BOTS
  • CATEGORIES
      Art & Design
      Lifestyle
      Warmwelcome
      BOTS News
      Coffee Break
      What if ?
      Trans_
      สนทนา
  • VIDEOS
      1591849850911800-Logo-DHB-01.png
      1591849934985394-Your-pen-Logo-02.png
  • logo
    logo
logo
  • CATEGORIES
    • Art & Design
    • Lifestyle
    • Warmwelcome
    • BOTS News
    • Coffee Break
    • What if ?
    • Trans_
    • สนทนา
  • VIDEO
    • DIE HARD BUSINESS
    • Your Pen
  • ABOUT ME
  • DARK MODE
Warmwelcome : The Never-ending Home Studio บ้านที่ไม่เคยหยุดสร้างของศิลปินนักอิมโพรไวซ์
  • Warmwelcome
  • Jul 17,2020

Warmwelcome : The Never-ending Home Studio บ้านที่ไม่เคยหยุดสร้างของศิลปินนักอิมโพรไวซ์

ระบุได้ไม่แน่ชัด อาจจะ 13 หรือ 14 ปี ที่เขาย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่ กระนั้นไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ก็จำได้ดีว่าเขาเริ่มสร้างบ้านหลังนี้เมื่อปี 2005 แต่นั่นล่ะ แม้ศิลปินจะอาศัยอยู่บ้านหลังนี้มา 13 หรือ 14 ปี บ้านหลังนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

กล่าวอย่างนั้นก็เกินไป แต่ทุกครั้งที่มาเยือนบ้านของไทวิจิตในซอยวัดป่าจี้ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เราก็พบว่าบ้านของเขามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“มันอาจเป็นนิสัยแบบเดียวกับที่ผมใช้ทำงานศิลปะด้วย คือพออยู่ไปสักพัก ผมก็จะปรับนั่นเปลี่ยนนี่ บ้านมันถูกต่อเติม บางส่วนก็ถูกรื้อถอน อยู่ไปสักพัก เบื่อๆ ก็เปลี่ยนอินทีเรียร์ใหม่ เหมือนผมทำงานศิลปะ เรามีภาพคร่าวๆ ภาพสุดท้ายอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ปิดโอกาสในการทดลองสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” ศิลปินร่วมสมัยวัย 61 หนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแบบ upcycling ในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นยุค 90s กล่าว

สิ่งที่ยังคงเดิมคืออาคารคอนกรีตปูนเปลือยสองหลังวางตัวขนานกันโดยหันหน้าเข้าสู่ดอยสุเทพ ถูกคั่นด้วยบ่อปลาคาร์ฟ และทางเดินยาวที่เชื่อมจากพื้นที่หน้าบ้านเข้าสู่ห้องครัวด้านใน ไทวิจิตแบ่งพื้นที่บ้านชัดเจน อาคารสูงสองชั้นฝั่งขวาคือส่วนพักอาศัย อาคารชั้นเดียว (หากต่อเติมสตูดิโอไว้ด้านบน) คือพื้นที่ทำงานและต้อนรับแขก

หลังกลับจากโปแลนด์ในช่วงปลายทศวรรษ 1980s ไทวิจิตที่ตอนนั้นเป็นศิลปินภาพพิมพ์รุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตาที่สุดคนหนึ่งติดตามศิลปินรุ่นพี่ขึ้นมาทำงาน พร้อมไปกับสอนหนังสือที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (นั่นทำให้หลายคนเรียกเขาด้วยคำนำหน้าว่า ‘อาจารย์’ ตั้งแต่นั้น) ช่วงเวลานั้นทำให้เขาพบที่ดินขนาด 100 ตารางวาไม่ไกลจากเชิงดอยสุเทพที่ต่อมากลายมาเป็นบ้านของเขาหลังนี้ เขาซื้อมันไว้ ก่อนจะกลับไปทำงานศิลปะต่อที่สตูดิโอกรุงเทพฯ สักพัก และพบว่าเขาไม่อาจทนอยู่ที่เมืองหลวงแห่งนี้ได้ต่อไป นั่นเป็นเหตุให้เขาย้ายกลับขึ้นมาเชียงใหม่ และปลุกปั้นบ้านหลังนี้

“ผมทำแบบบ้านด้วยการขึ้นโมเดล ก่อนจะให้สถาปนิกมาถอดแบบ และก็ประกบผู้รับเหมาระหว่างก่อสร้างเลย ที่ทำแบบนั้นเพราะผมอยากรู้สึกกับมันทันทีเมื่อมันถูกสร้างขึ้นว่าใช่หรือไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ” เจ้าของบ้านผู้นำเทรนด์ที่อยู่อาศัยแบบ brutalist ในยุคสมัยที่อาคารคอนกรีตปูนเปลือยยังถูกคนส่วนใหญ่มองว่านั่นคือบ้านสร้างไม่เสร็จ กล่าว

ผลงานทุกชิ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000s เป็นต้นมาของศิลปิน ถูกสร้างขึ้นที่นี่ งานจิตรกรรม Abstract Expressionist, ภาพประกอบ, ประติมากรรมจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงงานเฟอร์นิเจอร์รูปทรงแปลกล้ำ ฯลฯ เริ่มจากทำสตูดิโอไว้ที่ห้องชั้นล่างของอาคารฝั่งซ้าย ก่อนจะต่อเติมโครงเหล็กกึ่งโอเพ่นแอร์ทำสตูดิโอจิตรกรรมและงานเหล็กไว้บนชั้นสอง และเปลี่ยนสตูดิโอเดิม (ชั้นล่าง) ให้กลายเป็นห้องสมุดพ่วงห้องรับแขก และจากสตูดิโอชั้นบน ไทวิจิตขยับขยายที่ดินที่เขาเช่าจากเพื่อนบ้าน วางตู้คอนเทนเนอร์แนวยาว กลายเป็นสตูดิโอสำหรับสร้างประติมากรรมหรืองาน installation ขนาดใหญ่โดยเฉพาะ โดยเก็บสตูดิโอเดิมไว้สำหรับทำงานเพ้นท์เหมือนเดิม

 

 

 

 

ขณะที่พื้นที่พักอาศัยในอาคารรูปไข่ฝั่งขวาของบ้าน ไทวิจิตออกตัวว่ามันเป็นความเรียบง่ายเท่าที่จะเป็นได้ หนึ่งห้องครัว (พ่วงพื้นที่กินข้าว), หนึ่งห้องทำงานของภรรยา, หนึ่งห้องนั่งเล่น และหนึ่งห้องนอน เว้นก็แค่ห้องน้ำที่อาคารนี้มีสอง

ที่ไม่เรียบง่ายหน่อยก็น่าจะเป็นห้องนั่งเล่นบนชั้นสอง ผมออกแบบหลังคาให้มีลักษณะคล้ายงอบ หรือหมวกที่เป็นเครื่องจักสาน สังเกตดูบนเพดานห้อง จะมีบานเกล็ดสำหรับระบายอากาศรอบๆ เป็นหลักการระบายความร้อนขึ้นข้างบน ทำให้ห้องมีอากาศถ่ายเทเพิ่มขึ้นนอกจากหน้าต่าง ซึ่งก็ทำได้ดีเลยนะ กระทั่งเชียงใหม่มีปัญหาหมอกควันหนักนี่แหละ สุดท้ายเลยยอมแพ้ ก็ปิดช่องลมไปพร้อมกับรีโนเวทห้องนี้เลย

ไทวิจิต หัวเราะ เขาเสริมว่าเขามีแผนที่จะติดตั้งโทรทัศน์ไว้ในห้องที่เพิ่งรีโนเวทและทาสีใหม่ห้องนี้ เขาจะใช้ห้องนี้สำหรับดู Netflix

หลังจากมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด The Leftover ไปที่ VER Gallery เมื่อช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไทวิจิตก็ยังไม่มีแผนจะแสดงนิทรรศการที่ไหนต่อ กระนั้นศิลปินรุ่นใหญ่ผู้นี้ก็ยังคงทำงานศิลปะต่อเนื่องในทุกวัน – “แม้จะไม่มีงานแสดง ผมก็ยังทำงานต่อไป เหมือนคิดอะไรได้ก็ทำเลย และทำเก็บไว้ ชีวิตผมมันขับเคลื่อนด้วยการทำงานไปแล้ว ถ้าช่วงไหนคิดงานไม่ออก ก็ไปดื่มกาแฟ นั่งดูปลาคาร์ฟ ไม่ก็อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำสวน แล้วกลับมาทำงานต่อ” เขากล่าว ก่อนจะเสริมว่า หลักคิดเขาก็เหมือนกับการมีปฏิสัมพันธ์กับบ้าน…

 

 

 

 

 

 

ผมคิดว่าชีวิตนี้คงเป็นสถาปนิกไม่ได้ เพราะผมไม่สามารถคิดอะไรให้แล้วเสร็จภายในทีเดียวได้เลย ในทางกลับกัน ผมชอบทดลองทำไปเรื่อยๆ อย่างที่ผมรีโนเวทหรือต่อเติมบ้านมาไม่รู้กี่ครั้งแล้วตั้งแต่อยู่มา ผมชอบอะไรที่ผมยังไม่รู้ สิ่งนี้มันกระตุ้นให้ผมพยายามค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งความเป็นไปได้นี้ มันจะไม่มีทางเกิดเลยถ้าขาดกระบวนการทดลอง

ศิลปินวัยเกษียณที่ยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยพลังที่ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ กล่าว

ใต้ความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่ที่กลมกลืนเข้ากับทิวอาคารบรูทัลลิสต์ และรั้วที่ทำจากเศษเหล็กทาสีชมพูสด (ซึ่งครั้งที่แล้วที่เรามารั้วยังเป็นสีเหลือง) เรายกมือสวัสดีและบอกลาไทวิจิต เขาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม - หากมาครั้งหน้า เห็นรายละเอียดของบ้านเปลี่ยนแปลงไปตรงไหน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร 

 

ภาพถ่ายโดย ปฏิภาณ ดาวราม


RELATED CONTENTS

Warmwelcome : The Home of Upcyclist คุณค่าของข้าวของที่ถูกมองข้าม

Warmwelcome : The Home of Upcyclist คุณค่าของข้าวของที่ถูกมองข้าม

เยือนบ้าน-สตูดิโอของศิลปินนักประกอบสร้าง ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

  • Warmwelcome
  • Jul 03,2020

Warmwelcome : The Workspace เยือนบ้าน ห้องสมุด และที่ทำงานของนักจัดคอนเสิร์ตที่ฮิปที่สุดในลพบุรี

Warmwelcome : The Workspace เยือนบ้าน ห้องสมุด และที่ทำงานของนักจัดคอนเสิร์ตที่ฮิปที่สุดในลพบุรี

เยือนบ้าน ห้องสมุด และที่ทำงานของนักจัดคอนเสิร์ตที่ฮิปที่สุดในลพบุรี

  • Warmwelcome
  • Sep 25,2020

Warm Welcome : A ROO Visit

Warm Welcome : A ROO Visit

เยือน ROO สตูดิโอของ Tua Pen Not

  • Warmwelcome
  • Nov 06,2020

logo
  • categories
  • videos
  • about me
Copyright © 2020 BOTS. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK