เป็น installation ขนาดใหญ่จัดแสดง และหลายคนก็จดจำผมในแนวทางนั้นไปแล้ว”
“ซึ่งถึงแม้ผมจะสนุกกับการได้ออกแบบและจัดการโปรเจกต์ขนาดใหญ่ แต่เอาจริงๆ ที่ทำบ้านอยู่ทุกวันนี้ ความสุขของผมกลับเป็นการได้นั่งเพ้นท์ภาพในสตูดิโอที่แสงลอดผ่านหน้าต่างเข้ามา พร้อมกาแฟอีกหนึ่งแก้ว ผมชอบช่วงเวลาที่ตัวเองจดจ่อกับงานตรงหน้า เหมือนจมลงไปในงานศิลปะแค่นี้เลย…ใช่ และอีกเรื่องก็คือการได้อยู่กับภรรยาและลูก บ้านจะมีความหมายก็ตรงนี้แหละ” ศิลปินพ่อลูกอ่อน กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามผลงานของต่อลาภ ลาภเจริญสุขได้ที่ https://www.torlarphern.com/
ภาพถ่ายโดย ปฏิภาณ ดาวราม
เยือนบ้านที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์
ในบ้านของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข เสียงหมาเห่าอย่างเอิกเกริก คือการต้อนรับอย่างอบอุ่น
เยือนบ้าน ห้องสมุด และที่ทำงานของนักจัดคอนเสิร์ตที่ฮิปที่สุดในลพบุรี